ต องการจดเบ ยนเพ ม ท องเท ยวต างประเทศ

ระเบียบใหม่สำหรับการขอวีซ่าระยะสั้นเพื่อเดินทางไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอียู ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทั่วโลกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ จะทำให้การเดินทางเข้ายุโรปง่ายขึ้นกว่าเดิมสำหรับนักเดินทางที่มีเอกสารถูกต้องและครบถ้วน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเป็นเครื่องมือสำหรับต่อกรกับความเสี่ยงที่เกิดจากการโยกย้ายถิ่นฐานในรูปแบบที่ไม่ปกติ (irregular migration) และภัยต่อความมั่นคงของยุโรปเองด้วย

(The English original is here)

ประเทศนอกอียูที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบใหม่นี้มีประเทศอะไรบ้าง

ระเบียบใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้ต่อนักเดินทางจากประเทศและอาณาเขตทั้งหมด 105 แห่งซึ่งจำเป็นต้องขอวีซ่าเข้าอียู (ดูรายชื่อประเทศและอาณาเขตทั้งหมดที่นี่) แต่จะไม่มีผลต่อพลเมืองของประเทศซึ่งสามารถเดินทางเข้าอียูได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

ระเบียบใหม่นี้จะมีผลต่อการเดินทางไปประเทศไหนในยุโรปบ้าง

ระเบียบใหม่ดังกล่าวจะมีผลต่อนักเดินทางที่มีความประสงค์จะขอวีซ่าเข้าประเทศในเขตเชงเก้นทั้งหมด (ออสเตรีย เบลเยี่ยม เชค เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี อิตาลี ลัตเวีย ลิธัวเนีย ลักเซมเบอร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวะเกีย สโลวีเนีย สวีเดน สเปน) และประเทศที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ วีซ่าระยะสั้นสำหรับเข้าประเทศเชงเก้นหนึ่งประเทศ จะให้สิทธิ์ท่านในการเดินทางเข้าทุกประเทศในเขตเชงเก้น และสามารถพำนักอยู่ได้นานติดต่อกัน 90 วัน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

ทำไมจึงมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการขอวีซ่าของอียูในครั้งนี้

เนื่องจากรัฐสภาและคณะมนตรียุโรปได้มีมติให้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบสำหรับการขอวีซ่าไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรป และประเทศสมาชิกของอียูก็เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมไปมากที่สุดที่หนึ่งของโลก เห็นได้จากการที่จำนวนคำร้องขอวีซ่าได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา และยังคงขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา จำนวนคำร้องขอวีซ่าได้เพิ่มขึ้นถึง 57% จาก 10.2 ล้านเป็นมากกว่า 16 ล้านในปี 2561 ขณะเดียวกัน กฎระเบียบและขั้นตอนการขอวีซ่าก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว ทั้งนี้ ระเบียบใหม่จะช่วยลดความซับซ้อน แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการควบคุมและความปลอดภัยเช่นเดิม

ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2549 ด้วยเหตุผลของอัตราเงินเฟ้อ ค่าธรรมเนียม 60 ยูโรที่เราเคยเรียกเก็บก่อนหน้านี้จะไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการพิจารณาการขอวีซ่าได้อีกต่อไป

ภายใต้ระเบียบใหม่ดังกล่าว มีการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างขั้นตอนการขอวีซ่าและความร่วมมือในการเดินทางกลับเข้าประเทศของผู้เดินทาง สิ่งนี้จะกลายเป็นเครื่องมือช่วยให้อียูสามารถเจรจากับมิตรประเทศเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของอียูในการสนับสนุนนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์หลักที่นักเดินทางจะได้รับคืออะไร

นักเดินทางจะได้รับผลประโยชน์จากขั้นตอนการยื่นขอวีซ่าที่ง่ายและเป็นมิตรกับผู้ยื่นคำร้องมากขึ้น

  • นักเดินทางสามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าได้ล่วงหน้านานถึง 6 เดือนก่อนการเดินทาง (9 เดือนสำหรับผู้เดินทางโดยเรือ) ซึ่งจะช่วยให้นักเดินทางวางแผนการเดินทางได้ดีขึ้น แตกต่างจากระเบียบเก่าที่ยื่นได้สูงสุดเพียง 3 เดือนเท่านั้น
  • การขอวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้ง (Multiple Entry Visa) ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะหมดอายุ (1-5 ปี) จะสามารถขอได้ง่ายขึ้น อันจะช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรของนักเดินทาง เนื่องจากไม่ต้องยื่นขอวีซ่าใหม่บ่อยๆ
  • ในเกือบทุกกรณี การขอวีซ่าสามารถยื่นขอได้โดยตรงในประเทศที่เป็นถิ่นพักอาศัยของนักเดินทาง รวมทั้งยังสามารถกรอกข้อมูลและลงนามผ่านทางเว็บไซท์ได้ด้วย (ซึ่งต่างจากระเบียบเก่า ที่นักเดินทางจำเป็นจะต้องมายื่นเอกสารด้วยตนเอง) ระเบียบใหม่นี้จะช่วยลดความยุ่งยาก ประหยัดเงินและเวลา

ระเบียบใหม่สำหรับการออกวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้งคืออะไร

ผู้ที่เดินทางบ่อยๆ และมีประวัติการเดินทางที่ดี จะได้รับวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้ง ซึ่งจะมีอายุยาวนานขึ้นในแต่ละครั้งที่ขอ โดยเริ่มจากมีอายุ1ปี จนมากที่สุดคือ 5 ปี

เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าประเทศของนักเดินทางแต่ละคนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ส่วนคนที่ไม่เคยมีประวัติเสียนั้นก็จะได้รับวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้งที่มีอายุการใช้งานนาน

ผู้ถือวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้ง จะสามารถเดินทางเข้ามาในอียูได้ไม่จำกัดครั้งตลอดระยะเวลาที่วีซ่ายังไม่หมดอายุ

ใช้เวลาในการดำเนินการขอวีซ่านานเท่าไหร่

ระยะเวลาในการพิจารณาและดำเนินการขอวีซ่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่ที่ 15 วันเช่นเดิม แต่ในบางกรณีที่จำเป็นจะต้องตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม ระยะเวลาในการพิจารณาจะใช้เวลาสูงสุด 45 วัน

ท่านจะต้องไปยื่นขอวีซ่าที่ไหน

ระเบียบการขอวีซ่ายังคงเหมือนเดิม นักเดินทางจะต้องยื่นคำร้องขอวีซ่ากับสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่จะเดินทางไป ในกรณีที่ท่านวางแผนจะเดินทางไปประเทศเชงเก้นหลายประเทศ ท่านจะต้องยื่นขอวีซ่ากับสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่ท่านจะไปพำนักนานที่สุด แต่หากท่านจะไปท่องเที่ยวหลายประเทศในระยะเวลาที่เท่าๆ กัน ท่านจะต้องยื่นขอวีซ่าที่สถานทูตหรือกงสุลของประเทศที่ท่านจะเดินทางถึงเป็นประเทศแรก

ในกรณีที่ประเทศในเขตเชงเก้นที่ท่านจะไปไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลในประเทศที่ท่านพักอาศัยอยู่ ท่านควรตรวจสอบว่า ประเทศดังกล่าวมีข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ที่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลตั้งอยู่ในประเทศของท่านให้ช่วยรับคำร้องแทนหรือไม่

นักเดินทางจะต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าด้วยตนเองหรือไม่

ส่วนใหญ่การยื่นขอวีซ่าสามารถยื่นได้ในประเทศที่นักเดินทางพำนักอยู่ (ไม่ว่าจะเป็นที่สถานทูตหรือผ่านผู้ให้บริการภายนอกที่ได้รับสัมปทานจากสถานทูต) และในบางกรณีผู้ยื่นคำร้องสามารถกรอกเอกสารและลงนามผ่านเว็บไซท์ได้ ภายใต้ระเบียบใหม่นี้ ผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าต้องเดินทางมาด้วยตัวเองเฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องเก็บลายนิ้วมือของท่านประกอบเอกสารการขอวีซ่าเท่านั้น (เช่นทุก ๆ 59 เดือน)

สามารถที่จะยื่นขอวีซ่าผ่านผู้ให้บริการภายนอกได้หรือไม่

ประเทศสมาชิกส่วนมากใช้ผู้ให้บริการภายนอกในการรับคำร้องวีซ่าและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ด้วยจำนวนของศูนย์รับคำร้องวีซ่าทำให้ผู้ยื่นคำร้องไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อที่จะยื่นคำร้อง อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกยังคงสงวนสิทธิที่จะเป็นผู้รับผิดชอบการตัดสินใจที่จะออกหรือปฏิเสธวีซ่าแก่ผู้ที่มายื่นคำร้อง

กฎระเบียบสำหรับการขอวีซ่าระยะสั้นคืออะไร

ไม่มีการเปลี่ยนกฎระเบียบสำหรับการขอวีซ่าระยะสั้นเข้าอียู โดยผู้ยื่นขอวีซ่าจะต้องแสดงเอกสารดังต่อไปนี้

  • แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าที่ท่านกรอกและลงชื่อแล้ว
  • หนังสือเดินทางที่ออกในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องมีอายุเหลือเกินสามเดือนนับจากวันที่เดินทางออกนอกเขตเชงเก้น
  • รูปถ่ายหน้าตรง
  • เอกสารรับรองว่าท่านได้ซื้อประกันสุขภาพสำหรับการเดินทาง ซึ่งมีอายุตลอดช่วงเวลาของการเดินทางและมีจำนวนเงินคุ้มครองขั้นต่ำ
  • เอกสารสนับสนุนจุดประสงค์ของการเดินทาง หลักฐานทางการเงินที่จะใช้จ่ายระหว่างการมาพำนัก และหลักฐานการจองที่พัก

ผู้ยื่นขอวีซ่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าและพิมพ์ลายนิ้วมือ

ผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าจำเป็นต้องมีประกันสุขภาพในช่วงที่เดินทางอยู่ในอียูหรือไม่

ท่านยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับการมีประกันสุขภาพในระหว่างที่ท่านเดินทางท่องเที่ยวในอียูอยู่ และประกันสุขภาพที่ท่านมีนั้นจะต้องมีอายุครอบคลุมตลอดการเดินทางท่องเที่ยวของท่าน

อัตราค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่าอยู่ที่เท่าไหร่ และเราจะเอาค่าธรรมเนียมวีซ่าที่เพิ่มขึ้นไปทำอะไร

การขึ้นค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่าจากเดิม 60 ยูโรเป็น 80 ยูโรในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เราพิจารณาปรับค่าธรรมเนียมตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยสาเหตุที่เราต้องปรับค่าธรรมเนียมขึ้นก็เพื่อให้อัตราที่เรียกเก็บสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วทั้งอียู

คำร้องขอวีซ่าซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้ค่าธรรมเนียม 60 ยูโรที่เราเรียกเก็บในอดีตไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการดำเนินงานของเราได้ (เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าสถานที่ และค่าอุปกรณ์) การปรับค่าธรรมเนียมวีซ่าให้สูงขึ้นจะช่วยให้เรามีรายได้มากพอที่จะทำนุบำรุงกิจการด้านกงสุลทั่วโลก มีงบประมาณสำหรับการจ้างพนักงานเพิ่มตามความจำเป็น สนับสุนนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการปรับปรุงกระบวนการยื่นคำร้องขอวีซ่าให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จัดหาอุปกรณ์ไอทีและซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาคุณภาพในการให้บริการ รวมถึงพัฒนาความสามารถในการดูแลความปลอดภัยและสอดส่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคนที่เดินทางเข้าออกอียูบ่อยๆ ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจะไม่สร้างภาระทางการเงินต่อท่านเกินความจำเป็น เนื่องจากท่านจะไม่ต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าหลาย ๆ ครั้งอีกต่อไป เพราะอายุของวีซ่าที่เราจะออกให้ภายใต้กฎระเบียบใหม่นี้จะยาวนานขี้น

ประเทศที่ปัจจุบันนื้ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงอำนวยความสะดวกสำหรับการขอวีซ่า ทำให้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่ามากเท่าประเทศอื่น จะได้รับผลกระทบจากการที่อียูปรับค่าธรรมเนียมขอวีซ่าเพิ่มขึ้นไหม

การปรับค่าธรรมเนียมนี้จะไม่มีผลกระทบต่อประเทศที่อียูได้บรรลุข้อตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าไว้ ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่าเพียง 35 ยูโร เช่น อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และรัสเซีย

ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นนั้น มากหรือน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมที่ประเทศอื่น ๆ เรียกเก็บ

แม้ค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่าของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 80 ยูโร แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าไปประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ 143 ยูโร และจีน ซึ่งอยู่ที่ 126 ยูโร หากท่านมีความประสงค์ที่จะเดินทางไปออสเตรเลีย ท่านจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่า 90 ยูโร ในขณะที่นิวซีแลนด์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงถึง 146 ยูโร วีซ่าไปแคนาดามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 68 ยูโร อินเดีย 95 ยูโร และ 112 ยูโรสำหรับสหราชอาณาจักร

มีกรณีใดบ้างที่จะสามารถยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมวีซ่าลงได้

เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีจะยังคงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมขอวีซ่าตามกฎระเบียบที่มีมาแต่เดิม ส่วนเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 - 12 ปีนั้นก็จะต้องจ่ายเพียงครึ่งเดียวของค่าธรรมเนียมตามกฎระเบียบใหม่ ซึ่งก็คือ 40 ยูโร (จากเดิมที่เคยเป็น 35 ยูโร) นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังมีสิทธิที่จะเลือกยกเว้นค่าธรรมเนียมให้กับเยาวชนที่มีอายุ 6 - 18 ปีได้แล้วแต่กรณีไป

ความร่วมมือในการส่งผู้เดินทางกลับประเทศต้นทางมีความเกี่ยวพันกับนโยบายวีซ่าของอียูอย่างไร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อียูได้เพิ่มมาตรการเพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกในการส่งผู้ซึ่งไม่มีสิทธิ์ที่จะพำนักอยู่ในยุโรปกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้ก็เพราะว่า แม้การรับพลเมืองกลับเข้าประเทศจะเป็นข้อบังคับในกฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม แต่ประเทศสมาชิกของอียู บางประเทศก็ยังประสบปัญหาในการส่งผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับไปยังประเทศต้นทางของเขา

ในการปรับปรุงแก้ไขกฎระบียบการออกวีซ่านี้ อียูได้นำเสนอกลไกใหม่ที่จะเชื่อมโยงนโยบายวีซ่ากับความร่วมมือในการส่งผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งกลไกนี้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเจรจาระหว่างอียูและมิตรประเทศต่างๆ ในอนาคต

ภายใต้ระเบียบใหม่ คณะกรรมาธิการยุโรปจะทำการประเมินประสิทธิภาพของประเทศนอกอียูในการร่วมมือกับเราเพื่อรับพลเมืองของตนเองกลับ โดยจะพิจารณาจากตัวชี้วัดดังต่อไปนี้

  • จำนวนประชากรของประเทศนอกอียูแต่ละประเทศที่ถูกส่งกลับ
  • สัดส่วนของผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่ประเทศต้นทางรับกลับประเทศ ต่อจำนวนของผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากประเทศนั้นๆ ที่อียูพิจารณาให้ส่งกลับ
  • สัดส่วนของการตอบรับให้พลเมืองกลับเข้าประเทศของประเทศนอกอียูต่อจำนวนคำขอให้รับกลับประเทศซึ่งอียูได้ยื่นแก่ประเทศนั้นๆ
  • ระดับความร่วมมือในแต่ละขั้นตอนของการส่งผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกลับประเทศต้นทาง รวมถึงความช่วยเหลือในการระบุสัญชาติของบุคคลที่เข้ามาพำนักอยู่ในอียูอย่างผิดกฎหมาย และความรวดเร็วของการออกหนังสือเดินทางให้แก่บุคคลผู้นั้นโดยประเทศต้นทางเอง

ประเทศสมาชิกอียูที่ประสบปัญหาในการส่งคนกลับประเทศต้นทางนอกอียูอย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้ง สามารถที่จะส่งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประเทศดังกล่าวมายังคณะกรรมาธิการยุโรปได้ และเมื่อประเทศสมาชิกส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปจะต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวภายในหนึ่งเดือน

บนพื้นฐานนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปร่วมกับประเทศสมาชิกอียูสามารถนำมาตรการที่เข้มงวดขึ้นมาใช้ในการพิจารณาคำร้องขอวีซ่าของพลเมืองจากประเทศนั้นๆ เป็นการชั่วคราวได้ เช่น อาจใช้เวลาพิจารณาคำขอนานขึ้นกว่าที่ระบุไว้ในกฎระเบียบสำหรับกรณีทั่วๆ ไป อายุของวีซ่าที่จะออกให้แก่บุคคลนั้นๆ ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น และอาจปฏิเสธที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียม เป็นต้น

ในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการรับพลเมืองของตนกลับ รวมทั้งเมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศดังกล่าวกับอียูแล้ว คณะกรรมาธิการอาจพิจารณาให้มีการบังคับใช้กฎระเบียบสำหรับการออกวีซ่าต่อพลเมืองของประเทศนั้นๆ อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น อาจพิจารณาลดค่าธรรมเนียมวีซ่าหรือย่นระยะเวลาในการพิจรณาให้สั้นลง รวมทั้งพิจารณาออกวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้งที่มีอายุนานขึ้นให้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศกับคณะมนตรียุโรป

พลเมืองของประเทศนอกอียูที่ไม่ให้ความร่วมมือกับอียูในการรับประชากรกลับเข้าประเทศ จะยังสามารถยื่นขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปยังอียูได้หรือไม่

ถึงแม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎระเบียบในการออกวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้งอย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่สิทธิขั้นพื้นฐานของนักเดินทางในอันที่จะยื่นคำร้องขอวีซ่าหรือในอันที่จะได้รับวีซ่าก็ยังมีอยู่ ในกรณีที่คณะกรรมธิการยุโรปและประเทศสมาชิกของอียูได้ตัดสินใจว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้กลไกที่เข้มงวดขึ้น กฎระเบียบอันเข้มงวดบางกฎจะถูกปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศนอกอียูแต่ละประเทศ กรณีดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อระยะเวลาการดำเนินการขอวีซ่า อายุของวีซ่าที่ท่านจะได้รับ ค่าธรรมเนียมการออกวีซ่า และการพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียม

เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียูแล้ว นักเดินทางชาวอังกฤษจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่หรือไม่

ในปี 2562 ระเบียบขัอบังคับเกี่ยวกับการออกวีซ่าได้รับการแก้ไขปรับเปลี่ยนเพื่อให้ชาวอังกฤษสามารถเดินทางมายังอียูได้โดยไม่ต้องมีการขอวีซ่าหลังจากที่สหราชอาณาจักรได้ถอนตัวจากอียูแล้ว ซึ่งหมายความว่าระเบียบใหม่ของการยื่นขอวีซ่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อชาวอังกฤษ เพราะชาวอังกฤษสามารถพำนักระยะสั้นได้ในอียูโดยไม่ต้องมีวีซ่า

ข้อมูลเพิ่มเติม (ภาษาอังกฤษ)

Regulation (EU) 2019/1155 of the European Parliament and of the Council of 20 June 2019 amending Regulation (EC) No 810/2009 establishing a Community Code on Visas (Visa Code)