ประเภทระบบสารสนเทศมีอะไรบ้าง

ประเภทของสารสนเทศ

1.ระบบประมวลผลรายการประจำ (Transaction Processing Systems : TPS)

เป็นระบบสารสนเทศที่เกี่ยวกับการบันทึกและประมวลข้อมูลที่เกิดจากธุรกรรมหรือการปฏิบัติงานประจำหรืองานขั้นพื้นฐานขององค์การ เช่น การซื้อขายสินค้า การบันทึกจำนวนวัสดุคงคลัง เมื่อใดก็ตามที่มีการทำธุรกรรมหรือปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะเกิดขึ้นทันที  ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่มีการขายสินค้า ข้อมูลที่เกิดขึ้นก็คือ ชื่อลูกค้า ประเภทของลูกค้า จำนวนและราคาของสินค้าที่ขายไป รวมทั้งวิธีการชำระเงินของลูกค้า

2.ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information Systems : MIS)
เป็นระบบที่ผู้บริหารระดับกลางต้องการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดการสารสนเทศ โดยจะรวมทั้งสารสนเทศภายในและภายนอก สารสนเทศที่เกี่ยวพันกับองค์กรทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งอนาคต นอกจากนี้ระบบ MIS จะต้องให้สารสนเทศภายในช่วงเวลาที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจในการวางแผนการควบคุมและปฏิบัติการขององค์กรได้อย่างถูกต้องและต้องเป็นข้อมูลที่ช่วยในการบริหารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ตัวอย่าง เช่น ระบบบริหารงานบุคลากร  ผลลัพธ์ของระบบนี้ มักอยู่ในรูปของรายงานสรุป  รายงานของสิ่งผิดปกติ

3.ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems : DSS)
เป็นระบบสารสนเทศที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริหาร โดยจัดทำรายงานเพื่อช่วยตัดสินใจของผู้บริหารระดับต่าง ๆ ด้วยการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผล เพื่อให้ได้ทางเลือกในการตัดสินใจได้หลายๆทาง และให้ผู้ใช้ได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกเอง  หลักการของระบบสร้างขึ้นจากแนวคิดของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยการตัดสินใจ โดยให้ผู้ใช้โต้ตอบโดยตรงกับระบบ ทำให้สามารถวิเคราะห์ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและกระบวนการพิจารณาได้ โดยอาศัยประสบการณ์ และความสามารถของผู้บริหารเอง  ผู้บริหารอาจกำหนดเงื่อนไขและทำการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆ ไปจนกระทั่งพบสถานการณ์ที่เหมาะสมที่สุด แล้วใช้เป็นสารสนเทศที่ช่วยตัดสินใจ  รูปแบบของผลลัพธ์อาจจะอยู่ในรูปของรายงานเฉพาะกิจ  รายงานการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจ  การทำนายหรือพยากรณ์เหตุการณ์ ตัวอย่างเช่น  การหาระดับสินค้าคงคลังที่เหมาะสม หรือการเลือกกลยุทธ์ในการลงทุนที่เหมาะสม  การว่าจ้างผู้บริหารใหม่เพิ่ม หรือการเลือกกลุ่มของโครงงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในปีหน้า

4. ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารระดับสูง (Executive Information Systems : EIS)

สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนสารสนเทศและการตัดสินใจ สำหรับผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะหรือ EIS ก็คือส่วนหนึ่งของระบบ DSS ที่แยกออกมาเพื่อเน้นในการให้สารสนเทศที่สำคัญต่อการบริหารแก่ผู้บริหารระดับสูงสุด  ซึ่งทำหน้าที่กำหนดแผนระยะยาวและเป้าหมายของกิจการ  สารสนเทศสำหรับผู้บริหารระดับสูงนี้จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลภายนอกกิจกรรมเป็นอย่างมาก   ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เป็นยุค Globalization ข้อมูลระดับโลก แนวโน้มระดับสากลเป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันของธุรกิจ  ผลลัพธ์ของระบบนี้ มักอยู่ในรูปของการพยากรณ์/การคาดการณ์  ตัวอย่างเช่น ข้อมูลทางการเงินและนโยบายรัฐบาลที่เป็นข้อมูลภายในและภายนอกสามารถนำมาให้ระบบ EIS วิเคราะห์และวางแผนหรือปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ได้

5.ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System : ES)

เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยผู้บริหารแก้ไขปัญหา หรือทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น ES จะเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ (Knowledge) มากกว่า สารสนเทศถูกออกแบบมาให้ช่วยในการตัดสินใจโดยใช้วิธีเดียวกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ โดยใช้หลักการทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ระบบผู้เชี่ยวชาญจะทำการโต้ตอบกับมนุษย์ โดยมีการถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่างให้ข้อแนะนำ และช่วยเหลือในกระบวนการตัดสินใจ นั่นคือ การทำงานคล้ายกับเป็นมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ เป็นการจำลองความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ มา โดยผู้เชี่ยวชาญในที่นี้ เป็นได้ทั้งผู้เชี่ยวชาญในการบริหาร ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องภาษี ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องยา หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในการทำอาหารก็ตาม

ตัวอย่างของ ES ที่นำไปใช้ในงานด้านต่างๆ

1) ด้านการแพทย์ : การให้คำแนะนำแก่หมอในการสั่งยาปฏิชีวนะให้คนไข้ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ หลายประการ เช่น ประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้ แหล่งติดเชื้อ ราคาของยา

2) ด้านการผลิต : การให้คำแนะนำแก่โรงงานในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องบิน

3) ด้านธรณีวิทยา : ให้คำแนะนำแก่นักธรณีวิทยาในการวิเคราะห์ดินและน้ำมัน เพื่อพิจารณาในการขุดเจาะน้ำมัน

4) ด้านกระบวนการผลิต : ให้คำแนะนำในการกำหนดตารางเวลาในกระบวนการผลิต (Expert Systems Scheduling) ซึ่งทำให้บริษัทสามารถปรับตารางเวลาการการผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการในการเปลี่ยนแปลงการผลิตหรือเงื่อนไขของโรงงานที่เปลี่ยนไป อย่างรวดเร็วดังที่บริษัท General Motors ได้นำมาใช้

5) ด้านกระบวนการทำงานของบริษัทบัตรเครดิต : ใช้ ES ช่วยในกระบวนการทำงานตั้งแต่การประมวลการสมัครของลูกค้า การอนุมัติเครดิต การรวมบัญชีที่ค้างชำระเกินกำหนด ES ที่ใช้ระบบนี้เรียกว่า Authorization Assistant และทำให้บริษัทประหยัดเงินได้หลายล้านดอลล่าร์ในแต่ละปี (Haag et al.,2000)

6) ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ : การออกแบบ ES มาสำหรับช่วยบริษัทที่ทำธุรกิจต่างประเทศในการทำสัญญากับประเทศต่างๆ และใช้เป็นเครื่องมืออบรมพนักงานให้มีความรู้และทักษะในความซับซ้อนของการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น (Haag et al.,2000)

7) ด้านการค้าระหว่างประเทศ : บริษัทที่ติดต่อกับกลุ่มประเทศ NAFTA ต้องเผชิญปัญหากับภาษีและกฎระเบียบที่สลับซับซ้อนสำหรับสินค้าต่างๆ ตลอดจน ความเข้มงวดในเรื่องพิธีศุลกากร และการกำหนดโทษของการฝ่าฝืนค่อนข้างรุนแรง ดังนั้น ความเสี่ยงในการทำการค้ากลุ่มประเทศดังกล่าวจึงค่อนข้างสูง บริษัทต่างๆ จึงได้อาศัย ES สำเร็จรูปที่ชื่อว่า “Origin” เป็นเครื่องมือช่วยในการให้คำแนะนำในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ

6. ระบบสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation Systems : OAS)

เป็นระบบที่สนับสนุนงานในสำนักงาน หรืองานธุรการของหน่วยงาน ระบบจะประสานการทำงานของบุคลากรรวมทั้งกับบุคคลภายนอก หรือหน่วยงาน  แบ่งได้เป็น 5 ประเภท  คือ  ระบบจัดการเอกสาร  ระบบการจัดการข่าวสาร  ระบบการทำงานร่วมกัน /ประชุมทางไกล  ระบบการประมวลภาพ  และระบบการจัดการสำนักงาน   ระบบOAS นี้จะเกี่ยวข้องกับการจัดการเอกสาร โดยการใช้ซอฟท์แวร์ด้านการพิมพ์  การติดต่อผ่านระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้นผลลัพธ์ของระบบนี้ มักอยู่ในรูปของเอกสาร  กำหนดการ  สิ่งพิมพ์

จะเห็นว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในสำนักงานอย่างเต็มที่นั้น ทำให้เกิดแนวความคิดของสำนักงานอัตโนมัติ การใช้ไอทีโดยทั่วไปจะเน้นการนำมาประยุกต์ใช้ด้านเอกสาร การประมวลผลข้อมูล และ สารสนเทศ การสื่อสาร การประชุม และการทำงานร่วมกันภายในขององค์กรและการสื่อสารภายนอกองค์กร

ดังนั้น สำนักงานอัตโนมัติ (OAS) เป็นการรวมเทคโนโลยีต่างๆที่ช่วยพนักงานและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสำนักงาน เทคโนโลยีเหล่านี้รวมถึง Voice mail, e-mail, scheduling software , Desktop publishing , Word processing , และ Fax เทคโนโลยีของสำนักงานอัตโนมัติจะใช้กับบุคลากรทุกระดับ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่ใช้จะเป็นระบบ LAN หรือใช้ระบบ Intranet หรือ Extranet