ข้อใดกล่าวถึงพระพุทธศาสนาในเวียดนาม ไม่ถูกต้อง

บทสรุปผู้บริหาร

ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านการลงประชามติเห็นชอบแล้วในเดือนสิงหาคม แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งบังคับใช้โดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ณ ปลายปีที่รายงานในระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังรอการลงพระปรมาภิไทย รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กล่าวถึงทั้งเรื่องเสรีภาพทางศาสนาและการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติอันมีพื้นฐานจากศาสนาไว้โดยเฉพาะ แต่ระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและให้ความคุ้มครองประชาชนเสมอกันไม่ว่าจะมีความเชื่อทางศาสนาใดก็ตาม ในเดือนกันยายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกรายงานระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2558 รัฐบาลทรมานหรือทารุณผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบชาวมาเลย์มุสลิมอย่างน้อย 24 รายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่รัฐบาลปฏิเสธข้อมูลของรายงานดังกล่าว กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังคงประณามการโจมตีพลเรือนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและในขณะเดียวกันก็ประท้วงการคุมขังอันไม่ชอบด้วยกฎหมายและการเข้าตรวจค้นชาวมุสลิมโดยไม่มีหมายค้น ทางการยังคงกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวจีนกลุ่มฝ่าหลุนกงและชาวปากีสถานผู้นับถือศาสนาคริสต์ในข้อหาเกี่ยวกับการเข้าเมืองและได้ปล่อยตัวคนอื่น ๆ ไปยังประเทศที่สาม ในเดือนพฤษภาคม ทางการออกหมายจับเจ้าอาวาสวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในข้อหายักยอกทรัพย์และฟอกเงิน แต่ไม่ได้จับกุมตัวภายในปลายปีที่ทำรายงาน ยังคงมีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนมายาวนานโดยที่อัตลักษณ์ทางศาสนาและทางชาติพันธุ์มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ทางการได้จับกุมผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบหลังจากเหตุวางระเบิดและวางเพลิงหลายจุดที่มุ่งโจมตีสถานที่ท่องเที่ยวนอกเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนสิงหาคม มีรายงานว่าผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบโจมตีโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปีที่รายงาน ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตหลายรายรวมทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครู อาสาสมัครรักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในช่วงปีที่รายงาน พระสงฆ์บางรูปซึ่งถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ชาตินิยม” ชาวพุทธ ใช้สื่อสังคมออนไลน์เรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมและร้องเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการอำนวยประโยชน์ของรัฐให้แก่ศาสนาอิสลาม ภิกษุณีผู้ที่ได้รับการอุปสมบทที่ต่างประเทศเนื่องจากข้อห้ามการบวชภิกษุณีในประเทศแจ้งว่าได้รับคำขู่ฆ่า ในเดือนเมษายน อารามที่พำนักของภิกษุณีสองรูปถูกลอบเผา ช่วงก่อนการลงประชามติเดือนสิงหาคมมีการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับบทบัญญัติใหม่ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาและสถานกงสุลใหญ่หารือกับเจ้าหน้าที่รัฐกรมการศาสนาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในเรื่องความเท่าเทียมด้านสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเดือนมีนาคม เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษสหรัฐอเมริกาด้านเสรีภาพทางศาสนานานาชาติเดินทางเยือนกรุงเทพมหานครและพบกับผู้แสวงหาที่พักพิงจากปากีสถาน เวียดนาม และพม่า เพื่อพูดคุยประเด็นการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนาในประเทศภูมิลำเนาของพวกเขา ทั้งนี้ ในการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างศาสนาและเสริมสร้างสันติภาพ สถานทูตสหรัฐฯได้ให้การสนับสนุนศูนย์เพื่อการส่งเสริมเยาวชนชาวพุทธและชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้สองแห่ง และร่วมกับองค์การนอกภาครัฐจัดโครงการเสวนาเรื่องความเชื่อระหว่างศาสนาและการสร้างสันติภาพ ตลอดจนสรรหามหาวิทยาลัยเพื่อเข้าร่วมโครงการต่อต้านการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่งบนสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก

ตอนที่ 1. ประชากรที่นับถือศาสนา

รัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศอยู่ที่ 68.2 ล้านคน จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี พ.ศ. 2553 ร้อยละ 93 ของประชากรเป็นชาวพุทธ ส่วนอีกร้อยละ 5 เป็นชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม องค์กรพัฒนาเอกชน (อพช.) นักวิชาการ และกลุ่มศาสนากล่าวว่าร้อยละ 85-95 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนอีกร้อยละ 5-10 ของประชากรนับถือศาสนาอิสลาม มีประชากรจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 5 ที่นับถือภูตผี ศาสนาคริสต์ ลัทธิขงจื๊อ ศาสนาฮินดู ศาสนายูดาห์ ศาสนาซิกข์ และลัทธิเต๋า

ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็นำพิธีกรรมของศาสนาฮินดูและการนับถือภูตผีมาประกอบศาสนพิธีของตนด้วย พระสงฆ์ในนิกายเถรวาทแบ่งออกเป็นสองนิกายหลักด้วยกัน ได้แก่ มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย โดยมหานิกายมีความเก่าแก่และเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในชุมชนสงฆ์ ทั้งนี้ ทั้งสองนิกายอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมเดียวกัน

อิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในสี่จังหวัดจากห้าจังหวัดทางใต้สุดของประเทศ (นราธิวาส ยะลา สตูล และปัตตานี) ที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซียที่เรียกว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้มีเชื้อสายมาเลย์ แต่ประชากรมุสลิมทั้งประเทศมีหลายเชื้อชาติ ซึ่งรวมทั้งลูกหลานของผู้โยกย้ายถิ่นฐานจากเอเชียใต้ จีน กัมพูชาและอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื้อสายไทยด้วย จากข้อมูลของกรมการศาสนา (ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม ชาวมุสลิมเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 99 นับถือนิกายสุหนี่

ผู้ที่มีเชื้อสายจีนและเวียดนามส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานหรือเถรวาท ผู้ที่มีเชื้อสายจีนจำนวนมากรวมทั้งชาวเมี่ยนก็นับถือลัทธิเต๋าในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

ชาวคริสต์ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีเชื้อสายจีน และกว่าครึ่งหนึ่งของชุมชนชาวคริสต์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก

ตอนที่ 2. สถานะด้านการเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของรัฐบาล

กรอบทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มอบอำนาจอย่างมีนัยสำคัญให้แก่รัฐบาลทหารในการจำกัดหรือระงับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ได้บัญญัติถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือการได้รับความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติทางศาสนาไว้โดยเฉพาะ แต่กำหนดว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง”

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการออกเสียงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังคงรอการลงพระปรมาภิไธยอยู่ และยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีบทบัญญัติเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา และกำหนดให้มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ทุกคนนับถือศาสนา ปฏิบัติตามหลักศาสนา และประกอบกิจทางศาสนาใดก็ได้ตามที่ต้องการ และยังมีบทบัญญัติใหม่ ที่กำหนดมิให้เสรีภาพดังกล่าว “เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงกำหนดให้รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนศาสนาอื่น ๆ แต่ก็ได้เพิ่มบทบัญญัติให้คุ้มครองศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นพิเศษโดยการให้ความรู้ เผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา และกำหนดมาตรการและกลไก “เพื่อป้องกันการดูหมิ่นเหยียดหยามพุทธศาสนา ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม”

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลทหาร มีคำสั่งพิเศษให้รัฐส่งเสริมและการคุ้มครอง “ศาสนาที่ได้รับการรับรองทั้งหมด” ในประเทศ แต่ก็ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดดูแลให้มี “การสอนศาสนาทุกศาสนาอย่างถูกต้อง” เพื่อทำให้แน่ใจว่าคำสอนต่าง ๆ จะไม่ “ถูกบิดเบือนเพื่อก่อความไม่สงบในสังคม”

กฎหมายห้ามไว้โดยเฉพาะมิให้มีการดูหมิ่นหรือเหยียดหยามศาสนาพุทธและพระสงฆ์ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท (559 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ ประมวลกฎหมายอาญาก็ได้ห้ามมิให้ดูหมิ่นหรือก่อความรบกวนในศาสนสถานหรือศาสนพิธีของกลุ่มศาสนาที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการทั้งหมด มิฉะนั้น จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 14,000 บาท (56 ถึง 391 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ

รัฐบาลให้การรับรองกลุ่มศาสนาทั้งหมดห้ากลุ่มอย่างเป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ และจะไม่รับรองกลุ่มศาสนาใหม่ใด ๆ อีกนอกจากห้ากลุ่มหลักข้างต้น แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ แต่รัฐธรรมนูญก็ยังบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และ “องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก”

กลุ่มศาสนาที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการทั้งห้ากลุ่มมีสิทธิขอจดทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น การได้รับยกเว้นภาษี สถานะวีซ่า หรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่บังคับให้จดทะเบียน เนื่องจากกลุ่มศาสนาอาจยังคงดำเนินการโดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซงได้ ไม่ว่าจะได้รับการจดทะเบียนหรือการรับรองอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม ตามกฎหมายแล้ว ศน. เป็นฝ่ายรับผิดชอบในการจดทะเบียนกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ยกเว้นกลุ่มพุทธที่ได้รับการดูแลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ศน. อาจเพียงแค่จดทะเบียนนิกายใหม่ของกลุ่มศาสนาที่ได้รับการรับรองทั้งห้ากลุ่ม หากสำมะโนประชากรแสดงให้เห็นว่านิกายดังกล่าวมีสาวกจำนวนอย่างน้อย 5,000 คน มีหลักคำสอนอันเป็นเอกลักษณ์ในทางศาสนศาสตร์ ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากกลุ่มศาสนาหลักที่ได้รับการรับรองในปัจจุบัน กรมการศาสนาจะจัดการประชุมกับกลุ่มศาสนาหลักดังกล่าว ที่ประกอบไปด้วยนิกายที่ได้รับการรับรองแล้ว เพื่อพิจารณาว่าควรจดทะเบียนให้แก่กลุ่มที่ได้ยื่นขอหรือไม่

หากมีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนองค์การทางศาสนากับศน. ผู้นำองค์กรจะต้องยื่นเอกสารสนับสนุนที่ระบุถึงวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการ ความสัมพันธ์ใด ๆ ก็ตามกับต่างประเทศ บัญชีรายชื่อสมาชิกบริหารและเจ้าหน้าที่อาวุโส ตลอดจนที่ตั้งของสถานที่บริหาร ศาสนสถาน และสำนักสอนศาสนา การจดทะเบียนกระทำโดยสมัครใจ แต่เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ศน. จะออกหนังสือการจดทะเบียนให้ และองค์กรดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งรวมถึงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล การได้รับยกเว้นภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้ และได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษเมื่อขอวีซ่าเพื่ออยู่อาศัยให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การที่จดทะเบียนไว้

นอกจากนี้ กฎหมายยังบัญญัติให้นักเรียนทุกคนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเข้ารับการศึกษาศาสนา บทเรียนจะประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มศาสนาที่ได้รับการรับรองทั้งหมดห้ากลุ่มหลักในประเทศ นักเรียนที่ต้องการจะศึกษาศาสนาใด ๆ โดยเฉพาะอย่างละเอียดอาจเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาของเอกชน และโอนหน่วยกิตไปยังโรงเรียนรัฐบาลได้ โรงเรียนที่ร่วมมือกับองค์กรบริหารท้องถิ่นของตนได้รับอนุญาตให้เปิดวิชาศาสนศึกษาเพิ่มเติมได้ มหาวิทยาลัยคริสเตียนของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนเข้าศึกษาหลักสูตรทางศาสนามีอยู่ด้วยกันสองแห่ง นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนคาทอลิกของเอกชนระดับประถมศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการดูแลด้านหลักสูตรและการจดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 10 แห่ง มหาเถรสมาคมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย มหาเถรสมาคมและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยยังได้จัดทำหลักสูตรพิเศษด้านพุทธศาสนศึกษากับอิสลามศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนรัฐบาลอีกด้วย

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีสมาชิกที่เป็นชาวมุสลิมทั้งหมดที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และมีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาอิสลามให้แก่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันด้านการศึกษาศาสนาอิสลาม และมอบเงินทุนสำหรับการก่อสร้างมัสยิด และการเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ มีโรงเรียนอิสลามระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ สามารถเข้ารับการศึกษาศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสี่วิธีดังต่อไปนี้ หนึ่ง เข้าเรียนในโรงเรียนที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนและเปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรระดับชาติ สอง เข้าเรียนในโรงเรียนอิสลามของเอกชนที่บางครั้งก็เปิดสอนวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากวิชาคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น วิชาภาษาต่างประเทศ (ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ) อย่างไรก็ดี หลักสูตรดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล สาม เข้าเรียนในปอเนาะดั้งเดิมหรือโรงเรียนอิสลามของเอกชนประเภทไปกลับที่เปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรของตนให้แก่นักเรียนทุกวัย และสี่ เข้าเรียนตาดีกาวิชาศาสนาหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งถึงหก ที่มักจะจัดสอนที่มัสยิด

รัฐธรรมนูญยังคงห้ามมิให้นักบวช เณร พระสงฆ์ และพระอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 มีวัดในพระพุทธศาสนากว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ และมีพระสงฆ์ประมาณ 360,000 รูป ซึ่งไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้ นักบวชในศาสนาคริสต์สวมใส่เครื่องแต่งกายทางศาสนาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ยกเว้นจุฬาราชมนตรี (ผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลาม) อิหม่ามไม่ถือว่าเป็นพระหรือนักบวช ดังนั้น จึงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งแห่งประเทศไทยได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก และใช้บังคับกับชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศาลท้องถิ่นบังคับใช้กฎหมายนี้ และผู้เชี่ยวชาญด้านชะรีอะฮ์เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษา กฎหมายได้วางโครงสร้างบริหารของชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงกระบวนการในการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลด้านศาสนาอิสลามด้วย

ศน. ได้จำกัดจำนวนผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนและปฏิบัติงานในประเทศไทยตามจำนวนผู้นับถือศาสนาของสำนักงานสถิติแห่งชาติไว้ดังต่อไปนี้ ชาวคริสต์ 1,560 คน ชาวมุสลิม 6 คน ชาวฮินดู 20 คน และชาวซิกข์ 41 คน การขึ้นทะเบียนจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น อายุของวีซ่าที่นานขึ้นกว่าเดิม

นับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ขยายตัวขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 มีผู้นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามถูกสังหารรวมประมาณ 6,700 คนและได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 12,000 คน โดยในหมู่ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมีชาวมุสลิมมากกว่าชาวพุทธ มีรายงานว่า ทางการยังคงใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และ 2547 ตามลำดับ ซึ่งให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ซึ่งรวมถึงการกักกันตัวก่อนการพิจารณาคดีและการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล ทางการให้อำนาจบางประการด้านความมั่นคงภายในแก่กองทัพ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม องค์การสิทธิมนุษยชนรายงานว่า รัฐบาลยังคงจับกุมชาวมาเลย์มุสลิมที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ โดยบางคนเป็นเยาวชน และในบางกรณีได้ควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้เป็นว่าหนึ่งเดือนหรือเกินกว่านั้นภายใต้บทบัญญัติในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงประณามการโจมตีพลเรือนโดยผู้ก่อความไม่สงบ และขณะเดียวกันก็ประท้วงการทรมานและการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาลตามที่มีรายงานว่าทางการได้กระทำต่อสมาชิกชุมชนชาวมุสลิม

ในเดือนกันยายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า ทหารทรมานหรือปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อชาวมาเลย์มุสลิมอย่างน้อย 24 คนที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ช่วงปี พ.ศ. 2556-2558 เช่น ทำให้สำลักน้ำ (waterboarding) ทำให้ขาดอากาศหายใจด้วยถุงพลาสติก รัดคอ และทุบตี รัฐบาลปฏิเสธผลการรายงานโดยต่อมาได้เตือนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อนงานเปิดตัวรายงานฉบับดังกล่าวว่า พนักงานและผู้แทนขององค์การในไทยอาจถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีจากการละเมิดเงื่อนไขวีซ่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงยกเลิกงานเปิดตัวรายงานฉบับดังกล่าวในกรุงเทพมหานคร

หลังเหตุระเบิดและวางเพลิงในย่านท่องเที่ยวนอกพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้เมื่อเดือนสิงหาคม คสช.ขยายการสืบสวนและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบเพิ่มมากขึ้น เหตุโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตสี่รายและผู้ได้รับบาดเจ็บ 36 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้งสี่รายและผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เมื่อถึงสิ้นปี มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยสองคนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหาร รายงานแผนก่อเหตุระเบิดใกล้กรุงเทพมหานครเมื่อเดือนตุลาคมนำไปสู่การจับกุมนักศึกษาและเยาวชนชาวมาเลย์มุสลิมอย่างน้อย 44 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวไม่นานหลังจากนั้น องค์การสิทธิมนุษยชนระบุว่า การจับกุมเหล่านี้เป็นไปตามอำเภอใจและมิชอบด้วยกฎหมาย

ทางการจัดปฏิบัติการบุกตรวจค้นครั้งใหญ่เพื่อติดตามตัวคนเข้าเมืองที่พำนักเกินระยะวีซ่า มีรายงานว่า ผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานที่นับถือศาสนาคริสต์หลายพันคนซึ่งบางคนได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสหประชาชาติว่าเป็นผู้แสวงหาที่พักพิง รวมถึงบุคคลอื่นที่ไม่มีเอกสาร เผชิญกับการถูกกักกันในศูนย์กักกันที่แออัด และมักต้องรอตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นเวลาหลายปี ส่วนบุคคลที่ไม่มีสถานะผู้แสวงที่พักพิงจะถูกเนรเทศในท้ายที่สุด เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (United Nations Convention Relating to the Status of Refugees) ผู้ที่สหประชาชาติให้สถานะแล้วก็อาจถูกพิจารณาว่าพำนักอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมายได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีรายงานอยู่เป็นประจำว่าทางการจับกุมผู้แสวงหาที่พักพิง กักกันตัว และบางครั้งก็เนรเทศผู้แสวงหาที่พักพิงออกนอกประเทศ ซึ่งหลายคนกล่าวว่า พวกตนต้องเผชิญกับการข่มเหงที่มีพื้นฐานจากความเชื่อทางศาสนาในประเทศภูมิลำเนาของตน

นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557 ทางการจับกุมสมาชิกกลุ่มฝ่าหลุนกงกว่า 29 คนจากประมาณ 160 คนจากประเทศจีนที่มาหาที่พักพิงในไทย ด้วยข้อหาเกี่ยวกับการเข้าเมือง ซึ่งสร้างความกังวลแก่องค์การสิทธิมนุษยชน เมื่อปี พ.ศ. 2558 คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้กลุ่มฝ่าหลุนกงจดทะเบียนเป็นองค์การไม่แสวงผลกำไร อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวยังแสดงความหวั่นเกรงว่ารัฐบาลไทยกำลังอำนวยความสะดวกให้คำร้องขอส่งตัวผู้เห็นต่างชาวจีนกลับประเทศเพื่อกระชับสัมพันธ์กับจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น สมาชิกกลุ่มฝ่าหลุนกงหลายคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารและอยู่ระหว่างรอตั้งถิ่นฐานใหม่หลังได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติกล่าวว่า พวกเขายังคงอาจถูกจับกุมและส่งตัวกลับกลับประเทศได้ โฆษกรัฐบาลไทยกล่าวว่า รัฐบาลได้เพิ่มการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือผู้ที่พำนักเกินระยะวีซ่า

ในเดือนพฤษภาคม ตำรวจออกหมายจับพระไชยบูลย์ ธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (วัดพุทธที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย) ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มทางศาสนาพุทธที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก ด้วยข้อหายักยอกทรัพย์และฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ทางการระบุว่าเป็นการบริจาคที่ฉ้อฉล ทว่า ทางการยังคงไม่สามารถแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการกับพระธัมมชโยเพราะพระธัมมชโยไม่มาปรากฏตัวที่ศาลตามหมายเรียกและยังคงไม่ทราบตำแหน่งที่อยู่ของพระธัมมชโย ผู้สนับสนุนพระธัมมชโยกล่าวว่า พระธัมมชโยไม่มาปรากฏตัวเนื่องจากอาการป่วย ในเดือนธันวาคม มีคำสั่งทางสงฆ์ให้พระธัมมชโย ซึ่งมีผู้สนับสนุนต้องการให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราช พ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ รวมถึงปลดเปลื้องภาระหน้าที่ ด้วยเหตุที่มีอาการอาพาธมาเป็นเวลานาน การสอบสวนคดีพระธัมมชโยนำไปสู่การประท้วงในส่วนต่าง ๆ ของโลก และสาวกของพระธัมมชโยกล่าวว่า พระธัมมชโยตกเป็นเป้าเพราะความนิยมวัดพระธรรมกายเป็นภัยต่อชนชั้นนำทางการเมืองและศาสนาในประเทศ ผู้สนับสนุนพระธัมมชโยกล่าวว่า ข้อหาและการสอบสวนไม่มีหลักฐานหนักแน่นทั้งยังมีแรงจูงใจทางการเมืองสืบเนื่องจากรายงานว่ากลุ่มธรรมกายมีส่วนเชื่อมโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2527 รัฐบาลไม่ได้ให้การยอมรับกลุ่มทางศาสนากลุ่มใด ๆ เพิ่มเติม ถึงแม้ว่าจะขาดการยอมรับอย่างเป็นทางการตามกฎหมายหรือการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ กลุ่มประชาสังคมยังคงรายงานว่า กลุ่มทางศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนดำเนินการได้อย่างเสรี และการที่รัฐบาลไม่ได้ให้การยอมรับหรือจดทะเบียนกลุ่มทางศาสนาเพิ่มเติมก็ไม่ได้จำกัดการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเหล่านี้แต่อย่างใด

มหาเถรสมาคมยังคงห้ามผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ผู้หญิงที่ประสงค์ครองสมณเพศมักเดินทางไปเข้ารับการอุปสมบทที่ศรีลังกา จากจำนวนนักบวชในพระพุทธศาสนา 360,000 รูปทั่วประเทศ มีภิกษุณีเพียง 100 รูปเท่านั้น  เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศยกเว้นกรณีที่มี “การปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา” ดังนั้นนักบวชหญิง (ภิกษุณี) จึงไม่ได้รับความคุ้มครองด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศจากรัฐบาลตามกฎหมาย ทั้งนี้ ประเด็นเกี่ยวกับนักบวชหญิงและการกำกับดูแลภายในพระพุทธศาสนาอยู่นอกเหนืออำนาจรัฐ เจ้าหน้าที่มิได้ต่อต้านหรือสนับสนุนการอุปสมบทของสตรีอย่างเป็นทางการ และยังได้อนุญาตให้ภิกษุณีปฏิบัติศาสนกิจและก่อตั้งวัดวาอารามได้ วัดใดที่พระภิกษุณีเป็นเจ้าอาวาส และไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากรัฐบาล เหมือนที่วัดในพระพุทธศาสนาที่ได้รับการรับรองอื่น ๆ ได้รับ โดยหลักแล้ว ได้แก่ การยกเว้นภาษี การรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเงินอุดหนุนสำหรับการก่อสร้างและดำเนินโครงการด้านสวัสดิการสังคม ภิกษุณีบางรูปกังวลว่าบทบัญญัติใหม่แห่งร่างรัฐธรรมนูญที่คนไทยเห็นชอบเมื่อเดือนสิงหาคม ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐบาลในการคุ้มครองและส่งเสริมศาสนาพุทธนิกายเถรวาท อาจจำกัดสิทธิของสตรีในการครองสมณเพศอย่างเสรี นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ขู่ว่าจะจับกุมภิกษุณีบางรูปในข้อหาแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ ตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ภิกษุณียังไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษจากรัฐบาลจากการประทุษร้ายเหมือนที่พระสงฆ์ได้รับ

พระภิกษุณีธัมมนันทา เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมกัลยาณีและภิกษุณีรูปแรกที่อุปสมบทในต่างประเทศ ได้เริ่มขบวนการเรียกร้องให้มีการรับรองสถานภาพภิกษุณีและอนุญาตให้ภิกษุณีอุปสมบทในประเทศได้ แต่ก็มีกระแสต่อต้านมาโดยตลอด เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พระภิกษุณีธัมมนันทาได้นำพระภิกษุณีและสามเณรีจำนวน 72 รูป ไปเจริญเมตตาจิตถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ เมื่อพระภิกษุณีจะเดินเข้าทางประตูของพระสงฆ์ ตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาตำหนิพระภิกษุณีว่าแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ และสั่งให้ถอดจีวรออก และให้ใช้ทางเข้าของฆราวาสแทน

เมื่อเดือนสิงหาคม ประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของคสช. ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสังคมกล่าวว่า เป็นเพราะชาวมุสลิมเห็นว่าข้อกำหนดของกฎหมายใหม่เกี่ยวกับศาสนาจะทำให้การยอมรับความต่างทางศาสนาลดลง ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนมุสลิมหลายคนก็เห็นว่าข้อกำหนดเฉพาะที่ส่งเสริมและคุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นความพยายามของคสช. ในการเอื้ออำนวยต่อกลุ่มวิ่งเต้นทางพุทธศาสนาที่มีอิทธิพล ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลให้ประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ชาวมุสลิมและชาวพุทธบางราย ตลอดจนพระภิกษุณีและชาวพุทธที่ไม่ได้นับถือนิกายเถรวาทกังวลว่า การที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองศาสนาพุทธนิกายเถรวาทอย่างชัดแจ้งเป็นการแสดงว่ารัฐบาลสนับสนุนให้มีการตีความหลักการและแนวปฏิบัติของศาสนาพุทธแบบเดียว ซึ่งจะไม่เป็นการคุ้มครองศาสนาพุทธนิกายอื่นและกลุ่มศาสนาอื่น ๆ นอกเหนือจากศาสนาพุทธ

คำสั่งพิเศษของคสช. ลงวันที่ 22 สิงหาคม กำหนดให้หน่วยงานราชการ (รวมถึงมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) นำเสนอมาตรการที่ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันและความสมานฉันท์ของศาสนิกชนต่างศาสนา ต่อคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นปี เพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงรับรองว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรายงานว่า คณะกรรมการร่วมได้ร่างมาตรการจนแล้วเสร็จ แต่ยังคงรอให้คณะรัฐมนตรีและคสช. อนุมัติตอนสิ้นปี

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งเดียวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ยังคงเปิดหลักสูตรพิเศษให้แก่นักศึกษาชาวมุสลิม จากข้อมูลเมื่อสิ้นปี มีนักศึกษาประมาณ 3,600 คน และบุคลากรวิชาการประมาณ 400 คน

องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า อาจารย์และพระในศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกตรวจสอบเพิ่มเติมเนื่องจากรัฐบาลยังคงวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องต่อการแบ่งแยกดินแดนของชาวมาเลย์มุสลิม

เมื่อเดือนกรกฎาคม ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งปิดโรงเรียนอิสลามในจังหวัดนราธิวาสในชายแดนภายใต้ เนื่องจากทางการระบุว่าโรงเรียนดังกล่าวสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวมาเลย์มุสลิม โดยครั้งนี้เป็นการสั่งปิดโรงเรียนอิสลามครั้งที่สองในพื้นที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 สำนักบริหารงานการศึกษาประมาณการว่า มีโรงเรียนอิสลามจำนวน 10 แห่งถูกสั่งปิดในปีดังกล่าว หลังจากเหตุระเบิดเมื่อเดือนกันยายนที่ตำบลตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่มีรายงานว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบ ทางการท้องถิ่นได้เพิ่มกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยที่โรงเรียน 111 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งด่านตรวจบนถนนสายหลักเพื่อตรวจค้นอาวุธ และจัดกำลังตำรวจและทหารไปประจำการที่โรงเรียน นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุอื่น ๆ อีกในจังหวัดหลังจากเหตุโจมตีเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งรวมถึงเหตุกราดยิง การลอบวางระเบิด และลอบวางเพลิง ทั้งนี้ ตำรวจในจังหวัดปัตตานียังคงคุ้มกันครูเพื่อให้เดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย

ณ สิ้นปี มีโครงการหลวงเพื่อชุมชนมุสลิม 80 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ในจำนวนนี้มีบางโครงการที่คสช.จะดำเนินการหรือทำให้แล้วเสร็จ โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ โครงการแปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทยครั้งแรก และโครงการก่อสร้างศูนย์อิสลามโดยใช้เงินพระราชทาน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา แต่ตัวแทนชุมชนชาวมุสลิมก็กล่าวว่า โดยธรรมเนียมแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการยอมรับความต่างทางศาสนา

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณราว 399 ล้านบาท (11.2 ดอลลาร์สหรัฐ) ประจำปีงบประมาณ (1 ตุลาคม – 30 กันยายน) ให้กรมการศาสนาในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เงินจำนวนราว 367 ล้านบาท (10.3 ดอลลาร์สหรัฐ) ถูกนำไปใช้ในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม งบประมาณดังกล่าวรวมถึงเงินประมาณ 20 ล้านบาท (560,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือกิจการศาสนาอิสลาม และ 18 ล้านบาท (503,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อบำรุงและฟื้นฟูศาสนสถานของกลุ่มศาสนาอื่น ๆ ทั้งห้าที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการนอกเหนือจากศาสนาพุทธ และกว่า 2 ล้านบาท (56,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือกิจการของศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู และศาสนาซิกข์ ทั้งนี้ กลุ่มศาสนาได้ยื่นคำของบประมาณและได้รับอนุมัติจากกรมการศาสนาตามขนาดของประชากรในข้อมูลสำรวจสำมะโนประชากร งบประมาณประจำปีของกรมการศาสนายังรวมถึงการจัดสรรเงินสำหรับบทเรียนทางศาสนา โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์ศึกษาอิสลาม กิจกรรมทางศาสนาสำหรับคนพิการ และกิจกรรมระหว่างศาสนา นอกจากนี้ รัฐบาลยังมอบเงินทุนเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ชาวมุสลิมได้เข้าร่วมพิธีฮัจญ์อีกด้วย

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับเงินทุนแยกต่างหากจากกรมการศาสนา เป็นจำนวน 5.3 พันล้านบาท (148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยงบส่วนใหญ่ในก้อนนี้จำนวน 3.5 พันล้านบาท (98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นำไปใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนาศาสนศิลป์และวัฒนธรรมทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรเงินจำนวน 1.6 พันล้านบาท (45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่โครงการด้านการบริหารการศึกษา และเงินจำนวน 262 ล้านบาท (7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการระงับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และโครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว

รัฐบาลยังคงให้การรับรองคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด 39 แห่งทั่วประเทศ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับประเด็นด้านศาสนาอิสลาม ตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งมัสยิด การย้ายมัสยิด การรวมเป็นมัสยิดเดียวกัน และการยุบเลิกมัสยิด การแต่งตั้งอิหม่าม การออกประกาศและการอนุมัติเกี่ยวกับศาสนกิจของศาสนาอิสลาม มีรายงานว่าสมาชิกคณะกรรมการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในพื้นที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล

ไม่มีรายงานว่ากลุ่มศาสนาถูกแทรกแซงขณะชักชวนคนให้เปลี่ยนศาสนา พระสงฆ์ไทยเผยแผ่ศาสนาได้ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ชายแดน ให้แก่ประชากรชนเผ่าของประเทศ และได้รับเงินทุนบางส่วนจากรัฐบาล จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระสงฆ์ที่เผยแผ่พุทธศาสนาทั่วประเทศมีจำนวน 5,161 รูป โดยจะต้องผ่านการฝึกอบรมและเข้าร่วมโครงการการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ พระภิกษุต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เผยแผ่พุทธศาสนาภายในประเทศ

ผู้สอนศาสนาอิสลามและคริสต์ไม่ได้รับเงินทุนหรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล องค์กรอิสลามมีผู้สอนศาสนาในประเทศจำนวนไม่มาก ในขณะที่องค์กรคริสตจักรของทุกนิกายมีจำนวนผู้สอนศาสนาทั้งชาวไทยและต่างประเทศทั่วประเทศมากกว่าของศาสนาอิสลาม ส่วนผู้สอนศาสนาซิกข์และศาสนาฮินดูมีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับของศาสนาอิสลามและคริสต์

กลุ่มครูสอนศาสนาต่างชาติที่จดทะเบียนและดำเนินงานในประเทศตลอดทั้งปีมีจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ นิกายในศาสนาคริสต์หกกลุ่ม ศาสนาอิสลามหนึ่งกลุ่ม ศาสนาฮินดูสองกลุ่ม และศาสนาซิกข์สองกลุ่ม ทั้งนี้ มีองค์กรเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่จดทะเบียนจำนวน 1,560 องค์กร ถึงแม้ว่าศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (มอรมอน) จะไม่ได้เป็นกลุ่มคริสต์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ให้มีผู้สอนศาสนาจำนวน 200 คนได้เป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีผู้สอนศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนมากอาศัยและทำงานในประเทศได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง แม้ว่าการจดทะเบียนจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์บางประการ เช่น อายุวีซ่าที่นานขึ้น แต่กลุ่มศาสนาก็รายงานว่า หากไม่ได้จดทะเบียน ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานของผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติเพราะมีหลายคนที่เข้าประเทศโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว และชักชวนคนให้เปลี่ยนศาสนาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนา

การละเมิดโดยกำลังต่างชาติและผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐ

เนื่องจากศาสนาและชาติพันธุ์มักมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นการยากที่จะจำแนกเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้งว่ามีพื้นฐานมาจากอัตลักษณ์ทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ขององค์การนอกภาครัฐ มีผู้เสียชีวิต 307 รายและได้รับบาดเจ็บ 628 รายระหว่างปี (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า) จากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดนี้เกือบร้อยละ 75 เป็นพลเรือน กว่าร้อยละ 60 เป็นชาวมุสลิม และเกือบร้อยละ 35 เป็นชาวพุทธ ผู้ก่อความไม่สงบที่มีรายงานว่าก่อเหตุรุนแรงมาจากต่างกลุ่มกัน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม และทั้งหมดล้วนสนับสนุนการกอบกู้รัฐปัตตานีซึ่งในอดีตครอบคลุมดินแดนที่ปัจจุบันคือจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมยังคงมุ่งเป้าโจมตีโรงเรียนรัฐบาลที่สอนทั้งหลักสูตรอิสลามศึกษาและหลักสูตรสามัญ ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบตามที่มีรายงานมองว่าเป็นการยัดเยียดวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธและเป็นการพยายามผสานกลืนประชากรชาวมาเลย์มุสลิม มีรายงานว่า ผู้ก่อความไม่สงบมักมองว่าครูและทหารที่อารักขาครูมีสายสัมพันธ์กับรัฐ จึงถือเป็นเป้าโจมตีอันชอบธรรม เหตุโจมตีที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนครั้งแรกของปีเกิดขึ้นที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงเรียนรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ วันที่ 6 กันยายน เกิดเหตุลอบวางระเบิดนอกโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสซึ่งคร่าชีวิตพ่อและลูกสาววัยสี่ขวบ และทำให้พลเรือนอีกอย่างน้อย 10 รายซึ่งรวมถึงครู ผู้ปกครอง และตำรวจจราจรได้รับบาดเจ็บ นับแต่นั้นมาจนถึงช่วงสิ้นปีเกิดเหตุโจมตีอีกสามครั้งซึ่งมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และครูโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอีกสองรายและได้รับบาดเจ็บหลายราย

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา มีพระสงฆ์สิบเก้ารูปถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีพระถูกสังหารระหว่างปีที่รายงาน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน อิหม่ามรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในจังหวัดปัตตานีในช่วงที่มีเหตุโจมตีหลายครั้งซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนรอมฎอน ในวันถัดจากวันสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เกิดเหตุลอบวางระเบิดสองเหตุการณ์ที่บริเวณใกล้กับมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีและใกล้กับมัสยิดบันนังสตาในจังหวัดยะลา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายและชาวบ้านอีกรายเสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

เหตุลอบวางระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวในตัวเมืองจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมคร่าชีวิตหญิงไทยชาวพุทธหนึ่งรายและทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 18 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กหลายราย เหตุโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นในวันครบรอบการเสียชีวิตของชาวไทยมุสลิม 85 รายในระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในปี พ.ศ. 2547

กลุ่มสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมระบุว่า ความรุนแรงที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องร่วมทศวรรษได้ลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวมุสลิมและชุมชนชาวพุทธลง

ตอนที่ 3. สถานภาพของการให้ความเคารพทางสังคมต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

จากข้อมูลขององค์การด้านสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอุปสรรคต่อผู้คนในการประกอบกิจทางศาสนาอย่างเต็มที่

มีรายงานจากสื่อว่า การใช้สื่อต่อต้านชาวมุสลิมในจังหวัดภาคเหนือทวีความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมทั่วประเทศ และถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานเหตุขัดแย้งนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นอกเหนือไปจากการโจมตีในเดือนสิงหาคมก็ตาม แต่ก็มีรายงานเรื่องกระแสต่อต้านชาวมุสลิมในโลกออนไลน์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พระสงฆ์บางรูปซึ่งถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของ    กลุ่ม“ชาตินิยม”ชาวพุทธใช้สื่อสังคมออนไลน์เรียกร้องให้มีการใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิม และร้องเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากล่าวว่าเป็นการอำนวยประโยชน์ของรัฐแก่ศาสนาอิสลาม รัฐบาลพยายามลบเนื้อหาที่สร้างความโกรธแค้นที่เผยแพร่บนเฟสบุ๊คและสื่อสังคมออนไลน์อื่น ผู้สังเกตการณ์บางรายระบุว่า มีลัทธิสุดโต่งและหัวรุนแรงในชุมชนชาวพุทธเพิ่มมากขึ้นซึ่งถูกโหมโดยกระแสต่อต้านชาวมุสลิม โดยผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนศึกษากล่าวว่ามักไม่ค่อยมีการรายงานเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีผู้ระบุว่าชุมชนชาวพุทธส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการหารือระหว่างศาสนาและความเข้าใจด้านวัฒนธรรมระหว่างชุมชนชาวพุทธและชาวมุสลิม

มีการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาช่วงก่อนที่จะมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีการบัญญัติไว้ องค์กรนอกภาครัฐที่ชื่อว่า คณะกรรมการรณรงค์ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2558 พยายามโน้มน้าวในช่วงระหว่างปีให้รัฐบาลบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งนำโดยนักเคลื่อนไหวด้านพระพุทธศาสนาและนักวิชาการ มีผู้สนับสนุนหลากหลาย อันได้แก่ ฆราวาส พระสงฆ์ และข้าราชการผู้เกษียณอายุในบรรดาสมาชิกทั้งหมดจำนวน 100,000 ราย คณะกรรมการนี้กล่าวว่า พวกเขามองว่าบทบัญญัติใหม่ที่ส่งเสริมและคุ้มครองพระพุทธศาสนาเถรวาทถือเป็นความสำเร็จบางส่วน อย่างไรก็ตาม ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนากล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าการสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไม่ได้มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่ากระแสต่อต้านชาวมุสลิมที่เป็นไปได้ว่ากำลังมีเพิ่มมากขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความหวั่นวิตกว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมถอยจากการทุจริต การแยกศาสนาออกจากรัฐ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อันเป็นสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าบั่นทอนค่านิยมทางพระพุทธศาสนาทั่วประเทศ

ปลายเดือนมกราคม พระภิกษุสงฆ์และตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 25 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านความพยายามในการผลักดันโครงการ “เขตนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล” ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ องค์การด้านพระพุทธศาสนาสิบสองแห่งยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อคัดค้านการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลโดยกล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะทำลายมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตัดสินใจภายหลังจากนั้นว่าจะดำเนินโครงการต่อหรือยกเลิกโครงการ

ในขณะที่จำนวนภิกษุณีมีเพิ่มมากขึ้น ก็มีภิกษุณีรายงานว่าถูกขู่ฆ่ามากขึ้น และบ่อยครั้งภิกษุณีมักถูกภิกษุสงฆ์มองว่าเป็นพวกก่อความไม่สงบ ในเดือนเมษายน มีผู้ลอบวางเพลิงอารามที่พำนักของภิกษุณีสองรูป โดยมีรายงานว่าเป็นการมุ่งปองร้ายสตรีที่พำนักอยู่ที่นั่นเพราะว่าเป็นนักบวชสตรี อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ที่อารามดังกล่าวระบุว่า สาเหตุที่ภิกษุณีตกเป็นเป้าหมายน่าจะไม่ใช่เพราะเป็นนักบวชสตรี แต่เป็นเพราะมีความต้องการขัดขวางการช่วยเหลือที่ภิกษุณีให้แก่ชาวบ้านในชุมชน

ตอนที่ 4. นโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ สถานกงสุลใหญ่ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มาเยือนไทย หารือเรื่องเสรีภาพทางศาสนากับเจ้าหน้าที่รัฐกรมการศาสนาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พวกเขายกความสำคัญของการเคารพซึ่งกันและกันและความเท่าเทียมด้านสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เจ้าหน้าที่สถานทูตฯ และสถานกงสุลฯ เยี่ยมเยือนผู้นำทางศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่ดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสถานทูตฯ เพื่อส่งเสริมความอดกลั้นและความสมานฉันท์เกี่ยวกับประเด็นอันซับซ้อนทางศาสนาในสังคม

ในเดือนมีนาคม เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของสหรัฐอเมริกาด้านเสรีภาพทางศาสนานานาชาติเดินทางเยือนกรุงเทพมหานครและพบกับผู้แสวงหาที่พักพิงในประเทศ รวมถึงชาวคริสต์เชื้อสายปากีสถาน ชาวคริสต์เชื้อสายเวียดนามกลุ่มมงตาญาร์ และชาวมุสลิมโรฮีนจาจากพม่า เพื่อหารือสถานะผู้ลี้ภัยและปัญหาการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนาที่พวกเขาเผชิญในประเทศภูมิลำเนาของตน

สถานทูตสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนศูนย์ในจังหวัดปัตตานีและยะลาในเขตชายแดนใต้สองแห่ง ซึ่งเป็นเวทีสำหรับโครงการสร้างสันติภาพและบรรเทาความขัดแย้งซึ่งมุ่งเน้นที่เยาวชนพุทธและเยาวชนมุสลิม สถานทูตฯ ร่วมกับองค์การนอกภาครัฐท้องถิ่นจัดโครงการเสวนาเรื่องความเชื่อระหว่างศาสนาและการสร้างสันติภาพ นอกจากนี้ สถานทูตฯ ยังสรรหามหาวิทยาลัยในไทยหลายแห่งเพื่อเข้าร่วมโครงการซึ่งได้รับการสนับสนุนร่วมจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเฟสบุ๊คเพื่อต่อต้านการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่งทั่วโลก

สถานทูตฯ ยังคงดำเนินความริเริ่มสองเรื่องเพื่อพัฒนากำลังของภาคประชาสังคมท้องถิ่นในการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ ความริเริ่มแรกมุ่งเน้นที่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธในหกชุมชนในจังหวัดยะลาผ่านกิจกรรมผู้นำเยาวชนและกิจกรรมชุมชน ความริเริ่มที่สองเน้นใช้การมีส่วนร่วมระหว่างคนต่อคนเพื่อผสานความขัดแย้งจากล่างขึ้นบน

สถานทูตฯ และสถานกงสุลฯ ประสานงานเป็นประจำกับสื่อมวลชนที่ทำงานร่วมกับชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และยังติดต่อกลุ่มชาวเขาและชุมชนมุสลิมทั่วประเทศโดยสื่อข้อความสนับสนุนเสรีภาพทางศาสนา ซึ่งรวมถึงการเคารพสิทธิบุคคลและความสำคัญของพหุนิยมทางศาสนา