Beauty and the beast เรื่องย่อการ์ตูน

คำเตือน : บทความนี้เล่าเรื่องย่อของเรื่องสั้น ‘The Courtship of Mr. Lyon’ โดยแอนเจลา คาร์เทอร์ (Angela Carter) ตีพิมพ์ใน The Bloody Chamber and Other Stories

 

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Beauty and the Beast’ หรือ ‘โฉมงามกับเจ้าชายอสูร’ ฉบับแสดงด้วยคนจริงกำลังจะเข้าฉาย ผู้เขียนคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะทำรายได้ไม่น้อย ไม่เพียงเพราะนักแสดงนำที่โด่งดังหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเอมมา วัตสัน (Emma Watson) แดน สตีเวนส์ (Dan Stevens) ยวน แมคเกรเกอร์ (Ewan Macgregor) เซอร์เอียน แมคเคลเลน (Sir Ian Mackellen) เอมมา ธอมป์สัน  (Emma Thompson) หรือ ลุค เอฟเวนส์ (Luke Evans) เท่านั้น แต่ภาพยนตร์เรื่อง Beauty and the Beast ในฉบับอนิเมชั่นนั้นอาจตราตรึงใจใครหลายๆ คน จนอยากย้อนกลับไปดูเรื่องราว และฟังเพลงเพราะๆ จากวัยเด็กกันอีกครั้ง

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ฉบับใหม่ของดิสนีย์ไม่เพียงแค่ ‘เปลี่ยนภาพการ์ตูนเป็นคนจริง’ แต่ยัง ‘เปลี่ยนบุคลิกลักษณะของตัวละครต่างๆ’ รวมทั้งเพิ่มโครงเรื่องใหม่ๆ เพื่อท้าทายอุดมการณ์เรื่องเพศสถานะและเพศวิถีตามขนบ เอมม่า วัตสันและแดน สตีเวนส์ได้บอกกับนิตยสาร Attitude ล่าสุด (มีนาคม 2560) ว่าบทแบลล์ (Belle) ถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นผู้หญิงรู้หนังสือ ที่กลายเป็นผู้หญิงที่แปลกแยกในสังคมเพราะเธอไม่ทำตามขนบและเก่งเกินไป

นอกจากนี้ บิล คอนดอน (Bill Condon) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ให้ข้อมูลว่าตัวละครเลอฟู (Lefou) คู่หูของกัสตง (Gaston) จะได้เรียนรู้ว่าตัวเองเป็นชาวเพศหลากหลายคนหนึ่ง ที่ทั้งอยากเป็นกัสตงและอยากจูบกัสตงในเวลาเดียวกัน (จนมีข่าวออกมาวารัฐบาลรัสเซียสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว)  Beauty and the Beast ฉบับนี้อาจมีอะไรหลายๆ อย่างชวนให้เราผู้เคยดูฉบับภาพยนตร์การ์ตูนได้ประหลาดใจด้วย

 

บทแบลล์ (Belle) ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นผู้หญิงรู้หนังสือ ที่กลายเป็น
ผู้หญิงที่แปลกแยกในสังคม เพราะเธอไม่ทำตามขนบและเก่งเกินไป

 

อันที่จริง ไม่ได้มีแต่ดิสนีย์ที่ดัดแปลงเรื่องนี้ เพราะ Beauty and the Beast ถูกดัดแปลงกลายเป็นนวนิยายและซีรีส์อื่นๆ มากมาย เช่น

นวนิยาย ‘Beastly’ ของ อเล็กซ์ ฟลินน์ (Alex Flinn) (2007) ที่ปรับเรื่องราวเดิมให้เป็นชีวิตของนักเรียนโรงเรียนมัธยมปลายในนิวยอร์ก ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ นำแสดงโดย อเล็กซ์ เพ็ททีเฟอร์ (Alex Pettyfer) หรือซีรีส์ ‘Beauty and the Beast’ ซึ่งนำแสดงโดยคริสติน ครูค (Kristin Kreuk) และ เจย์ ไรอัน (Jay Ryan) เล่าเรื่องเกี่ยวกับนักสืบสาวที่ตกหลุมรักกับทหารเก่าซึ่งกลายร่างเป็นสัตว์ร้ายได้

 

 

ฉบับไหนกันแน่ที่เป็น ‘ต้นฉบับ’ ของแท้?

เมื่อถามถึงต้นฉบับของนิทานเรื่องนี้ เราอาจตอบไม่ได้ว่าอะไรเป็นต้นทางที่แท้จริงกันแน่ เรื่อง Beauty and the Beast เนี่ย ถูกเขียนขึ้นเป็นนวนิยายภาษาฝรั่งเศสโดย กาบริแอลล-ซูซานน์ บาร์โบท์ เดอ วิลเนิฟ (Gabrielle-Suzanne Barbot de Villeneuve) ในศตวรรษที่สิบแปด แต่ ‘ต้นฉบับ’ ที่ทุกคนรู้จักก่อนจะมีภาพยนตร์ดิสนีย์ ปี 1991 นั้น คือเวอร์ชันที่ย่อแล้วสองฉบับ ฉบับแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบแปด ส่วนฉบับที่สองเป็นภาษาอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า

ปัญหาที่หนึ่งของต้นฉบับที่เราเห็นได้จากกรณีนี้คือคำว่า ‘ต้นฉบับ’ ในความคิดของคนทั่วไปไม่ใช่ ‘ตัวบทเริ่มแรก’ แต่อาจเป็น ‘ตัวบทที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จัก’ มากกว่าตัวบทอื่นๆ อีกปัญหาหนึ่งคือ คำว่าต้นฉบับนั้นหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ งานของบาร์โบท์ เดอ วิลเนิฟนั้นมีที่มาทั้งจากเรื่องจริงและเรื่องแต่ง เรื่องจริงนั้นคือเรื่องของชายคนหนึ่งที่มีอาการผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้ขนขึ้นยาวเต็มร่างที่ถูกพบที่สเปน ภายหลังราชสำนักฝรั่งเศสได้อุปถัมภ์จนได้ดิบได้ดี และได้แต่งงานกับหญิงงามคนหนึ่งในกรุงปารีส ส่วนเรื่องแต่งคือตำนานคิวปิดกับไซคีของอพูเลอุส (Apuleius) เอาจริงๆ ตำนานคิวปิดกับไซคีนั้นอาจไล่ไปได้ถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่เป็นที่มาของการสยุมพรกับเทพเจ้าได้อีกด้วย

 

‘ต้นฉบับ’ ในความคิดของคนทั่วไปไม่ใช่ ‘ตัวบทเริ่มแรก’
แต่อาจเป็น ‘ตัวบทที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จัก’ มากกว่าตัวบทอื่นๆ

 

คำว่า ‘ต้นฉบับ’ สุดท้ายแล้วก็เป็นคำที่ชวนปวดหัว เพราะที่มาที่ไปของเรื่องราวสักเรื่องนั้นอาจจะกว้าง หลากหลาย และไม่ได้เป็นเส้นตรงอย่างที่เราคิด ต้นฉบับไม่ใช่หนังสือเล่มหนึ่ง เรืองรองซ่อนอยู่ในหุบผาที่อยู่ปลายทาง รอให้เราไปค้นพบ แต่อาจจะกลายเป็นหนังสือหลายๆ เล่ม อาจจะเป็นดอกไม้ ต้นไม้ ผู้คน หรือแม้แต่อยู่ในตัวผู้อ่านเองก็ได้

 

เหมือนยังไง ต่างตรงไหน กับอนิเมชั่นของดิสนีย์

ต้นฉบับที่แพร่หลายกันก่อนสมัยดิสนีย์ มีความต่างจากฉบับดิสนีย์อย่างไร? ประการแรก ดอกกุหลาบที่เป็นตัวแทนของคำสาปในฉบับดิสนีย์นั้นเป็นเพียงดอกไม้ที่โฉมงามขอพ่อก่อนพ่อออกเดินทางไปกู้เรือสินค้าของตนเอง และกลายเป็นเหตุให้เธอถูกจองจำเพราะพ่อเธอเดินทางมาหลบพายุฝนที่คฤหาสน์ของอสูรและขโมยดอกกุหลาบไปฝากลูกสาว โฉมงามจึงต้องจำใจไปอาศัยอยู่กับอสูรไปเพื่อแลกกับดอกกุหลาบและทรัพย์สินที่พ่อได้มา

ประการที่สอง สำหรับความรักของทั้งคู่นั้น ในฉบับปลายศตวรรษที่สิบเก้า โฉมงามไม่ยอมแต่งงานกับอสูรตามที่อสูรขอ แต่เมื่อพักอยู่ที่คฤหาสน์ของอสูร เธอฝันถึงเจ้าชายรูปงามอย่างที่เธอฝันมาขอให้เธอช่วย เธอนึกไปว่าเจ้าชายคนนี้ถูกอสูรขังไว้ แต่ความจริงแล้วเจ้าชายก็คือร่างจริงของอสูร ความรักของโฉมงามกับอสูรในฉบับนี้น่าจะเกิดขึ้นเพราะอสูรอำนวยความสะดวกและมอบสิ่งดีๆให้แก่เธอ ส่วนฉบับดิสนีย์นั้นพยายามเน้นย้ำเรื่องรักแท้ที่อยู่นอกเหนือรูปลักษณ์ภายนอก โดยโฉมงามกับอสูรฉบับดิสนีย์เริ่มรักกันเมื่ออสูรปกป้องโฉมงามจากหมาป่า

 

ความรักของโฉมงามกับอสูรในฉบับนี้น่าจะเกิดขึ้น
เพราะอสูรอำนวยความสะดวกและมอบสิ่งดีๆให้แก่เธอ
ส่วนฉบับดิสนีย์นั้นพยายามเน้นย้ำเรื่องรักแท้ที่อยู่เหนือรูปลักษณ์ภายนอก

 

ประการสุดท้าย ฉบับก่อนดิสนีย์นั้นไม่มีกัสตงจอมกร่าง และไม่มีการยกพวกมาบุกปราสาทหรือคฤหาสน์ของอสูร แต่มีพี่สาวที่อิจฉาโฉมงามที่ได้ใช้ชีวิตหรูหราสุขสบาย จึงหลอกล่อให้น้องสาวเดินทางกลับปราสาทช้ากว่ากำหนดเพราะหวังว่าอสูรจะโกรธและจับเธอกิน แต่ตอนจบนั้นคล้ายกัน อสูรฉบับดิสนีย์นั้นต่อสู้กับกัสตงจนได้รับบาดเจ็บปางตาย ส่วนอีกฉบับนั้นอสูรตรอมใจเพราะคิดว่าโฉมงามไม่รักตนแล้ว สุดท้ายทั้งคู่ก็กลับกลายเป็นเจ้าชายรูปงามเมื่อน้ำตาของโฉมงามหยดลงบนร่างเหมือนกัน

ไม่ว่าว่าต้นฉบับของจริงจะเป็นฉบับใดก็ตาม สุดท้ายฉบับใดฉบับหนึ่งก็มีส่วนในการผลิตตัวบทอื่นๆ ขึ้นมา ด้วยการเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนคนอื่นๆ ได้นำตัวเรื่องมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยหรือวัฒนธรรมของตน หรือชวนให้ผู้เขียนคนอื่นๆ ตั้งคำถามและสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมาเพื่อท้าทาย Beauty and the Beast ก็ผ่านกระบวนการเหล่านั้นเช่นกัน ดังที่ได้เกริ่นไปข้างต้นแล้ว

 

‘The Courtship of Mr. Lyon’ by Angela Carter

นักเขียนหญิงมือหนึ่งคนหนึ่งของเกาะอังกฤษอย่างแอนเจลา คาร์เทอร์ (Angela Carter) ก็ได้ดัดแปลงตำนานโฉมงามกับเจ้าชายอสูรไว้ด้วยเช่นกัน งานเขียนของคาร์เทอร์มักเป็นงานดัดแปลงเทพนิยายและตำนานที่เปลี่ยนมุมมองและโครงเรื่องเดิม ทำให้ตัวละครหลายๆตัวมีมิติ และเปิดเผยให้เห็นปัญหาหรือประเด็นบางอย่างที่ต้นฉบับมีอยู่ หรืออาจปรับเปลี่ยนเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในปัจจุบันด้วย

นิทานหรือตำนานบางเรื่องนั้นมีส่วนหล่อหลอมความคิดความเชื่อในสังคมที่อาจกดขี่หรือสร้างภาพเชิงลบต่อคนบางกลุ่ม ดังนั้น การดัดแปลงนิทานหรือตำนานเหล่านั้นก็อาจชวนให้เราฉุกคิดเกี่ยวกับชีวิตหรือสังคมอันเป็น ‘ปกติ’ ของเราก็ได้ ประเด็นสำคัญที่คาร์เทอร์สนใจคือประเด็นเพศสถานะและเพศวิถี ประเด็นเหล่านี้สอดแทรกอยู่ในนิทานฉบับเล่าใหม่ของเธอมากมาย

 

การดัดแปลงนิทานหรือตำนานเหล่านั้นก็อาจชวน
ให้เราฉุกคิดเกี่ยวกับชีวิตหรือสังคมอันเป็น ‘ปกติ’ ของเรา

 

เธอได้ดัดแปลงนิทานเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูรให้กลายเป็นเรื่องสั้นสองเรื่องนั่นคือ ‘The Courtship of Mr. Lyon’ และ ‘The Tiger’s Bride’ ทั้งสองเรื่องนั้นเขียนก่อนจะมีภาพยนตร์การ์ตูนฉบับดิสนีย์ (คาร์เทอร์เองก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะมีภาพยนตร์ฉบับดิสนีย์ด้วย) น่าสนใจตรงที่นักเขียนคนเดียวมองเห็นประเด็นในวรรณกรรม ‘ต้นฉบับ’ มากมายจนนำไปเขียนเป็นสองเรื่องได้

ณ ตรงนี้ขอพูดถึงเฉพาะ ‘The Courtship of Mr. Lyon’ แล้วกัน

เรื่องนี้อาจจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘การเกี้ยวพาราสีของมิสเตอร์ลิยง/ไลออน’ ตัวเรื่องนั้นดูเรียบๆ แต่แฝงประเด็นเกี่ยวกับการบริโภคเอาไว้ เหมือนกับได้เชื่อมโยง ‘การบริโภคหรือความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ’ กับ ‘การเป็นสัตว์ร้าย’ เอาไว้ด้วยกัน และยังพูดถึงความเป็นสัตว์ซึ่งมนุษย์มองข้ามไปอีกด้วย น้ำเสียงของเรื่องนั้นดูจะเล่าเรียบๆ เหมือนเป็นนิทานเรื่องหนึ่ง อาจจะเหมือนเอานิทานต้นฉบับ (ในที่นี้หมายถึงฉบับที่แพร่หลายตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า) มาเปลี่ยนยุคและคงความมหัศจรรย์เอาไว้ เพราะตัวเรื่องนั้นแทบจะเหมือนเดิมทุกอย่าง ตั้งแต่พ่อของโฉมงามรถเสียติดอยู่ในหิมะ ไปเจอบ้านของอสูร อสูรช่วยเหลือพ่อของโฉมงามทุกอย่างแต่พอพ่อของโฉมงามจะขโมยกุหลาบ อสูรจึงขอให้พาโฉมงามมารับประทานอาหารด้วยและขอให้อยู่ที่บ้านอสูรในระหว่างที่ทนายได้ช่วยเหลือพ่อของเธอ ภายหลังเมื่อพ่อของเธอกลับมาร่ำรวย เธอจึงกลับไปอยู่กับพ่อจนลืมนึกถึงอสูร เมื่อเธอกลับไป พบว่าอสูรใกล้ตาย เธอจึงสัญญาว่าจะอยู่กับอสูรและร้องไห้ อสูรก็กลายเป็นคน

อย่างไรก็ตาม ตัวเรื่องกลับชี้ให้เราเห็นด้วยว่าระบบเศรษฐกิจทำให้เรากลายเป็น ‘นักล่าที่หากินเพื่อตัวเองคนเดียว’ หรือกลายเป็น ‘เหยื่อที่ไม่พร้อมจะเข้าใจใคร’ แตกต่างจากต้นฉบับที่ไม่ได้เน้นย้ำมิติทางเศรษฐกิจและชี้ให้เห็นว่าการเสียสละของโฉมงามทำให้เธอได้มีชีวิตที่สุขสบายกับสัตว์ร้าย

 

การตีความใหม่ผ่านมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์

ตัวเรื่องของมิสเตอร์ลิยง/ไลออนนั้นคล้ายกับต้นฉบับมาก เพียงแต่เหตุการณ์ที่โฉมงาม (หรือที่ในเรื่องเรียกว่า Beauty) เดินทางกลับไปหาคุณพ่อหลังจากอสูร (ซึ่งฉบับนี้ทำให้มีหน้าตาเหมือนสิงโต) ได้หาทางให้คุณพ่อของโฉมงามชนะคดีล้มละลายและกลับมาร่ำรวยอีกครั้งได้นั้น โฉมงามที่แปรเปลี่ยนเป็นสาวสังคมนักบริโภคได้ส่องกระจก (ของวิเศษสำคัญของเรื่องในหลายๆ ฉบับ) และพบว่าใบหน้าของเธอนั้นเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน แทนที่จะงดงามก็กลับมีความน่ารักชนิดที่ไม่มีใครเปรียบมาฉาบเคลือบอยู่ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับแมวราคาแพงที่งามสง่าเพราะมีคนมาพะเน้าพะนอ (Her face was acquiring, insterad of beauty, a lacquer of the invincible prettiness that characterizes certain pampered, exquisite, expensive cats.)

เราอาจจะสะดุดกับคำบรรยายตรงนี้ และถ้าอ่านย่อหน้านี้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ชีวิตสุขสบายหรูหราของโฉมงามนั้นทำให้เธอไม่เป็น ‘นางเอก’ เหมือนที่หลายๆ คนคาดหวังว่าเธอจะเป็น ย่อหน้านี้เน้นความเปลี่ยนไปของโฉมงาม หลังจากมีทรัพย์สินเงินทองร่ำรวยเธอไม่ได้เป็นเหยื่ออีกต่อไป แต่เธอกลายเป็นสัตว์นักล่าตระกูลเดียวกับอสูร นั่นคือแมว เธอเองก็อาจไม่ต่างจากอสูร เมื่อเธอมีเงินทองและบริโภค เธอเองก็กลายเป็นนักล่า เพราะระบบเศรษฐกิจนั้นเอื้อให้เกิดความไม่เท่าเทียมและทำให้เธอไม่รู้จักแบ่งปันหรือนึกถึงคนอื่น

 

Her face was acquiring, insterad of beauty,
a lacquer of the invincible prettiness that characterizes
certain pampered, exquisite, expensive cats.

 

การนึกถึงคนอื่นนี้เองอาจชวนให้เรานึกถึงช่วงเวลาอื่นๆ ได้เหมือนกัน ความเห็นแก่ตัวหรือความหลงตัวเองที่โฉมงามมีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่เธอจะร่ำรวยด้วยซ้ำ เพราะเมื่ออสูรมองเธอ สิ่งที่เธอเห็นคือเงาของตัวเองสะท้อนในดวงตาของเขา ราวกับว่าอสูรเป็นกระจกให้แก่ตัวตนมนุษย์และบทบาทเหยื่อในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเธอไปพบอสูรนอนซมอยู่ในบ้าน เธอเห็นว่าเขากะพริบตาและตระหนักได้ว่าเขามีเปลือกตาเหมือนคน เธอจึงเข้าใจทันทีว่าเธอเองนั้นมองเห็นแต่หน้าของเธอเองที่สะท้อนกลับมา แต่มองไม่เห็นตัวตนของเขาเลย (How was it she had never noticed before that his agate eyes were equipped with lids, like those of a man? Was it because she had only looked at her own face, reflected there?)

ข้อความตรงนี้ชี้ให้เราเห็นการเพิกเฉยต่อความเป็นอื่นและการไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นที่อาจไม่ได้แตกต่างจากเราอย่างที่เราคิด สิ่งที่เรามองว่าเป็นอื่นนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจไม่ได้หรือเรียนรู้ไม่ได้ ในวันหนึ่ง กรอบความคิดของเราที่เปิดเผยให้เราเห็นแต่ตัวเองนั้นอาจสูญสลายไปด้วยความรักก็เป็นได้ แต่ความรักสำหรับเวอร์ชั่นนี้อาจไม่ใช่ความรักที่เกิดขึ้นเพราะผู้ชายเป็นคนร่ำรวยและให้ทุกอย่างได้ แต่คือการตระหนักถึงความเป็นอื่นและการเปิดใจมากกว่า การกลายร่างของอสูรนั้นจึงอาจเป็นเพียงการมองเห็นอสูรในมุมใหม่ ตัวเรื่องไม่ได้เชิดชูว่ามนุษย์นั้นสูงส่งกว่าอสูร หรือมนุษย์ควรเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากอสูรได้เข้าใจความรัก เพราะโฉมงามนั้นยังมองอสูรเป็นทั้งคนและอสูร (And then it was no longer a lion in her arms but a man, a man with an unkempt mane of hair, and how strange, a broken nose, such as the noses of retired boxers, that gave him a distant, heroic resemblance to the handsomest of all the beasts.)

 

How was it she had never noticed before that his agate eyes
were equipped with lids, like those of a man?
Was it because she had only looked at her own face, reflected there?

 

ความคิดเรื่องความรักที่เปลี่ยนไปจากการมองคนอื่นเป็นวัตถุหรือที่มาของวัตถุสินค้าก็เกิดขึ้นกับอสูรเช่นกัน อสูรได้บอกกับโฉมงามในขณะที่นอนซมว่า หลังจากที่เขาได้พบโฉมงามนั้น เขาไม่อาจออกล่าสัตว์ได้อีกแล้ว เขาไม่มีความปรารถนาที่จะฆ่าสัตว์อื่นๆที่อ่อนโยนอีก จนเขาป่วยและต้องตาย (I could not go hunting, I found I had not the stomach to kill the gentle beasts, I could not east. I am sick and I must die.) ต่างจากในตอนแรกที่เขาเห็นโฉมงามเป็นเพียงข้อแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ เป็นเพียงสินค้าที่แลกเปลี่ยนกับเงินที่อสูรให้ แต่เราอาจตีความได้ว่า หลังจากที่โฉมงามได้อาศัยอยู่ในบ้านและร่วมพูดคุยกับอสูร อสูรได้ขาดความสามารถในการเป็นผู้ล่า ในการมองสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นอาหารทั้งในทางเศรษฐกิจและในฐานะสัตว์นักล่าจริงๆ

การกินหรือการหากินในเรื่องนั้นจึงเป็นอนุภาค (องค์ประกอบที่ปรากฏซ้ำๆ) ที่สำคัญของเรื่อง เพราะเป็นเครื่องอธิบายทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและการเผชิญหน้ากับคนอื่น ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง พื้นที่คฤหาสน์ของอสูรนั้นเป็นพื้นที่ที่แสดงความสัมพันธ์ด้วยอาหาร การรับประทานด้วยตัวเองคนเดียวในเรื่องอาจสะท้อนถึงการเสริมสร้างตัวเอง การหลงตัวเอง ในขณะที่การร่วมรับประทานอาหารอาจหมายถึงการเข้าสังคมและการแบ่งปันทรัพยากรอาหาร ทั้งอาหารที่พ่อของโฉมงามได้รับประทาน อาหารที่ยกมาในห้องผ่านถาดหมุนเมื่อโฉมงามต้องอาศัยในบ้านของอสูร

 

I could not go hunting, I found I had not the stomach
to kill the gentle beasts, I could not east.
I am sick and I must die.

 

และตอนจบเมื่อโฉมงามสัญญากับอสูรว่าจะไม่จากอสูรไป อสูรได้เปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นคนและได้ชวนโฉมงามรับประทานอาหารร่วมกัน (“Do you know,” said Mr Lyon, “I think I might be able to manage a little breakfast today, Beauty, if you would eat something with me.”) ตัวเรื่องไม่ได้นำเสนอจุดจบที่สุดขั้วชนิดที่ต้องล้มระบบเศรษฐกิจทั้งหมด แต่กลับเชื่อในการแบ่งปันและการช่วยเหลือกันในระบบเศรษฐกิจที่โหดร้าย การรับประทานอาหารร่วมกันในตอนจบนั้นไม่ใช่การบังคับเหมือนคราวแรก เพราะอสูรมองเธอเป็นสินค้าหรือข้อแลกเปลี่ยน การรับประทานอาหารร่วมกันในตอนจบอาจเป็นสัญลักษณ์ของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเข้าใจผู้อื่น แตกต่างจากการบริโภคสินค้าเพื่อเสริมสร้างความงามและความสูงส่งให้แก่ตนเอง

 

ถ้าสนใจโฉมงามกับเจ้าชายอสูรที่มาจากปลายปากกานักเขียนแนวสตรีนิยมอีก ผู้เขียนขอแนะนำ ‘The Tiger’s Bride’ ของคาร์เทอร์ อยู่ในรวมเรื่องสั้นเล่มเดียวกัน คราวนี้โฉมงามของเราจะก๋ากั่น ส่วนอสูรจะลึกลับมาก แต่ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือการนิยามคำว่าคนและสัตว์ที่สุดท้ายแล้วอาจจำกัดอยู่เพียงมนุษย์ผู้ชายคนขาวเท่านั้น เพราะผู้หญิงนั้นเหมือนสัตว์เพราะถูกมองว่าไร้ตรรกะ คนขาวมองคนผิวสีหรือคนใต้อาณานิคมว่าล้าหลังป่าเถื่อนใกล้เคียงสัตว์ แต่การอยู่ด้วยกันตลอดไปของอสูรและโฉมงามจะเป็นอย่างไร โฉมงามจะได้เรียนรู้อะไร ก็ขอให้ไปหาอ่านเอง

ส่วนอีกเรื่องที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือกลอนภาษาอังกฤษที่ชื่อ ‘Mrs. Beast’ ของคาโรล แอนน์ ดัฟฟี (Carol Ann Duffy) กลอนบทนี้รวมอยู่ในชุด The World’s Wife ซึ่งรวมเอาภรรยาซึ่งทั้งมีตัวจริงและไม่มีตัวจริงในวรรณกรรมต้นฉบับมาพูดถึงตัวเองและสามีซึ่งเป็นตัวละครหรือบุคคลที่โด่งดัง เช่น ‘The Devil’s Wife’ หรือ ‘Mrs. Sisyphus’ หนังสือรวมกลอนชุดนี้อาจจะเหมาะกับคนที่สนใจตำนานตะวันตกอยู่แล้ว สำหรับ ‘Mrs. Beast’ นั้น เธอคือผู้หญิงสวยรวย ได้สามีหล่อล่ำเซ็กซี่ เธอใช้งานสามีเยี่ยงทาส สนุกสนานกับการสังสรรค์กับเพื่อนๆที่มีสามีเป็นภูตพรายต่างๆ แต่เธอก็ได้พบเจอกับวิญญาณของผู้หญิงที่พ่ายแพ้ อย่างอีฟ หรือซินเดอเรลลา กลอนบทนี้ชวนให้ผู้หญิงที่เอาตัวรอดได้และพร้อมทุกอย่างในโลกทุนนิยมที่ชายเป็นใหญ่นั้นระลึกถึงผู้หญิงที่ต้องเจ็บปวดจากภัยของระบบทั้งสองด้าน และอาจตั้งคำถามกับการ เอาชนะผู้ชายของเธอด้วย