องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มีอะไรบ้าง

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine

ดร. สลิลธร ทองมีนสุข

อีกไม่กี่วันจะถึงวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล World Consumer Rights Day ที่มีจุดประสงค์กระตุ้นเตือนให้ทุกคน ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง และ ส่งเสริมให้มีการเคารพปกป้องสิทธิของ ผู้บริโภคทุกอย่างอย่างทั่วถึง

สำหรับประเทศไทย ปัญหาสิทธิผู้บริโภค ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ และภายใต้ ระบบการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ยังดูเหมือน เป็นปัญหาส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นสินค้าด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รถสาธารณะไม่ได้มาตรฐาน ค่าใช้จ่าย ด้านบริการสุขภาพและบริการสาธารณสุขที่สูงเกินควร เป็นต้น

หากมองและแก้ปัญหานี้ในระดับบุคคล ผู้บริโภคหนึ่งคนก็ยากที่จะมีทุนทรัพย์หรือกำลังในการเรียกร้องความเป็นธรรม ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามจัดตั้ง “สภาองค์กรของ ผู้บริโภค” เป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในเรื่องต่างๆ โดยตรง เพื่อดูแล เฝ้าระวังปัญหา รวมถึงเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการดำเนินคดี ที่เกี่ยวข้อง

แต่เดิมประเทศไทยมีองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคหลายองค์กร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือหน่วยงานกำกับดูแลของภาคส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม รัฐยังคง มีบทบาทเป็นผู้มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่เพียงฝ่ายเดียว และดำเนินงานตามนโยบายของหน่วยงาน ซึ่งมักจะแยกส่วนกันตามภารกิจขององค์กรตน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาของผู้บริโภค อีกหลายประการ ที่อาจอยู่นอกเหนือ ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะดูแลได้ เช่น การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า หรือการปรับอัตราค่าทางด่วน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอื่น  หรืออยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน

ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงมีข้อจำกัดในการตรวจสอบนโยบาย หรือการดำเนินงาน ของหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง ต่อมาจึงมีแนวคิดจัดตั้งองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นอิสระทั้งจากรัฐ และจากทุนเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรง

หัวใจสำคัญของการจัดตั้งคือ การมีตัวแทน (Representation) ของผู้บริโภคเข้ามาปกป้องและพิทักษ์สิทธิของตนเอง ผ่านการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อให้เสียงของผู้บริโภคถูกรับฟัง และมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค อันเป็น แนวทางที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

บทบาทของสภาฯ ที่สำคัญอีกประการคือ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำละเมิดหรือผิดสัญญาต่อผู้บริโภค สภาฯ มีอำนาจฟ้องคดีผู้บริโภคได้เช่นเดียวกับผู้เสียหาย ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีผู้บริโภค ตามที่สภาฯ เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ สภาฯ ยังมีอำนาจในการประนีประนอมยอมความ หรือช่วยเหลือผู้บริโภคในการไกล่เกลี่ยยอมความทั้งก่อนและระหว่างดำเนินคดีต่อศาล

สภาฯ จึงเป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรงในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ทั้งการเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัย ไกล่เกลี่ยฟ้องคดีแทน รวมถึงการเสนอนโยบาย ต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมีความ เข้มแข็งและให้การดำเนินคดีต่างๆ สะดวกยิ่งขึ้น ในลักษณะเดียวกันกับองค์กร ภาคเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจให้มีส่วนร่วมบริการสาธารณะตามกฎหมาย เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างในรายละเอียดของการทำหน้าที่ คือ วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยแท้ ขณะที่สภาผู้ประกอบการต่างๆ โดยทั่วไป มีการดำเนินการทั้งในส่วนของการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ผู้ประกอบธุรกิจเอง ในฐานะตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่อภาครัฐ และการกำกับดูแลสมาชิกของสภาให้มีการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมหรือมีมาตรฐานซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการกำกับดูแลสมาชิกในท้ายที่สุด

การก่อตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วยองค์กรของผู้บริโภคภาคประชาชนกว่า 150 องค์กรเข้าชื่อก่อตั้ง และขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบของคณะกรรมการ ประกอบด้วยประธาน รองประธาน กรรมการนโยบายที่เป็น ผู้เชี่ยวชาญ 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินและการธนาคาร ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม และด้านบริการสาธารณะ และกรรมการนโยบายที่เป็นตัวแทนขององค์กรของผู้บริโภคจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีกรรมการนโยบายจากพื้นที่ต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 10 พื้นที่

โครงสร้างสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมของตัวแทน ผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยมีตัวแทนของ ผู้บริโภคแต่ละพื้นที่ ซึ่งสะท้อนหัวใจสำคัญ ของการจัดตั้งสภาฯ อีกประการคือ “ความเป็น อิสระ” เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายฯ มาจากภาคประชาชนทั้งสิ้น ไม่ใช่ข้าราชการหรือผู้ประกอบการ ไม่ถูกครอบงำโดยกลุ่มธุรกิจ อำนาจรัฐ หรือพรรคการเมือง จึงมีความอิสระในเรื่องที่มาหรือการเข้าสู่ตำแหน่ง และด้านการกำหนดนโยบาย

นอกจากนี้ ข้อบังคับของสภาฯ กำหนดให้สมาชิกมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการนโยบายฯ กรรมการฯ จึงต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อสมาชิกของสภาฯ ด้วยการรับฟังความเห็นของสมาชิกสภาฯ และนำความเห็นไปดำเนินการ

พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ยังกำหนดวิธีการตรวจสอบการดำเนินงานของสภาฯ โดยกำหนดให้สภาฯ ต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปี เผยแพร่ต่อประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกด้วย

ปัจจุบันการดำเนินงานของสภาฯ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา และที่ประชุมมีมติเลือกกรรมการนโยบายจำนวน 21 คนแล้ว หลังจากนี้เมื่อได้รับงบประมาณตั้งต้นจากรัฐ จะต้องจัดตั้งสำนักงานในส่วนกลางและในระดับภูมิภาคต่อไป

เป็นที่น่าจับตามองว่า ในอนาคตสภาฯ จะมีบทบาทในการสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคโดยตรงไปยังรัฐบาล ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศให้บรรลุเป้าหมายของการจัดตั้งสภาฯ ได้มากเพียงใด

รวมถึงบทบาทในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายแทนผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ต่อผู้ประกอบธุรกิจ สภาฯ จะมีบทบาทสำคัญในการประสานระหว่างผู้เสียหายในการ รวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับการเยียวยาในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นต่อไป

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 11 มีนาคม 2564


องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มีอะไรบ้าง

ดร. สลิลธร ทองมีนสุข

นักวิชาการ นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เชี่ยวชาญและสนใจด้าน international trade law, Intellectual property law, Public international law, Logistic

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐ มีอะไรบ้าง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

งานคุ้มครองผู้บริโภคมีอะไรบ้าง

กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข.
งานกำกับดูแลก่อนออกสู่ท้องตลาด (Pre-marketing Control) การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์และธุรกิจสุขภาพให้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนดก่อนถึงมือผู้บริโภค.
งานกำกับดูแลหลังออกสู่ท้องตลาด ... .
งานระบบยาและเวชภัณฑ์ ... .
งานพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค ... .
งานอาหารปลอดภัย ... .
งานวิชาการและการวิจัยพัฒนา.

องค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค มีหน่วยงานใด

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานภาครัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติภารกิจหลักเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคโดยตรง และมีหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจมิให้ ประกอบธุรกิจที่เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานกลางในการประสานการปฏิบัติงาน

ข้อใดจัดเป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 20 ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1. รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค