ทักษะการสื่อสารที่ดีมีความสำคัญอย่างไร

การสื่อสารถือเป็นทักษะที่คุณสามารถฝึกฝนและพัฒนาให้กลายเป็นข้อได้เปรียบในการทำงานได้ โดยมันสามารถสร้างให้เกิดโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์อันดีในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน ความสัมพันธ์ระหว่างการติดต่อกับลูกค้า รวมถึงความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในบทบาทของการทำงานนั้นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective Communication) จะช่วยให้คุณมีโอกาสในความก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งงานหรือหน้าที่ที่ดีกว่าเดิมได้ไม่ยากครับ และผมได้รวมเทคนิคดีๆเพื่อช่วยให้การสื่อสารของคุณนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นมาฝากกันครับ


ข้อดีของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective Communication)

ประโยชน์ของการพัฒนาการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพนั้นมีอยู่หลายอย่างที่นอกเหนือจากโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานครับ ซึ่งมันก็มีหลายๆงานวิจัยหรือการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่สามารถนำมาสรุปได้ดังนี้

  • ช่วยให้แก้ปัญหาต่างๆได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยให้เห็นวิถีทางในการแก้ไขเรื่องต่างๆ
  • ปรับความเข้าใจผิดและลดโอกาสการเกิดความขัดแย้ง
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
  • สร้างปฏิสัมพันธ์เพิ่มขึ้นกับเพื่อร่วมงานและคนอื่นๆ
  • สร้างความมั่นใจให้ตนเองและคนรอบข้าง
  • โอกาสความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆของชีวิต

ทักษะการสื่อสารที่ดีมีความสำคัญอย่างไร

รวมเทคนิคเพื่อการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ

ผมขอจัดหมวดหมู่ให้ดูง่ายๆโดยแบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่

1. การพัฒนาทักษะการสนทนา (Conversation)

เมื่อเป็นเรื่องของการสนทนามันก็คือการสื่อสารแบบสองทาง (Two-ways communication) ที่มีการแบ่งปันความคิดเห็นหรือความรู้ด้านต่างๆ โดยต้องมีทักษะทั้งการถ่ายทอดและการโน้มน้าวใจให้คู่สนทนานั้นเกิดความรู้สึกที่ดีและอยากพูดคุยกับคุณ เรามาดูกันครับว่ามันมีอะไรกันบ้าง

  • แสดงความจริงใจและผ่อนคลาย
    ในทุกๆครั้งของการพูดนั้นคุณต้องแสดงความรู้สึกถึงความจริงใจ และการถ่ายทอดความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับคู่สนทนาโดยไม่บีบบังคับหรือพยายามทำแบบฝืนๆ ซึ่งมันคือการเข้าไปแตะในเรื่องของความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน ดังนั้นคุณควรที่จะเข้าถึงอารมณ์และเรื่องราวที่กำลังพูดคุยกันให้ลึกซึ้งมากที่สุดเพราะมันจะสร้างบรรยากาศดีๆให้เกิดขึ้น
  • พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำและไม่เร่งจนเกินไป
    หลายๆครั้งสำหรับการพูดในที่สาธารณะหรือการประชุมนัดสำคัญๆ มันจะทำให้คุณรู้สึกประหม่าและกดดันจนทำให้คุณออกอาการตื่นเต้นพูดเร็วพูดรัวจนเกินไป ซึ่งนั่นมันไม่ดีต่อผู้ฟังและตัวคุณเองเอาซะเลย เพราะนอกผู้ฟังจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วความน่าเชื่อถือในตัวคุณอาจลดลงอีก ดังนั้นคุณควรหมั่นฝึกฝน ทำสมาธิก่อนพูดคุยเจรจา และจัดลำดับความคิดก่อนพูดอะไรออกไป
ทักษะการสื่อสารที่ดีมีความสำคัญอย่างไร
  • เลือกคำพูดให้เหมาะสม
    ทุกๆคำพูดที่คุณสื่อสารออกไปมันมักจะสร้างผลกระทบไม่ทางบวกและทางลบอยู่เสมอ และความที่คุณมีหลายบทบาททั้งการเป็นพนักงาน ความเป็นทางการของเนื้องาน ความเป็นเพื่อนสนิท ความเป็นพี่น้อง หรือคู่ชีวิต การเลือกใช้คำพูดและภาษาก็จะมีความแตกต่างกันออกไป โดยคุณไม่สามารถนำคำพูดในบทบาทหนึ่งมาแทนที่กับอีกบทบาทหนึ่ง เพราะมันอาจทำให้เกิดความไม่เหมาะสมขึ้น ดังนั้นควรพิจารณาว่าผู้ฟังเป็นใครอยู่ในสถานการณ์ใด และเลือกใช้คำพูดและภาษาให้เหมาะสมที่สุดครับ
  • ปฏิเสธอย่างสุภาพ
    การสื่อสารและสนทนาเราต้องเจอกับเรื่องที่แตกต่างด้านความคิดอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ผิดครับที่คุณจะปฏิเสธหรือไม่เห็นด้วยเพียงแต่การปฏิเสธนั้นต้องมีชั้นเชิงสักหน่อย ไม่ใช่ต่อต้านแบบชักสีหน้าหรือใช้คำพูดที่รุนแรง โดยคุณควรที่จะเปิดใจให้กว้าง พยายามเข้าใจมุมมองของคู่สนทนา เสนอมุมมองของคุณอย่างสุภาพและอย่าพยายามตัดสินอะไรในทันที
  • หัดถามคำถามบ้าง
    อย่าลืมนะครับว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนั้นคือการสื่อสารแบบสองทาง (Two-ways communication) ซึ่งมันก็คือคุณต้องไม่ยพูดอยู่ฝ่ายเดียวโดยต้องมีการหัดตั้งคำถามกลับบ้าง ไม่เช่นนั้นการสื่อสารของคุณจะจบอย่างรวดเร็วซึ่งมันเป็นผลเสียต่อหลายๆเรื่องอย่างแน่นอน

2. ภาษากาย (Body Language)

นอกจากการพูดแล้วสิ่งที่จะช่วยให้คุณถ่ายทอดการสื่อสารที่ดีนั้นก็คือเรื่องของภาษากายครับ โดยมันต้องมาคู่กันแบบอัตโนมัติที่แยกออกจากกันไม่ได้เลยจริงๆ

  • ยิ้มอย่างจริงใจและมีอารมณ์ขัน
    การยิ้มและอารมณ์ขันจะเป็นประตูสู่การสื่อสารที่ดีมากยิ่งขึ้นซึ่งมันช่วยให้ผู้ฟังนั้นรู้สึกสนุกและมีความสุขกับการพูดคุยหรือการฟังได้ตลอด อย่ายิ้มแบบฝืนๆเพราะต้องการสร้างบรรยากาศดีๆ แต่ควรยิ้มแบบจริงใจที่มาจากใจของคุณเอง ส่วนอารมณ์ขันนั้นก็อย่ามีมากจนเกินไปเพราะมันอาจกลายเป็นการเล่นจนเกินไป
  • Eye Contact
    การสบตาคู่สนทนาเป็นระยะๆจะแสดงให้เห็นถึงความสนใจความใส่ใจและความจริงใจ ต่อทั้งสิ่งที่คุณพูดและเป็นการให้เกียรติกับผู้ฟังหรือคู่สนทนาครับ และมันก็หมดยุคของการพูดแบบอ่านหรือท่องหนังสือไปแล้ว
  • ผ่อนคลายอย่าเกร็ง
    ความตื่นเต้นจะทำให้ร่างกายคุณสั่นหรืออาจเกิดอาการหน้าซีดก็ได้ ซึ่งมันคงไม่ดีแน่ๆหากคุณต้องพูดต่อหน้าคนหลายๆคนครับ
  • ระวังภาษากาย
    ไม่ควรนั่งไขว่ห้างหรือกอดอกในระหว่างการประชุมหรือการสนทนาในโอกาสต่างๆครับ เพราะมันแสดงถึงความไม่เคารพคู่สนทนาโดยเฉพาะในบริบทของคนไทย แต่หากเป็นบริบทของชาติตะวันตกบางชาติก็อาจดูเป็นเรื่องปกติครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรจะเก็บแขนขาให้นิ่งๆอยู่กับที่จะดีกว่า นอกจากนั้นการเอนหรือบิดตัวไปมา การเล่นมือถือ หรือการทำอะไรอย่างอื่นในขณะพูดคุย อาจทำให้เสียสมาธิและบรรยากาศนั้นเสียได้ทันที
ทักษะการสื่อสารที่ดีมีความสำคัญอย่างไร

3. การฟังและการสังเกต (Listening & Observation)

การพูดอย่างเดียวแบบม้วนเดียวจบไม่ใช่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง โดยจำเป็นต้องใช้การฟังและการสังเกตบริบทต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

  • มีปฏิสัมพันธ์บ้าง
    ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคุณนั้นใส่ใจในสิ่งที่พวกเขากำลังพูด โดยไม่ปล่อยให้การพูดนั้นกลายเป็นการพูดอยู่คนเดียว คุณอาจพยักหน้าหรือพูดว่า เข้าใจ เห็นด้วย ซึ่งบทบาททั้งการเป็นผู้พูดและผู้ฟังนั้นก็สามารถทำในลักษณะเดียวได้เช่นกัน มันจะช่วงสร้างให้การสื่อสารนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ครับ
  • สังเกตบรรยากาศในห้อง
    คุณสามารถปรับโทนหรือน้ำเสียงในการนำเสนอเมื่อคุณสังเกตเห็นอากัปกิริยาของคนในห้อง เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศการฟังที่ดีมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ฟังเริ่มซึมๆหน้าตาเริ่มเบื่อหน่าย ผู้ฟังเริ่มทำอย่างอื่นแทนการใส่ใจกับการฟัง อะไรที่ผู้ฟังสนใจเป็นพิเศษเวลาที่คุณพูด
ทักษะการสื่อสารที่ดีมีความสำคัญอย่างไร

4. เนื้อหาในการพูด (Information)

ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือการเตรียมข้อมูลและเนื้อหาสำหรับการสื่อสารครับ โดยแน่นอนว่าคุณต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสื่อสารในเบื้องต้นให้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งมันก็มีรูปแบบการสื่อสารในแต่ละสถานการณ์หรือบริบทที่แตกต่างกันออกไป เช่น รูปแบบการประชุม รูปแบบการปราศรัย รูปแบบการนำเสนองาน รูปแบบการขายสินค้าหรือบริการ หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของการเตรียมเนื้อหาโดยยึดหลักต่างๆ ดังนี้