บุคคลในข้อใดปฏิบัติตนได้ถูกต้องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

30/07/2563 | 433 |

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา
               
วันมาฆบูชา คือ การบูชาในเดือนมาฆะ คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นคือการประชุมสงฆ์โดยมิได้นัดหมายกันที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ประกอบด้วยองค์ 4 คือ 1. เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ 2. พระภิกษุ1,250 องค์ มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย 3. ภิกษุเหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ 4. ได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้า เป็นเอหิภิกขุทั้งสิ้น
                 ในวันนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม คือแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ วางหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธองค์ไว้ 3 ประการ คือ 1. ไม่ทำความชั่ว 2. การทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม และ 3. การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว  
                  หลักคำสอน 3 ประการ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสไว้อย่างนี้ถือเป็นธรรมนูญของพระสงฆ์ใน การยึดถือปฏิบัติต่อไป
 

วันวิสาขบูชา
                 
 วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญมาบรรจบกัน คือ
                   1. เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้า ณ สวนลุมพินีวัน ประเทศอินเดีย
                   2. เป็นวันตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์
                   3. เป็นวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ณ สาละโนทยาน เมืองกุสินารา
           หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา เป็นเหตุการณ์ในวันตรัสรู้ ที่พระองค์ทรงพิจารณาอริยสัจ 4 โดยละเอียด จนสามารถหมดกิเลสและอาสวะอย่างสิ้นเชิง หลักธรรมข้ออริยสัจ 4 หรืออริยมรรคมีองค์ 8
                 อริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมข้อสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

วันอัฏฐมีบูชา
               
 วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า ที่เมืองกุสินารา ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 คือ หลักพุทธปรินิพพาน 7 วัน สำหรับกิจกรรมที่ชาวพุทธควรปฏิบัติในวันนี้คือ ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม เวียนเทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา
                หลักธรรมที่เกี่ยวข้องในวันนั้น คือ หลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง-ความไม่เที่ยง ไม่คงที่ ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป ทุกขัง-ความเป็นทุกข์ ภาวะบีบคั้นที่ถูกบังคับด้วยการเกิดขึ้นแล้วสลายไปเพราะปัจจัยปรุงแต่ง อนัตตา-สภาวะความไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้แน่นอน
                 หลักไตรลักษณ์เป็นหลักประสานประโยชน์ของความจริงในชีวิตที่เราพึงเห็นได้ตามหลักความจริงด้วยปัญญา

วันอาสาฬหบูชา
             
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญที่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก มีความสำคัญ 3 ประการ คือ
              1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก เรียกว่า ปฐมเทศนา
              2. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ
              3. เป็นวันที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นในโลก ครบทั้ง 3 ประการบริบูรณ์
           วันอาสาฬหบูชา มีหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง คือ การแสดงปฐมเทศนาพระพุทธเจ้าโดยพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ได้กล่าวถึงหลักอริยสัจ 4 ที่พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีหลักสัจธรรมที่ทำให้พระโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา สัจธรรมข้อนี้ทำให้โกณฑัญญะเข้าใจแจ่มแจ้งในพระธรรม จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

วันเข้าพรรษา
             
วันเข้าพรรษา คือ วันที่พระภิกษุสงฆ์กระทำพิธีอธิษฐานเพื่อเข้าอยู่จำพรรษาภายในอารามตลอด 3 เดือน ในช่วงฤดูฝน โดยไม่พักแรมค้างคืนในที่อื่น นอกจากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องไปจริง ซึ่งก็มีข้ออนุญาตตามพระวินัย
               ในการกำหนดวันเข้าพรรษานั้น พระวินัยสงฆ์ได้กำหนดไว้เป็น 2 ภาค ดังนี้ คือ
               1. ปุริมพรรษา คือ วันที่พระสงฆ์ทำพิธีอธิษฐานเข้าจำพรรษาในภาคแรก โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
               2. ปัจฉิมพรรษา คือ วันที่พระสงฆ์ทำพิธีอธิษฐานเข้าจำพรรษาหลัง เพราะไม่ทันในภาคแรกโดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

การปฏิบัติตนในเทศกาลเข้าพรรษาของพระภิกษุ
               1. ก่อนวันเข้าพรรษา พระภิกษุต้องเตรียมทำความสะอาดหรือซ่อมแซมเสนาสนะที่จำพรรษา
               2. เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์จะประชุมพร้อมกันที่พระอุโบสถ ทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วจะประกอบพิธีอธิษฐานเข้าพรรษ
         3. หลังจากกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์จะทำพิธีขอขมาโทษต่อกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ถ้าหากจะมีโทษที่เคยล่วงเกินกันทางกาย วาจา และใจก็ดี ทั้งต่อหน้า และลับหลังก็จะได้อโหสิให้แก่กันและกันเพื่อความบริสุทธิ์ของคณะสงฆ์ที่อยู่ร่วมกัน

สำหรับพุทธศาสนิกชนก็มีข้อปฏิบัติตนคือ
               1. ก่อนวันเข้าพรรษา  ควรช่วยกันบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะของพระภิกษุสงฆ์
               2. จัดหาเครื่องไทยธรรม เช่น ผ้าอาบน้ำฝน เทียนจำพรรษา หรือสิ่งจำเป็นอื่น ๆ สำหรับพระภิกษุแล้วนำไปถวายพระสงฆ์ในวันเข้าพรรษา เป็นต้น
               3. เมื่อวันเข้าพรรษา ควรอธิษฐานเพื่อทำความดีตลอดพรรษา เช่น รักษาศีล ฟังเทศน์ทุกวันพระ เป็นต้น งดเว้นจากสิ่งเสพติดทุกชนิด และงดเว้นจากอบายมุขทุกอย่าง

วันออกพรรษา
                 
วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์เมื่ออยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว ก็ทำพิธีออกพรรษา ซึ่งเรียกวันนี้ว่า วันปวารณา คำว่า ปวารณา แปลว่า อนุญาตหรือยินยอม หมายความว่า พระภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่ร่วมพรรษา ต่างก็ยินยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้               
               การทำปวารณาในวันออกพรรษา เป็นพิธีของคณะสงฆ์ โดยมุ่งเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปลดทิฏฐิมานะ ยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ เพื่อให้หมู่คณะมีศีลและข้อปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน  
               สำหรับพุทธศาสนิกชน เมื่อถึงวันออกพรรษาก็ทำบุญตามประเพณี เช่น การทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะ ฟังเทศน์ รักษาศีล เป็นต้นและยังมีประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องปฏิบัติ คือประเพณีตักบาตรเทโว โดยเชื่อตามหลักพุทธประวัติตอนหนึ่งที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้ แล้วในพรรษาที่ 7 ได้เสด็จไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา และเมื่อถึงวันออกพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงได้เสด็จลงจากสวรรค์ที่เมืองสังกัสสนครและในวันนี้มีคนไปรอเฝ้ารับเสด็จ เป็นจำนวนมากและได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรพระพุทธเจ้าด้วย

ที่มา https://sites.google.com/site/1arunrat1/hlak-thrrm-thi-keiyw-neuxng-ni-wan-sakhay-thang-phraphuthth-sasna
             


บุคคลในข้อใดปฏิบัติตนได้ถูกต้องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา