ว ธ การแสกนร ปให ใหญ กว าขนาดเด ม

จุดตายป.ป.ช.หลังยื่นศาลรธน.ตีความระเบียบ"ค่าตอบแทน"

เผยแพร่: 12 ต.ค. 2547 01:01 โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

•• สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้น่าสนใจอย่างยิ่งกับกรณีที่ ส.ว.และส.ส.รวม 212 คน ใช้สิทธิ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 300 เข้าชื่อกันยื่นเรื่องผ่าน ประธานวุฒิสภา ไปยัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาว่า ป.ป.ช.ทั้งคณะ มีพฤติกรรม กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพราะร่วมกัน ออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนให้ตนเอง อันน่าจะถือได้ว่าไม่ต่างกับ ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง ความคืบหน้ายังไม่ทันจะไปถึงไหน ป.ป.ช ทั้งคณะ ที่ ยืนยันในความถูกต้องและอำนาจของตนเอง ก็อ้างอิงสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเช่นกัน มาตรา 266 ส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ในด้านหนึ่งแล้วเป็น องค์กรอิสระเช่นเดียวกัน พิจารณา วินิจฉัย ว่า ระเบียบ ที่เป็นปัญหานั้น ชอบด้วยกฎหมายหมายหรือไม่, ป.ป.ช.มีอำนาจหรือไม่ การกระทำเช่นนี้ในมุมมองของ “เซี่ยงเส้าหลง” ไม่ต่างกับเป็น การแก้เกม เพื่อ ชะลอ, ยับยั้ง ไม่ให้เรื่องเข้าสู่ กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเชื่อว่ามีความเป็นได้ที่ถ้า ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา จะเป็นเหตุให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองชะลอการพิจารณาไว้ก่อน – เพื่อรอผลการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ น่าติดตามการตัดสินใจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ตั้งแต่ ประธานวุฒิสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง เป็นอย่างยิ่งว่าจะส่ง ผล ให้ กระทบกระเทือนต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ แค่ไหนอย่างไรและจะพัฒนาไปสู่ วิกฤตรัฐธรรมนูญ หรือไม่

•• เพราะ มาตรา 300 (และ มาตรา 299) นี้คือ จุดตายที่แท้ ของ ป.ป.ช. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 300 วรรคสาม ที่บัญญัติไว้ว่า “...กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นมิได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกคำร้องดังกล่าว.” ที่สำคัญคือครั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหา คือ ป.ป.ช.ทั้งคณะ หากเรื่องราวดำเนินมาถึงขั้นนี้ก็เท่ากับว่า ประเทศไทยจะเกิดสุญญากาศทางการตรวจสอบทุจริต เพราะจะเสมือน ไม่มีป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ไปชั่วขณะ พอจะเรียกได้ว่า วิกฤต ไหมล่ะ

•• เพราะ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ไม่ใช่ องค์กรอิสระ และไม่ใช่ องค์กรถาวรที่มีบุคลากรดำรงตำแหน่งตายตัว หากแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 272 บัญญัติไว้ให้เป็น แผนกหนึ่งของศาลฎีกา จึงเป็นส่วนหนึ่งของ ศาลยุติธรรม โดยมี องค์คณะ 9 คน ทำหน้าที่ เฉพาะคดี แต่ละคดีผ่านการคัดเลือกมาจาก ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธี ลงคะแนนลับ และมี วิธีพิจารณาคดีเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 จึงเป็นเรื่อง ยากที่จะคาดการณ์ผล เป็นอย่างยิ่ง

•• และเพราะ ผลการวินิจฉัย ของ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน รับหรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณา หรือขั้น วินิจฉัยเรื่อง จะมีผลกระทบกระเทือนอย่างยิ่งต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ใน 2 ประเด็น ด้วยกันคือ มีพฤติกรรมรับเรื่องนอกขอบเขตอำนาจมาวินิจฉัยเสมอ ๆ และที่สำคัญกว่านั้นคือคนจำนวนหนึ่งจะมองว่าเป็น Conflict of Interests เพราะ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็น องค์กรอิสระเหมือนป.ป.ช. การวินิจฉัยเรื่อง ขอบเขตอำนาจในการออกระเบียบการว่าด้วยการเงินและการจ่ายค่าตอบแทนให้ตนเอง นั้นตนเอง มีส่วนได้เสีย อย่างนี้พอจะเรียกได้ว่า วิกฤต ไหมล่ะ

•• แม้จะ ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง กับ รัฐบาล แต่ภายใต้สถานการณ์ที่เกิด Perception ขึ้นมาในปัจจุบันว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระส่วนใหญ่ (รวมทั้งใน วุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานวุฒิสภา) นั้นมีลักษณะ แอบอิง, ขึ้นต่อ กับ รัฐบาล หากการณ์ที่เกิดขึ้น โจ่งแจ้ง, ตอบคำถามสังคมได้ไม่หมดจด เรื่องก็มีโอกาสที่จะถูก ลากจูง ไปเป็นประเด็น เคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล ได้เช่นกัน

•• หรือถ้า สุชน ชาลีเครือ ในฐานะ ประธานวุฒิสภา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดตัดสินใจ ไม่ทำหน้าที่ส่งผ่าน เรื่องที่ยื่นขึ้นมาตาม มาตรา 300 ไปให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ก็แน่นอนว่า รัฐบาล จะต้องตกเป็น เป้า แห่ง การโจมตี ในทันที

•• ก็ถือเป็น การบอกเล่าโดยสังเขป ของสถานการณ์อันน่าสนใจยิ่งที่หากบริหารจัดการไม่ดีพออาจจะพัฒนาไปสู่ วิกฤตรัฐธรรมนูญ ได้แต่เพียงเท่านี้ก่อน

•• ขอรำลึกถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่ออีกสักวันเพื่อแสดงให้เห็นว่านี่ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนึกจะบันดาลให้เกิดก็จะเกิดขึ้นง่าย ๆ ในทันที ให้เข้ากับสถานการณ์วันนี้

•• เพราะถ้า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็น ป่าใหญ่ ก็ย่อมมี ต้นไม้มากมาย หากจะหยิบออกมาเพียง ต้นใดต้นหนึ่ง แล้ววิเคราะห์เจาะลึกลงไปต่อให้ ถูกต้อง ก็ ถูกต้องเฉพาะต้นไม้ต้นเดียว แต่ไม่สามารถที่จะ ทำความเข้าใจ, รู้จัก ซึ่ง ป่าใหญ่ทั้งป่า ได้

•• ต้นไม้แต่ละต้นที่ถูกหยิบยกออกมาปีแล้วปีเล่า วนเวียน อยู่กับเรื่องราวเหล่านี้ การตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน, การรัฐประหารกันเองในหมู่ชนชั้นปกครอง, กองกำลังเสือพรานก่อกวน, แผนสร้างความปั่นป่วนในเมืองลดแรงกดดันในป่าของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะ ถูก หรือ ผิด ก็เป็นเพียง ต้นไม้ 2 – 3 ต้น ไม่ใช่ ป่าใหญ่ทั้งป่า เสมือน จับภาพเฉพาะ ย่อมไม่สามารถมองเห็น ภาพรวม ฟันธงประสา “เซี่ยงเส้าหลง” ว่าล้วน มีส่วนถูก, มีส่วนจริง แต่เป็นเพียง ส่วนจริงเศษเสี้ยวของสาเหตุมูลฐานแห่งการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ระดับผลัดยุค หลายปีก่อนเคยได้อ่านงานปัญญาชนรุ่นหลังคนหนึ่งนาม ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เรื่อง คิดนอกกรอบ : วิวาทะว่าด้วยบทบาทของขบวนการนักศึกษาไทย ในตอนหนึ่งมี เค้าโครงภาพรวม ของ ป่าใหญ่ 14 ตุลา ที่เสนอออกมาว่า “...การปฏิวัติวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอยท่ามกลางสุญญากาศ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถในการนำหรือควบคุมฝูงชนของ Big Name ในขบวนการนักศึกษาล้วน ๆ ตรงกันข้ามกลับเป็นภาคต่อเนื่องของความตื่นตัวทางปัญญาความคิด และการตั้งคำถามอย่างถอนรากถอนโคนต่อระบบคุณค่าแบบเก่า ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการปฏิวัติมาช้านาน.” ภาพรวมหรือป่าใหญ่นี้ไม่อาจพิจารณาเฉพาะแต่ใน ประเทศไทย หากแต่ต้องพิจารณาในกรอบของ สถานการณ์โลก, ยุคของโลก ควบคู่ไปด้วย

•• สถานการณ์ของโลก ก่อนหน้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 คือ ช่วงปลายของยุคทศวรรษที่ 1960 ที่ถือเป็น ยุคแสวงหาคุณค่าใหม่ ของ ขบวนคนหนุ่มสาวทั่วโลก โดยเฉพาะใน สหรัฐอเมริกา, ยุโรป ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เปิดฉาก ทศวรรษที่ 1960 ในรูปแบบของ การต่อต้านสงครามเวียดนาม, ขบวนการบุปผาชน, ขบวนการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ, การปฏิวัติทางเพศ รวมทั้ง การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาฝรั่งเศสในปี 1968 สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศขณะนั้นคือ จุดสูงสุดของสงครามเย็น ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็น มายาคติของลัทธิสังคมนิยม โดยเฉพาะ ลัทธิเหมา ที่มีปัญหาในเรื่อง การปฏิวัติวัฒนธรรม การแสวงหาในยุคนั้นเต็มไปด้วยท่วงทำนอง ปะทะตอบโต้ระบบคุณค่าที่ดำรงอยู่ในสังคม เป็นการตั้งคำถามตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวอย่าง เด็กต่อผู้ใหญ่, ระบบซีเนียริตี้ในมหาวิทยาลัย, การเชียร์ และ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ความชอบธรรมของระบอบการเมือง, นโยบายต่างประเทศ ต่อประเด็นนี้ ศ.เสน่ห์ จามริก ที่เป็นคนแรกที่เรียกขาน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่าคือ การปฏิวัติตุลาคม เขียนให้ภาพไว้อย่างชัดเจนยิ่งว่า “...โลกภายนอกราชอาณาจักรส่วนตัวของระบอบถนอม-ประภาสได้ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว ความตื่นตัวทางปัญญาความคิดได้ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวางในหมู่นิสิตนักศึกษา.” จะพูดว่าโลกในยุคนั้นเป็น ยุคของนิสิตนักศึกษาปัญญาชน สำหรับคนหนุ่มสาวที่ แสวงหา แล้ว มีโลกร่วมกัน แม้ขณะนั้นจะยังไม่ใช่ ยุคข้อมูลข่าวสาร แต่ความที่ ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกอย่างเด่นชัด ตรงที่เป็น ที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐอเมริกา ทั้งประเทศเต็มไปด้วย อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ที่เปลี่ยนแปลงสังคมไทยทั้งทาง เศรษฐกิจ, สังคม และ การเมือง ทำให้ นิสิตนักศึกษาไทย มีความเป็น สากล รูปลักษณะ หัวรุนแรง, ก้าวร้าว เกิดขึ้นในทุกปริมณฑลมาเป็นเวลา นานนับปี ก่อนจะถึง วันที่ 14 ตุลาคม 2516 การชุมนุมทางการเมืองหรือกึ่งการเมืองเกิดขึ้นในลักษณะ ซ้อมย่อย, ซ้อมใหญ่ มาตั้งแต่ ไว้อาลัยให้กับการรัฐประหารตนเอง 17 พฤศจิกายน 2514, คัดค้านการขึ้นค่ารถเมล์จาก 50 สตางค์เป็น 75 สตางค์ในปี 2515, คัดค้านประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ปลายปี 2515, ต่อสู้คัดค้านการใช้เฮลิคอปเตอร์ล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรเมื่อเดือนเมษายนปี 2516, คัดค้านการลบชื่อ 9 นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อ 21 – 22 มิถุนายน 2516 หรือแม้แต่เรื่องราวภายในมหาวิทยาลัยที่ ต่อสู้ผลักดัน 2 จอมพลให้ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยา ลัยชั้นนำ 2 แห่ง และ ฯลฯ แต่ละครั้งมีประชาชนเข้าร่วมอย่างมี นัย แม้แต่คนสำคัญใน ระบอบถนอม-ประภาส อย่าง พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร ผู้เป็น น้องชายแท้ ๆ ของ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ ไม่เห็นด้วยกับพี่ชาย ในหลายเรื่อง พล.อ.แสวง เสนาณรงค์ ผู้เป็นเสมือน เสนาธิการ ก็เช่นกัน

•• เพียงแต่ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เสมือนมี กรรมบังตา จึงมองไม่เห็น ป่าใหญ่ทั้งป่า แม้จนกระทั่ง นาทีสุดท้าย ที่เกิดการชุมนุมขึ้นใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เมื่อ วันที่ 9 ตุลาคม 2516 โน่น

•• พูดกันมาโดยตลอดเหมือนกันก็คือเรื่อง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. เข้ามามีส่วนกับ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยเหตุผล เปิดแนวรบใหม่ในเมืองเพื่อยับยั้งการปราบปรามหนักในเขตป่าเขา แม้ “เซี่ยงเส้าหลง” เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ว่าจะ จริง, ไม่จริง แต่ก็เป็นเพียง ต้นไม้ 1 ต้น ใน ป่าใหญ่ แต่วันนี้จะขอพิเคราะห์ดูต้นไม้ต้นนี้ในฐานะ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตามที่ รับรู้ มา

•• การต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท. นั้นเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 7 สิงหาคม 2508 หลังจากขยายงานมาก่อนหน้านั้น 2 – 3 ปี อันเป็นผลมาจากมติของ สมัชชาผู้แทนพรรคครั้งที่ 3 เมื่อ ปี 2504 ที่มีนโยบายหลักอาทิ เตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ, เร่งขยายงานในเขตชนบท, คัดค้านสหรัฐอเมริกา, คัดค้านเผด็จการฟาสซิสต์สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ สร้างแนวร่วมรักชาติรักประชาธิปไตย และมีการเปลี่ยนแปลงเลขาธิการใหญ่จาก ประสงค์ วงศ์วิวัฒน์ (หรือ ทรง นพคุณ หรือ สหายบา) มาเป็น มิตร สมานันท์ การทำงานเน้นหนัก งานมวลชน, งานชนบท หลังการประชุมสมัชชา 3 ได้เพียงครึ่งปี รวม วงศ์พันธุ์ ก็ ถูกจับ และ ถูกประหารชีวิต ตามติดมาด้วยการตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันของ ครอง จันดาวงศ์ เป็นผลให้ สมาชิก-แกนนำส่วนใหญ่เข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบท โดยเฉพาะที่ ดงหลวง ที่ถือเป็น ศูนย์การนำ โดยเข้าไปทำงานมวลชนกับ ชนชาติกะโซ่ เงื่อนไขที่เป็นผลดีต่อการขยายงานเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2505 วันที่ สหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้ามาประจำการในประเทศไทย ต่อด้วย การขยายตัวของสงครามอินโดจีน ในช่วง ปี 2513 ตามมาด้วย การรัฐประหารตนเอง ของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 เชื่อกันว่า 3 เหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกันเพราะ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2513 ผู้นำจีน เหมาเจ๋อตง ประกาศต่อทั่วโลก สนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนอินโดจีน เริ่มให้ความช่วยเหลือทั้งต่อ อินโดจีน และ พคท. เป็นผลให้ สหรัฐอเมริกา มองเห็น อันตรายใหญ่หลวง ต้องการ ปราบปรามใหญ่ เห็นว่า ระบบรัฐสภา ที่สร้างขึ้นมาใน ปี 2511 จะเป็น อุปสรรค จึงสนับสนุน การรัฐประหารตนเอง หลังจากนั้นมาจึงตามมาด้วย การปราบปรามใหญ่ในขอบเขตทั่วประเทศ โดยเฉพาะ ปี 2515 สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ พคท. โดยเฉพาะ กองกำลังภาคอีสาน ที่สร้างที่มั่นอยู่บน ภูพาน โดย อุดม สีสุวรรณ แม้แต่สหายนำอย่าง มิตร สมานันท์ และ สหายธาร – วิรัช อังคถาวร ก็ยัง บาดเจ็บ เรียกว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การต่อสู้ด้วยอาวุธในภาคอีสานอาจต้องยุติลง หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นนอกจาก การปราบปราม จะ ลดลง แล้วการต่อสู้ของขบวนแถว ผู้รักความเป็นธรรม ทั้ง นิสิตนักศึกษา, กรรมกร และ ชาวนา ส่งผลให้ พคท. ได้อานิสงส์ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และ เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในช่วงหลังจาก เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ได้ นิสิตนักศึกษาปัญญาชน เข้าไปเป็น แนวร่วม, สมาชิก จำนวนมาก

•• จาก อานิสงส์ ที่ พคท. สามารถแปรเปลี่ยนสถานะจาก การต่อสู้ด้วยอาวุธยกสุดท้าย มาเป็น ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว, เติบโตอย่างก้าวกระโดด นี่เองที่ทำให้มีผู้คนจำนวนหนึ่ง จับแพะชนแกะ ว่า พคท. เป็นผู้เข้ามาสร้าง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่าน ตัวกลาง ที่ชื่อ ไขแสง สุกใส พี่ใหญ่แห่ง สำนักงานทนายความธรรมรังษี – วิสุทธิกษัตริย์ นั่นเอง

•• โดยมองว่า ไขแสง สุกใส นั้นเป็น ตัวกลาง ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้ง พคท., นิสิตนักศึกษา และ ชนชั้นปกครอง ในส่วนของ พคท. นั้นเขามีสัมพันธ์อันดีกับ อุดม สีสุวรรณ ผู้สร้างฐานที่มั่น ภูพาน ที่กำลัง ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ในส่วนของ นิสิตนักศึกษา เขาเป็นเสมือน พี่ใหญ่ ของน้อง ๆ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมอย่าง ธีรยุทธ บุญมี และ ฯลฯ ที่เสมือนใช้ สำนักงานทนายความธรรมรังษี เป็น บ้านที่ 2 ต่อเนื่องมาจนถึง ปี 2517 – 2518 และในส่วนของ ชนชั้นปกครอง นั้นใคร ๆ ก็รู้ว่าเขาเป็นหนึ่งใน มิตรสหาย ของ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เจ้าของสมญา เจ้าพ่อปตอ. ผู้เป็นพันธมิตรของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ที่เชื่อกันว่ามีส่วนร่วม รัฐประหารระบอบถนอม-ประภาส-ณรงค์ ในช่วง วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เครือข่ายสายสัมพันธ์เหล่านี้เป็น ความบังเอิญ ที่ช่วยไม่ได้ที่จะมีคนคิดว่าเป็น แผน ที่วางไว้อย่างเหมาะเจาะ

•• เหมือนที่มีคนคิดว่า สุธรรม แสงประทุม เป็น เสือพราน ภายใต้บังคับบัญชาของ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เพียงเพราะ ถูกจับ บริเวณ บางลำพู ในช่วงสาย ๆ ของ วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั่นเอง

•• เมื่อ 30 ปีก่อน สุธรรม แสงประทุม เรียนอยู่ ปี 1 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่าบ้านอยู่ร่วมกับคนบ้านเดียวกัน สมาน เลิศวงศ์รัฐ (หรือเดิมคือ สมาน เลือดวงหัด) บริเวณ ถนนสามเสน ใกล้ ท่าวาสุกรี – วัดราชาธิวาส เมื่อคิดว่าเหตุการณ์คลี่คลายตอนกลางดึก วันที่ 13 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องมาถึงเช้ามืด วันที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงได้ กลับบ้าน แต่เมื่อฟังจากวิทยุว่า เกิดการจลาจล ประกอบกับเห็น รถถังจาก ม.พัน 4 รอ. วิ่งผ่านหน้าบ้านจึง เดินออกจากบ้านไปยังถนนราชดำเนิน มาพบกับเหตุการณ์ชุลมุนที่ บางลำพู จึงเข้าร่วมกับประชาชน ยึดรถดับเพลิง และ ปราศรัยให้ทหารตำรวจยับยั้งชั่งใจในการปราบประชาชน จึง ถูกจับ ส่งตัวไปขังไว้ที่ สน.ชนะสงคราม ร่วมกับคนอื่น ๆ เป็น 11 คน และในช่วงบ่ายถูกนำตัวขึ้น รถสายพานลำเลียงพล นำโดย พ.ต.มนูญ รูปขจร (ปัจจุบันคือ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร) ไปยัง กองพลที่ 1 และถูกถามไถ่จริงจังในการสอบสวนทำนองว่า เคยฝึกทหารมาก่อนหรือไม่ ก่อนเหตุการณ์จะ พลิกผัน ในช่วงค่ำ ๆ เมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร ตัดสินใจ ลาออก คนที่ปล่อยเขา กลับบ้าน คือ พ.ต.อ.เสมอ ดามาพงศ์ (ยศในขณะนั้น) จากนั้นไม่กี่วันก็มีข่าวแพร่กระจายออกมาว่า 11 ผู้ต้องหาที่ถูกปล่อยชุดนั้น คือ เสือพราน ทำให้ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ต้องออกมายืนยัน ปฏิเสธ ว่าไม่ใช่ แต่ก็ไม่เป็นผล ข่าวลือ ยังคงต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ก็ยังคงมี กระเส็นกระสาย อยู่

•• จริง ๆ แล้ว สุธรรม แสงประทุม เป็นคนที่มี ที่มา ให้ สืบประวัติ อย่าง ไม่ยากเย็น ไม่มีช่องทางใดที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ แต่ที่ยังคงต้องตกเป็น ข่าวลือ ก็เพราะฐานภาพอย่างเขาจะเป็น ตัวเชื่อมสำคัญ ระหว่างขบวนนิสิตนักศึกษา กับ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา, พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ และ ฯลฯ นั่นเอง

•• กลุ่มบุคคลที่พยายามจะ ลบภาพ ของ พลังประชาชน-พลังประชาธิปไตย ที่เป็น ผลิตผลของสถานการณ์โดยรวม ที่สั่งสมต่อเนื่องกันมา 2 – 5 ปี แล้ว สร้างภาพ ให้เป็นแผนการของ พคท., ทหารกลุ่มหนึ่ง จึงไม่อาจจะลืมชื่อของ ไขแสง สุกใส, สุธรรม แสงประทุม รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่เข้าใจกันและความบกพร่องทางการสื่อสารระหว่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับ 13 กบฏที่ถูกปล่อยตัว ในช่วงกลางดึก วันที่ 13 ตุลาคม 2516 ได้เลย

•• เห็นพุ่งเป้ากันมาที่ พคท., ทหารกลุ่มหนึ่ง ว่ามีส่วนสร้าง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ “เซี่ยงเส้าหลง” เสนอให้ผู้สนใจเข้าไป ศึกษาหาความรู้ กลุ่มนั้นอาจเรียกขานได้ว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือจะเรียกอีกอย่างก็ได้ว่า ชนชั้นนำนอกอำนาจบริหาร บทบาทนำที่แสดงออกในยุคนั้นผ่านทาง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นสพ.สยามรัฐ น่าสนใจยิ่งนักว่าทำไม ระบอบถนอม-ประภาส ไม่เป็นที่พอใจทั้งฝ่ายซ้าย และ ฝ่ายขวา หากจะจำแนกซ้าย-ขวากันอย่างกว้าง

•• ท่านที่สนใจหนังสือ รักชาติยิ่งชีพ : ชีวประวัติเหียกวงเอี่ยม ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” นำเสนอบางส่วนของเรื่องราวของท่านและผู้คนของท่านที่ คลองด่าน ไปในเรื่อง คลองด่าน...หมู่บ้านผู้รักชาติ ณ ที่นี้เมื่อ