ภูมิปัญญา ด้านการจัดการทรัพยากร และการพัฒนา หมู่บ้าน

บทความพิเศษ/ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย มัวไปหลงใหลในกระแสต่างชาติเสียนานสภาวะเศรษฐกิจถดถอยต้องกลับคืนหา “ความเป็นตัวตน” รัฐบาลต้องมาใส่ใจ “เศรษฐกิจสังคมรากหญ้า” เพราะหลายสิ่งเป็นวิถีชีวิตชุมชนแบบบ้าน ๆ มีตัวตน มีอัตลักษณ์ (Identity) กล่าวคือ สังคมแต่ละสังคมย่อมมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (Wisdom) ที่ถือเป็น “องค์ความรู้ของชาวบ้าน” ใน 3 ระดับ คือ “ภูมิปัญญาระดับชาติ” “ภูมิปัญญาระดับชุมชน” และ”ภูมิปัญญาระดับท้องถิ่น” ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ยุคแห่งข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน กระแสวัฒนธรรมต่างชาติต่างถิ่นไหลเข้ามากลืนกินความเป็น “ตัวตน” ยุ่งเหยิงวุ่นวายไปด้วยลัทธิ “ทุนนิยมเสรี” ที่เข้ามาแทรกแซงความเป็นตัวตนในวิถีของชุมชนแบบบ้าน ๆ ให้เข้าไปอยู่ในวงจรของระบบเศรษฐกิจที่ถือทุนเป็นใหญ่ใน “ลัทธิบริโภคนิยม” (Consumerism) เห่อตามสังคมแห่งการบริโภค อวดมั่งอวดมี จับจ่ายสินค้าที่มีเข้ามาขาย สินค้าสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ ก็ไม่เว้น เพราะมี “ตลาดนัดคลองถม” “ตลาดสินค้าราคาถูกสินค้ามือสอง” หรือ “ตลาดนัดจากคนขายเร่” “ร้านสะดวกซื้อ” “ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต” (ห้าง) มิใช่คนในหมู่บ้านขายกันเอง ถือการบริโภคเพื่อการพาณิชย์ ผลิตเพื่อขาย มิได้ผลิตเพื่อการเลี้ยงตัวเองอีกต่อไป ทำให้วิถีชีวิตแบบบ้าน ๆ ถูกทำลายไปทีละน้อย บางแห่งอาจสูญหายไปเลย จากคนรุ่นสู่รุ่นที่สืบเนื่องถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังติดต่อกันมาแต่อดีตหายไปเลย เอาง่าย ๆ ชนบทสมัยเมื่อกว่า 30-40 ปีก่อนถือเป็นเรื่องปกติ การลงแขก (เอาแรง) ดำนา ตีข้าว(นวดข้าว) เป็นวิถีชีวิตของคนชนบทบ้านนอก ต่อมาเมื่อมีรถเกี่ยวข้าว การลงแขกนวดข้าวจึงหายไป เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักการไถนา การเลี้ยงควาย การเกี่ยวข้าว การนวดข้าว การหมักสาโทกินในช่วงนวดข้าว (ช่วงหน้าหนาวคนภาคเหนือเรียกหน้าแล้ง) การร้องรำทำเพลงตีข้าว หนุ่มสาวเกี้ยวกันด้วยเพลงลูกทุ่ง ผญา คำสอย (ภาคอีสาน) จ๊อย (ภาคเหนือ) การนอนซุ้มกองฟางในหน้าหนาว ฯลฯ มันหายไปจากสังคมชนบทบ้านนอกจริง ๆ วิถีชีวิตของชาวนาเปลี่ยนไปมาก ๆ มีการใช้สารเคมีมากขึ้น ระบบการทำนาเป็นแบบจ้างแรงงาน ไม่มีการลงแขก ต้นทุนการทำนามากขึ้นด้วยระบบการลงทุนผลิตข้าวหรือสินค้าเกษตรเพื่อส่งขาย นึกมาถึงตรงนี้แล้ว อดนึกถึงวิถีชีวิตของคนบ้านนอกปัจจุบันมันเปลี่ยนไปหมด นี่เป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ภูมิปัญญาไทยได้แก่อะไรบ้าง มีคำกล่าวว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เปรียบเสมือนน้ำที่อยู่ในหนอง ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการไหลเวียนน้ำนั้นก็จะเน่าเสีย แต่ถ้าหากมีน้ำใหม่ไหลเข้ามาเปลี่ยนน้ำเก่าก็จะเกิดการเคลื่อนไหวไหลเวียนไปในที่ต่าง ๆ ผู้คนก็จะได้ใช้น้ำนั้นตั้งแต่ต้นสายยันปลายสาย” ลองเท้าความแยกแยะ “ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย” กันอีกรอบว่ามีอะไรบ้าง แยกแยะกันว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะได้นึกว่ามีสิ่งใดบ้างที่กำลังจะสูญหายไป หรือทำท่าจะแย่ เพราะ ขาดผู้สืบทอดและอยู่ในภาวะความเสี่ยงใกล้สูญหาย มาเริ่มต้นกันที่ คณะกรรมการประเมินผลเอกสาร และจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2543) กำหนดสาขาภูมิปัญญาไทยไว้หลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ในด้านต่าง ๆ เป็น 10 สาขา คือ (1) ภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม (2) ภูมิปัญญาด้านอุตสาหกรรมหัตถกรรม (3) ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย (4) ภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) ภูมิปัญญาด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน (6) การจัดการองค์กร (7) ภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม (8) ภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณกรรม (9) ภูมิปัญญาด้านปรัชญา ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี (10) ภูมิปัญญาด้านโภชนาการ เหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีความสำคัญ และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจต่อสังคมไทยทั้งสิ้น จากปัญหาแค่วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปข้างต้น เกิดปัญหาและภาวะวิกฤตินานาประการ สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบัน “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” มันถูกกระทบไปหมด มันสายไปแล้ว แม้ว่าเมื่อ 20 ปีก่อนในช่วง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) สรุปความสำคัญของภูมิปัญญาไทยไว้ คือ (1) ภูมิปัญญาไทยช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น (2) สร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีเกียรติภูมิแก่คนไทย (3) สามารถประยุกต์หลักธรรมไปใช้กับวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม (4) สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคมและธรรมชาติอย่างยั่งยืน (5) เปลี่ยนแปลงปรับปรุงประยุกต์ใช้ตามยุคสมัย การศึกษาส่งเสริมภูมิปัญญาไทย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2542 ให้นำเอาภูมิปัญญาที่สั่งสมไว้ในบ้านเมืองมาใช้เป็นพื้นฐานสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนหรือการปฏิรูปการศึกษา นำมิติทางวัฒนธรรมมาใช้ในการพัฒนา เพราะการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน มิได้เอื้อให้ผู้เรียนส่วนใหญ่เรียนรู้เรื่องราวและภูมิปัญญาสังคมไทยที่สั่งสมสืบทอดมาในอดีตเท่าที่ควร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องภูมิปัญญา เพื่อผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อันพึงประสงค์ โดยดำเนินการ (1) สำรวจ ศึกษาค้นคว้างานวิจัยและข้อคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาในระดับพื้นที่การศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศแล้ววิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญไว้ประกอบการพิจารณา (2) สัมภาษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รู้ ผู้ชำนาญการ ตลอดจนประชุมสัมมนาระดมความคิดจากประดาผู้รู้ (3) จัดทำร่างนโยบายและแผนงานการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษาสำหรับเสนอรัฐบาลใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูภูมิปัญญาเพื่อการจัดการศึกษาตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ซึ่งต่อมามีข้อเสนอให้พัฒนากำหนดหลักสูตรท้องถิ่นให้มีเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้บนพื้นฐานของภูมิปัญญาไทย โดยโรงเรียนและชุมชนร่วมกันมีตำแหน่ง “ครูภูมิปัญญาไทย” มีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมประจำปี 2562 โดยสภาวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมจัดทำแผนการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในชุมชนของตนร่วมกัน ให้สามารถสืบสานมรดกวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมประกาศขึ้นบัญชี “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” ประจำปี 2562 พร้อมยกย่องเชิดชูเกียรติ ภาคีเครือข่ายดีเด่นทางวัฒนธรรม ในฐานะที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 “ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา” จำนวน 18 รายการ ได้แก่ (1) ตำนานเขาสาปยา จ.ชัยนาท (2) ตำนานเมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ด้านศิลปะการแสดง (3) โปงลาง จ.กาฬสินธุ์ (4) กลองอืด จ.ตาก (5) รำมอญ จ.ปทุมธานี (6) รำตร๊ด จ.ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์ (7) ลำแมงตับเต่า ไทเลย จ.เลย ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล (8) ประเพณีอัฐมีบูชา จ.นครปฐม และ จ.อุตรดิตถ์ (9) โจลมะม้วต จ.สุรินทร์ (10) ประเพณีแห่นางดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (11) ทุเรียนนนท์ จ.นนทบุรี (12) ปลาสลิดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม (13) หม้อน้ำดินเผาเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี (14) งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร จังหวัดเพชรบุรี (15) เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จ.นครราชสีมา (16) ซิ่นหมี่คั่นน้อยไทหล่ม จ.เพชรบูรณ์ ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว (17) อิ้นกอนฟ้อนแคน จ.นครปฐม และ (18) การแข่งขันว่าวดุ๊ยดุ่ย จ.จันทบุรี ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยขาดการพัฒนาไม่เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว วิกฤติปัญหาภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่ชาวบ้านจะเข้าใจ แต่จากสภาพความจริงที่เห็นด้วยตา คิดง่าย ๆ จาก “สิ่งที่มนุษย์จำเป็นต่อการดำรงชีวิต” หรือ “ปัจจัยสี่” ได้แก่ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย อันเป็นพื้นฐานที่ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ เมื่อชุมชนมีการพึ่งพาตนเองได้ ชุมชนก็จะมีการดำรงชีวิตตามวิถีได้ ขอยกตัวอย่างสภาพปัญหาที่มากระทบได้แก่ (1) ธุรกิจขนาดใหญ่กึ่งผูกขาดเข้ามาในชุมชน ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และการตลาด รวมทั้งผลิตภัณฑ์สินค้าแบบบริโภคนิยมที่ไม่มีคุณค่าต่อการผลิต (2) พื้นที่การเกษตร หรือ “ที่ดิน” หนึ่งใน “ปัจจัยการผลิต” มีน้อย หรือ ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ทำการเกษตร ทำให้คนรุ่นใหม่ภาคการเกษตรหนีไปทำงานที่อื่น ในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ปล่อยทิ้งคนแก่คนสูงอายุอยู่ที่บ้าน (3) สินค้า นวัตกรรม หลั่งไหลมาจากต่างชาติ คนไทยได้เลือกใช้มากมาย ทำให้ไม่มีการคิดการผลิตและการพัฒนาสินค้าเอง ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น แต่เป็นสินค้าตามกระแสทุนนิยมเสรี “ลัทธิบริโภคนิยม” ตามกระแสแฟชั่น ฟุ้งเฟ้อ สะดวกสบาย ไม่ก่อให้เกิดการผลิต ฯลฯ ก่อให้เกิดการสร้างภาระและหนี้สิน ที่รวมถึงสินค้าวัสดุเคมีการเกษตร และสินค้าทั่วๆไปในชีวิตประจำวันทั้งหมดด้วย (4) ยาพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน จมอยู่กับกฎหมายลิขสิทธิ์ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ระบบมาตรฐานต่าง ๆ พัฒนาไม่ทันต่อความทันสมัยของโลกไฮเทคแห่งการทำลายล้าง “Disruptive Technology” แม้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะ มีการขึ้นทะเบียน การแจ้งข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น การจดสิทธิบัตร หรือปัญหาการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือ กรณีผู้คิดค้นองค์ความรู้ไม่ได้หวงสงวนสิทธิ์เมื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ถูกแพร่หลายไปแล้วจึงขาดคุณสมบัติที่จะขอรับความคุ้มครองในระบบทรัพย์สินทางปัญญา (Public Domain) เป็นต้น (5) ภาคราชการที่เป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ เช่น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือกรมศิลปากร เป็นต้น ให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ภูมิปัญญาไทยน้อย ส่วนหนึ่งเป็นข้อจำกัดด้านกฎหมาย รวมทั้งกรณีปัญหา “โจรสลัดชีวภาพ” คือ การนำเอาทรัพยากรชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ หรือการมิได้แบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับต่อผู้เป็นเจ้าของอย่างเป็นธรรม (6) รายได้ประเทศต้องพึ่งพิงการลงทุนจากต่างชาติ (Dependency Economic) เป็นหลัก ทำให้เงินลงทุนถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของทุนนิยมตามแหล่งเจ้าของเงินทุนนั้น ๆ (7) ระบบพึ่งตนเองของไทย มีลดลง แม้จะมีรัฐวิสาหกิจมากมาย ที่รวมถึงการพัฒนาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่สวนทาง ขาดการส่งเสริมและความต่อเนื่อง ต่อสู้กับกระแสทุนนิยมโลกที่มีกำลังมากกว่า (8) ระบบโครงสร้างกฎหมายไทย ยังพัฒนาไม่ทัน กับการเปลี่ยนแปลงในการปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นยังไม่มีองค์กรหลักตามกฎหมาย จะมีแต่องค์กรเล็ก ๆ เช่น โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โรงเรียนสอนควายไถนา จ.สระแก้ว (โรงเรียนกาสรกสิวิทย์) เป็นต้น ในระยะยาวควรมีมาตรการทางกฎหมายที่เป็นระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและระบบกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นเฉพาะ (sui generis system) โดยมีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลรับผิดชอบทางด้านการให้การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำอย่างไรจะให้เศรษฐกิจชาวบ้านอยู่รอดคือเป้าหมาย “ชุมชนต้องอยู่รอด” “ต้องอยู่ได้” การกลับไปดูและให้ความใส่ใจใน “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ในองค์ความรู้ที่มีอยู่มากมายในวิถีชีวิตของคนบ้านนอกจะเป็นมิติใหม่ “ทางเลือกใหม่” (Alternative) ของการพัฒนาเศรษฐกิจ และ พัฒนาประเทศได้