หลักธรรมใดเป็นหลักของผู้ที่อยู่ครองเรือน

พูดถึงชีวิตคู่หรือการครองเรือนให้เป็นสุขและยั่งยืนได้นอกจากสามีภรรยาจะมีส่วนที่เสมอกัน 4 ส่วนคือ

โดย...ชลญ่า

พูดถึงชีวิตคู่หรือการครองเรือนให้เป็นสุขและยั่งยืนได้นอกจากสามีภรรยาจะมีส่วนที่เสมอกัน 4 ส่วนคือ มีศรัทธาเสมอกัน มีความประพฤติเสมอกัน มีความเสียสละเสมอกัน และมีปัญญาเสมอกันแล้วควรจะต้องมีธรรม 4 ประการต่อไปนี้ ได้แก่ 1.สัจจะ ความจริงใจ รักจริงหวังอยู่ รักเดียวใจเดียว ไม่คิดนอกใจ 2.มีขันติ อดทนอดกลั้นต่อปัญหาต่างๆ 3.ทมะ เมื่อเกิดปัญหาต้องรู้จักยืดหยุ่นให้เป็น พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และไม่ทอดทิ้งกัน 4.จาคะ การละลายความเห็นแก่ตัวทิ้งไป ละทิ้งความเป็นเธอเป็นฉันและหลอมกันเป็นเรา

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) กล่าวว่า ถ้าคู่สามีภรรยาพรั่งพร้อมด้วยธรรมทั้งสี่ประการเมื่อไร เรือนก็จะเป็นเรือนหอ บ้านก็จะเป็นบ้านที่อยู่แล้วมีความสุข ความร่มเย็น แต่ถ้าขาดทั้งสี่ข้อเรือนหอก็เป็นแค่บ้านก่ออิฐถือปูน แค่บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ ไม่มีชีวิตชีวา อยู่ไม่มีความสุข

"ความสุขของการครองเรือนไม่ได้อยู่ที่เรือนหอราคานับแสนนับล้าน นับร้อย นับพัน นับแสนล้าน แต่อยู่ที่สองคนนั้นครองธรรมหรือเปล่า บ้านใดที่มีธรรมทั้งสี่ สวรรค์ก็อยู่ตรงนั้น บ้านใดที่ไร้ธรรมนรกก็อยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นทั้งสองจะต้องช่วยสร้างสรรค์เรือนหอ ทั้งเรือนหอหลังในคือคนสองคน และเรือนหอหลังนอกคือบ้านที่ใช้เป็นเรือนหอให้เป็นสวรรค์ที่อยู่แล้วมีความสุข"

หลักธรรมใดเป็นหลักของผู้ที่อยู่ครองเรือน

หลักธรรมของผู้ครองเรือน กำหนดเรียกในภาษาพระว่า ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมของฆราวาสคือผู้ครองเรือน หรือ

หลักธรรมสำหรับการอยู่ครองเรือน

หลักธรรมสำหรับการอยู่ครองเรือน หมายถึง หลักธรรมสำหรับการครองชีวิตที่ดีของฆราวาส

โดยที่ ฆราวาส ซึ่งหมายถึงคนมีเหย้ามีเรือน มีครอบครัว หรือที่เรียกว่า คฤหัสถ์ คือผู้ครองเรือนนั้น จะเป็นคนมีฐานะมั่นคง มีครอบครัวเป็นปึกแผ่น เป็นฝั่งเป็นฝามั่นคง มีความสุขตามวิสัยของชาวบ้านทั่วไป จะต้องรู้จักปรับปรุงตนเองให้ก้าวหน้า รู้จักปลูกฝังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นในใจ ยึดถือปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรม 4 ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ แต่ละประการมีความหมายในแนวปฏิบัติ ดังนี้

1. สัจจะ สัตย์ซื่อต่อกัน หมายถึง การดำรงมั่นในสัจจะ การมีความจริง ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง โดยจะทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจกัน กล่าวในเชิงปฏิบัติ ได้แก่ ความซื่อตรงต่อคู่ชีวิตของตน ผู้ครองเรือนที่ดีต้องมีความรับผิดชอบต่อคู่ครองของตัว มีความจริงใจต่อคู่ครอง ไม่ประพฤติตนเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก หรือประพฤตินอกใจคู่ครอง

สัจจะ ความสัตย์ซื่อต่อกันนี้ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ทำให้คู่ครองไว้ใจกันและกันได้ หากปราศจากคุณธรรมข้อนี้ ย่อมทำให้คู่ครองสามีภรรยาอยู่ร่วมกันด้วยความหวาดระแวง และทำให้อยู่กันไม่ยืด ตัวอย่างเช่น สามีภรรยาประพฤติให้เป็นที่กินแหนงแคลงใจกัน โดยฝ่ายภรรยาระแวงว่าสามีจะไปชมชอบสตรีอื่น เกรงว่าจะนำทรัพย์ที่ช่วยกันแสวงหามาได้ไปปรนเปรอสตรีอื่น เป็นผู้ไม่รักตนจริง คิดแต่จะปอกลอก

ฝ่ายสามีก็คิดสงสัยภรรยาว่าจะคบชู้กับชายอื่น กลัวว่าภรรยาของตนจะยักยอกทรัพย์ไปบำเรอชายอื่น เช่นนี้ชีวิตคู่ครองเรือนหรือชีวิตครอบครัวของเขาทั้งสองนั้น ก็รอวันที่จะแตกแยกหย่าร้างเลิกรากันไปในที่สุด

แต่ถ้าสามีภรรยามีหลักฆราวาสธรรมคือสัจจะ ซื่อตรง จริงใจต่อกัน โดยเมื่อมีปัญหาอะไร ก็ปรึกษากันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ปิดบังอำพรางกัน แม้แต่เรื่องการเงินการทอง เรื่องปากเรื่องท้อง หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็บอกกันตามความจริงว่าเก็บไว้เท่าไร จ่ายเท่าไร และข้อสำคัญคือไม่คิดนอกใจกัน เช่นนี้ก็จะทำให้ชีวิตครอบครัวนั้นดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

ดังนั้น ผู้อยู่ครองเรือนด้วยกันจำต้องมีความจริงใจต่อกันเป็นพื้นฐาน ต้องไม่ประพฤติตนเป็นคนหน้าไว้หลังหลอก ไม่คิดจะทรยศกันในทุกกรณี มีความซื่อสัตย์ต่อกันด้วยใจจริง

นอกจากนี้ สัจจะยังเป็นคุณธรรมที่สำคัญในการคบหากับคนทุกชั้นวรรณะ เพราะความซื่อตรงต่อกันเป็นเครื่องสมานสามัคคีให้มิตรภาพระหว่างผู้คบหากันให้ยั่งยืนยาวนาน

ผู้มีความซื่อสัตย์จะทำอะไรก็ย่อมมีผู้เชื่อถือไว้วางใจ และจะไปในที่ใดก็มีคนต้อนรับ และยินดีช่วยเหลือเมื่อตกทุกข์ได้ยาก ฉะนั้น สัจจะคือความสัตย์ซื่อต่อกัน จึงเป็นธรรมสำหรับผู้ครองเรือนที่ควรมีไว้ประจำใจ

2. ทมะ รู้จักข่มจิตของตน คือฝึกตน หมายถึงการรู้จักฝึกฝนตนเอง บังคับควบคุมตนเองได้ หรือการข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา

โดยผู้ครองเรือนที่ดีต้องหัดข่มใจ ข่มอารมณ์ของตนเองได้ สามารถระงับยับยั้งใจตัวเองได้ในทุกรณี ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไร้เหตุผล ไม่โกรธง่าย เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งทำหรือพูดไม่ถูกใจ เป็นการระงับเหตุทะเลาะกัน ต้องให้อภัยกัน ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องหาทางหรือหาวิธีปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นไปในด้านความประพฤติ ด้านการทำมาหากิน เป็นต้น

3. ขันติ อดทน หมายถึง ความอดทน มุ่งหน้าประกอบหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมายไม่ท้อถอย ขันติในที่นี้ มุ่งในแง่วิริยะ คือเพียรอดทน ไม่หวั่นไหวย่อท้อต่ออุปสรรคแห่งชีวิต

โดยผู้ครองเรือนที่ดีต้องอดทนได้เสมอ เมื่อเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ต้องมีใจเข้มแข็งหนักแน่น ไม่วู่วาม ทนต่อความล่วงล้ำกล้ำเกินกัน ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่ายๆ เช่น อดทนต่อความลำบากตรากตรำในการทำงาน ในการประกอบอาชีพ อดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ใจเสาะเกินไป ไม่แสดงอาการอ่อนแอออกมา เป็นต้น

ความอดทนได้นี้เป็นเหตุให้เป็นคนกล้าทำงานและกล้าเสี่ยง ไม่หลบเลี่ยงงาน หรือไม่เป็นคนเกียจคร้าน เพราะผู้อดทนเสมอเท่านั้นจึงมักได้รับความสำเร็จในทุกๆเรื่อง ลักษณะของขันตินี้ตรงกับคำพังเพยที่ว่า “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม”

4. จาคะ รู้จักเสียสละ หมายถึง การมีน้ำใจไม่หวงแหนของกินของใช้ต่างๆ แม้กับคู่ครองของตน ผู้ครองเรือนที่ดีจะต้องใจกว้าง มีความโอบอ้อมอารีวจีไพเราะต่อคู่ครอง ต่อเพื่อน ตลอดจนญาติๆ ของคู่ครองเสมอหน้ากัน เหมือนปฏิบัติต่อตัวเอง ต่อเพื่อน และญาติของตัวเอง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การสามารถเสียสละความสุขสบายและประโยชน์ส่วนตน เพื่อคู่ครองหรือคนในครอบครัวได้ เช่น อดหลับอดนอนพยาบาลกันในยามเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น หรือความมีน้ำใจชอบช่วยเหลือเกื้อกูล พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของคู่ครอง ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัวเอง

ฆราวาสธรรมทั้ง 4 ประการนี้ สรุปเป็นคำคล้องจองเพื่อให้จำง่ายว่า “จริงใจ ฝึกฝน ทนได้ ให้ปัน” เป็นหลักธรรมโดยตรงของฆราวาสผู้อยู่ครองเรือน โดยเป็นหลักธรรมที่จำเป็นในการครองชีวิตคู่อยู่ร่วมกัน และเป็นหลักธรรมช่วยควบคุมให้บุคคลในตระกูลมีความสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน ทำให้ชีวิตคู่ของผู้ครองเรือนมีความสงบสุขร่มรื่นตามสมควรแก่ฆราวาสวิสัย

ดังนั้น ผู้ครองเรือนจึงจำเป็นต้องตระหนักอยู่เสมอและจำต้องสร้างสรรค์ให้เกิดมีขึ้นในจิตใจตนเป็นประจำ

ประโยชน์และคุณค่าทางจริยธรรมของฆราวาสธรรม

หลักสัจจะ ย่อมเป็นเหตุให้เป็นคนที่ไว้ใจได้ ไม่ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อกัน เพราะเป็นคนพูดจริง ทำจริง ไม่โลเลเหลาะแหละ ซึ่งเป็นเหตุให้มีความก้าวหน้าในชีวิตการงาน มีคนเชื่อถือยำเกรง ได้รับเกียรติและผลสำเร็จในการงานอย่างดีเลิศ

หลักทมะ ย่อมเป็นเหตุให้อยู่กันด้วยความราบรื่น ไม่กระทบกระทั่งกัน มีความใจเย็น มีความสามารถในการทำงาน ยับยั้งตัวเอง ข่มใจตัวเองได้เมื่อจะทำผิด ไม่พูดผิดทำผิดเพราะอารมณ์ชั่ววูบ สามารถปรับปรุงพิจารณาตนเองตลอดเวลา มีมิตรภาพกับบุคคลทั่วไป ไม่มีเวรร้ายกับใครๆ เพราะการทะเลาะถกเถียงกัน เป็นต้น

หลักขันติ ย่อมเป็นเหตุให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ผลดี ไม่ก่อความรังเกียจให้แก่ผู้ใกล้ชิด หาทรัพย์สมบัติได้ เป็นเหตุให้การครองเรือนมีหลักประกันด้านทรัพย์สินมั่นคง ไม่ทำผิดเพราะทนต่อความอยากไม่ได้

หลักจาคะ ย่อมเป็นเหตุให้มีใจกว้าง ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว มีอัธยาศัยดีงาม โอบอ้อมอารี มีจิตใจเอิบอิ่มเป็นสุขเมื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว มีความเป็นอยู่ในครอบครัวอบอุ่น ซึ่งเป็นเหตุให้รักษาน้ำใจของคู่ครองไว้ได้

ประโยชน์และคุณค่าทางจริยธรรมทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเหตุให้การครองเรือนเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปากมีเสียงกันในครอบครัว และมีความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนเดียว

(จากหนังสือพุทธธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 146 กุมภาพันธ์ 2556 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)