พัฒนาการ ด้าน การ ศึกษา สมัย ปฏิรูป การ ปกครอง มี ลักษณะ อย่างไร


ธนัญญา เพียรศิริ น.ศ.ปี 3 บทความนำเสนอในวิชาการเขียนสำหรับบรรณาธิการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เข้าถึงการศึกษาได้อย่างง่ายขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมและมีบทบาททางการเมืองได้มากขึ้น เนื่องจากการศึกษาก็เหมือนกับการเมืองตรงที่คนรุ่นใหม่สามารถแสดงออกถึงสิ่งที่ต้องการผ่านแนวคิดการปฏิรูป หรือผ่านข้อเรียกร้องเพื่อให้ระบบต่างๆ ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่นั้นดียิ่งขึ้น จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมได้

ยุคนี้ถือเป็นยุคที่ต่างคนต่างต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากการต่อสู้อยู่กับโรคภัยไข้เจ็บ หากจะเปรียบความจนเหมือนโรคร้าย เปรียบเงินเหมือนยารักษาโรค นั่นก็คงไม่เกินจริง เพราะไม่มีใครอยากที่จะเป็นโรคร้าย เช่นเดียวกับที่คนทุกคนก็ล้วนทำงานหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาโรคร้ายที่ชื่อว่าความจน และโรคความจนนี้ก็ไม่ใช่จะรักษากันให้หายง่ายๆ แม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม ความรวยที่ตรงข้ามกับความจนนั้นก็ยังไกลเกินที่จะไปให้ถึงอยู่ดี

ในสังคมเรามีทั้งสังคมเล็กและสังคมใหญ่ เป็นที่รู้กันว่าสังคมเล็กๆ มักจะเป็นรองสังคมใหญ่ๆ จนบางทีสังคมเล็กอาจโดนมองข้ามไปด้วยซ้ำ และส่วนมากคนจะคิดว่าสังคมเล็กควรต้องได้รับพัฒนา ดูแลและรักษาโรคความจนนี้ให้หายไปเสียก่อนเป็นอันดับแรก แต่ก็เป็นไปได้ที่สังคมใหญ่จะมีคนที่เป็นโรคความจนนี้มากกว่าสังคมเล็กก็เป็นได้

สิ่งที่คนมักคิดว่าสังคมเล็กควรต้องได้รับการพัฒนาให้เจริญเติบโตก่อน เพราะสังคมเล็กจะกลายเป็นสังคมใหญ่ได้ในภายภาคหน้า สำหรับสังคมใหญ่หากเปรียบเทียบแล้วก็ไม่ต่างจากประเทศชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมเล็กๆ ที่ถูกมองข้ามหรือโดนทอดทิ้งจึงควรต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือก่อน แล้วเราจะพัฒนาสังคมเล็กๆ เหล่านั้นได้อย่างไร

หากไล่เรียงจากสังคมใหญ่ลงไปหาสังคมเล็กน่าจะได้เป็นตั้งแต่ตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ชุมชน หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียน สังคมเล็กที่สุดนั้นควรต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นก่อน หากดีอยู่แล้วควรให้ยิ่งดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะหากสังคมเล็กยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีพอ นั่นก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมระดับที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งเป็นสังคมที่ใหญ่มากเท่าใด อุปสรรคขวากหนามจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

เป็นที่รับรู้กันว่าการพัฒนาสังคมไม่ว่าจะระดับไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเปรียบได้เหมือนยารักษาโรคความจนได้ก็คือ “การพัฒนาด้านการศึกษา” ซึ่งหลักๆ แล้วเริ่มจากโรงเรียนไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยมีครอบครัว ชุมชนและสังคมคอยเกื้อหนุน

สำหรับคำว่า “การศึกษา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทยเราให้ความหมายไว้ว่า การเล่าเรียน การฝึกอบรม ส่วนนักปรัชญาด้านการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ คาร์เตอร์ วี. กู๊ด (Carter V. Good) ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ในพจนานุกรมศัพท์ 4 ประการ ประกอบด้วย

ประการแรกการศึกษาหมายถึง การดำเนินการด้วยกระบวนการทุกอย่างที่ทำให้บุคคลพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ รวมถึงทัศนคติและพฤติกรรมอื่นๆ ตามค่านิยมและคุณธรรมในสังคม

ประการที่สองการศึกษาหมายถึง กระบวนการทางสังคมที่ทำให้บุคคลได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมที่คัดเลือกและกำหนดไว้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะโรงเรียน เพื่อพัฒนาบุคคลและสังคม

ประการที่สามการศึกษาหมายถึง วิชาชีพอย่างหนึ่งสำหรับครู หรือการเตรียมบุคคลให้เป็นครู ซึ่งจัดสอนในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ วิชาจิตวิทยาการศึกษา ปรัชญา ประวัติการศึกษา หลักสูตร หลักการสอน การวัดผล การบริหาร การนิเทศการศึกษา และวิชาอื่นๆ ที่ครูควรรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญงอกงามสำหรับครู

และประการที่สี่การศึกษาหมายถึง ศิลปะในการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในอดีต ซึ่งรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบสำหรับคนรุ่นใหม่

หากสรุปโดยภาพรวมแล้วน่าจะได้ว่า การศึกษาหมายถึง การเล่าเรียน กระบวนการทางสังคม การถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ที่ทำให้บุคคลเกิดการพัฒนาความสามารถ ซึ่งรวมไปถึงทัศนคติและพฤติกรรม และหมายถึงวิชาชีพอย่างหนึ่งสำหรับครู อันจะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม

จากความหมายข้างต้นนี้นำมาสู่คำถามว่า แล้วการศึกษาจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในสังคมได้อย่างไร หรือมีรูปแบบใดบ้างที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความจนได้ สำหรับคำตอบคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปัญหาของสังคมมีอะไรบ้าง แล้วอยู่ตรงไหนบ้าง หากแยกแยะปัญหาต่างๆ ได้ก็จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาในส่วนต่างๆ ได้นั่นเอง

ที่นี้เรามามองปัญหาที่มีในสังคมเล็กๆ ก่อน ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวก็น่าจะแก้ไขได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงค่อยขยับขยายสู่สังคมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การกระทำลักษณะนี้น่าจะเป็นการดีกว่าที่จะไปยิ่งใหญ่ในระดับประเทศชาติมาแก้ไขในทันที อย่างเริ่มจากระดับโรงเรียนแล้วต่อด้วยระดับมหาวิทยาลัย เพราะว่าทั้งสองสถานที่นี้เป็นเพียงสังคมเล็กๆ ต่อให้มีคนมากหรือน้อยก็ตาม เพราะถือเป็นสถานที่ใกล้ตัวที่สุดที่พ้นมาจากระดับครอบครัว

ในฐานะคนที่ยังเป็นนักศึกษาจึงขอยกตัวอย่างสังคมในระดับมหาวิทยาลัยมานำเสนอ เริ่มจากสังคมมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาสามารถแบ่งได้เป็นสองสังคมเล็กๆ ที่เรียกว่า “องค์การนักศึกษา” และ “สโมสรนิสิต/นักศึกษา” โดยทั้งสองต่างก็ทำหน้าที่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นิสินนักศึกษาได้พัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เช่น สร้างบุคลิกภาพที่ดี ให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงช่วยในการสะสมความรู้ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วสังคมระดับมหาวิทยาลัยยังประกอบไปด้วยคณะต่างๆ มากมายเพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้เข้าไปไขว้คว้าหาความรู้ โดยในแต่ละคณะก็จะมีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่ต่างกันไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เผยแพร่และให้องค์ความรู้ที่จะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสังคมต่อไปได้

ที่สำคัญมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่มีการจัดตั้งคณะหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนาชุมชน” ขึ้นมาโดยตรง จึงเหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้นิสิตนักศึกษาได้ออกไปทำหน้าที่แบบมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคมให้อนาคต โดยความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนไปนั้น สามารถที่จะนำไปรับใช้สังคมในรูปแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองหรือชุมชนอื่นๆ ได้นั่นเอง

ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้การศึกษาในสังคมไทยสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับนิสิตนักศึกษาได้เป็นอย่างอีก แล้วนี่คือหัวใจสำคัญของการศึกษา พร้อมๆ กับสังคมใหญ่ที่สุดที่เรียกว่าประเทศไทยที่ผ่านมามีความพยายามปฏิรูปการศึกษาเชิงโครงสร้างมาโดยตลอด เพียงแต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดผลให้เห็นชัดเจนได้ เพราะการปฏิรูปการศึกษาทำไม่ได้ง่ายเนื่องจากมีปัญหาต่างๆ มากมาย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกับคำว่า “ปฏิรูป” และโดยเฉพาะกับคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ก่อนว่าหมายถึงอะไร

เช่นเดียวกันพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่าปฏิรูปไว้ว่า ปรับปรุงให้สมควร หรือการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข ให้เหมาะสมดีขึ้น ส่วนคำว่าปฏิรูปการศึกษาหมายถึง การปรับเปลี่ยนพัฒนาเพื่อให้การศึกษาสามารถสร้างบุคคลที่ดีให้ต่อสังคม เป็นพลังในการพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศบนพื้นฐานของวัฒนธรรมและความเป็นไทย

สรุปความได้ว่า การปฏิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลง พัฒนาหรือแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับการศึกษาก็จะหมายถึง การพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อสร้างบุคคลให้เป็นพลเมืองที่ดีต่อสังคมและสามารถเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติบนพื้นฐานของความเป็นไทยได้ โดยใช้ทักษะพื้นฐานต่างๆ ในการพัฒนาตนเอง

โดยทักษะพื้นฐานที่สำหรับผู้ที่ผ่านกระบวนการด้านการศึกษาที่ต้องมีเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในคริสต์ศตวรรษที่ 21 คือ ต้องมีการพัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ที่สำคัญคือ “3 รู้” กับ “4 การ” ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

เริ่มจาก “3 รู้” ประกอบด้วย รู้แรกคือ “รู้อ่าน” ในที่นี้ไม่ได้เป็นเพียงแต่การอ่านออกแต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องอ่านเข้าใจด้วย และเมื่ออ่านเข้าใจแล้วก็จะที่สามารถนำมาสู่รู้ที่สองได้คือ “รู้เขียน” หรือเขียนให้คนที่มาอ่านงานเขียนของเรารู้เรื่องได้ ส่วนรู้ที่สามคือ “รู้คำนวณ” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การคิดเลขเป็น แต่ยังรวมไปถึงความสามารถในการตีความ การให้ความหมาย หรือการทำความเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่ออกมาอยู่ในรูปแบบของคณิตศาสตร์ได้

ตามด้วย “4 การ” ถือเป็นทักษะที่ได้จากการศึกษาที่จำเป็นในการเรียนรู้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย การแรกคือ “การคิดแบบมีวิจารณญาณ” หรือทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผล คิดวิเคราะห์ได้ ต่อมาการที่สองคือ “การสื่อสาร” คือทักษะที่สามารถใช้ศัพท์ทางภาษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถใช้จิตวิทยาเพื่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการที่สามคือ “การทำงานร่วมกัน” เป็นทักษะที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ แม้จะมีความคิด ความเชื่อหรือความแตกต่างใดๆ ก็ตาม และการที่สี่หรือสุดท้ายคือ “การสร้างสรรค์” เป็นความสามารถที่ใช้จินตนาการมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมได้

เมื่อนิสิตนักศึกษาได้รับการศึกษาอย่างมีระบบ มีองค์ความรู้และมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของตนเองแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือนิสิตนักศึกษาก็จะสามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปพัฒนา หรือต่อยอดไปสู่การมอบสิ่งที่ดีกว่าให้แก่สังคมและชุมชนได้ ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนิสิตนักศึกษาหรือผู้เรียนว่าจะนำองค์ความรู้ไปพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างไร

ตัวอย่างของการนำองค์ความรู้และทักษะต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนาสังคมและชุมชน นั่นคือ โครงการที่ชื่อว่า “โครงการการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน” ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่นำองค์ความรู้และทักษะต่างๆ ที่นักศึกษามีอยู่ในตัวตน ไปจัดการศึกษาที่ใช้ความรู้หรือทักษะที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ การฝึกฝนพัฒนาตนเองจากในมหาวิทยาลัยมาสู่นอกมหาวิทยาลัย หรือสู่ชุมชนในบริเวณใกล้ๆ เป็นเบื้องต้นก่อน โดยการใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาการเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้ให้กับสังคมนั้นๆ เพื่อให้สังคมและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

มุมมองของนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งที่เลือกที่จะมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคมและชุมชนนั้น พวกเขามองว่าการพัฒนาสังคมและชุมชนเป็นการช่วยเหลือกันและกัน เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม หรือเพื่อตอบสนองความต้องการในจุดมุ่งหมายเดียวกันของสังคมและชุมชนนั้นๆ โดยอาจจะเริ่มมาจากคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด ซึ่งต้องการจะให้ความช่วยเหลือสู่การช่วยเหลือและพัฒนาคนในสังคม

สำหรับกิจกรรมพัฒนาสังคมและชุมชนมีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายด้าน โดยนักศึกษาอาจนำความรู้ในสาขาวิชาของตนเองไปบูรณาการให้เข้ากับการพัฒนาสังคมและชุมชนได้ เช่น คณะศึกษาศาสตร์สามารถนำความรู้ในการจัดการเรียนการสอนไปสอนคนในสังคมและชุมชน เพื่อให้ได้รับความเสมอภาคในการศึกษาได้ เพราะทุกคนไม่ได้มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาหรือเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน ในคณะเกษตรศาสตร์สามารถให้ความรู้ในเรื่องของการปลูกพืช ปลูกผัก การจัดสรรทรัพยากร โดยนำไปบูรณาการให้กับคนในสังคมและชุมชนเพื่อให้เขาสามารถนำสิ่งที่ได้รับไปประกอบอาชีพและสร้างรายได้ และอาจมีกิจกรรมเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ด้านกีฬาและการบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น

การศึกษาไม่ได้พัฒนาเพียงแค่สังคมและชุมชนเล็กๆ เท่านั้น แต่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาสังคมใหญ่ๆ อย่างประเทศชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งเสมือนกับร้อยเรียงกันไปเป็นลูกโซ่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยที่สังคมใหญ่ช่วยพัฒนาสังคมเล็ก สังคมเล็กช่วยพัฒนาปัจเจกบุคคลอีกทีหนึ่ง แล้วปัจเจกบุคคลก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติได้เช่นกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนิสินนักศึกษาว่าจะสามารถนำการศึกษาเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาสังคมเล็กแล้วสู่สังคมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด

เพราะการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อมนุษย์ไม่ว่าจะคนหนึ่งคนใดเมื่อมีการศึกษา หรือมีองค์ความรู้แล้วก็จะกลายเป็นบุคคลที่มีความสามารถ มีคุณภาพ มีศักยภาพในการทำหรือพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้ดี อันจะส่งผลต่อบุคคลรอบๆ ตัว แล้วผลงานนั้นก็จะสามารถย้อนกลับไปสู่การพัฒนาในระดับสังคมใหญ่หรือระดับประเทศชาติได้ จึงสามารถจัดได้ว่ามนุษย์ผู้นั้นนับเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำงานต่อสังคมและประเทศชาติได้ อันท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นความหวังของชาติ

ในสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันมีกิจกรรมหนึ่งที่ชื่อว่า “เลิกเรียนไปกระทรวง” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีนักเรียนทั้งชายและหญิงจำนวนมาก เมื่อก้าวเท้าออกจากรั้วโรงเรียนช่วงเย็นก่อนกลับบ้านได้พากันไปเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา ให้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ให้มีปรับระเบียบการแต่งกายและทรงผม รวมไปถึงการสะท้อนถึงการกระทำที่ส่อไปในทางเหยียดกลุ่มหลากหลายทางเพศในโรงเรียน โดยกลุ่มผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “กลุ่มนักเรียนเลว”

ข้อเรียกร้องที่กลุ่มนักเรียนเลวที่ได้เรียกร้องไว้กับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ โดยต้องการให้มีการปฏิรูปการศึกษามีทั้งหมด 10 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย

ประการแรก ในเรื่องของ “ทรงผมนักเรียน” ที่มีกฎระเบียบให้นักเรียนหญิงต้องไว้ผมสั้น หรือหากไว้ยาวก็ต้องไม่เกินสองกำมือ ห้ามดัด ห้ามซอย ห้ามย้อมสีผม ห้ามถักเปีย ห้ามมัดจุก หรือแม้แต่การมัดผมก็ห้ามผูกต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป

เรื่องนี้กลุ่มนักเรียนเลวให้เหตุผลของการจำเป็นต้องปฏิรูปไว้ว่า ทรงผมของนักเรียนหญิงนั้นไม่ได้มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน และไม่ได้บ่งบอกว่าการที่ไว้ผมยาวหรือสั้นนั้นมีผลกระทบอย่างไร ดังนั้นผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการจึงสมควรให้มีการเปลี่ยนกฎระเบียบ เพื่อให้นักเรียนมีเสรีภาพและอิสระในเรื่องของทรงผมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการแม้จะได้ปรับเปลี่ยนระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมไปบ้างแล้ว โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาตัดสินใจเองว่าจะให้นักเรียนไว้ทรงผมอย่างไรจึงจะเหมาะสม เพียงแต่ยังต้องคงความสะอาดและเรียบร้อยไว้ ซึ่งนั่นก็เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถมีเสรีภาพในเรื่องทรงผมและรักษาความสะอาดกันควบคู่กันไปได้ด้วย

ประการที่สอง “การแต่งกายชุดนักเรียน” โดยทั่วไปแล้วเรื่องนี้สามารถมองได้ว่า การแต่งกายไม่ได้ส่งผลต่อการศึกษาแต่อย่างใด ซึ่งในหลายประเทศได้ยกเลิกการใส่ชุดนักเรียนไปแล้ว แต่บางประเทศยังมีการใส่ชุดนักเรียนอยู่ เพราะนักเรียนบางคนหรือบางครอบครัวนักเรียนเองยังมองว่าชุดนักเรียนนั้นยังมีความจำเป็นอยู่

ประการที่สาม “ความหลากหลายทางเพศ” เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้แล้ว เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบันไม่ว่าใครจะมีเพศใด หรือมีเพศสภาพตรงตามที่สังคมพบเห็นหรือไม่ บุคคลนั้นก็ควรที่จะได้รับสิทธิของความเป็นมนุษย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นในยุคสมัยปัจจุบันบุคคลจะมีสภาพอย่างไร นั่นก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าคนคนนั้นจะต้องเป็นคนดีหรือคนไม่ดี

ประการที่สี่ “การคุกคามทางเพศในโรงเรียน” ในเรื่องนี้มีความหมายรวมไปถึงความรุนแรงอันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องเพศในโรงเรียนด้วย สำหรับเรื่องราวว่าด้วยการคุกคามที่เกี่ยวกับประเด็นทางเพศมีได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของครูคุกคามนักเรียน นักเรียนคุกคามนักเรียนด้วยกันเอง หรือกระทั่งการใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศในการแกล้งกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีมานานแล้วเช่นกัน

ประการที่ห้า “ภาระงานที่ครูมีมากเกินไป” สำหรับครูไม่ได้เป็นแค่ครู แต่ครูต้องเป็นทั้งเจ้าหน้าที่งานทะเบียน งานธุรการ งานด้านการปกครอง เป็นต้น สำหรับครูแล้วไม่ได้มีแค่หน้าที่ในการสอนหรือให้ความรู้นักเรียนอย่างเดียว แต่ครูต้องทำเอกสารให้กับโรงเรียนด้วย ซึ่งหน้าที่ต่างๆ มากมายเหล่านี้ทำให้ครูมีเวลาไม่มากพอในการสอนและดูแลนักเรียน เพราะครูต้องทำงานในส่วนต่างๆ มากมายจนอาจจะทำให้เกิดการละเลยการทำหน้าที่ที่ดีต่อนักเรียนของตนเอง

ประการที่หก “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เป็นประเด็นใหญ่และสำคัญมากในสังคม เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว โดยพิจารณาได้จากเกรดเฉลี่ยทางการเรียนของนักเรียนคนหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงภูมิฐานของคนๆ นั้น โดยที่ไม่ได้มองว่านักเรียนคนนั้นอาจจะไม่ได้ถนัดในวิชาการ แต่อาจถนัดในด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ เพียงแต่สังคมมักมองนักเรียนที่สามารถทำเกรดเฉลี่ยได้สูงว่าเป้นคนเก่ง ทั้งๆ ที่นักเรียนแต่ละคนนั้นมีความเก่งและถนัดที่ไม่เหมือนกัน แต่สังคมกลับมองเพียงแค่ตัวเลขเกรดเฉลี่ยและตัดสินนักเรียนคนนั้นในทันที

ประการที่เจ็ด “หลักสูตรภาษาต่างประเทศ” เรื่องนี้เป็นการเรียกร้องให้สนับสนุนหลักสูตรภาษาอังกฤษเป็นอีกหนึ่งในภาษาหลักที่นักเรียนไทยควรต้องได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง เพราะภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในภาษาหลักที่ใช้กันทั่วโลก หากมีการสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้สังคมไทยมีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากขึ้น

ประการที่แปด “การปรับหลักสูตรการศึกษา” เป็นการเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการมีการปรับหลักสูตรการศึกษาที่ให้มุ่งเน้นถึงความเหมาะสมและสมรรถนะของผู้เรียน เพื่อให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของประเทศชาติที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและฉับไวอย่างในยุคสมัยปัจจุบันมากที่สุด

ประการที่เก้า “การยกเลิกสอบ O-net” เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้โรงเรียนบางแห่งต้องปิดการเรียนการสอน บางโรงเรียนแม้พยายามจะเปิดสอนแบบใกล้เคียงปกติมากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วยังต้องเปิดการเรียนการสอนแบบสลับวัน นำไปสู่การทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการศึกษาของนักเรียนแต่ละคน จนทำให้ไม่สามารถที่จะทดสอบหรือวัดความรู้ของผู้เรียนในระดับมาตรฐานเดียวกันได้

ประการสิบหรือสุดท้ายคือ “การเปิดช่องทางการแสดงความคิดเห็น” สำหรับนักเรียนเอง รวมถึงไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องหรือใครก็ตาม ต่างสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้อย่างเท่าเทียม โดยอาจจะเป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านสภานักเรียนของโรงเรียน เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่างๆ และเพื่อให้การศึกษาไทยก้าวหน้าได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

จาก 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวนั้น ถือเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นและไม่จำเป็นในระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งในบางเรื่องไม่จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญมากกว่าการเรียนการสอน แต่บางเรื่องควรให้ความสำคัญมากกว่านี้เพราะมีผลต่อการเรียนการสอนโดยตรง ทั้งนี้เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยก้าวหน้าต่อไปได้ และความก้าวหน้าทางการศึกษานี้ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีได้มากขึ้น เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้นำความสามารถทางการศึกษาไปใช้ในการพัฒนาสังคมได้ หากคิดที่จะเริ่มทำก็ไม่มีคำว่าสายเกินไป

ข้อเรียกร้องเหล่านั้นจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมการศึกษาของประเทศไทย ในอันที่จะผลิตนักเรียนผู้เป็นอนาคตของประเทศชาติ หรือจะเรียกให้เต็มปากเต็มคำได้ว่า “คนรุ่นใหม่” ให้มีผลิตผลออกมาอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลในการพัฒนาประเทศชาติโดยตรง

สุดท้ายแล้วคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะไปช่วยขับเคลื่อนการเมือง เพื่อให้บ้านเมืองพัฒนาไปตามที่พวกเขาวาดหวังไว้ จึงเห็นได้ชัดว่าการปฏิรูปการศึกษาของคนรุ่นใหม่กำลังนำพาไปสู่สังคมที่พัฒนามากยิ่งๆ ขึ้น

จากบทบาทของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาในการพัฒนาสังคมและชุมชน หรือบทบาททางการศึกษาของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ล้วนสร้างผลดี ซึ่งจะก่อประโยชน์ตามมามากมาย เพราะการพัฒนานั้นคือการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีขึ้น จากการช่วยเหลือพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจของสังคมดีขึ้น คนในสังคมและชุมชนมีรายได้ มีอาชีพ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในสังคมนั้นๆ เกิดความสามัคคี เกิดการพึ่งพาตนเอง และที่สำคัญเกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “คนรุ่นใหม่” สามารถจำนำเอาการศึกษาที่ได้รับไปพัฒนาอย่างบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชน และโดยเฉพาะกับการพัฒนาทางการเมืองเพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้นได้ เพียงแค่นี้จากสังคมเล็กๆ ที่เคยถูกมองข้ามก็จะสามารถรวมกันกลายเป็นสังคมใหญ่ๆ ที่น่าอยู่อาศัยขึ้นไปอีก