สัมมนา พระพุทธ ศาสนา กับการแก้ปัญหาและการพัฒนา

พระพุทธศาสนากับการพัฒนาชาติ

ตีพิมพ์ใน รายงานกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (๒๕๑๔)

พระเดชพระคุณท่าน สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ และนิสิตนักศึกษา

หัวข้อเรื่องที่ผมจะบรรยายในวันนี้เท่าที่มหาจุฬาลงกรณราช-
วิทยาลัยได้มอบหมายมาคือเรื่องพระพุทธศาสนากับการพัฒนาเศรษฐกิจ กระผมใคร่จะขอเปลี่ยนเป็นการพัฒนาชาติเพราะเหตุว่าเท่าที่ได้พิจารณาและเท่าที่ได้มีประสบการณ์มาเป็นเวลานานพอสมควร ก็รู้สึกว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงไปกว่าเรื่องสังคมในบางกรณี เพราะฉะนั้นจึงใคร่ขอเปลี่ยนหัวข้อเป็นพระพุทธศาสนากับการพัฒนาชาติ เพื่อให้กว้างขวางยิ่งขึ้นข้อที่กระผมควรจะออกตัวอีกข้อหนึ่งก็คือ กระผมเองแม้จะเป็นพุทธศาสนิกชนแต่จะเรียกว่าเป็นคนที่แก่วัดก็หาเรียกได้ไม่ นอกจากจะเคยบวชเป็นสามเณรเป็นเวลานานมาแล้ว เมื่อเด็กๆ ก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนฝรั่งซึ่งมีการสอนคริสต์ศาสนาเป็นพื้น ความรู้ทางพระพุทธศาสนาของกระผมไม่ลึกซึ้งแตกฉานเท่าที่เก็บได้ก็จากการที่เคยตามคุณยายไปฟังเทศน์ จากการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและพระธรรมเทศนาบางเล่ม เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีความผิดพลาดในเรื่องหลักการพระพุทธศาสนา กระผมหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ให้อภัย

ในการแสดงปาฐกถาในวันนี้กระผมจะขอแยกออกเป็น ๓ หัวข้อใหญ่ๆ หัวข้อแรกจะกล่าวถึงการพัฒนาชาติซึ่งจะแยกหัวข้อย่อยออกมาเป็นความเจริญของสังคมและคติในการวางแผนพัฒนาและเรื่องการพัฒนาคนในตอนหลัง กระผมหวังว่าจะได้เสนอข้อคิดบางประการเกี่ยวกับบทบาทของพระพุทธศาสนาในการพัฒนาชาติ

ตอนที่ ๑ การพัฒนาชาติ

ความเจริญของสังคม

เราทั้งหลายได้กล่าวกันอยู่เสมอว่าชาติของเราต้องการที่จะให้มีการพัฒนา ข้อที่คิดในเบื้องต้นก็คือว่าเราจะพัฒนาไปเพื่ออะไร เราจะพัฒนาไปเพื่อให้สังคมของเรานั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร จึงจะเรียกว่าสังคมที่เจริญและที่ได้พัฒนาแล้ว กระผมมีความเห็นว่า สังคมใดก็ตามจะเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องมีลักษณะ ๔ ประการคือ

๑. เป็นสังคมที่มีสมรรถภาพ

๒. บุคคลในสังคมนั้นพึงมีอิสระและเสรีภาพ

๓. สังคมนั้นมีความยุติธรรมครอบงำอยู่ และ

๔. บุคคลในสังคมนั้นมีความเมตตากรุณาซึ่งกันและกัน

หลักเกณฑ์ในการที่สังคมใดจะเจริญขึ้นได้ทั้ง ๔ ประการนี้ กระผมขอขยายความดังต่อไปนี้

หลักสมรรถภาพ ในที่นี้ กระผมหมายถึงความสามารถของบุคคลในสังคมที่จะประกอบกิจต่างๆ ให้มีผลเป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น อรรถประโยชน์ที่ว่านี้ อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ประการคือ

  • ประโยชน์ทางวัตถุ
  • ประโยชน์ทางปัญญา และ
  • ประโยชน์ทางธรรมะ

ประโยชน์ทางวัตถุ ได้แก่การอยู่ดีกินดีทำให้สุขกาย ข้อนี้ส่วนใหญ่ในฐานะที่เราอยู่ในโลก เราก็มักจะยึดถือเป็นข้อสำคัญแต่แท้จริงท่านทั้งหลายในที่นี้คงจะเข้าใจดีว่าไม่ใช่เป็นหัวข้อที่สำคัญ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือประโยชน์ทางปัญญา ประโยชน์ทางปัญญา ได้แก่การสร้างสรรค์ความงามให้เกิดขึ้นในประเภทต่างๆ ทำให้เจริญใจยิ่งขึ้น มีความรู้กว้างขวาง มีวิชาที่จะชักนำไปสู่ความอิ่มเอิบในทางใจ มีวรรณคดี มีดนตรี และปรัชญายึดมั่น ส่วนประโยชน์ที่ ๓ คือ ประโยชน์ทางธรรมะ นั้น ได้แก่ความอิ่มเอิบในดวงจิต เพราะความรู้สึกว่ามีอะไรเกิดขึ้น รวมเป็นประโยชน์ทั้งสาม

ความสามารถนี้จะมาจากปัญญาโดยกำเนิดทางหนึ่ง และจะมาจากการศึกษาอบรมอีกทางหนึ่ง เมื่อบุคคลในสังคมมีความสามารถเป็นเบื้องต้นแล้ว บุคคลเหล่านั้นย่อมจะรู้จักสะสมความสามารถขึ้นมาเป็นทุนประกอบขึ้นเป็นเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องกลไก ทำให้มีสมรรถภาพสูงยิ่งขึ้นสืบไป วิธีการใช้เครื่องมือและความสามารถของบุคคลประกอบกันนั้น ก็ยิ่งส่งเสริมวิชาการและความถนัดให้สูงยิ่งขึ้น เป็นมรดกตกทอดแก่อนุชนต่อๆ ไป เพราะฉะนั้นสมรรถภาพที่กระผมกล่าวถึงในที่นี้จึงควรจะแยกได้ว่าเป็นสมรรถภาพทั้งในปัจจุบัน และสมรรถภาพอันเป็นทุนสำหรับอนาคตของสังคม การสะสมทุนทางวิชาการต้องอาศัยการวิจัยเป็นสำคัญ ประเทศใดสถาบันการศึกษาใดไม่มีการวิจัยหรือมีการวิจัยแบบนั่งประชุมกันเฉยๆ หรือแบบวิจัยด้วยลมปากอย่างที่บางแห่งเขาทำในประเทศไทย สถาบันนั้นย่อมจะต้องด้อยในเชิงสะสมทุนเป็นแน่ อนึ่ง ความสามารถของบุคคลแต่ละคนเมื่อมีการประสานกันและกัน โดยวิธีการจัดการที่ดีและวิธีบริหารที่ดีย่อมทำให้เกิดความสามารถส่วนรวม ซึ่งสูงกว่าผลบวกธรรมดาของความสามารถแต่ละคน กล่าวโดยสรุปแล้ว สมรรถภาพของสังคมเป็นกำลังสำคัญที่จะชักจูงให้สังคมและบุคคลในสังคมเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป นี่แหละเป็นเรื่องที่เราเรียกกันว่า “พัฒนา”

หลักที่ ๒ คือ หลักอิสรเสรีภาพ เสรีภาพของมนุษย์เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกันกับสิ่งที่ปราศจากชีวิต หรือเครื่องยนต์กลไก หรือสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามีแต่สมรรถภาพ แต่บุคคลในสังคมนั้นปราศจากเสรีภาพ สังคมนั้นย่อมจะเป็นสังคม メหุ่นモ แม้จะมีกำลังทำให้เจริญขึ้นได้ก็เจริญไปได้ไม่ดีนัก เพราะผลของความสามารถนั้นคงมีไปในทำนองเดียวกันสำหรับทุกคน เสรีภาพทำให้มนุษย์เราสามารถเลือกจุดหมายและวิถีทางแห่งชีวิตและการประกอบกิจของตนได้ตามชอบใจ และใจของมนุษย์นั้นย่อมรวมถึงรสนิยมและความเอนเอียงต่างๆ กันออกไป เมื่อมีความแตกต่างกัน สังคมนั้นย่อมจะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อนึ่ง เมื่อมนุษย์เราทำอะไรด้วยใจชอบ คือที่เรียกตามคติพระพุทธศาสนาว่ามีฉันทะ ท่านว่าจะทำได้ผลดีกว่าทำโดยไม่ชอบหรือทำโดยฝืนใจทำ เพราะฉะนั้นเสรีภาพจึงเป็นสิ่งที่ส่งเสริมปัญญาอันเป็นอนุสนธิแห่งสมรรถภาพ

อีกประการหนึ่ง มนุษย์แต่ละคนเกิดมาย่อมมีศักดิ์ศรีของตัวติดมา ศักดิ์ศรีนี้หาควรจะลบล้างเสียมิได้ ไม่ว่าจะเกิดมาในฐานะที่ต่ำต้อยหรือในฐานะวงศ์ตระกูลที่สูงส่ง เพราะฉะนั้นเสรีภาพจึงเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาชาติ หลักการประชาธิปไตยจึงเป็นหลักการที่ควรจะส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาในประเทศชาติขึ้นได้ อุปสรรคสำคัญของหลักประชาธิปไตย ก็คือ ความโลภอย่างหนึ่ง กับความทะนงนึกว่าตนวิเศษอย่างหนึ่ง เลยทำให้เพิกเฉยต่อและทำลายซึ่งสิทธิและศักดิ์ของผู้อื่น เป็นการเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้โอกาสที่ชาติบ้านเมืองจะเจริญพัฒนาได้โดยสมบูรณ์

หลักที่ ๓ หลักความยุติธรรมในสังคม มนุษย์เราในสังคมผูกพันให้อยู่กันก็โดยมีกฎแห่งความยุติธรรมกระชับอยู่ ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เป็นคติของศาสนาพุทธ การที่สังคมจะอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ หรือเราเรียกว่ามีสามัคคีธรรมนั้นย่อมต้องอาศัยความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ความน้อยใจ ความริษยา ความแก่งแย่งชิงดีย่อมเกิดจากความรู้สึกนึกหรือระแวงว่าคงจะมีความอยุติธรรมขึ้น และถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมจะเป็นชนวนให้เกิดทุกข์ สันติสุขย่อมปลาสนาการไป ทั้งนี้ไม่ว่าเป็นเรื่องของสังคมเดียวของชาติเดียวกัน หรือเป็นเรื่องระหว่างชาติ ถ้าขาดความยุติธรรมในชาติบ้านเมือง ถ้าหากไม่มีขื่อไม่มีแปก็จะเกิดเหตุจลาจลภายในชาตินั้น ถ้าเป็นเรื่องระหว่างชาติก็ย่อมเกิดเหตุกลียุคและสงคราม ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าความยุติธรรมนำไปสู่สันติ และสันติเป็นมูลฐานแห่งการพัฒนา

หลักที่ ๔ ความเมตตากรุณา มนุษย์เราเกิดมามีร่างกายและปัญญาสมองไม่เสมอกัน บางคนฉลาด บางคนโง่ บางคนพิการ บางคนแข็งแรง บางคนก็ประสบภัยพิบัติในระหว่างดำรงชีวิตอยู่ บางคนเกิดมาในถิ่นฐานที่มีช่องทางจะศึกษาเล่าเรียนได้สะดวกสบาย แต่บางคนอยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญเหล่านี้ เป็นต้น เมื่อเริ่มต้นก็เกิดความไม่เสมอกันเสียแล้วนี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะขจัดปัดเป่าความไม่เสมอภาคนั้น ให้ลดน้อยลงที่สุดจะกระทำได้ สมดังที่ประธานา-
ธิบดีรามอน แมกไซไซ แห่งฟิลิปปินส์กล่าวว่า メใครเกิดมามีน้อย ควรจะได้รับให้มากจากกฎหมายモ ธรรมะข้อนี้ก็คือเมตตากรุณานั่นเอง ตามความเห็นของกระผม การที่บางคนในพวกเราเรียกว่า メกฎแห่งกรรมモ เช่นเด็กที่เกิดมาตาบอดแล้วเราก็เฉยเมย ขาด้วนเราก็เฉยเสียเพราะถือเป็นอุเบกขาเสียว่า เพราะชาติก่อนเขาทำบาป จึงมาตาบอดหรือเสียขาในชาตินี้นั้น กระผมขอเสนอว่าเป็นความเชื่อที่เป็นภัยแก่สังคมอย่างยิ่ง ผู้ใดกอบโกยลาภยศด้วยมิจฉาชีพแล้วภายหลังพยายามไถ่บาปด้วยการให้ทาน ทำบุญเลี้ยงพระ การทำบุญให้ทานชนิดนี้ไม่ชอบด้วยหลักธรรม เป็นเรื่องที่จะอนุโลมเข้าในหลักเมตตากรุณาไม่ได้ หลักเมตตากรุณานี้กระผมขอเสนอว่าสืบเนื่องสัมพันธ์กับหลักเสรีภาพ คือศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ละคน ผู้ที่อ่อนแอกว่าย่อมพึงมีสิทธิเรียกร้อง ไม่ใช่คอยรับทานจากผู้ที่แข็งแรงกว่า และผู้ที่แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า จะต้องรู้จักยับยั้งไม่กอบโกยด้วยความโลภ เปิดโอกาสให้มีความยุติธรรมในสังคม ความกรุณาและเมตตาเป็นธรรมสำคัญของสังคม สมรรถภาพอย่างเดียวอาจทำให้เกิดความอยุติธรรมได้ง่าย ต้องอาศัยความเมตตากรุณาด้วย สังคมจึงจะเจริญพัฒนาโดยสมบูรณ์

คติในการพัฒนาชาติ

ที่กระผมได้กล่าวมาถึงตอนนี้ ได้พยายามที่จะเสนอว่าลักษณะของสังคมที่จะมีการพัฒนาด้วยดีนั้นควรจะประกอบไปด้วยคุณธรรมอย่างไรบ้าง ต่อไปนี้กระผมจะขอเสนอคติบางประการในการวางแผนพัฒนาชาติ เมื่อพิจารณาเห็นชัดแล้วว่า ชาติที่จะเจริญได้จะต้องมีลักษณะ ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น การวางแผนพัฒนาก็ย่อมจะต้องกระทำภายในกรอบหลัก ๔ ประการนั้น การวางแผนพัฒนานั้นคนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ และบางคนก็อาจจะขยายลงไปจนถึงว่า เป็นเรื่องของการศึกษาและสาธารณสุขร่วมด้วยเป็นสำคัญ และถือว่าเป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ แท้จริงถ้าพิจารณาไปโดยลึกซึ้งแล้วจะเห็นได้ว่า เรื่องของการพัฒนาชาตินั้นเป็นเรื่องของวิชาการทุกแขนง รวมทั้งวิชาศีลธรรมจรรยาด้วย เมื่อเราจะปลูกบ้าน เราจะต้องปรับเนื้อที่ดินและก่อรากฐานให้แน่นแฟ้นเสียก่อน เมื่อเราจะปลูกพืชหวังผล เราต้องบำรุงที่ดิน หาอาหารพืช หาน้ำมารด และจะต้องเตรียมคนเตรียมพาหนะเตรียมยุ้งฉางเป็นอุปกรณ์ให้พร้อม ฉันใดฉันนั้น การหว่านพืชพัฒนาจะหวังผลนั้นก็ต้องเตรียมสิ่งต่างๆ อันเป็นอุปกรณ์ไว้ให้พร้อมจึงจะได้ผลดีและสมบูรณ์ ถ้าไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม ก็พัฒนาได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เหมือนหว่านพืชลงไปในนาที่ขาดน้ำหรือขาดธาตุที่เป็นอาหารพืช สถานการณ์ต่างๆ อันจะเป็นทุนแก่การพัฒนานั้น กระผมขอเสนอเป็นข้อสรุปว่า

๑. ชาติควรจะมีความสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอกและการบริหารราชการแผ่นดินควรจะมีระบบที่ดีพอสมควร

๒. เราจะต้องตั้งเป้าหมายในการพัฒนาให้ดีและให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ถ้าหากตั้งเป้าหมายไว้ไม่ถูกต้อง เราย่อมจะดำเนินการพัฒนาไปไม่ได้ผล

๓. วิธีดำเนินงานพัฒนานั้น จำเป็นจะต้องอาศัยหลักวิชาและจำเป็นที่จะต้องกระทำไปโดยรอบคอบ

๔. การใช้อำนาจในการพัฒนาควรจะใช้แต่พอสมควร และจะต้องมีวิธีการที่จะป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจไปในทางที่อาจจะเป็นภัยแก่สังคมนั้น

ทั้ง ๔ ประการนี้กระผมขอขยายความเป็นลำดับไป

ประการที่ ๑ ความสงบเรียบร้อยและการบริหารมีสมรรถภาพ การวางแผนพัฒนาเป็นการวางแผนลงทุนสำหรับชาติ เพื่อให้เกิดผลในอนาคตทั้งที่เป็นอนาคตอันไกลและอนาคตอันใกล้ เพราะฉะนั้นการลงทุนและการประเมินผล รวบรวมผลจะกระทำไม่ได้ดี ถ้าบ้านเมืองไม่เป็นปกติสุข ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือชาวนาชาวไร่ในเขตที่มีการรบพุ่งต่อสู้กัน จะหว่านจะปลูก จะเก็บเกี่ยวไม่สะดวก ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว ประเทศปากีสถาน และประเทศอื่นๆ ซึ่งมีสงคราม ไม่ว่าจะเป็นภายนอกภายในขับเคี่ยวกันอยู่ จะมีการวางแผนพัฒนาไม่ได้ เพราะไม่ทราบแน่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สงครามระหว่างประเทศและสงครามโลกย่อมขัดขวางการวางแผนพัฒนาอย่างที่เราได้เห็นกันอยู่แล้ว แม้แต่เพียงมีการคุกคามกันไม่ถึงรบพุ่งกันจริงๆ เช่น กรณีมาเลเซียกับอินโดนีเซียประจันหน้ากันเมื่อ ๒ミ๓ ปีที่แล้วมาก็ได้ทำความเสื่อมเสียแก่การจำเริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้ง ๒ ประเทศ ความสงบดังกล่าวข้างต้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการคุกคามด้วยอาวุธโดยชัดแจ้ง เมื่อใดภายในประเทศของเราเอง ถ้าหากว่าการบริหารราชการแผ่นดินบกพร่องถึงขนาดที่เราเรียกกันได้ว่า メบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแปモ แม้ว่าจะไม่มีคอมมิวนิสต์มาก่อการร้าย ชาตินั้นก็ย่อมจะรวนเร จะทำการพัฒนาอย่างไรคงไม่สำเร็จ ลักษณะของความระส่ำระสายนี้ ใน มูลบทบรรพกิจ ในคำพรรณนาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสาวัตถีที่เริ่มต้นด้วยว่า メอยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหาノモ ไปจนกระทั่งถึง メหาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา ผู้ที่มีอาญา ไล่ตีด่าไม่ปรานีモ นี้กระผมจะขอยกเว้นไม่อ่านและจะขอประมวลว่า ในบทความนี้ของ มูลบทบรรพกิจ ที่ได้กล่าวถึงนี้ท่านได้พรรณนาว่าความยุ่งยากในเมืองสาวัตถีมีขึ้นเพราะ

๑. ความมัวเมาในกามตัณหา

๒. ความโลภ

๓. ความไม่ถือศีลธรรม แต่ไพล่ไปถือไสยศาสตร์

๔. การฉ้อราษฎร์บังหลวง

๕. ตุลาการไม่ให้ความยุติธรรม

๖. ไม่มีความเคารพความดี เห็นผิดเป็นชอบ

๗. บุคคลที่มีอำนาจมีใจเหี้ยมโหด ปราศจากความกรุณา ถืออำนาจเป็นธรรม และ

๘. ข้าราชการไม่ปฏิบัติหน้าที่ กลับข่มเหงราษฎร

ลักษณะวิบากดังที่เกิดขึ้นในพาราสาวัตถีนั้น มีวิธีแก้ไขอยู่ ๒ ประการคือ การอบรมสั่งสอนศีลธรรมในมวลชนและข้าราชการทั่วไปให้ได้ผล ไม่ว่าเราจะใช้ศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่นใดเป็นหลัก นั่นเป็นวิธีแก้ไขประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งต้องพยายามเพ่งเล็งที่ผู้ใหญ่ในสังคมนั้น เฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่ในทางราชการ เพราะถ้าผู้ใหญ่ดีและสามารถควบคุมผู้น้อยได้ก็จะช่วยให้ผู้น้อยเข้าทำนองคลองธรรมได้ง่ายขึ้น พุทธสุภาษิตมีใจความว่า “ผู้นำควรจะตั้งอยู่ในธรรมเนียมเสียก่อน หมู่คณะจึงจะสวัสดีได้” และท่านขยายความว่า “เมื่อฝูงโคข้ามไปเป็นหมู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด โคเหล่านั้นย่อมไปคดหมด ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมุติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม ประชาชนนอกนี้ก็จะประพฤติอธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้นทั้งหมดก็จะได้ประสบความทุกข์ ถ้าฝูงใด โคผู้นำไปตรง โคเหล่านั้นย่อมไปตรงทั้งหมด ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมุติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้นทั้งหมดย่อมได้ประสบความสุข” ที่กระผมกล่าวมาถึงความสงบเรียบร้อยและการบริหารบ้านเมืองให้ถูกกับความชอบธรรม

ประการที่ ๒ ที่กระผมจะกล่าวต่อไปนี้คือ การวางเป้าหมายในการพัฒนาให้ถูกต้อง การพัฒนาบ้านเมืองอย่างที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น ถ้าพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว หมายถึงการเพิ่มรายได้ของประชาชนในบ้านเมืองนั้นให้อยู่ดีกินดีขึ้น ให้มีพลานามัยดี มีการศึกษาดี จะทำอย่างไรให้ถึงจุดหมายนี้จะได้กล่าวต่อไปตอนที่พูดถึงกระบวนการดำเนินงาน ในที่นี้กระผมจะขอย้ำและขอขยายความคำว่า メพัฒนาモ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่ายังไม่ได้ความบริบูรณ์จริงๆ ถ้าไม่ขยายความให้ชัดและเป้าหมายบกพร่องอยู่ เราจะไม่สามารถดำเนินไปสู่จุดที่ถูกต้องได้ เป้าหมายที่ถูกต้องสมบูรณ์ของการพัฒนาชาตินั้นย่อมต้องให้ครบองค์ ๔ ประการ คือ

องค์ที่ ๑ จะต้องพยายามเพิ่มรายได้และสุขภาพของประชาชนในชาติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ทั้งปัจจุบันและประโยชน์อนาคต ถ้าเราลงทุนมาก ทรัพย์ที่จะนำมากินมาใช้ในปัจจุบันก็ย่อมน้อยลง ถ้าเราลงทุนน้อยเกินไป เราอาจจะอยู่ดีกินดีถึงขนาดในปัจจุบัน แต่ในอนาคตประโยชน์จะลดน้อยลง ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรักษาดุลระหว่างปัจจุบันและอนาคตให้ดีให้เหมาะสม เพื่อให้ความยุติธรรมแก่คนทั้งรุ่นนี้และรุ่นหน้าต่อไป

องค์ที่ ๒ ของเป้าหมายการพัฒนาชาติ คือ เราจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพในการพัฒนา คำว่า メเสถียรภาพモ นี้ หมายความว่าต้องอยู่ในสภาพที่ไม่ระส่ำระสาย ไม่มีการขึ้นๆ ลงๆ เราพยายามที่จะรักษาสภาพของเงินตรา มูลค่าของเงินตรา และการทำมาหากินของประชาชนให้เป็นไปโดยมีเสถียรภาพ ถ้าทำได้เช่นนี้ การพัฒนาย่อมจะได้ผลดีไม่รวนเร

องค์ที่ ๓ การพัฒนาชาติจะต้องคำนึงถึงการทะนุถนอมสิ่งแวดล้อมประชาชนด้วย ข้อนี้ท่านจะได้จากการที่ว่า หากเรามีการพัฒนามากขึ้น เกิดโรงงานมากขึ้น และโรงงานทั้งหลายนั้นไม่ได้ปฏิบัติในเรื่องที่ควรปฏิบัติ กล่าวคือนำสิ่งที่เป็นพิษหรือที่เป็นของโสโครกนำลงสู่ลำน้ำซึ่งใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ในกรณีเช่นนี้ ย่อมจะเป็นภัยแทนที่จะได้ประโยชน์ทั่วๆ กัน โรงงานนั้นอาจจะได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว แต่ประชาชนทั่วไปนั้นอาจจะขาดประโยชน์ เนื่องจากอากาศหรือลำน้ำเป็นพิษใช้ไม่ได้ต่อไป การสร้างถนน การมีจราจร มีรถวิ่งมากๆ ก็เช่นเดียวกัน ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นภัยเป็นพิษขึ้นจากควันที่เกิดจากสารเคมี การพัฒนาบ้านเมืองด้วยการสร้างเขื่อน ตัดไม้ ย่อมจะมีผลร้ายไปด้านหนึ่งแม้ว่าจะได้ผลดีในด้านชลประทานหรือในด้านกำลังไฟฟ้าอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะพิจารณาถึงเรื่องการพัฒนา จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมอันเป็นประโยชน์สำหรับสาธารณะและอันเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลภายหลังต่อไปด้วย

องค์ที่ ๔ เกี่ยวกับเป้าหมายของการพัฒนาชาตินั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศไทยอยู่มาก เราจำเป็นที่จะต้องพยายามกระจายผลที่ได้นั้นให้ทั่วถึงกันในหมู่ชนชาติเดียวกัน เราจะพิเคราะห์ดูแต่เฉพาะอัตราเฉลี่ยและส่วนรวมของชาติอย่างในประเทศไทยที่เราได้อ้างกันว่า ทั่วประเทศไทยเรานั้นมีความสมบูรณ์ ได้พัฒนารายได้ของประชาชนก้าวหน้าขึ้นปีละ ๘% หรือ ๑๐% หาใช่เป็นเครื่องวัดที่ถูกต้องไม่ เราจำเป็นที่จะต้องดูว่าที่เพิ่มรายได้กันนั้น ได้เพิ่มให้ทั่วถึงกันหรือไม่ เท่าที่เราได้เห็นกันอย่างชัดเจนก็คือ ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยถึงประมาณ ๓ เท่าของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเท่าที่เราได้พัฒนากันมาเป็นเวลา ๑๐ ปีเศษแล้ว เมื่อเรายิ่งพัฒนาไป ผลของการพัฒนานั้นย่อมตกอยู่กับคนในเมืองหลวงได้ง่ายกว่าที่จะไปได้กับคนในชนบท ในโลกนี้คนที่รวยแล้วยิ่งรวยขึ้นง่ายกว่าคนจน และคนจนก็ยิ่งจนยิ่งขึ้น ถ้าเราใช้หลักความยุติธรรม ความเมตตากรุณาในสังคมเป็นที่ตั้งแล้ว เราก็พึงตั้งเป้าหมายพัฒนาให้เกิดผลมากเป็นพิเศษสำหรับชาวนาและชาวชนบท ในทางปฏิบัติข้อนี้หมายความว่า เราจะต้องใช้เงินลงทุนให้มากสำหรับชนบทและยับยั้งไว้บ้างสำหรับคนในเมืองหลวง และแม้แต่คนภายในเมืองหลวงก็มีคนยากจนและคนมั่งมี เราก็ควรจะมุ่งประโยชน์ให้ได้เกิด
แก่คนจนเป็นพิเศษ ในการวางเป้าหมายข้อนี้นักพัฒนาจะต้องอาศัยศีลธรรมเป็นหลักสำคัญ

ในที่นี้กระผมจะกล่าวถึง วิธีการดำเนินงานพัฒนา เมื่อเราได้วางเป้าหมายแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องวิชาการมากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่กระผมได้กล่าวมาแล้ว แต่พอจะกล่าวได้โดยง่ายว่า การพัฒนานั้นเป็นเรื่องของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการพัฒนาสังคม เป็นการลงทุนและคาดคะเนผล ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องนำผลที่คาดคะเนต่างๆ นั้นมาเปรียบเทียบกัน หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ที่นำมาใช้นั้นเป็นหลักธรรมดา หาใช่หลักพิสดารอะไรออกไปไม่ และการดำเนินงานในกระบวนการพัฒนาก็เป็นการดำเนินการโดยแบบแผนปฏิบัติวิธีธรรมดา ไม่แตกต่างกันกับการประกอบกิจการหรือการปฏิบัติโดยปกติ พูดกันง่ายๆ ก็คือว่า เราพยายามลงทุนให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผลมากที่สุด และจะต้องกระทำโดยรอบคอบ แม้ว่าจะต้องเร่งทำ กระผมขอย้ำในเรื่องหลักธรรมดานี้ว่า การพัฒนาไม่ใช่เรื่องอื่นหรอก เรื่องธรรมดานั่นเอง คือลงทุนให้น้อยและให้ได้ผลมาก ที่จำเป็นจะต้องย้ำนี้ ก็เพราะเหตุว่า บุคคลส่วนมากรวมทั้งบุคคลที่สำคัญในรัฐบาลด้วยมักจะเข้าใจการพัฒนาไปในแบบอุตริ ในกระบวนการพัฒนานั้น เราจะทำให้เกิดผลดีได้ก็ด้วยมีความรอบรู้ลึกซึ้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงปฏิบัติ วิธีการพัฒนาที่กระผมเรียกว่า メแบบอุตริモ นั้นหมายถึงการละเลยเสียซึ่งทฤษฎี ฝืนหลักธรรมชาติ มนุษย์เราฝืนใจมนุษย์ด้วยกันได้นับว่าเก่ง แต่มนุษย์ย่อมไม่เก่งพอที่จะฝืนหลักธรรมชาติหรือหลักเศรษฐศาสตร์หรือทฤษฎีวิชาอื่นใด ถ้าฝืนเข้าจริงๆ เมื่อใด ผลจะประสบเป็นหายนะเมื่อนั้น

เนื่องด้วยทรัพยากรของชาติมีจำกัด เวลาก็มีจำกัด คนที่มีฝีมือมีวิชาความรู้ก็จำกัด เราจะทำอะไรเพื่อพัฒนาพร้อมๆ กันทุกอย่าง คงไม่ได้แน่ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องลำดับความสำคัญ เรื่องใดสำคัญกว่า เอาเรื่องนั้นไปทำก่อน ถ้าเรื่องใดสำคัญน้อยก็ทำทีหลัง เรื่องที่สำคัญมากกว่าเรื่องอื่นๆ นั้นพอจะกล่าวได้โดยกว้างๆ ว่า เป็นเรื่องที่เมื่อทำได้สำเร็จแล้วจะช่วยให้ทำอย่างอื่นได้สะดวก และได้ผลดีมากขึ้น ตัวอย่างของเรื่องนี้คือ การพัฒนาคน การพัฒนาแรงงาน ถ้าหากว่าคนดีมีฝีมือย่อมจะช่วยให้มีฝีมือไปทำอย่างอื่นได้สะดวก การจัดการการคลังการเงินให้มีระเบียบเรียบร้อย การตัดถนน การจัดการท่าเรือและการขนส่งต่างๆ ให้มีสมรรถภาพดี ย่อมอยู่ในประเภทสำคัญเหล่านี้ทั้งนั้น

อนึ่ง ในการดำเนินงานพัฒนานั้น นักเศรษฐศาสตร์ย่อมจะเพ่งเล็งเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเป็นเช่นนี้กระผมเห็นว่าจะพัฒนาโดยสมบูรณ์ไม่ได้ จะต้องพิจารณาเลยไปถึงการพัฒนาทางสังคมด้วย ซึ่งรวมถึงการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปการ นอกจากนั้นนักเศรษฐศาสตร์หรือนักพัฒนาควรจะคำนึงถึงหลักใหญ่แห่งชีวิต ซึ่งนอกเหนือไปจากความดีและสัจจะแล้วก็คือ ความงาม ศิลปะ กวีนิพนธ์ และดนตรี ต้องอยู่ในข่ายแห่งการพัฒนาขั้นสำคัญ การวิจัยในมหาวิทยาลัยก็เป็นการส่งเสริมสัจจะและปัญญา ควรจะเป็นเรื่องเอกของกระบวนการพัฒนาด้วย

หัวข้อต่อไป คือ อำนาจในการพัฒนาและการใช้อำนาจในกระบวนการพัฒนา คือการลงทุนสำหรับส่วนรวมนั้น เราย่อมขาดเสียมิได้ที่จะต้องใช้อำนาจมากกว่าปกติ ในวงราชการเมื่อมีการพัฒนาย่อมมีการก่อสร้างมากขึ้น มีการสร้างคนมากขึ้น เงินงบประมาณรายจ่ายย่อมสูงกว่าปกติ และย่อมจะมีการดำเนินงานเข้มแข็งกว่าปกติ กล่าวกันง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าเราพัฒนามาก งานก็มาก เงินก็มาก ช่องทางที่จะโกงกันหรือทุจริตกันก็มีมากขึ้น เงินคืองาน งานคือเงิน บันดาลความสุขให้แก่ผู้มีอำนาจที่ปราศจากหิริโอตตัปปะ ผู้ที่รับผิดชอบในการพัฒนาจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างระเบียบวิธีปฏิบัติป้องกันทุจริต และป้องกันมิให้ใช้อำนาจไปในทางมิชอบให้ได้ จึงจะพัฒนาได้สมบูรณ์จริงๆ มีเจ้าลัทธิประหลาดบางคนอย่างที่กระผมได้เสนอไปเมื่อกี้นี้ ออกความเห็นว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทยเรานี้ เราจะป้องกันการโกงกันได้ยาก และเมื่อมีการพัฒนาแล้วก็ยิ่งมีการป้องกันยากยิ่งขึ้น มิหนำซ้ำเจ้าลัทธินั้นยังได้กล่าวต่อไปว่า ถ้าเราปล่อยให้โกงกันเสียบ้าง บางทีเราจะพัฒนาได้เร็วขึ้น ลัทธินี้กระผมเสนอว่าเป็นลัทธิอุบาทว์ จะพัฒนากันให้พิสดารไปเช่นนั้นได้อย่างไร ถ้าจะปล่อยให้ศีลธรรมเสื่อมโทรมไปเพื่อพัฒนากันให้ได้สะดวก แม้ว่าจะเป็นความจริงกระผมก็ขอเสนอว่าอย่าพัฒนากันดีกว่า อยู่กันเฉยๆ มีความสุขมากกว่า แม้ว่าจะด้อยในทางวัตถุกันบ้าง ลัทธิอุตริดังกล่าวไม่มีหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศีลธรรม สนับสนุนประการใด ถ้าประเทศไทยมีการโกงกินกันมากเท่าใด ก็ย่อมเป็นอุปสรรคในการพัฒนามากเท่านั้น และพอจะเปิดโอกาสให้โกงกันได้ก็ยิ่งโกงกันใหญ่ ตัวอย่างของประเทศที่ได้รับความเสียหายในเรื่องนี้ทั้งที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยเรา ที่อยู่ไกลในแอฟริกาก็มีอยู่หลายประเทศซึ่งได้ประสบหายนะมาต่างๆ กัน กระผมเข้าใจว่าประเทศไทยคงจะไม่ต้องการที่จะรับตัวอย่างมาปฏิบัติเช่นนั้น

ตอนที่ ๒ การพัฒนาคน

ในตอนสุดท้ายของภาค ๑ ว่าด้วยการพัฒนา กระผมขอเสนอความคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญยิ่งสำหรับทั้งศาสนา ศีลธรรม และการพัฒนา เรื่องนั้นก็คือเรื่องการพัฒนาคน การพัฒนาคนหมายถึงการศึกษาสำหรับคนที่ยังเยาว์วัยและเข้าสถานศึกษา แต่ความหมายนี้กว้างขวางรวมถึงคนที่พ้นจากวัยและเกณฑ์การศึกษาแล้ว เราจะช่วยให้คน ๒ ประเภทนี้ให้ได้เป็นคนดีมีความรู้มีความสามารถ ทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมได้อย่างไร สำหรับเด็กเล็กตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ ถึง ๗ ขวบขึ้นไป รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะอำนวยการศึกษาให้ทั่วถึง ในขณะนี้เรายังไม่สามารถทำให้เด็กทุกคนในชั้นประถมศึกษาเข้าเรียนได้ตามกำหนด แต่การแก้ไขปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการพัฒนาชาติ เพราะว่าตราบใดที่เด็กของเรายังไม่สามารถจะอ่านออกเขียนได้ ผู้ใหญ่ทั้งหลายควรจะมีความละอาย เพราะบกพร่องทั้งในหน้าที่ ในศีลธรรม และการพัฒนา การอำนวยประถมศึกษานี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาอ้างว่าทำเร็วไม่ได้ เพราะครูส่วนใหญ่ขาดวุฒิ ข้ออ้างนี้กระผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะคุณวุฒิสำหรับครูสอนชั้นประถมนั้นไม่สูงนักสำหรับวิชาการ แต่สูงยิ่งสำหรับความอุตสาหะและวิริยะ ครูเป็นจำนวนมากต้องการปรับปรุงวิทยฐานะของตนเอง จนลืมไปว่าตนมีหน้าที่สอนเด็ก บางคนไม่เอาใจใส่การสอนแต่เอาใจใส่กับการเรียนเพื่อสอบเลื่อนวิทยฐานะของตนเองมากจนเกินไป และครูใหญ่ ศึกษาธิการส่วนใหญ่ มักจะไม่กวดขันตรวจตราการปฏิบัติงานของครู การเทิดทูนวิทยฐานะของครูแทนความอุตสาหะวิริยะนั้นเป็นการละเมิดศีลธรรม และเป็นการขัดขวางการพัฒนา

ในการศึกษาชั้นมัธยม เราไม่บังคับสำหรับเด็กทุกคนในปัจจุบันนี้ แต่ถ้ามีเด็กเข้าไปในชั้นมัธยมมากเพียงใด บ้านเมืองก็จะมีช่องทางเจริญขึ้นได้เร็วเพียงนั้น เรื่องนี้ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างอันดี การอำนวยการศึกษามัธยมนี้ จะต้องกระทำโดยมีความมุ่งหมาย ๒ ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ให้วิชาแตกฉานดีพอสมควร และอีกประการหนึ่งต้องส่งเสริมให้นักศึกษา นักเรียน แยกออกเป็น ๒ พวก คือ มีผู้ที่จะเรียนชั้นอุดมต่อไปทางหนึ่งกับผู้ที่เรียนจบมัธยมแล้วจะออกไปทำมาหากิน ฉะนั้นจึงควรจะจัดการศึกษาให้สูงทางวิชาการสำหรับนักศึกษานักเรียนประเภทแรก และให้สูงพอสำหรับทางด้านวิชาชีพ คือด้านอาชีวศึกษาสำหรับนักเรียนประเภทหลัง

สำหรับนักเรียนที่ออกจากการศึกษาในโรงเรียนชั้นประถมก็ดีหรือในชั้นมัธยมก็ดี ยังนับว่ามีความรู้เพียงพอแก่สถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการทางพัฒนาหามิได้ เพราะเรียนน้อยเกินไป รัฐบาลจำเป็นจะต้องจัดการศึกษาอบรมนอกโรงเรียนต่อไปให้ได้ด้วย และจะต้องทำเป็นการจริงจัง ให้เน้นหนักไปในทางด้านฝึกอาชีพ ให้มีความรู้พิเศษสำหรับนักเรียนที่ออกชั้นมัธยม

นักเรียนชั้นอุดมศึกษาหรือชั้นมหาวิทยาลัย นับได้ว่าเป็นชั้นปัญญาชน การศึกษาจำจะต้องอำนวยให้นักเรียนชั้นนี้รอบรู้วิชาการทั่วไปกว้างขวางพอสมควร ให้รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของปัญญาชนในประเทศ และให้รู้วิชาเฉพาะของตนลึกซึ้งจริงจนประกอบอาชีพเป็นผู้นำผู้อื่นได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนชั้นประถม มัธยม หรืออุดม พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ควรจะถือเป็นหน้าที่ที่จะให้ความรู้ทางศีลธรรมให้มีความรู้ผิดและรู้ชอบ มีหิริโอตตัปปะ ให้ถือทัศนคติทางธรรมอันถูกต้อง มิใช่คะนองเห็นการเสพสุรา การเสเพล การโกง เป็นการประพฤติที่คนเก่งควรจะกระทำ เรื่องนี้จะให้ได้ผลจริง ที่กระผมได้เรียนไว้ตอนต้น ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ทำได้อย่างหนึ่ง แต่เด็กทำได้อีกอย่างหนึ่ง และตัวอย่างที่เราต้องการให้ทำนั้นต้องเริ่มขึ้นที่บ้าน บิดามารดา ตลอดมาจนถึงครูบาอาจารย์ และผู้มีชื่อเสียงในวงราชการและสังคม ความประพฤติชั่วของเด็กและเยาวชนนั้นมิใช่เกิดจากการละเมิดศีลธรรมของเด็กเยาวชน กระผมเสนอว่ามีสาเหตุมาจากการละเมิดศีลธรรมของผู้ใหญ่ ทุกวันนี้ เราบ่นกันว่าเด็กนักเรียนเกกมะเหรกเกเร นักศึกษานิสิตก่อการไม่สงบ หัวแข็ง ยกพวกตีกัน ขว้างระเบิดซึ่งกันและกัน เราบ่นก็บ่นไป แต่พวกเราบิดามารดา ครูบาอาจารย์จะทำอย่างไรกัน ผมอดคิดไม่ได้ว่า ผู้ใหญ่เรานี้ช่วยตัวเองและช่วยเด็กได้ด้วยวิธีที่ศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ ได้สอนเราไว้ วิธีนั้นก็คือ อาศัยความรักความเมตตา และการปฏิบัติประพฤติตนเป็นตัวอย่าง เมื่อเด็กและผู้ใหญ่มีความรักผูกพันกัน ไม่เมินซึ่งกันและกัน เด็กและผู้ใหญ่จะเกิดความเชื่อถือซึ่งกันและกัน พูดจาพอฟังได้ ความรักเป็นอาหารทิพย์เลี้ยงโลก ไม่ว่าเราจะถือกำเนิดมาเป็นชาวพุทธหรือชาวศาสนาอื่นๆ เรื่องข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาโดยทั่วๆ ไป กระผมได้กล่าวมาพอสมควรแล้ว

ตอนที่ ๓ บทบาทของพระพุทธศาสนา

ในตอนต่อไปซึ่งคงจะมีเวลาน้อย กระผมจะพยายามกล่าวถึงบทบาทของพระพุทธศาสนาในการพัฒนาชาติ เท่าที่กระผมได้กล่าวมาแล้วเป็นส่วนมากข้างต้น ได้กล่าวถึงเรื่องศีลธรรมอยู่หลายครั้งและหลายตอน พอจะสรุปได้ว่า ถ้าปราศจากศีลธรรมแล้ว การพัฒนาประเทศไม่ว่าจะพัฒนาไปในทำนองใดย่อมจะบกพร่องและไม่สมบูรณ์ และเฉพาะอย่างยิ่งจะพัฒนาไปในด้านเป้าหมายซึ่งจะผิด ผลสุดท้ายอาจจะพัฒนาไปในทำนองที่จะเห็นความเจริญทางวัตถุเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าเรื่องที่สำคัญแท้ๆ คือความเจริญในทางปัญญาและในทางธรรม การขาดจากศีลธรรมนั้นจะทำให้โลกเสื่อม กระผมใคร่จะขอเสนอข้อต่อไปว่า แม้ว่ากระผมจะพูดฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน และในท่ามกลางพุทธศาสนิกชนในที่นี้ บทบาทของศาสนาอื่นๆ ก็ควรจะมีในทำนองเดียวกันนี้ และไม่ว่าจะถือศาสนาใด ศีลธรรมย่อมเป็นเครื่องที่จะทำให้การพัฒนาชาติเป็นไปโดยสมบูรณ์และดียิ่งขึ้น เท่าที่จะกล่าวถึงพระพุทธศาสนานั้น กระผมใคร่จะเสนอดังต่อไปนี้ พระพุทธศาสนาของเราที่จะช่วยเหลือในการพัฒนาชาติได้ดีนั้น เราก็ย่อมอาศัยพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสื่อสำหรับสืบพระศาสนา พระพุทธศาสนาของเรานั้น กระผมเข้าใจว่า เราจะช่วยให้มีการพัฒนาชาติได้ดีจริงๆ คงจะต้องอาศัยหลักเกณฑ์บางประการ พระบวรพุทธศาสนาของเราก็ควรที่จะดำเนินการพัฒนาก้าวหน้าไปดังนี้

ประการที่ ๑ กระผมเชื่อว่า ความเชื่อถือในบวรพุทธศาสนาต้องเป็นความเชื่อถือชนิดที่บริสุทธิ์ ไม่เจือปนความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ในด้านถือผี ถ้าหากว่าพระพุทธศาสนาของเราแปลกปลอมและปะปนไปกับเรื่องตะกรุด คาถา อาคม และการเชื่อดวงดาวมากจนเกินไปแล้ว ย่อมทำให้การเชื่อถือในศาสนานั้นไขว้เขวไป และเกิดความระส่ำระสาย พระพุทธองค์ท่านมิได้ตรัสไว้หรือว่า คนโง่นั้นมัวแต่พิเคราะห์แต่ดวงดาว ความเชื่อถืออันนี้กระผมเห็นว่าเป็นภัยแก่พระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อเราได้เห็น ไม่ว่าผู้ใหญ่บนบานศาลกล่าวขอให้ถูกลอตเตอรี่ ขอให้สอบไล่ได้ นักเรียนชั้นมัธยมชั้นมหาวิทยาลัยที่ควรจะมีปัญญามากพอที่จะรู้ว่าศีลธรรมและศาสนานั้นเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังมีการบนบานศาลกล่าวในมหาวิทยาลัยหรือในที่ต่างๆ ขอให้สอบไล่ได้ การบนนี้กระผมเชื่อว่าเป็นภัย ไม่ใช่เชื่อว่าเป็นเรื่องความโง่เขลาอย่างเดียว เพราะเหตุว่าถ้าหากนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ใหญ่เราบนบานศาลกล่าวได้ ก็พ่อค้าพาณิชย์ทำไมเขาจะไม่ติดสินบนข้าราชการ ตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายปกครองไม่ได้ ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นกระผมจึงใคร่ขอเสนอว่า เมื่อพระบวรพุทธศาสนามีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาชาติ และในการที่จะทำให้มนุษย์ในโลกมีความสมบูรณ์ทั้งในด้านสติปัญญาและทางด้านวัตถุ เราก็ควรที่จะพัฒนาพระบวรศาสนาให้มีความบริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อน ไม่ไปผสมกับลัทธิไสยศาสตร์อันเป็นภัยต่อสังคมแก่ประเทศเรา

ประการที่ ๒ กระผมใคร่ที่จะเสนอว่า ความเชื่อถือในพระบวร-
ศาสนาจะต้องเป็นความเชื่อที่มูลฐานตั้งอยู่ในเหตุและผลและวิชา ไม่ใช่ตั้งอยู่ในความเชื่อโดยงมงายอย่างเดียว หรือไม่ใช่ตั้งอยู่ในอวิชชา ในกาลามสูตร พระพุทธองค์ท่านมิได้ตรัสไว้หรือว่า “ท่านทั้งหลายอย่าพึงเชื่อสิ่งใดเพียงแต่เพราะเหตุที่ได้ฟังตามกันมา หรือเพราะเคยเห็นเช่นนั้นต่อๆ กันมาก็อย่าเชื่อ หรือโดยข่าวเล่าลือก็อย่าเชื่อ หรือโดยมีผู้อ้างตำราก็อย่าเชื่อ หรือโดยพึงเดาเอาเองก็อย่าเชื่อ หรือโดยคาดคะเนเอาเองก็อย่าเชื่อ หรือโดยตรึกตรองตามอารมณ์เอาเองก็อย่าเชื่อ หรือเพราะชอบใจว่าเข้ากับลัทธิของตนก็อย่าเชื่อ หรือเพราะเห็นว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อถือก็อย่าเชื่อ หรือเพราะเห็นว่าสมณะนี้เป็นครูเราก็อย่าเชื่อ แม้แต่คำของพระพุทธเจ้าที่สอนมานี้ก็อย่าเชื่อ ท่านจงเอาข้อที่ได้ยินได้ฟังได้ตรึกได้ตรองตรวจดูด้วยเหตุผล จนเกิดความชัดแล้วจึงค่อยเชื่อ” กระผมเข้าใจว่า กาลามสูตรบทนี้เป็นที่นิยมนับถือ ไม่ใช่เฉพาะในหมู่นักเรียนพุทธศาสนาเท่านั้น ในหมู่นักศึกษาทั่วโลกไม่ว่าจะยึดมั่นในศาสนาใดก็ย่อมสรรเสริญในข้อที่พระพุทธองค์ได้ตรัสดังกล่าวมานี้

ประการที่ ๓ กระผมขอเสนอว่า การที่เราจะนำเอาคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นหลักธรรมมาประยุกต์กับสภาพปัจจุบันนั้น เราจำเป็นที่จะต้องคำนึงว่า สภาพปัจจุบันและลักษณะของสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ ถ้าหาก
ว่าเราจะยึดมั่นในด้านที่ว่าพระธรรมของพระพุทธองค์นั้นเป็นอกาลิโก คือ ไม่มีวันตายใช้ได้ทุกเมื่อ นั่นก็เป็นเรื่องที่จริง แต่วิธีการปฏิบัติที่จะให้ประยุกต์กับสภาพปัจจุบันนี้ เปลี่ยนแปลงจากความจริงครั้งพุทธกาลมา ๒๕ พุทธศตวรรษแล้ว เราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นกระผมจึงเห็นว่า การที่จะดึงดูดให้มีการหว่านพืชแห่งพระธรรมไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชนแล้ว เราจำเป็นที่จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีทำ วิธีที่จะใช้เป็นประโยชน์แก่เยาวชนและปัจจุบันชนเป็นอย่างมาก กระผมเข้าใจว่าวิธีการเทศนาที่จะเป็นที่ดึงดูดแก่ประชาชน เฉพาะอย่างยิ่งแก่นักเรียนนั้น ถ้าเราใช้วิธีเทศนาแบบที่เราเคยทำกันอยู่เรื่อยๆ จะไม่ได้ผลนัก เพราะเท่าที่ประสบมาเคยได้นิมนต์พระไปเทศนาเพื่อดัดสันดานเด็ก แต่ก็ปรากฏว่าเด็กนั้นไม่ค่อยจะรับฟัง และมีวิธีเลี่ยงง่ายนิดเดียว คือ นั่งหลับไม่ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าในเทศนานั้นจะมีอะไรที่เป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความสนใจแก่เยาวชน กระผมเข้าใจว่าจะเป็นประโยชน์ยิ่ง การที่จะประยุกต์พระธรรม นำเอาพระธรรมซึ่งเป็นอมตะแล้วมาใช้กับสภาพปัจจุบันนั้น กระผมเชื่อว่าจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาและมีการวิจัย และมีการพูดสัมมนาบ้าง เนื่องด้วยเหตุนี้ กระผมที่ย่างเท้าเข้ามาในที่ประชุมนี้ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และทราบว่ามีการศึกษามีการวิจัยเป็นหลักจึงรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างมาก และใคร่จะสดุดีท่านองค์ปฐมสภานายกซึ่งได้ก่อตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมาแล้วเป็นอย่างมาก

ประการสุดท้ายที่กระผมใคร่จะเอามาเสนอก็คือว่า การพัฒนานั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ทั้งทางโลกและทางธรรม ดังที่กระผมกราบเรียนมาแล้ว เพราะฉะนั้นทางฝ่ายพระสงฆ์ก็ดี ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ดี จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเป็นอย่างมาก มีหลายกรณีทีเดียวที่ฝ่ายบ้านเมืองรู้สึกว่าจะเพิกเฉยต่อความสำคัญของวัดในชนบทหรือในเมือง และเพิกเฉยต่อความสำคัญของการเป็นผู้นำของพระสงฆ์ในหมู่บ้าน ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายก็คือ เมื่อรัฐบาลต้องการที่จะพัฒนาการเกษตร เรามักจะคิดไปในทำนองว่าประเทศอื่นเขาทำกันอย่างไร เขามีนักพัฒนาซึ่งมีความสามารถ มีความรู้ และได้ฝึกฝนไป ส่วนมากก็เป็นคนหนุ่มๆ หรือเป็นคนดี บางคนก็ไปส่งเสริมสำหรับที่จะให้ชาวบ้านและชาวนาชาวไร่ได้มีหลักวิชาที่มีอยู่ในนั้นนำเอาไปประกอบใช้ บางแห่งก็ได้ผลดี
นี่เป็นการกระทำในด้านฆราวาสและทางโลกอย่างเดียว บางแห่งก็ได้ผลดี แต่ส่วนบางแห่งนั้นไม่ได้ผล เพราะส่วนใหญ่ประชาชนขาดความนิยมนับถือในคนหนุ่มกว่า ที่จะมาแนะนำให้ตัวทำสิ่งที่บิดามารดาปู่ย่าตายายทำมาแล้วเป็นเวลาหลายร้อยปี ถ้าหากว่าทางด้านบ้านเมืองรู้สึกมีความเฉลียวฉลาดพอที่จะเข้าหาวัด กล่าวคือ ไปหาพระท่านแล้ว เพื่อจะปลูกความนิยม ก็ต้องอาศัยทางด้านสถาบันสงฆ์เป็นสื่อในเรื่องต่างๆ เรื่องเหล่านี้จะสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น นี่กระผมเข้าใจว่าความร่วมมือระหว่างฝ่ายสงฆ์และฆราวาส ถ้าหากว่าได้มีการดำเนินการไปโดยดีแล้วก็จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายบ้านเมืองก็จะได้พึ่งพระพุทธศาสนา ทางฝ่ายพระพุทธศาสนาก็จะได้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองด้วย และเมื่อมีประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกันแล้ว กระผมเชื่อว่าทางฝ่ายบ้านเมืองก็จะเห็นความสำคัญในการที่จะพัฒนาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป

ขอบคุณ