เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

เมื่ออายุเพิ่มขึ้นผู้สูงวัยหลายท่านเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง เช่น ปัญหาสุขภาพของช่องปากและฟัน ปัญหาการกลืน หรือปัญหาการเคี้ยวบดอาหารไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหากวนใจที่พบในผู้สูงวัย ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักหรือผลไม้ที่มีชิ้นใหญ่ หรือมีเนื้อแข็ง ส่งผลต่อเกิดปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ 

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

วันนี้เอลเดอร์จึงความรู้สาระสุขภาพเกี่ยวกับการเคี้ยวอาหารสำหรับผู้สูงวัย และเมนูอาหารอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ได้ประโยชน์ สำหรับสูงวัย มาฝากทุกท่าน รับรองว่าสามารถนำไปทำตามกันได้อย่างแน่นอน 

ปัญหาการเคี้ยวในผู้สูงวัย

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

ปัญหาการเคี้ยวอาหารในผู้สูงวัย ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาของสุขภาพฟันและช่องปาก หนึ่งในตัวชี้วัดของภาวะสุขภาพดีของผู้สูงอายุไทย คือ การมีฟันสำหรับการบดเคี้ยวได้ ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ หากมีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ ควรได้รับการตรวจเช็คจากทันตแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เช่น การใส่ฟันปลอม ซึ่งปัญหาจากฟันที่ทำให้ผู้สูงวัยมีเคี้ยวอาหารไม่ได้ หรือเคี้ยวอาหารได้น้อยลง ดังนี้ 

1. ไม่มีฟัน หรือมีจำนวนฟันและคู่สบไม่เพียงพอ
คือ การมีฟัน น้อยกว่า 20 ซี่ หรือ มีฟันหลังที่สบกันซ้าย-ขวา รวมกันน้อยกว่า 4 คู่  ส่วนใหญ่เกิดจากการถูกถอนฟันจากโรคในช่องปากที่เป็นแล้วไม่ได้รักษา เช่น โรคฟันผุ รากฟันผุโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง ทำให้มีอาการปวด บวม อักเสบ จนไม่สามารถเก็บฟันไว้ได้ ส่งผลให้มีปัญหาการเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็งเหนียว เช่น เนื้อสัตว์ผักต่าง ๆ

2. ฟันสึก 
ถ้าฟันสึกมากจนเสียรูปร่างเดิมของฟัน ด้านบดเคี้ยว แบนเรียบ ทำให้รู้สึกว่าเคี้ยวอาหารไม่ขาด เคี้ยวได้ไม่ละเอียด หรือมีอาหารติดบริเวณหลุมร่องที่สึก ด้านบดเคี้ยว อาจมีอาการเสียวฟัน ถ้าฟันหลังสึกจนเตี้ยลงกว่าเดิมมาก อาจทำให้ขากรรไกรบน-ล่างขยับชิดกัน คางดูสั้นลง มุมปากพับเกิดแผลมุมปากได้ง่าย

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

3. กรณีสูญเสียฟัน และใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ 
สาเหตุนี้ฟันเทียมต้องอยู่ในสภาพดีและแน่น การใส่ฟันเทียมที่ไม่พอดีเคี้ยวเจ็บ หรือหลวมส่งผลให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ถนัด อาจทำให้เป็นบาดแผลจากการเสียดสีทำให้กินอาหารไม่อร่อยได้

4. เจ็บข้อต่อขากรรไกร 
ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากความเครียดของกล้ามเนื้อ จากการทำงานที่มากเกินไป หรือใช้ผิดประเภท เช่น เคี้ยวข้างเดียว เคี้ยวของแข็ง มีการสบฟันที่ผิดปกติทำให้ปวดมี และมีการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยว

ปัญหาการเคี้ยวอาหาร ส่งผลเสียต่อผู้สูงวัยอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการเคี้ยวอาหารมักเกิดจากสุขภาพของช่องปากหรือฟันที่ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ทำให้เกิดปัญหากวนใจในการทานอาหารของผู้สูงวัยไม่ว่าจะเป็นเคี้ยวอาหารได้ลดลงไม่สามารถเคี้ยวอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักหรือผลไม้ที่มีลักษณะชิ้นหนาใหญ่ หรือเนื้อแข็งได้

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

ปัญหาการเคี้ยวจึงส่งผลต่อสุขภาพผู้สูงวัยในการทำให้ทานอาหารได้น้อยลง ผู้สูงวัยบางรายเกิดความรู้สึกเบื่ออาหารเนื่องจากไม่สามารถทานอาหารเมนูโปรดที่ชื่นชอบได้  ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ขาดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักลด กล้ามเนื้อแขนขาลีบ จนทรงตัวไม่ดี หรือเกิดปัญหาภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว  

เทคนิคสำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาการเคี้ยวอาหาร

หากผู้สูงวัยเข้าใจถึงเทคนิคหรือหลักการปรุงอาหารที่เอื้อต่อการเคี้ยวอาหารให้สามารถทานได้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้สามารถทานอาหารเมนูโปรดหรือทานอาหารให้ครบตามคุณค่าทางโภชนาการได้ดีเหมือนเดิม เอลเดอร์จึงได้นำเทคนิคมาฝากผู้สูงวัยทุกท่าน ดังนี้

1. หั่นหรือสับอาหารที่แข็งและเหนียว หากเป็นอาหารที่มีลักษณะแข็งหรือเหนียว สามารถหั่นหรือสับเป็นชิ้นลูกเต๋าเล็ก ๆ แล่ให้เป็นชิ้นบาง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ โดยเลือกเน้นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายและโปรตีน คุณภาพดีเช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เต้าหู้ในการปรุงประกอบอาหาร 

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

2. นำวัตถุดิบมาผ่านวิธีการต้ม ตุ๋น ลวก นึ่ง ก่อนนำไปปรุงอาหาร โดยเฉพาะผักและถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อให้มีความอ่อนนุ่มและสะดวกในการเคี้ยวมาก ยิ่งขึ้น

3. เน้นใช้เครื่องเทศหรือสมุนไพรต่าง ๆ นำเครื่องเทศหรือสมุนไพรปรุงร่วมกับเมนูอาหาร เช่น ขิง ข่า กระชาย ในการปรุงอาหาร เช่น ไก่ผัดขิง ผัดฉ่า ซึ่งเครื่องเทศเหล่านี้ จะกระตุ้นความอยากอาหารได้ดี 

4. เน้นจัดอาหารที่มีสีสัน น่ารับประทาน เหมาะสำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาการเคี้ยวอาหารและรู้สึกเบื่ออาหาร จึงควรเน้นจัดอาหารที่มีสีสันน่ารับประทานโดยเลือกเป็นอาหารอ่อน อาหารชิ้นเล็ก และอาหารที่เคี้ยวง่าย 

5. บดอาหารที่แข็งหรือชิ้นหนาใหญ่ อาหารบางชนิดที่มีลักษณะเนื้อแข็งชิ้นหนาใหญ่สามารถนำมาปรุงอาหารเป็นเมนูซุปได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ยังได้ประโยชน์ครบถ้วนอีกด้วย 

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

แจกสูตรเมนูอาหารเคี้ยวง่าย ได้ประโยชน์สำหรับสูงวัย 

เอลเดอร์ได้นำสูตรเมนูอาหารอ่อนนุ่มเคี้ยวง่ายและได้ประโยชน์สำหรับผู้สูงวัยมาฝากทุกท่าน ซึ่งเป็นเมนูที่ทำง่ายสามารถทำได้ด้วยตัวเองและยังมีคุณค่าทางโภชนาการหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน และธาตุเหล็ก ซึ่งเรียกได้ว่าครบตามที่ร่างกายของผู้สูงวัยต้องการในแต่ละมื้อ 

1. ซุปฟักทอง

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

สำหรับซุปฟักทองเป็นเมนูที่มีประโยชน์สำหรับผู้สูงวัยมีคุณค่าทางโภชนาการหลายด้าน ได้แก่ พลังงาน 180 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 27.3 กรัม ไขมัน 3.3 กรัม โปรตีน 9.9 กรัม และธาตุเหล็ก 1.1 มิลลิกรัม
ส่วนผสม  
– ฟักทองนึ่งบดละเอียด 120  กรัม  
– นมสดพร่องมันเนย 1  กล่อง (220 มิลลิลิตร)  
– พริกไทยป่น ¼  ช้อนชา  
– เกลือ ¼  ช้อนชา 

วิธีทำ  
1. นำฟักทองนึ่งบดละเอียด ผสมนมสด ตั้งไฟเคี่ยวจนเดือด ต้องคนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ติดหม้อ
2. ปรุงรส ด้วยพริกไทยป่น และเกลือ ตักเสิร์ฟ 

2. แกงจืดเต้าหู้ไข่-หมูสับ

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

คุณค่าทางโภชนาการของเมนูนี้ ได้แก่ พลังงาน 285 กิโลแคลอรีคาร์โบไฮเดรต 10.4 กรัม ไขมัน 21.8 กรัม โปรตีน 28.9 กรัม และ ธาตุเหล็ก 3.6 มิลลิกรัม  

ส่วนผสม  
– หมูสับ 90  กรัม  
– รากผักชี 2  กรัม  
– กระเทียม 3  กลีบ (6 กรัม)  
– พริกไทยป่น (เล็กน้อย)
– ผักกาดขาว 80  กรัม  
– เต้าหู้ไข่ 220  กรัม  
– ซีอิ๊วขาว 3  ช้อนชา  
– ต้นหอม 2 ต้น 15  กรัม 

วิธีทำ  
1. โขลกรากผักชี พริกไทย กระเทียม ให้เข้ากัน ผสมลงในหมูสับ 
2. ปั้นหมูสับเป็นก้อนเล็ก ๆ ต้มจนสุก 
3. หลังจากนั้นใส่ผักกาดขาว ต้นหอม และเต้าหู้ไข่ ต้มจนกำลังดี ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและพริกไทยป่น

3. ไข่ตุ๋นทรงเครื่อง

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

สำหรับเมนูนี้เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ทำง่าย รวดเร็ว และได้ประโยชน์ คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ พลังงาน 131  กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 3.6 กรัม  ไขมัน 7.7 กรัม โปรตีน 11.9 กรัม และ ธาตุเหล็ก 2.3 มิลลิกรัม

ส่วนผสม
– ไข่ไก่ 1   ฟอง  
– ฟักทอง หั่นเต๋าเล็ก ๆ 2  ช้อนชา  
– แครอท หั่นเต๋าเล็ก ๆ 2  ช้อนชา  
– หมูสับ 2  ช้อนชา  
– ตับบด 2  ช้อนชา  
– น้ำเปล่า 4  ช้อนโต๊ะ  
– ซีอิ๊วขาว 2  ช้อนชา  
– ต้นหอมซอย 1   ต้น (5 กรัม) 

วิธีทำ  
1. ตีไข่ หมูสับ ตับบด และน้ำเปล่า ให้เข้ากัน
2. ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาว 2 ช้อนชา
3. นำไปนึ่ง 5 นาที จากนั้น ใส่ฟักทอง แครอท นึ่งต่อไป 10 นาทีจนสุก โรยหน้าด้วยต้นหอมซอย 
4. ตักเสิร์ฟ 

4. ข้าวต้มปลา

เมนูอาหารของคนเคี้ยวไม่ได้

สำหรับเมนูนี้ เอลเดอร์เชื่อว่าคงเป็นเมนูโปรดของผู้สูงวัย เนื่องจากทานง่ายและได้ประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ พลังงาน 207 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 36.7 กรัม ไขมัน 0.9 กรัม โปรตีน 12.0 กรัม และธาตุเหล็ก 1.0 มิลลิกรัม

ส่วนผสม
– ข้าวสุก 120  กรัม (2 ทัพพี)  
– เนื้อปลานิล 50  กรัม  
– ใบขึ้นฉ่าย เล็กน้อย  
– ต้นหอม 3  กรัม (1 ต้น)  
– ซีอิ๊วขาว 2  ช้อนชา  
– พริกไทยขาวป่น เล็กน้อย 

วิธีทำ  
1. ต้มปลานิลกับน้ำ 2 ถ้วย ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาว 2 ช้อนชา และตั้งไฟจนสุก 
2. ตักข้าวสุกใส่ชาม ตักน้ำกับเนื้อปลาราดบนข้าวสุกที่ตักใส่ชามไว้
3. โรยหน้าด้วยต้นหอม ใบขึ้นฉ่าย และพริกไทยป่น
4. ตักเสิร์ฟ 

การหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้แข็งแรง จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงวัยเพราะมักมีความเสื่อมถอยตามอายุที่มากขึ้น ผู้สูงวัยจึงต้องให้ความสำคัญในการดูแลปากและฟันให้แข็งแรงเนื่องจากส่งผลต่อสุขภาพหลายด้านไม่ว่าจะเป็นปัญหาการสำลัก ปัญหาการกลืน หรือปัญหากวนใจอย่างการเคี้ยวอาหาร ที่เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงวัยอย่างมากไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดสารอาหาร ทานอาหารได้น้อยลงหรือเบื่ออาหาร  

ข้อมูลอ้างอิง
1. https://bit.ly/3JZmsUP
2. https://bit.ly/3NCqGnw
3. https://bit.ly/35z6XUE
4. Caring for the Elderly with Malnutrition : Journal of Ratchathani Innovative Health Sciences : Vol.1 No.1 April-June 2017