อาการแน่นท้องตลอดเวลาเกิดจากอะไร

หลังกินข้าวแล้วเกิดอาการท้องอืด จุดเสียด แน่นท้อง เหมือนอาหารไม่ย่อยทุกที ทรมานจนหลายครั้งต้องพึ่งยาช่วยย่อยอาหาร ยาลดกรด แม้อาการจะดีขึ้นและหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา หรือไม่หาสาเหตุอาจกลายเป็นภาวะอาหารไม่ย่อยเรื้อรัง ก่อให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหารที่รุนแรงได้


อาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เป็นอาการไม่สบายท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ช่วงระหว่างหรือหลังกินอาหาร ทำให้เกิดอาการอึดอัด ไม่สบายท้อง มีอาการหลายอย่างร่วมกัน พบได้เกือบทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่จะพบได้มากกว่าในเด็ก ส่วนโอกาสการเกิดอาการมีใกล้เคียงกันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง


ต้นเหตุ...ภาวะอาหารไม่ย่อย

บ่อยครั้งที่ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า สาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อยมาจากอะไร แต่โดยส่วนใหญ่มักเกิดจาก

  1. พฤติกรรมการกิน เช่น กินอาหารเร็วเกินไปซึ่งการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดจะทำให้อาหารย่อยได้ยากขึ้น หรือกินอาหารในปริมาณมากเกินไปในแต่ละมื้อซึ่งส่งผลให้น้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอที่จะย่อยอาหารได้ รวมไปถึงการกินอาหารไม่ตรงเวลา กินอาหารมัน หรือกินอาหารที่มีรสเผ็ด ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลมมากเกินไป
  2. พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน และการตั้งครรภ์
  3. ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น มีภาวะความเครียด วิตกกังวล จะส่งผลทำให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากกว่าปกติ
  4. ปัญหาด้านสุขภาพหรือการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น
    • การเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือภายในลำไส้เล็ก ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H.pylori) และจากสาเหตุอื่น
    • ภาวะท้องผูก ภาวะกรดไหลย้อนหรือเป็นโรคกรดไหลย้อน
    • อวัยวะในระบบย่อยอาหารเกิดการอักเสบ เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ หลอดอาหารอักเสบ ลำไส้เล็กหรือตับอ่อนอักเสบ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตเอนไซม์ย่อยอาหาร
    • ลำไส้อุดตัน ภาวะลำไส้ขาดเลือด
    • โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งหลอดอาหาร พบได้น้อย และส่วนใหญ่จะพบในคนอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป
  5. ผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่มีต่อระบบย่อยอาหาร จนนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อยได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำ ยาแก้ปวด ยาสเตียรอยด์ และจำพวกยาต้านอักเสบ เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน และยาไดโคลฟีแนค เป็นต้น

จุกเสียด แน่นท้อง อาการเด่นอาหารไม่ย่อย

เมื่อเกิดภาวะอาหารไม่ย่อยจะทำให้มีอาการเด่นเลย คือ จุดเสียด แน่นท้อง ไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว เป็นต้น โดยอาการจะเป็นเฉพาะบริเวณระดับเหนือสะดือขึ้นไป และจะไม่มีอาการปวดท้องในระดับใต้สะดือและไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายร่วมด้วย

ทั้งนี้ อาหารไม่ย่อยที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง อาจไม่เป็นอันตรายอะไร แต่หากมีอาการอาหารไม่ย่อยมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป หรือร่วมกับอาการเหล่านี้ เช่น อาเจียนอย่างรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนออกมาเป็นสีดำคล้ำ น้ำหนักลดไม่มีสาเหตุ กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น ควรรีบมาพบแพทย์


ตรวจเช็ค รักษาให้ถูกวิธี

การดูแลรักษาภาวะอาหารไม่ย่อย ต้องรักษาที่ต้นเหตุตามลักษณะอาการที่เป็น โดยเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัย จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และจากการที่ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดกรด หรือยาช่วยย่อยอาหาร ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลังจากนั้นจะดูอาการประมาณ 3-4 สัปดาห์

หากไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากขึ้น ก็อาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด หรือการตรวจลมหายใจหาการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร และการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษที่มีกล้อง (Endoscope) ติดอยู่ตรงส่วนปลายท่อ สอดเข้าไปทางปากของผู้ป่วย แล้วตรวจดูอวัยวะภายในเพื่อหาความผิดปกติผ่านภาพจากกล้อง

อย่างไรก็ตาม อาหารไม่ย่อยควรป้องกันที่สาเหตุและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการรับประทาน เช่น เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง มีรสเผ็ด หรืออาหารสำเร็จรูป กินอาหารให้ตรงเวลาและกินพอดีไม่เยอะจนเกินไป พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีบริหารจัดการรับมือกับความเครียด หาวิธีผ่อนคลาย ก็จะช่วยให้ห่างไกลอาการอาหารไม่ย่อยได้

จุกเสียด แน่นท้อง อาการยอดฮิตที่เชื่อได้ว่าหลายๆ คนคงมีโอกาสได้สัมผัส และบางคนคงถึงขั้นรู้จักกันเป็นอย่างดี อาการที่ดูธรรมดาแบบนี้ แต่เมื่อมาทักทายทีไร กลับรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากทีเดียว ยิ่งในบางรายที่มีอาการเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ ทานยาเท่าไหร่ก็ไม่ดีขึ้น จนพาลให้เบื่ออาหารไม่อยากจะกินอะไร สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนที่คุณไม่ควรมองข้าม

ชวนรู้จักระบบทางเดินอาหาร

ระบบทางเดินอาหาร คือส่วนประกอบของร่างกายที่ไล่ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงทวารหนัก เป็นหนึ่งระบบในร่างกายที่มีการทำงานร่วมกันอย่างสมานสามัคคี คอยย่อยอาหารทุกสิ่งอย่างที่เราทานเข้าไปให้กลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็กพอที่จะสามารถดูดซึมได้ผ่านหลอดเลือด ส่วนกากใยที่เหลือก็จะถูกส่งต่อไปยังระบบขับถ่ายตามลำดับ การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบแบบนี้ ทำให้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการย่อยอาหารแทบทั้งระบบ

โรคระบบทางเดินอาหาร ยอดฮิต

  • โรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่มักแสดงอาการออกมาในลักษณะการจุกแน่นลิ้นปี่ เสียดท้อง แสบท้อง หรือปวดใต้ชายโครงซ้าย มักเป็นๆ หายๆ และแสดงอาการสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ปวดเวลาหิว หรือปวดหลังทานอิ่ม หากมีอาการแบบนี้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ สามารถดูแลตัวเองได้โดยการทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด การดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และรับประทานอาหารให้ตรงเวลา แต่หากมีอาการติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน หรือมีการอาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน กลืนอาหารลำบาก น้ำหนักตัวลด ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยละเอียด
  • โรคลำไส้แปรปรวน เกิดจากภาวะที่ลำไส้บีบตัวผิดปกติ ทำให้มีอาการปวดท้อง ร่วมกับการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือทั้งท้องผูกและท้องเสียสลับกันไป บางรายอาจถ่ายมากผิดปกติ แต่ในขณะที่บางรายก็อาจถ่ายน้อยกว่าที่เคยเป็น โดยอาการปวดมักจะดีขึ้นหลังจากถ่ายอุจจาระ แม้เป็นโรคที่มีอาการไม่ร้ายแรง แต่หากมีการถ่ายมากจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ก็ควรปรึกษาแพทย์ดีกว่า
  • โรคกรดไหลย้อน อาการที่เด่นชัดคือการแสบร้อนกลางอก หรือบริเวณลิ้นปี่ เนื่องจากมีกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนมาสร้างความระคายเคืองให้กับทางเดินอาหาร ในบางรายอาจรู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในคอ กลืนลำบาก มีอาการเจ็บคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้าอาจจะมีรสขมหรือมีรสเปรี้ยวของกรดในปาก รวมทั้งอาจมีเสมหะ มีอาการระคายเคืองคออยู่ตลอดเวลา จนเกิดอาการไอเรื้อรัง ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการทานยาลดกรด ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • โรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมากกว่า 6,000 คนต่อปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด มะเร็งในระบบทางเดินอาหารสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะจะเสี่ยงมากขึ้นในผู้ที่บริโภคอาหารประเภทปิ้ง ย่าง หมักดอง สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมทั้งผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง

มะเร็งร้าย... ต้องระวัง

มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ประกอบไปด้วย มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก มะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมไปถึงมะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งถุงน้ำดี โดยอาการเบื้องต้นจะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เป็น แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายคลึงกับโรคกระเพาะอาหาร และโรคลำไส้แปรปรวน ทำให้ผู้ป่วยมักละเลยอาการเตือนเหล่านี้ ดังนั้นวิธีที่จะรู้ทันเจ้ามะเร็งได้ดีที่สุดก็คือการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

รู้เท่าทันได้ ง่ายนิดเดียว

การตรวจคัดกรองมะเร็งทางเดินอาหาร สามารถทำได้โดยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ซึ่งมีทั้งการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น และการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ร่วมกับการตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (CEA) ซึ่งจะช่วยให้สามารถทราบความเสี่ยงได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก