กฎหมายแรงงาน การไล่พนักงานออก

ตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 รอบแรก มีหลายสายงานที่เป็นอันต้องปิดตัวลง ไม่ใช่แค่เจ้าของกิจการที่ได้รับผลกระทบ พนักงานตัวเล็กๆ ในกิจการนั้นก็ได้รับผลกระทบไปไม่ต่างกัน ระลอกต่อมา จนมาถึงระลอกล่าสุด มีทั้งกิจการที่ยังประคับประคองกันเรื่อยมา และมีทั้งกิจการที่ล้มหายตายจากกันไปนับไม่ถ้วน 

การจ้างออก ถูกเลิกจ้าง จึงเป็นคำที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมานี้ จากการปิดตัวลงของกิจการต่างๆ หลายที่พนักงานได้เงินชดเชย ได้ค่าจ้างล่วงหน้า แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้อะไรมาเลยแม้แต่เงินเดือนเดือนนั้น ทั้งที่จริงแล้ว หากมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างที่ออกไป โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกันไปตามแต่กรณี 

หากใครประสบปัญหานี้อยู่ เรามากางพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานกันดูว่า กรณีของเรานั้นเข้าข่ายได้รับเงินชดเชยในข้อไหนบ้าง

กฎหมายแรงงาน การไล่พนักงานออก

ก่อนอื่น มาเริ่มต้นจากนายจ้างกันก่อน หากนายจ้างจะบอกเลิกจ้างพนักงาน คือไม่ให้เขาทำงานกับเราอีกต่อไปแล้ว ต้องบอกล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจะมีผลในการเลิกจ้างเป็นรอบการจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป หมายความว่าคำสั่งนี้จะมีผลเมื่อถึงรอบการจ่ายเงินครั้งหน้า 

แต่ถ้านายจ้างเซอไพรส์ ยื่นซองขาวแบบไม่ทันตั้งตัว นายจ้างต้องจ่าย ‘สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า’ ให้กับพนักงานเป็นจำนวนตามรอบการจ่ายค่าจ้าง เทียบง่ายๆ ก็คือบวกค่าที่บอกกะทันหันไปให้เป็นเงินเดือนอีกเดือนนึงนั่นเอง

แล้วทีนี้การบอกเลิกจ้างของนายจ้างเนี่ย หากลูกจ้างไม่ได้ทำอะไรผิด แค่ไม่อยากร่วมงานกันต่อแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยกันไป เงินชดเชยที่ว่านี้ คนละส่วนกับเงินเดือนที่จะต้องได้รับของเดือนนั้นๆ แต่กรณีที่ลาออกโดยสมัครใจ ผิดสัญญาบริษัท ทำความเสียหายแก่บริษัท หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง กรณีนี้นายจ้างสามารถให้ออกได้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชย

แล้วคนที่ถูกเลิกจ้างอย่างกระทันหัน โดยที่ไม่ได้ทำผิดสัญญาใดๆ ของบริษัท ต้องได้เงินชดเชยเท่าไหร่บ้าง มาดูกัน

  • ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
  • ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
  • ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
  • ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
  • ทำงานครบ 10 ปีขึ้น ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
  • ทำงานครบ 20 ปี ขึ้นไปได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน

ลองมาดูตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น นาย ก. เงินเดือน 15,000 ทำงานบริษัทหนึ่งมา 7 ปี แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นายจ้างทนไม่ไหว ยื่นซองขาวให้ แจ้งล่วงหน้า 30 วัน ว่านับจากนี้ไป 30 วันไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ นาย ก. ก็จะเข้าข่าย “ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 8 เดือน” คิดเป็นเงิน 15,000 x 8 = 120,000 บาท อันนี้สำหรับค่าชดเชยนะ นาย ก. ก็ต้องได้เงินเดือน เดือนสุดท้ายตามปกติอยู่ดี แต่ถ้าหากนายจ้างทนไม่ไหว บอกให้นายก.ออกไปตอนนี้เลย ไม่ต้องรอ 30 วันแล้ว นายก.มีสิทธิ์เรียกค่าตกใจจากนายจ้างได้ เท่ากับเงินเดือนอีกเดือน

ปกติแล้วต้องได้วันสุดท้ายของการทำงาน แต่ถ้านายจ้างบอกเลิกจ้างกระทันหัน ก็ต้องพูดคุยตกลงกันว่าจะเป็นวันไหนอย่างไร ทีนี้เมื่อถึงเวลา แล้วนายจ้างมีท่าทีว่าจะเป็นนักบิดไม่จ่ายค่าชดเชย ก็มีโทษเช่นกัน 

แม้จะถูกเลิกจ้างอย่างกระทันหัน แต่อย่าลืมเรียกร้องสิทธิ์ที่ควรจะได้ของเราให้ครบถ้วน นอกจากเงินชดเชยจากนายจ้างแล้ว ยังมีเงินจากประกันสังคมที่คอยช่วยเหลือคนว่างงานอีกด้วย อย่างน้อยเราจะได้มีเงินคอยประคับประคองเราในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ให้ผ่านพ้นไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

Smartjob.doe.go.th

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒

Illustration by Krittaporn Tochan

You might also like

Share this article


การเงิน

ลูกจ้างระวัง! พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงถูก "เลิกจ้าง" แถมไม่ได้ค่าชดเชย

"ลูกจ้าง" ต้องระวัง! พฤติกรรมแบบไหน นายจ้างมีสิทธิ "เลิกจ้าง" ยกเลิกสัญญาจ้างงานได้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทน

เป็นเรื่องปกติของการทำงานย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งจากปัญหาส่วนตัว ปัญหาเรื่องงาน ปัญหากับผู้บังคับบัญชา การทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนปัญหาจากการอยู่รวมกันกับคนหมู่มาก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจนำพาให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อบริษัทได้

ดังนั้น พฤติกรรมการแสดงออกของลูกจ้างในการทำงานหลายๆ อย่าง อาจทำให้เจ้าตัวถูกประเมินให้ออกจากงาน และนายจ้างสามารถไม่จ่าย "ค่าชดเชย" และ "เงินทดแทน" ได้อีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมแบบไหนบ้างที่ลูกจ้างต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้น เพื่อรักษาสิทธิ์ลูกจ้างพึงได้รับดังนี้

  • ค่าชดเชยที่ลูกจ้างควรจะได้รับ

ค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง สามารถแบ่งได้เป็น 4 กรณี ดังนี้

1.กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

2.กรณีนายจ้างจะเลิกจ้างเนื่องจากเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง โดยนายจ้างต้องปฏิบัติดดังนี้

- แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

- ถ้าไม่แจ้งลูกจ้างก่อนวันที่จะเลิกจ้าง หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วัน สุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วย

3.กรณีลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ ที่ลูกจ้างนั้นมีสิทธิ์ได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุดท้ายต่อการทำงานครบ 1 ปีสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

- ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน

- เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่า 180 วัน ให้นับเป็นการทำงานครบ 1 ปี

4.กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว

- นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อบกว่า 30 วันก่อนย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ

- ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

  • กรณีใดบ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายชดเชยให้แก่ลูกจ้าง

และถึงแม้ว่าลูกจ้างจะมีสิทธิ์ได้รับค่าเชยเชยเมื่อไม่ได้ทำงานต่อกับบริษัทแล้ว แต่ถ้าหากมีสาเหตุเป็นไปตามข้อกำหนดเหล่านี้ นายจ้างมีสิทธิ์ไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทนได้ ดังนี้

- ลูกจ้างลาออกเองโดยสมัครใจ

- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง เช่น ลูกจ้างกระทำการโกงเงิน ยักยอกเงิน หรือแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเพื่อไปเป็นของตัวเอง

- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดโดยนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ซึ่งหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันควร

- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในกรณีนี้ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

- กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้แก่งาน ดังนี้

1) การจ้างงานในโครงการ เฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน

2) งานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราว ที่มีกำหนดงานสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน

3) งานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาฤดูกาลนั้น ซึ่งงานจะต้องเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

ด้วยเหตุนี้หากลูกจ้างเกิดปัญหาไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา พฤติกรรมที่แสดงออกอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ตนเองปฏิบัติงานอยู่ จนถึงขั้นถูกเลิกจ้าง ดังนั้น จึงควรศึกษาข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อรักษาสิทธิ์ของตนเองที่พึงจะได้รับ อย่างน้อยอาจทำให้ใจเย็นลง มีสติในการแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้อย่างถูกวิธี และไม่ส่งผลกระทบกับบริษัทด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่