สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีคุณูปการที่สำคัญที่สุดต่อแผ่นดินไทยอย่างไร

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีคุณูปการที่สำคัญที่สุดต่อแผ่นดินไทยอย่างไร

วันนี้ (17 เมษายน) เมื่อ 285 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี พ.ศ. 2277 เป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจ้าตากสินมหาราช

มหาราชที่ทรงอุทิศเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อกอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ ให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เป็นข้าทาสใคร

หากประเทศเราไม่มีมหาราชพระองค์นี้ ประเทศพม่าอาจมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากกว่านี้ และเราอาจกลายเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในประเทศพม่าเหมือนมอญ กระเหรี่ยง อาระกันหรือโรฮิงญา ไปแล้วก็ได้ ใครจะรู้

แต่กระนั้น มหาราชพระองค์นี้ ก็มิเคยทรงคิดว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมุ่งหวังเพียงแต่จะกอบกู้แผ่นดิน สร้างความปรองดองเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ มากกว่าจะหวังเป็นพระมหากษัตริย์

เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับกล่าวตรงกันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระทัยแน่วแน่ที่จะกอบกู้บ้านเมืองจากการรุกรานของพม่า มิได้ทรงหวังจะเป็นพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

การที่พระองค์ท่านปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็ด้วยความจำเป็นในยามที่บ้านเมืองแตกฉานซ่านเซ็น และจำเป็นต้องสร้างศูนย์รวมเพื่อรวบรวมกองกำลังไว้กู้ชาติบ้านเมือง

ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชวังของพระองค์เองจึงทรงสร้างให้มีขนาดเล็กและแตกต่างจากพระราชวังของพระมหากษัตริย์ทั่วไป ทั้งทรงมีพระจริยวัตรเรียบง่าย และทรงประกอบพระราชกรณียกิจผิดแปลกไปจากพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ความจริงข้อนี้แม้ในจดหมายเหตุและจดหมายต่างๆ ของบาทหลวงสมัยนั้น เช่น จดหมายของมองเซนเยอร์ เลอบอง ที่มีถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ก็บันทึกไว้ว่า

“บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆ ไม่”

ใน “จดหมายเหตุของหมานชู” ที่ เฉลิม ยงบุญเกิด แปลลงในบทความเรื่อง “เมืองไทยในจดหมายเหตุจีน” ตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ 7 เล่มที่ 2 กรกฎาคม 2506 ก็กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า พระองค์ท่านทรง

“ปกครองราษฎรด้วยความเอาอกเอาใจ และปรองดองกัน ประเทศก็นับวันยิ่งร่ำรวยมั่งคั่ง”

การที่ทรงปกครองโดยคำนึงถึงจิตใจราษฎร และเห็นความสำคัญของการปรองดองนี้ เป็นเหตุผลอันหนักแน่นประการหนึ่งที่ทำให้พระองค์ท่านไม่ทรงปรารถนาให้พระองค์เองกลายเป็นอุปสรรคแห่งความปรองดองของคนในชาติ

พระองค์ทรงมีความรักอันล้นเปี่ยมต่อประเทศชาติ และเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติแล้ว ทรงเสียสละอย่างยากที่จะหาผู้ใดกระทำได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายและการบุกเข้ายึดพระราชวังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะลงจากราชบัลลังก์เพื่อไม่ให้บ้านเมืองที่พระองค์ทรงกอบกู้ขึ้นมาต้องแตกแยกไปมากกว่านี้ ทรงตัดสินพระทัยยอมเสียสละ ลี้ภัยออกจากกรุงธนบุรี เพื่อระงับความแตกแยก ไม่ให้บ้านเมืองต้องเสียหาย และคนไทยต้องมารบราฆ่าฟันกันเองในคราวที่พระยาสรรค์ก่อกบฏยกทัพกลับมาล้อมกรุงธนบุรี

ความจริงข้อนี้ ใน “จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี” หรือ เจ้าครอกวัดโพ พระกนิษฐาต่างพระชนนีในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ซึ่งนับเป็นมรดกสําคัญดุจเพชรยอดมงกุฎทางประวัติศาสตร์ไทย ดังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “เป็นบันทึกพรหมจารี ไม่มีแมลงด้วงเจาะไช” คือ ถ่ายทอดอย่างง่ายไม่ปรุงเปลี่ยน ก็มีข้อความที่ยืนยันถึงความเสียสละเพื่อประเทศชาติครั้งนี้ของพระองค์ท่านเป็นอย่างดี โดยในจดหมายเหตุความทรงจำฯ บรรยายเหตุการณ์เมื่อคราวพระยาสรรค์ยกทัพกลับมาล้อมกรุงธนบุรีว่า

พอรุ่งสว่างเมื่อพระองค์ท่านทรงเห็นหน้าว่าเป็นคนไทย และทรงทราบว่าพระยาสรรค์มาปล้นตีเมือง ขณะพระยาธิเบศร์ พระยารามัญ และพระยาอำมาตย์ จะลากปืนขึ้นป้อมต่อสู้ พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งห้ามว่า

“สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย”

จากนั้น ทรงลี้ภัยทางเรือออกจากกรุงธนบุรี ไปพำนักบำเพ็ญศีลที่เขาขุนพนม นครศรีธรรมราช กระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2356 โดยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ทรงลี้ภัยไปอยู่นครศรีธรรมราช พระองค์ท่านมิได้กระทำการใดอันเป็นอุปสรรคปัญหาต่อการปกครองบ้านเมืองของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ หรือกระทำการใดอันส่อให้เห็นได้ว่าทรงต้องการกลับมาครองอำนาจแต่อย่างใด

ที่นำเรื่องนี้มาเล่า เพราะนอกจากวันนี้ จะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว ยังอยากให้เรื่องราวที่เล่าเกี่ยวกับความรัก ความเสียสละเพื่อให้เกิดความปรองดองเป็นปึกแผ่นของคนในชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นคติเตือนใจนักการเมือง รวมทั้งคนทำราชการทั้งหลาย ไม่ว่าจะกลุ่มไหน ฝ่ายไหน หรือขั้วไหน ที่กำลังแย่งชิงอำนาจกันอยู่ในเวลานี้ หากรักชาติจริง ลองสำรวจดูว่าขณะนี้ ตนได้ทำอะไรใกล้เคียงกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกระทำมาแล้วบ้าง

มหาราชผู้ทรงอุทิศเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อกอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ ไม่ใช่กอบโกยโกงกินผลประโยชน์ของแผ่นดินไทย

มหาราชผู้ทรงกอบกู้ชาติบ้านเมืองจากการรุกรานของต่างชาติ  แม้คนทั้งหลายจะเรียกว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ไม่คิดจะสืบทอดอำนาจ ทรงเรียกพระองค์เองป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น

มหาราชผู้ไม่ทรงปรารถนาให้พระองค์เองกลายเป็นอุปสรรคแห่งความปรองดองของคนในชาติ ทรงลงจากอำนาจเพื่อไม่ให้บ้านเมืองต้องแตกแยก ไม่ใช่ดื้อรั้นหวังเป็นใหญ่ คิดแต่จะแย่งชิงอำนาจมาเป็นของตนโดยไม่สนใจว่าภายในชาติจะแตกแยกร้าวฉานกันเพียงไร

คนที่คิดแต่จะเป็นใหญ่ ไม่ซื่อตรงต่อประเทศชาติ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ขั้วไหน เรื่องไม่มีแผ่นดินจะอยู่ เมื่อฤดูกาลบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ยังไม่น่ากลัวเท่า เรื่องจะสู้หน้าและจะชดใช้กรรมให้บรรพชน และบุรพมหากษัตริย์ที่ทรงกอบกู้ชาติบ้านเมืองอย่างไรเมื่อวายชนม์ไปแล้ว

เวรกรรมมีจริง ไม่เชื่อก็คอยดู !

ณรงค์ฤทธิ์ ศรีรัตโนภาส

สำนักที่ปรึกษาร้อยชักสาม

17 เมษายน 2562