การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน

การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน

Advertisement

 

การวิจัยในชั้นเรียน

การจัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมห้องเรียนเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

สำหรับกลุ่มครูโรงเรียน     จังหวัดปราจีนบุรี

โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ)              ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 1 – 2

คำชี้แจง : ให้คุณครู    และกรอกข้อมูลให้สมบูรณ์

1. สภาพปัญหาที่พบในชั้นเรียน

                การจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กปฐมวัย มีจุมมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ตรงจากการอยู่ร่วมกัน ส่งเสริมความเป็นอิสระ การตัดสินใจ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักการควบคุมตนเอง รวมถึงการค้นพบโดยการเล่น นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีความสนุกสนาน และปลอดภัย

                การจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กปฐมวัยควรมีพื้นที่สำหรับศูนย์การเรียน หรือมุมต่างๆ ทั้งนี้เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ศูนย์การเรียนรู้หรือมุมต่างๆจึงควรเกี่ยวพันกับประสบการณ์ตรง และวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย มีความสัมพันธ์กับหน่วยการเรียน และเปิดโอกาสให้เด็กทำงานเป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม

                อย่างไรก็ตามจากการสังเกตชั้นเรียน พบว่ามีปัญหาบางประการที่ทำให้การจัดสภาพแวดล้อมไม่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและหลักการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่พอสรุปได้ดังนี้

           ด้านการจัดสภาพแวดล้อม

1.       อาคารเรียนมีขนาดเล็กไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนสถานที่คับแคบไม่สามารถจัดมุมประสบการณ์ในห้องเรียนได้

2.       อาคารเรียนภายนอกตรงกลางอาคารไม่มีหลังคาเวลาฝนตกทำให้น้ำสาดเข้ามาหน้าห้องไม่สามารถวางของหรือจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆได้

3.       พื้นที่ใช้สอยภายในห้องเรียนมีน้อย ไม่สามารถจัดมุมกิจกรรมหรือมุมประสบการณ์ต่างๆได้

4.       ห้องเรียนมีกระจกรอบด้านเมื่อจัดกิจกรรมการสอนทำให้เกิดเสียงสะท้อนภายในห้องเรียน

5.       ขาดวัสดุอุปกรณ์เช่น ชั้นวางของ เครื่องเล่นตามมุมต่างๆ

           ด้านเด็ก

1.       นักเรียนมีวุฒิภาวะต่างกัน มีความพร้อมแต่ละด้านช้า เร็วต่างกันในการจัดกิจกรรมจำเป็นต้องจัดให้เหมาะกับเด็กแต่ละคนทำให้การจัดกิจกรรมบางอย่างไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

2.       นักเรียนมีพื้นฐานครอบครัวที่ต่างกัน บางคนมีนิสัยชอบหยิบของของผู้อื่น

3.       นักเรียนสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์และการใช้เหตุผลและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

           ด้านการจัดการเรียนการสอนของครู

1.       ครูบางท่านไม่ได้จบสาขาการศึกษาปฐมวัยโดยตรง

2.       ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนบางครั้งยังไม่หลากหลายกิจกรรมไม่เหมาะกับเด็ก

3.       ครูไม่ได้จัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียน

4.       ขาดสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน

           ด้านอื่น

1.       นโยบายของโรงเรียนเน้นการจัดการเรียนการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ซึ่งไม่ตรงกับหลักการสอนในระดับปฐมวัยที่เน้นการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้ง 4 ด้าน

2.       ขาดการนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่อง

2. สาเหตุ

                เมื่อได้วิเคราะห์สภาพปัญหาที่พบในชั้นเรียน เห็นว่าสภาพปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากหลายประการ ดังนี้

           จากสภาพแวดล้อมใน/นอกห้องเรียน อาคารเรียนมีขนาดเล็กไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนสถานที่คับแคบไม่สามารถจัดมุมประสบการณ์ทั้งในและนอกห้องเรียนได้

           จากการจัดการเรียนการสอน/ตัวครู   ขาดสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย

           จากตัวเด็ก     นักเรียนสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์และการใช้เหตุผลและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ขาดคุณธรรม จริยธรรม

           อื่นๆ   นโยบายของโรงเรียนเน้นการจัดการเรียนการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ซึ่งไม่ตรงกับหลักการสอนในระดับปฐมวัยที่เน้นการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้ง 4 ด้าน

3. แนวทางการแก้ไข

           ด้านสภาพแวดล้อม 

                1. จัดทำโครงการเสนอผู้บริหารในการปรับปรุงอาคารเรียนโดยทำหลังคาและจัดมุมประสบการณ์พื้นฐาน 13 มุม ภายในอาคารปฐมวัย

           ด้านการจัดการเรียนการสอน/ตัวครู

1.       จัดทำสื่อ อุปกรณ์ในการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น

2.       จัดกิจกรรมที่เน้นด้านคุณธรรม จริยธรรม

3.       จัดกิจกรรมต่างๆส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผลและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยผ่านกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม

           ด้านอื่นๆ

                1. ร่วมประชุมวางแผนงานกำหนดนโยบายของโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยที่เน้นการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้ง 4 ด้าน

4. ภาพความสำเร็จที่ครูอยากเห็นในตัวเด็ก (ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ)

           พัฒนาการด้านร่างกาย

นักเรียนสามารถพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ให้มีความแข็งแรงสามารถเคลื่อนไหวคล่องแคล่วและการใช้อวัยวะต่างๆ ในการทำกิจกรรมได้ดี  และพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเล็ก การประสานสัมพันธ์ระหว่างมือและตา สามารถช่วยเหลือตนเองในการแต่งกาย หยิบจับช้อนส้อม ใช้อุปกรณ์ต่างๆได้ดี

           พัฒนาการทางสติปัญญา

นักเรียนสามารถพัฒนาความคิดรวบยอด สังเกต จำแนก เปรียบเทียบ จัดหมวดหมู่ เรียงลำดับเหตุการณ์ รู้จักแก้ปัญหามีโอกาส สามารถใช้ภาษาสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้สึก ความนึกคิด ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ สามารถพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและเห็นความสวยงามของ สิ่งต่างๆ รอบตัว

           พัฒนาการทางอารมณ์/สังคม

นักเรียนมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความเชื่อมั่น กล้าแสดงออก มีวินัยในตนเอง     รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ประหยัด เมตตากรุณา เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน มีมารยาทและปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมไทยและศาสนาที่นับถือ อีกทั้งมีลักษณะนิสัยที่ดี แสดงออกอย่างเหมาะสมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน มีนิสัยรักการทำงาน รู้จักระมัดระวังความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น

5. เลือกแนวทางการแก้ไขและตัวบ่งชี้ความสำเร็จที่ครูสนใจมากที่สุด คือ

การจัดกิจกรรมต่างๆส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผลและการคิดอย่างมี

วิจารณญาณ โดยผ่านกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม

6. ชื่องานวิจัยในชั้นเรียน (จุดมุ่งหมาย , ตัวแปร , กลุ่มศึกษา)

1. ชื่อวิจัย 

รายงานผลการใช้คู่มือแนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักBBL(Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ)

2. จุดมุ่งหมาย

1. เพื่อเปรียบเทียบการคิดเชิงเหตุผลของนักเรียนระดับปฐมวัยก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL (Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย

                2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนระดับปฐมวัยที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL (Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย

3. ตัวแปร

ตัวแปรที่ศึกษาแยกเป็น 2 ประเภท คือ

                                3.1 ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL (Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์

                                3.2 ตัวแปรตาม ได้แก่ ความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล 4 ด้าน ประกอบด้วย

                                                3.2.1 ด้านการเปรียบเทียบ

                                                3.2.2 ด้านการจัดประเภท

                                                3.2.3 ด้านการหาส่วนที่หายไปของภาพ

                                                3.2.4 ด้านอุปมาอุปไมย

7. ขอบเขตการวิจัย

7.1 กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552

7.2 ตัวแปรต้น

การจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL (Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์

7.3 ตัวแปรตาม

ความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล 4 ด้าน ประกอบด้วย

                                                1 ด้านการเปรียบเทียบ

                                                2 ด้านการจัดประเภท

                                                3 ด้านการหาส่วนที่หายไปของภาพ

                                                4 ด้านอุปมาอุปไมย

7.4 เวลา / สถานที่

                ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552    โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ)

7.5 ประเด็นที่ศึกษา / เนื้อหาที่ใช้

                การจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL (Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย เป็นเนื้อหาในการสร้างกิจกรรมจากหลักสูตรปฐมวัย พุทธศักราช 2546 และหลักสูตรการเรียนรู้แบบ Brain-based Learningสำหรับเด็กปฐมวัย พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมศิลปะและการสร้างสรรค์ให้เด็กจินตนาการออกมาเป็นภาพผ่านการทดลองศิลปะและการสร้างงานศิลปะจากวัฒนธรรมท้องถิ่น

8. นิยามศัพท์เฉพาะ/ คำสำคัญ

                1. เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กชาย หญิง อายุ 5 – 6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองปราจีนบุรี

2. คู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBLด้านศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกทำอย่างเสรี โดยให้ครูจัดปรับตามความเหมาะสมของสภาพท้องถิ่นโดยการนำเศษวัสดุและวัสดุธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นตลอดจนการใช้สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ มาผสมผสานจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL (Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กและสอดคล้องกับหน่วยการเรียนในแต่ละสัปดาห์ โดยจัดกิจกรรมให้เด็กเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม

                                การจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL (Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย นี้ จัดขึ้นในช่วงกิจกรรมสร้างสรรค์ของแต่ละวัน วันละ 40 นาที ตามแผนการจัดประสบการณ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

                                1. ขั้นนำ  ครูแนะนำชื่อกิจกรรมและวัสดุอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม

                                2. ขั้นดำเนินกิจกรรม  เด็กลงมือทำกิจกรรมตามความคิดและจินตนาการของตนเองอย่างอิสระ

                                3. ขั้นสรุป  ครูและเด็กพูดคุยสนทนาเกี่ยวกับกิจกรรมและเล่าผลงานของตนเอง

                3. การคิดเชิงเหตุผล หมายถึง เป็นความคิดทางสมองที่เกิดขึ้นภายใน โดยอาศัยหลักการหรือข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเหตุเป็นผลจากประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่มาสนับสนุนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆใช้ในการตัดสินใจและหาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สามารถนำมาเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกันและใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งนำไปสู่กระบวนการคิดเชิงเหตุผลในการศึกษาครั้งนี้ จำแนกการคิดเชิงเหตุผลออกเป็น 4 ด้าน คือ

                                3.1 ด้านการเปรียบเทียบ  หมายถึง  ความสามารถในการคิดพิจารณาถึงความแตกต่างของสิ่งของต่างๆตามรูปร่าง รูปทรง ขนาด ทิศทาง ประเภท ที่มีลักษณะแตกต่างกัน

                                3.2 ด้านการจัดประเภท  หมายถึง  ความสามารถในการคิดพิจารณาถึงความเหมือนกันเพื่อจัดแยกของสิ่งต่างๆตามประเภทที่จัดอยู่ในพวกเดียวกันกับภาพที่กำหนดให้

                                3.3 ด้านการหาส่วนที่หายไปของภาพ  หมายถึง ความสามารถในการคิดพิจารณาถึงส่วนของภาพที่หายไปว่ามีลักษณะอย่างไรตามภาพที่กำหนดให้

                                3.4 ด้านอุปมาอุปไมย  หมายถึง  ความสามารถในการคิดหาความสัมพันธ์ของภาพในคู่แรกเพื่อหาคำตอบกับคู่ที่สองที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับคู่แรก

การคิดเชิงเหตุผลทั้ง 4 ด้าน สามารถวัดได้จากแบบทดสอบวัด

ความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น

                4. ความพึงพอใจ  หมายถึง ความรู้สึกชื่นชอบหรือพอใจในการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL (Brain-based Learning) ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย ผู้เรียนเต็มใจและกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติกิจกรรมและต้องการปฏิบัติกิจกรรมนั้นๆอย่างต่อเนื่อง

9. วิธีดำเนินการวิจัย

9.1 ขั้นเตรียม : จัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ต้องการศึกษา , เตรียมเครื่องมือรวบรวมข้อมูล

9.2 ขั้นดำเนินการ/รวบรวมข้อมูล : สังเกต บันทึกพฤติกรรมเด็ก ประเมินเด็ก

9.3 ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล : นำผลการบันทึกมาวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา

10. แผนการปฏิบัติงาน

เดือนที่ 1

จัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ต้องการศึกษา , เตรียมเครื่องมือรวบรวมข้อมูล สังเกต บันทึกพฤติกรรมเด็ก ประเมินเด็กก่อนทำกิจกรรม

เดือนที่ 2

จัดทำคู่มือแนวการจัดกิจกรรม  แบบประเมิน และให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเครื่องมือ

เดือนที่ 3

ดำเนินกิจกรรมในช่วงการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ บันทึกข้อมูล

เดือนที่ 4

นำผลการบันทึกมาวิเคราะห์  ประเมินและสรุปผลการศึกษา

11. เอกสารงานหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

     1. หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546

              1.1 แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัย

              1.2 ความสำคัญของการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย

              1.3 หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546

     2. หลักสูตรการเรียนรู้แบบ Brain-based Learning สำหรับเด็กปฐมวัย พ.ศ.2549

                 2.1 หลักการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบ Brain-based Learning

                 2.2 แนวทางการจัดการเรียนรู้เด็กปฐมวัย แบบ Brain-based Learning

     3. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการคิดเชิงเหตุผล

3.1    ความหมายของการคิด

3.2    ทฤษฎีพัฒนาการคิด

3.3    ความหมายของการคิดเชิงเหตุผล

3.4    ความสำคัญของการคิดเชิงเหตุผล

3.5    ลักษณะการคิดเชิงเหตุผล

3.6    แนวทางการส่งเสริมการคิดเชิงเหตุผล

      4. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวกับศิลปะและการสร้างสรรค์ตามหลัก BBL

4.1    ความหมายของกิจกรรมศิลปะและการสร้างสรรค์ตามหลัก BBL

4.2    ความสำคัญของกิจกรรมศิลปะและการสร้างสรรค์ตามหลัก BBL  

4.3    ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมศิลปะและการสร้างสรรค์ตามหลัก BBL