แผนการ สอน ภาษาไทย ม.6 เรื่อง เหตุผลกับภาษา

แผนการ สอน ภาษาไทย ม.6 เรื่อง เหตุผลกับภาษา

เพื่อน ๆ หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘อนุมาน’ กันอยู่บ่อย ๆ ใน บทเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องตรรกศาสตร์ หรือแม้แต่ในวิชาวิทยาศาสตร์ การอนุมานก็ถือว่าเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับนักวิจัย อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ คงเริ่มสงสัยขึ้นมาว่าการอนุมานจะเกี่ยวข้องกับภาษาไทยอย่างไร วันนี้ StartDee จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักบทเรียนภาษาไทยเรื่อง ‘ภาษาและเหตุผล’ และการอนุมาน ซึ่งเป็นบทเรียนที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น (แถมข้อสอบ O-Net ในส่วนของการอ่านยังมีเรื่องการอนุมานทุกปีด้วยนะ)

แผนการ สอน ภาษาไทย ม.6 เรื่อง เหตุผลกับภาษา

เหตุและผลคืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักนิยามของ ‘เหตุและผล’ กันก่อน ‘เหตุ’ หมายถึง สิ่งที่เป็นต้นกำเนิด หรือ สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งอื่นตามมา เราอาจเรียกเหตุนี้ว่าสาเหตุ หรือมูลเหตุก็ได้ ส่วน ‘ผล’ หมายถึง สิ่งที่เกิดตามมาจากเหตุ เราอาจเรียกผลที่เกิดขึ้นว่าผลที่ได้ หรือผลลัพธ์ ยกตัวอย่างเหตุและผล เช่น ถ้าเหตุคือ ฉันหกล้ม ผลก็คือ ฉันรู้สึกเจ็บ แต่เราอยากให้เพื่อน ๆ สังเกตว่า ‘ผลของเหตุการณ์หนึ่ง อาจกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อื่นต่อเนื่องกันไปโดยไม่สิ้นสุด’ ยกตัวอย่างเช่น

เหตุ: ฉันหกล้ม

ผล: ฉันรู้สึกเจ็บ.   เหตุ: ฉันรู้สึกเจ็บ

ผล: ฉันร้องไห้

โดยการใช้ภาษาเพื่อแสดงเหตุผลในภาษาไทยจะใช้คำสันธาน (คำเชื่อม) เช่น 

จึง 

เพราะ 

เพราะว่า...

เพราะ… จึง

เพราะฉะนั้น 

ดังนั้น 

ดังนั้น… จึง 

โดยที่… จึง

ก็เลย (ระดับกันเอง)

ยกตัวอย่างประโยคแสดงความเป็นเหตุเป็นผล เช่น 

  • พ่อดูเพลีย ๆ เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี พ่อจึงต้องทำงานหนักมาก 
  • เพราะช่วงเรียนออนไลน์คุณครูสั่งการบ้านเยอะ เด็ก ๆ จึงรู้สึกเหนื่อยล้ากับภาระงานที่มากเกินไป
  • ฉันรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศนี้เหลือเกิน ดังนั้นฉันจึงวางแผนที่จะออกไปจากประเทศนี้ให้เร็วที่สุด

เห็นไหมว่าแค่ประโยคบอกเล่าทั่วไปในชีวิตประจำวันเราก็ยังใช้เหตุและผลกันอยู่บ่อย ๆ เหตุและผลมีบทบาทในการตัดสินใจ และช่วยให้เราเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น แต่สำหรับการอ่านหรือการฟังที่มีโครงสร้างภาษาซับซ้อนกว่านี้ เพื่อน ๆ จะต้องใช้ทักษะ ‘การอนุมาน’ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการหาข้อสรุปว่าผู้ส่งสารต้องการจะสื่ออะไรกับเรากันแน่

การอนุมานคืออะไร

การอนุมานคือกระบวนการหาข้อสรุปจากการแสดงเหตุผลที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น การอนุมานมีอยู่ด้วยกัน ๒ รูปแบบ คือ

๑. การอนุมานด้วยวิธีนิรนัย คือการแสดงเหตุผลจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย

๒. การอนุมานด้วยวิธีอุปนัย คือการแสดงเหตุผลจากส่วนย่อยไปหาส่วนรวม

ซึ่งการอนุมานทั้งสองแบบมีรายละเอียดดังนี้

การอนุมานด้วยวิธีนิรนัย

คือวิธีการแสดงเหตุผล จากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย เริ่มจาก หลักทั่วไป (เหตุผลรวม) กับ กรณีเฉพาะ (เหตุผลย่อย) อีกหนึ่งกรณีแล้วจึง สรุป เช่น

ผู้ที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปมีสิทธิ์เลือกตั้ง (เหตุผลรวม)

นภาอายุ ๑๘ ปี (เหตุผลย่อย)

ดังนั้นนภาจึงมีสิทธิ์เลือกตั้ง (ข้อสรุป)

สังเกตว่าการแสดงเหตุผลในตัวอย่างข้างต้น หลักทั่วไปที่ยกมานั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องทำตามและเป็นจริงเสมอ กรณีเฉพาะและข้อสรุปก็เลยเป็นจริงตามไปด้วย การแสดงเหตุผลในตัวอย่างนี้จึงสมเหตุสมผล แต่การแสดงเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลก็มีเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น

พวกเราทุกคนเป็นคนดี พวกท่านทุกคนก็เป็นคนดี ดังนั้นพวกเราเป็นพวกเดียวกัน

การแสดงเหตุผลในตัวอย่างนี้ไม่สมเหตุสมผล เพราะจริง ๆ แล้ว ‘พวกเรา’ กับ ‘พวกท่าน’ อาจ ‘เป็น’ หรือ ‘ไม่เป็น’ พวกเดียวกันก็ได้ ลองมาดูแผนภาพทั้ง ๓ นี้เพื่อให้เห็นภาพกันมากขึ้น

แผนการ สอน ภาษาไทย ม.6 เรื่อง เหตุผลกับภาษา

จากแผนภาพเราจะอธิบายได้ว่า

๑. พวกเราและพวกท่านเป็นคนดี แต่ไม่ใช่พวกเดียวกัน

๒. พวกเราและพวกท่านเป็นคนดี และพวกท่านบางคนเป็นพวกเดียวกันกับเรา

๓. พวกเราและพวกท่านเป็นคนดี และพวกท่านทุกคนเป็นพวกเดียวกันกับเรา

จะเห็นว่าข้อสรุปในตัวอย่างเป็นไปตามข้อสรุป ๓. เท่านั้น แต่ข้อสรุป ๑. และ ๒. ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ เมื่อไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ‘ต้องเป็นเช่นนั้น’ เราจึงถือว่าการหาข้อสรุปด้วยการอนุมานแบบนิรนัยในกรณีนี้ไม่สมเหตุสมผล

การอนุมานด้วยวิธีอุปนัย

คือการแสดงเหตุผลจาก ส่วนย่อยไปหาส่วนรวม เริ่มจากข้อมูลหรือกรณีต่าง ๆ แล้วจึงได้ข้อสรุปรวมว่า ‘น่าจะเป็นเช่นนั้น’ ยกตัวอย่างเช่น

อากาศที่ร้อนอบอ้าว ท้องฟ้ามีเมฆมากและมืดครึ้มเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าฝนกำลังจะตก

วันนี้อากาศร้อนอบอ้าว ท้องฟ้ามีเมฆมากและมืดครึ้มมาก ดังนั้นวันนี้ฝนน่าจะตก

เนื่องจากข้อสรุปที่ได้จากการอนุมานด้วยวิธีอุปนัยเป็นการสรุปจากข้อมูลจำนวนหนึ่ง ข้อสรุปที่ได้จะครอบคลุมข้อมูลต่าง ๆ ว่า ‘น่าจะเป็นเช่นนี้’ แต่ไม่สามารถสรุปชัด ๆ ได้ว่าการแสดงเหตุผลนี้สมเหตุสมผลได้หรือไม่ ข้อสรุปที่ได้จากการอนุมานแบบอุปนัยจึงไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของเหตุผลและข้อมูลข้อเท็จจริงที่มาสนับสนุนการแสดงเหตุผลนั้น ๆ เพราะถ้ามีข้อเท็จจริงมาก มีหลักฐานสนับสนุนมาก ข้อสรุปที่ได้ก็จะน่าเชื่อถือและสมเหตุสมผลมากขึ้น

ตัวอย่างและการนำการอนุมานไปใช้

หลังจากเรียนรู้ทฤษฎีกันมาพอสมควร เรามาลองทำโจทย์จริง ๆ กันเลยดีกว่า เพื่อน ๆ ลองดูข้อสอบ O-Net ปี ๒๕๖๐ ก่อนนะ

ข้อใดอาจอนุมานได้จากข้อความต่อไปนี้ (O-Net ๖๐)

ขนมจีนเป็นอาหารเส้นที่คนไทยนิยมกินกันทั่วไปโดยเฉพาะเมื่ออยู่นอกบ้าน เพราะสะดวกในการให้บริการ เสิร์ฟง่าย และกินง่ายจบในภาชนะใบเดียว เครื่องประกอบการกินขนมจีนแต่ละภูมิภาคคล้ายกันคือ มีเส้นขนมจีน ผักสด เหมือด หรือเครื่องเคียง และน้ำแกงที่ราด ซึ่งน้ำแกงจะต่างกันไปตามภูมิภาค ภาคเหนือมีน้ำเงี้ยว ภาคกลางมีน้ำยา น้ำพริก ภาคอีสานมีน้ำงัว และภาคใต้มีแกงไตปลา เป็นต้น

๑. คนไทยชอบกินขนมจีนมากกว่าข้าว

๒. ขนมจีนเป็นอาหารที่อร่อยและราคาไม่แพง

๓. ขนมจีนแต่ละภาคเป็นอาหารที่ต้องใช้ฝีมือในการปรุง

๔. อาหารประเภทขนมจีนนับได้ว่าเป็นอาหารพื้นบ้านของทุกภาค

๕. อาหารเส้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเพราะมีผักสดและเครื่องเคียง 

มาเริ่มวิเคราะห์โจทย์กันเลย บทความข้างต้นมีการแสดงเหตุผลว่า “ขนมจีนเป็นอาหารเส้นที่คนไทยนิยมกินกันทั่วไปโดยเฉพาะเมื่ออยู่นอกบ้าน เพราะสะดวกในการให้บริการ เสิร์ฟง่าย และกินง่ายจบในภาชนะใบเดียว” สังเกตุจากคำสันธาน ‘เพราะ’ จากนั้นจึงพูดถึงการกินขนมจีนของคนไทยในภาคต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีกสาน และภาคใต้ โดยชี้ให้เห็นถึงจุดที่เหมือน และจุดที่แตกต่างกัน เมื่อวิเคราะห์โจทย์เรียบร้อย จากนั้นก็มาดูตัวเลือกได้เลย

๑. คนไทยชอบกินขนมจีนมากกว่าข้าว

ตัดไปได้เลย เพราะไม่มีส่วนไหนในบทความพูดถึงข้าวเลย

๒. ขนมจีนเป็นอาหารที่อร่อยและราคาไม่แพง 

ตัดได้เลย เพราะในบทความก็ไม่พูดถึงราคาของขนมจีนเหมือนกัน

๓. ขนมจีนแต่ละภาคเป็นอาหารที่ต้องใช้ฝีมือในการปรุง 

ตัดได้อีก เพราะในบทความไม่พูดถึง ‘ฝีมือในการปรุง’ ขนมจีนเลย พูดถึงแค่การกินขนมจีนของคนไทยในแต่ละภาค

๔. อาหารประเภทขนมจีนนับได้ว่าเป็นอาหารพื้นบ้านของทุกภาค

ถ้าใช้การอนุมานแบบอุปนัย ข้อนี้น่าจะถูกต้องที่สุด เพราะบทความมีการกล่าวถึงการกินขนมจีนของคนไทยทั้งสี่ภาค ในเมื่อทุกภาคมีการกินขนมจีน การจะสรุปว่าขนมจีนเป็นอาหารพื้นบ้านของทุกภาคก็ทำได้อยู่ 

๕. อาหารเส้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเพราะมีผักสดและเครื่องเคียง 

ตัดได้เลย เพราะถึงในบทความจะพูดถึงผักสดเครื่องเคียง แต่ไม่พูดถึงคุณค่าทางโภชนาการของขนมจีนเลย

จากการอนุมานแบบอุปนัย เราจะสรุปได้ว่า ‘อาหารประเภทขนมจีนนับได้ว่าเป็นอาหารพื้นบ้านของทุกภาค’ และเลือกตอบข้อ ๔. ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้องนั่นเอง

แผนการ สอน ภาษาไทย ม.6 เรื่อง เหตุผลกับภาษา

เนื้อหาว่าซับซ้อนแล้ว แต่ข้อสอบก็ซับซ้อนเข้าไปอีกกกก แต่เพื่อน ๆ สามารถไปตะลุยข้อสอบ O-Net ภาษาไทย ม.6 กันต่อได้ ฝึกฝนบ่อย ๆ รับรองว่าต้องเก่งขึ้นแน่นอน แต่เรื่องราวของภาษากับเหตุผลยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีบทเรียนเรื่องการอนุมานจากเหตุและผลที่สัมพันธ์กันด้วย ดังนั้นทำข้อสอบเสร็จแล้วอย่าลืมดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee แล้วไปเรียนภาษาไทยกันต่อด้วยนะ


ขอบคุณข้อมูลจาก:

ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)