การป้องกันอันตรายจากเครื่องถ่ายเอกสารมีกี่ข้อ

เครื่องถ่ายเอกสาร เลเซอร์ปริ๊นเต้อร์ และเครื่องส่งโทรสาร เป็นอุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็นในสำนักงานสมัยใหม่ เนื่องจากประโยชน์และความสะดวกที่ได้รับ จนผู้ใช้ละเลยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อันตรายที่เกิดจากอุปกรณ์สำนักงานเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกัน โดยอุปกรณ์สำนักงานที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด คือ เครื่องถ่ายเอกสาร ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการถ่ายเอกสารนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างดำเนินกิจกรรมถ่ายเอกสาร และในระหว่างการซ่อมบำรุงเครื่องถ่ายเอกสาร

เครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป เป็นเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง (dry copy) อันตรายจากเครื่องถ่ายเอกสาร เกิดจากสารเคมีที่ใช้ในเครื่องถ่ายเอกสาร และส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องถ่ายเอกสาร ได้แก่ หมึกถ่ายเอกสาร โลหะที่ใช้เคลือบลูกกลิ้ง น้ำยาที่ใช้อาบกระดาษที่ใช้ในการถ่ายเอกสาร นอกจากนี้ยังมีก๊าซ และผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานจากกิจกรรมการถ่ายเอกสาร ได้แก่ ก๊าซโอโซน แสงอุลตร้าไวโอเลต เสียงที่ดังขึ้น อุณหภูมิห้องที่เพิ่มขึ้น ความเมื่อยล้าจากการทำงานซ้ำๆ
กระบวนการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร
เครื่องถ่ายเอกสารทำงานโดยการฉายแสงหลอดไฟไปยังต้นฉบับเอกสาร และส่งแสงดังกล่าวไปยังตัวรับแสง ซึ่งเป็นแกนม้วน ผิวของแกนม้วนจะมีสารไวต่อแสงเคลือบไว้อยู่ เมื่อแสงตกกระทบมายังตัวรับแสง ข้อความในเอกสารต้นฉบับจะถูกฉายไปยังกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง การสำเนาเอกสารแบบถาวรจะเกิดขึ้นโดยอาศัยแรงดันและความร้อน
อันตรายหลักจากเครื่องถ่ายเอกสาร
ก๊าซโอโซน
ก๊าซโอโซนเป็นก๊าซในภาวะที่ไม่เสถียรของก๊าซออกซิเจน ก๊าซโอโซนจะเกิดขึ้นในระหว่างที่มีการถ่ายเอกสาร ซึ่งก๊าซโอโซนนี้จะเกิดขึ้นจากการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูง ดังเช่น เครื่องถ่ายเอกสาร อุปกรณ์ฉายรังสี และกิจกรรมการเชื่อมไฟฟ้า เป็นต้น
ก๊าซโอโซนเป็นสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาได้ เป็นก๊าซที่ไม่เสถียร ในบรรยากาศการทำงานแบบสำนักงาน ก๊าซโอโซนมี มี half life เท่ากับ 6 นาที ก๊าซโอโซนนี้เป็นก๊าซที่มีความเป็นพิษสูง เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุดในบรรดาอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการถ่ายเอกสาร ก๊าซโอโซน เป็นก๊าซที่มีกลิ่นหอม เครื่องมือวัดสามารถตรวจจับก๊าซโอโซนได้ถึงแม้ก๊าซโอโซนจะมีความเข้มข้นเพียง 0.01 ถึง 0.02 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ระดับความเข้มข้นเฉลี่ย (TWA) ที่ยอมรับให้มีก๊าซโอโซนได้ในบรรยากาศการทำงาน คือ 0.1 ppm
ในระหว่างถ่ายเอกสาร ก๊าซโอโซนเป็นก๊าซหลักที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการหมุนไปและหมุนกลับของแกนหมุนและกระดาษ นอกจากนี้ก๊าซโอโซนยังเกิดขึ้นจากแสงอุลตร้าไวโอเลตที่ออกจากหลอดไฟในเครื่องถ่ายเอกสารด้วย
ผลกระทบต่อสุขภาพ
ปกติก๊าซโอโซนจะสลายกลับไปเป็นก๊าซออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว ปกติแล้วปริมาณความเข้มข้นของก๊าซโอโซนในบริเวณรอบเครื่องถ่ายเอกสารนั้นจะไม่สูงพอที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออาการผิดปกติ อัตราการสลายไปเป็นก๊าซออกซิเจนของก๊าซโอโซนนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลา อุณหภูมิ ซึ่งก๊าซโอโซนจะสลายกลายเป็นก๊าซออกซิเจนได้ดีในสภาวะที่อุณหภูมิสูง นอกจากนี้อัตราการสลายตัวยังขึ้นอยู่กับโอกาสที่ก๊าซโอโซนจะสัมผัสกับพื้นที่ผิววัตถุต่างๆ หากก๊าซโอโซนมีโอกาสสัมผัสกับพื้นที่ผิวต่างๆ ได้มาก ก๊าซโอโซนจะสลายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของก๊าซโอโซนจะเพิ่มขึ้นสูง หากมีการระบายอากาศที่ไม่ดีพอ ถ้าความเข้มข้นของก๊าซโอโซนถึง 0.25 ppm หรือสูงกว่า ก๊าซโอโซนนี้สามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ โพรงจมูก ทรวงอก และปอด อาการอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอันมีสาเหตุจากก๊าซโอโซน ได้แก่ อาการปวดศรีษะ หายใจถี่ วิงเวียน ปวดเมื่อย สูญเสียการได้กลิ่นชั่วคราว หากระดับ
ความเข้มข้นของก๊าซโอโซนในบรรยากาศการทำงานสูงถึง 10 ppm จะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
การได้รับก๊าซโอโซนในปริมาณน้อยเป็นระยะเวลานานจะมีผลต่อปอด บางหน่วยงานมีการศึกษาพบว่าว่า ระดับความเข้มข้นของก๊าซโอโซนในบรรยากาศการทำงานที่ 0.1 ppm มีผลทำให้อายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น
ผงหมึก (Toners)
ผงหมึกในเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้งเป็นผงหมึกที่มีส่วนผสมของผงคาร์บอนสีดำ (carbon black) โดยทั่วไปผงหมึกจะมีส่วนผสมของผงคาร์บอนดำประมาณ 10% และมีส่วนผสมของ polystyrene acrylic และ polyester resin ผงหมึกที่ละเอียดจะสามารถหลุดออกมาได้ในระหว่างการถ่ายเอกสาร ถ้าระบบควบคุมระดับของผงหมึกเสีย หรือระบบปิดอัตโนมัติที่ควบคุมเศษผงหมึกเสีย นอกจากนี้ผงหมึกยังสามารถหลุดร่วงออกมาได้ระหว่างการซ่อมบำรุงรักษาเครื่อง หรือระหว่างการเปลี่ยนแกนตลับหมึก
ผลกระทบต่อสุขภาพ
ฝุ่นผงหมึกระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอ หรือจาม ผงหมึกบางรุ่นมีส่วนประกอบของ nitropyrenes และ trinitrofluorene ซึ่งแม้ว่า รุ่นของผงหมึกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะไม่ค่อยมี nitropyrenes และ trinitrofluorene แล้วก็ตาม แต่ยังพบบ้างในผงหมึกบางรุ่น ซึ่ง nitropyrenes และ trinitrofluorene นั้น มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผิวหนังหรือการหายใจเข้าไป วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพของผู้ถ่ายเอกสาร คือ เลือกผงหมึกที่ไม่มีสารประกอบดังกล่าว หากผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องปฏิบัติงานที่มีโอกาสที่จะสัมผัสสารโดยผิวหนัง หรือหายใจเข้าไป ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องจับต้องตัวกรองหมึก ต้องสวมถุงมือยางแบบใช้แล้วทิ้ง และสวมหน้ากากผ้า
ส่วนประกอบ polymer ประเภทเรซินพลาสติกซึ่งพบได้บ่อยในผงหมึกของเครื่องถ่ายเอกสาร สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคืองได้หากมีการสัมผัสซ้ำ อาการที่พบได้บ่อย คือ เป็นผื่นคัน และยังอาจทำให้เกิดการระคายเคืองตาด้วย
ผงหมึกยังมีส่วนประกอบของ Methanol ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟได้ สาร Methanol มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกปวดศรีษะ วิงเวียน ระคายเคืองตา Methanol นี้พบได้ทั้งในเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่อง Laser Printer จึงควรจัดตำแหน่งอุปกรณ์สำนักงานเหล่านี้ให้อยู่ในพื้นที่ที่ถ่ายเทอากาศได้ดี
เสียงดัง
เครื่องถ่ายเอกสารที่สามารถถ่ายเอกสารด้วยความเร็วสูง หรือการถ่ายเอกสารที่สามารถแยกย่อยงานถ่ายเอกสารออกเป็นชุดๆ นั้นจะมีเสียงดัง เครื่องถ่ายเอกสารที่เก่าอาจมีระดับความดังของเสียงถึง 45 dB(A) และเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องใหญ่ก็อาจก่อให้เกิดเสียงดังที่มีระดับความดังของเสียงถึง 80 dB(A) ได้ ทั้งนี้ระดับความดังของเสียงในบรรยากาศการทำงานของสำนักงานโดยทั่วไปนั้น จะมีเสียงดังน้อยกว่า 60 dB(A)
ผลกระทบต่อสุขภาพ
เสียงดังที่เกิดจากการถ่ายเอกสาร โดยเฉพาะเสียงดังของการถ่ายเอกสารที่ถ่ายต่อเนื่องติดต่อกันทำให้รบกวนผู้ทำงานอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง ก่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ไม่น่าทำงาน ในอุตสาหกรรมประเภทโรงพิมพ์ เสียงดังนับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญยิ่ง ก่อให้เกิดปัญหาเสื่อมสมรรถภาพการได้ยิน หูหนวก หรืออาการมีเสียงอื้ออึงในหูของผู้ปฏิบัติงาน
แสงอุลตร้าไวโอเลต
แสงอุลตร้าไวโอเลต หรือรังสีอุลตร้าไวโอเลต เป็นแสงที่ออกจากหลอดฟลูออเรสเซนท์ที่อยู่ในเครื่องถ่ายเอกสารโดยส่วนใหญ่ หลอดที่ใช้ในเครื่องถ่ายเอกสารเป็นหลอดฟลูออเรสเซนท์ที่มีส่วนประกอบของ metal halide หรือ quarts แสงที่ออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสารเป็นแสงอุลตร้าไวโอเลตซึ่งหากสัมผัสกับดวงตา
โดยตรงจะทำให้ปวดแสบตาได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่ถ่ายเอกสารจะต้องปิดแผ่นปิด cover ทุกครั้ง
ผลกระทบต่อสุขภาพ
แสงอุลตร้าไวโอเลตเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระคายเคืองตา ปวดตา และมีอาการปวดศรีษะได้ หากมองแสงจากเครื่องถ่ายเอกสารโดยตรง นอกจากนี้แสงจากเครื่องถ่ายเอกสารยังทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นเกิดความรำคาญ รบกวนการทำงานของเพื่อนร่วมงานได้
อันตรายอื่นๆ จากเครื่องถ่ายเอกสาร
ระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้น
ในการถ่ายเอกสาร เครื่องถ่ายเอกสารจะปลดปล่อยอากาศที่มีความร้อนสูง ดังนั้นหากมีระบบระบายอากาศที่ไม่สามาถกระจายอากาศที่มีความร้อนสูงขึ้นนี้ดีพอ จะเป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิในสำนักงานสูงขึ้น ผู้ที่ปฏิบัติงานในสำนักงานจะรู้สึกไม่สบายตัวเท่าที่ควร
กล้ามเนื้อล้า
การถ่ายเอกสารติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ในงานถ่ายเอกสารที่มีการออกแบบลักษณะการทำงานที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ถ่ายเอกสารเกิดความเมื่อยล้าจากการทำงานได้
อันตรายจากสารฟอร์มัลดิไฮด์ น้ำยาที่อาบกระดาษที่ใช้ในการถ่ายเอกสาร
กระดาษที่ใช้ในการถ่ายเอกสาร เรียกว่า Carbonless Copy Paper จะมีการใช้สารฟอร์มัลดิไฮด์เคลือบอาบกระดาษไว้ ซึ่งสารฟอร์มัลดิไฮด์ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่ติดอยู่บนผิวกระดาษนั้น สามารถทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ ระคายเคืองผิว ตา และระบบทางเดินหายใจได้ จึงควรหลีกเลี่ยงสัมผัสใบหน้า ตา ในระหว่างที่จับกระดาษ ล้างมือด้วยสบู่อ่อนหลังทำงานจับกระดาษ และทาโลชั่นหลังจากล้างมือ เพื่อป้องกันผิวแห้ง

ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากเครื่องถ่ายเอกสาร
ผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมจากเครื่องถ่ายเอกสาร พบว่า ผู้ถ่ายเอกสาร หรือผู้ปฏิบัติงานใกล้เคียงจุดที่มีกิจกรรมถ่ายเอกสาร จะมีอาการมึนหัว เวียนศรีษะ อ่อนเพลีย ง่วงซึม เป็นอาการป่วยแบบหนึ่งที่พบบ่อยในกลุ่มคนที่ทำงานในสำนักงาน อาศัยอยู่ หรือทำงานอยู่ในห้องปรับอากาศในอาคารเป็นเวลานาน เป็นอาการป่วยที่เรียกว่า building related illnesses เป็นอาการป่วยเรื้อรัง อันเนื่องมาจากคุณภาพของอากาศในอาคารไม่ดี (IAQ : Indoor Air Quality) อาการป่วยแบบนี้จะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน
การทำงานกับเครื่องถ่ายเอกสารอย่างปลอดภัย

ก๊าซโอโซน
เลือกใช้เครื่องถ่ายเอกสารที่ปล่อยก๊าซโอโซนต่ำ หรือเลือกใช้เครื่องถ่ายเอกสารที่มีตัวกรองก๊าซโอโซนติดอยู่ที่เครื่อง ตัวกรองก๊าซโอโซนนี้ทำขึ้นจาก activated carbon จะติดอยู่ที่จุดระบายอากาศของเครื่องถ่ายเอกสาร สารตัวกรอง activated carbon สามารถทำให้ก๊าซโอโซนสลายกลายเป็นก๊าซออกซิเจนได้หมด 100%
บำรุงรักษาเครื่องถ่ายเอกสาร และสารตัวกรองอย่างสม่ำเสมอ การบำรุงรักษาที่ดีสามารถลดการปล่อยก๊าซโอโซนของเครื่องถ่ายเอกสารได้
หลีกเลี่ยงที่จะไม่สูดดมกลิ่นใดๆ ที่ออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสาร เพราะกลิ่นเหล่านั้นเป็นสาเหตุการระคายเคืองจมูกและทรวงอก ควรมีการตรวจวัดคุณภาพของอากาศในอาคาร (IAQ : Indoor Air Quality) เป็นประจำสม่ำเสมอ
การใช้เครื่องถ่ายเอกสารและการบำรุงรักษาเครื่องถ่ายเอกสาร
ในการใช้เครื่องถ่ายเอกสารให้ปฏิบัติตามคู่มือของผู้ผลิต หากมีข้อสงสัยให้ศึกษาจากคู่มือการใช้งานและให้ใช้รุ่นของหมึกตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ การจัดวางตำแหน่งของเครื่องถ่ายเอกสารให้จัดวางในตำแหน่งที่คู่มือของผู้ผลิตแนะนำ ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทเพียงพอ และมีอากาศไหลเวียนได้รอบตัวเครื่องถ่ายเอกสาร
ข้อแนะนำของผู้ผลิตเกี่ยวกับการทำความสะอาด การเปลี่ยนตลับผงหมึก ตัวกรอง หรือแปรงต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดในคู่มือการใช้งาน
ควรจัดทำตารางบันทึกการซ่อมบำรุงรักษาไว้ประจำแต่ละเครื่อง ให้มีการบันทึกลงตารางบันทึกทุกครั้งเมื่อมีการบำรุงรักษา และจัดเก็บตารางบันทึกไว้เพื่อตรวจสอบว่า มีการบำรุงรักษาเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่
การจัดการระบายอากาศ
พื้นที่ที่มีการระบายอากาศดีเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการวางเครื่องถ่ายเอกสาร เพราะพื้นที่ที่มีการระบายอากาศดี ฝุ่น ก๊าซและไอระเหยต่างๆ จะถูกกำจัด หรือสลายไปได้โดยง่าย
วางเครื่องถ่ายเอกสารไว้ในห้องที่มีการระบายอากาศที่ดี มีอากาศธรรมชาติหมุนเวียน มีอากาศใหม่ไหลถ่ายเททดแทนอากาศเดิมอยู่เสมอ หรือเป็นห้องที่มีระบบกรองอากาศ และบริเวณโดยรอบตำแหน่งที่วางเครื่องถ่ายเอกสารนั้น ต้องเป็นพื้นที่ว่าง เพื่ออากาศไหลเวียนได้โดยสะดวก
ควรมีการตรวจวัดความสามารถในการไหลเวียนอากาศในจุดที่วางเครื่องถ่ายเอกสารเป็นประจำ
เสียงดัง
วางเครื่องถ่ายเอกสารในตำแหน่งที่จะก่อให้เกิดเสียงดังน้อยที่สุด ถ้าจำเป็นอาจพิจารณาจัดทำฉากกั้น เพื่อกั้นและลดเสียงดังที่เกิดจากเครื่องถ่ายเอกสาร หรืออาจติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงดัง
แสงอุลตร้าไวโอเลต และอุณหภูมิของห้องที่เพิ่มสูงขึ้น
ปิดแผ่นปิด cover ทุกครั้งที่ถ่ายเอกสาร ป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตที่อาจจะทำอันตรายดวงตา ด้วยการหลีกเลี่ยง ไม่มองแสงที่ออกจากเครื่องถ่ายเอกสาร
หากเครื่องถ่ายเอกสารมีระบบของการป้อนกระดาษ และถ่ายเอกสารอัตโนมัติ ให้ใช้ระบบป้อนกระดาษและถ่ายเอกสารอัตโนมัติ เพราะสามารถป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตที่ออกจากเครื่องถ่ายเอกสารได้ดีอีกวิธีหนึ่ง
ถ้ามีงานถ่ายเอกสารที่ไม่สามารถปิดแผ่นปิด cover ได้ ให้ผู้ถ่ายเอกสารหลีกเลี่ยง ไม่มองแสงจากเครื่องถ่ายเอกสาร
ส่วนของเครื่องถ่ายเอกสารจะร้อนในระหว่างที่มีการใช้เครื่อง หากกระดาษติดในเครื่องถ่ายเอกสาร และเมื่อผู้ถ่ายเอกสารหยิบกระดาษที่ติดเครื่องออก อาจทำให้มือ แขนของผู้ถ่ายเอกสารไปสัมผัสถูกส่วนของเครื่องที่ร้อน เป็นแผลพุพองได้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายดังกล่าว ในการหยิบกระดาษที่ติดเครื่องออก ควรปิดสวิทซ์เครื่องถ่ายเอกสาร และควรใช้คีมที่ไม่ได้เป็นโลหะคีบจับ เพื่อดึงกระดาษที่ติดในเครื่องออก
หากจำเป็นต้องดึงกระดาษที่ติดในเครื่องในบริเวณที่อยู่ใกล้ตำแหน่งของเครื่องถ่ายเอกสารที่ร้อน ให้ปิดสวิทซ์เครื่องถ่ายเอกสาร และรอสักครู่เพื่อให้เครื่องถ่ายเอกสารเย็นเสียก่อน จึงจะสามารถดึงกระดาษที่ติดในเครื่องออกมาได้โดยปลอดภัย
สารเคมีที่ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร
ต้องสื่อสารอันตรายและวิธีการใช้สารเคมีที่ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร โดยให้ขอ MSDS : Material Safety Data Sheet จากผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร
ให้ใช้ระบบควบคุมระดับของผงหมึก และระบบปิดอัตโนมัติที่ควบคุมเศษผงหมึก
ให้สวมถุงมือยางแบบใช้แล้วทิ้ง เมื่อต้องสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร หรือสัมผัสสารเคมีโดยใช้ระบบ wet process chemical ในการทำความสะอาด กำจัดตลับผงหมึก หรือผงหมึกนั้น ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้สารเคมี หรือผงหมึกสัมผัสโดนผิวหนัง
หลังจากเปลี่ยนตลับผงหมึก ควรทิ้งตลับผงหมึกเก่าในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิท และติดฉลาก "ของเสียอันตราย" ที่ถุงพลาสติกดังกล่าวด้วย
ในการนำถุงพลาสติกที่ใส่ตลับผงหมึกไปทิ้ง ต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ตลับผงหมึก หรือผงหมึกหก ร่วงได้ และให้นำตลับผงหมึกไปกำจัดตามวิธีการกำจัดของเสียอันตราย
คู่มือการใช้งานเครื่องถ่ายเอกสาร
จัดให้พื้นที่รอบเครื่องถ่ายเอกสารโล่ง แยกออกจากพื้นที่ทำงานสำนักงานส่วนอื่นๆ หากจัดวางที่ทางเดิน ต้องไม่วางกีดขวางทางเดิน หรือเส้นทางหนีไฟ
ต้องจัดตำแหน่งเครื่องถ่ายเอกสารให้ผู้ถ่ายเอกสารเกิดความสะดวกสบายในการถ่ายเอกสาร ควรมีโต๊ะไว้สำหรับจัดเรียงเอกสาร
การดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยในการใช้เครื่องถ่ายเอกสารตามลักษณะการใช้งานเครื่องถ่ายเอกสาร
ลักษณะการใช้งานเครื่องถ่ายเอกสารตามองค์กรทั่วๆ ไป นั้น แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่มีพนักงานถ่ายเอกสารประจำเครื่อง รับหน้าที่ถ่ายเอกสารโดยเฉพาะ และแบบที่ 2 คือ แบบที่ตั้งเครื่องถ่ายเอกสารไว้ ไม่มีพนักงานถ่ายเอกสารไว้ให้ ใครจะถ่ายสำเนาอะไร ก็มาถ่ายกันเอง
การจัดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสมต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้งานเครื่องถ่ายเอกสารขององค์กรด้วยว่า เป็นแบบใด หากมีพนักงานประจำเครื่องเพื่อถ่ายเอกสารโดยเฉพาะ การกำหนดให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันก็ทำได้โดยง่ายกว่า การที่ใครจะมาถ่ายเอกสารก็ได้ จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า สามารถจัดการให้เกิดความปลอดภัยในการใช้เครื่องถ่ายเอกสารได้โดยการจัดวางตำแหน่งของเครื่องถ่ายเอกสารที่เหมาะสม การจัดให้มีระบบระบายอากาศที่ดี ถ้าสามารถติดตั้งเครื่องถ่ายเอกสารแยกออกจากห้องที่ผู้ปฏิบัติงานคนอื่นทำงานได้จะยิ่งดีมาก แต่หากทำไม่ได้ ให้ติดตั้งในที่โล่ง ไม่ใช่ในที่มุมอับจะดีมาก และไม่ควรตั้งเครื่องถ่ายเอกสารติดผนัง
ซึ่งการเฝ้าระวังโรคจากการทำงานที่อาจเกิดจากการใช้งานเครื่องถ่ายเอกสารนั้น จะไม่มีการตรวจสุขภาพร่างกายของพนักงาน จะเน้นที่การตรวจคุณภาพอากาศในห้องทำงานมากกว่า ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

แหล่งที่มา :: http://www.siamsafety.com

.