การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา คือ

            หากบุคลากรในสถานศึกษาทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้บุคคลและหน่วยงานนอกสถานศึกษาได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งในฐานะกรรมการสถานศึกษา วิทยากรหรือปราชญ์ชาวบ้าน หรือในฐานะผู้ให้การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาและฐานะผู้ประเมินคุณภาพของสถานศึกษาแล้ว ย่อมเชื่อมั่นได้ว่าสถานศึกษานั้นจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษาและการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา

                การมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชนในการจัดการศึกษานับเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นโดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กหากชุมชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนทรัพยากรการศึกษารวมถึงการเชิญผู้ปกครองที่มีความรู้และมีเวลาว่างมาเป็นครูพ่อครูแม่ให้ความรู้ด้านวิชาการด้านภูมิปัญญากับบุตรหลานย่อมเกิดผลดีทั้งต่อโรงเรียนที่ได้บุคลากรเพิ่มส่วนผู้ปกครองย่อมภาคภูมิใจที่ได้สอนบุตรหลานในโรงเรียนรวมถึงนักเรียนที่จะมีความเคารพและนับถือในตัวผู้ปกครองเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุนชม

                    กล่าวโดยสรุปกลไกการพัฒนาประเทศที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของแต่ละท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายคือทั้งชุมชน และสถานศึกษา เป็นการเอื้อเฟื้อกันและกัน กล่าวคือชุมชนต้องร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับบ้าน วัด โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มทุนทางสังคม สนับสนุนการจัดการองค์ความรู้ การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมคิด ร่วมทำให้พื้นที่โดยร่วมพัฒนาคนในชุมชนให้มีคุณภาพเพื่อเป็นทุนทางมนุษย์ ส่วนบทบาทของโรงเรียนก็ต้องเป็นแหล่งความรู้ สร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน ร่วมวิจัยกับชุมชน เป็นที่ปรึกษาหารือทางวิชาการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตนเอง สร้างหลักสูตรการเรียนการสอนโดยนำวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่นมาเป็นสื่อการเรียนรู้ หากทุกส่วนให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีความตระหนักร่วมกันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศที่สมบูรณ์ และยั่งยืนตลอดไป