เพราะเหตุใดการค้าขายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยจึงต้องอาศัยชาวจีนเป็นผู้ช่วยเหลือทำการค้าให้

 สมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การค้าขายไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในตลาดหรือย่านตลาดเท่านั้น แต่ยังมีพ่อค้าเร่ หรือพ่อค้าคนกลาง นำสินค้าไปขายยังท้องถิ่นที่ห่างไกลจากตลาด ซึ่งชาวจีนเป็นผู้ริเริ่มการค้าขายในลักษณะนี้ ก่อนชนชาติอื่น ชาวจีนเหล่านี้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองไทย และยึดอาชีพค้าขาย โดยนำสินค้าหลากหลายประเภท เช่น สุรา ฝิ่น ขนมจันอับ ผัก ผลไม้ ของชำต่างๆ เช่น เกลือ หอม กระเทียม หมากพลู กะปิ น้ำตาล เคียว มีด น้ำมันก๊าด ก๋วยเตี๋ยว เนื้อหมู และเสื้อผ้า ไปขายยังหมู่บ้านต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะไปทางเรือ เพราะขนส่งสินค้าได้เป็นจำนวนมาก เปรียบเหมือนตลาดเคลื่อนที่ เมื่อพายเรือผ่านบ้านใดก็มักจะส่งสัญญาณ เช่น บีบแตร หรือเป่าเขาควาย เพื่อบอกให้รู้ว่า ได้นำสินค้ามาขายแล้ว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงระยะเวลาที่ไทยเริ่มติดต่อค้าขายกับประเทศตะวันตก ชาวตะวันตก หรือที่เราเรียกว่า “ฝรั่ง” เริ่มเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย โดยส่วนใหญ่เป็นพวกพ่อค้า ร้านค้าแห่งแรกของพ่อค้าชาวตะวันตกในเมืองไทย คือ ห้างฮันเตอร์และเฮย์ ของนายฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ซึ่งขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก ห้างนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตลาดของชาวตะวันตก ในระยะนั้น จึงเป็นร้านค้าที่เรียกว่า “ห้าง” ซึ่งในเวลาต่อมา ก็เกิดขึ้นอีกหลายห้าง เช่น ห้างบอมเบย์ ห้างมัทราส

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ ไทยยังคงมีสงครามกับดินแดนใกล้เคียงอยู่บ้าง และทุกครั้งที่ฝ่ายไทยชนะศึกสงคราม ก็มักจะกวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ ที่ตีได้ เช่น คนลาว คนเขมร คนญวน ให้มาตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองต่างๆ เชลยที่ถูกกวาดต้อนมานี้ จะอาศัยรวมกันเป็นหมู่เหล่า ตามเชื้อชาติของตน จึงเกิดชุมชนลาว ชุมชนแขก ชุมชนมอญ และชุมชนเขมรขึ้น รวมทั้งชุมชนของชาวจีนที่เข้ามาค้าขาย และตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ แต่ละชุมชนต่างก็มีตลาดในชุมชนของตน โดยเรียกขานชื่อตลาดไปตามสัญชาติเป็นย่านๆ ไป เช่น

ตลาดแขก อยู่บริเวณถนนตานี ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนสาทร ถนนอิสรภาพ
ตลาดญวน อยู่บริเวณถนนสามเสน บางโพ
ตลาดมอญ อยู่บริเวณปากเกร็ด สามโคก
ตลาดจีน อยู่บริเวณสำเพ็ง เยาวราช ตลาดน้อย

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างถนนและขุดคลองขึ้นหลายสาย ในกรุงเทพฯ เมื่อถนนตัดผ่านสถานที่ใด ก็ย่อมเกิดชุมชน และความเจริญขึ้น ถนนที่สำคัญคือ ถนนเจริญกรุง ซึ่งถือว่า เป็นถนนที่ใหญ่และยาวที่สุดในสมัยนั้น อีกทั้งเป็นถนน ที่ชาวตะวันตกนิยมตั้งบ้านเรือนพักอาศัยอยู่เป็นส่วนมาก จึงเป็นที่ตั้งของตลาดบางรัก ซึ่งเป็นแหล่งขายอาหารขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ สำหรับชาวตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนถนนสายอื่นๆ เช่น ถนนบำรุงเมือง พาหุรัด สี่พระยา เยาวราช ก็มีย่านการค้าของชาวตะวันตก และชาวจีนด้วยเช่นกัน ห้างของฝรั่ง เช่น ห้างแบดแมนแอนด์โก ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ห้างบัตเลอร์ตั้งอยู่บนถนนเฟื่องนคร ห้างโฮวาร์ดเอสกินตั้งอยู่บนถนนพาหุรัด ห้างเฟรเซอร์แอนด์นีฟตั้งอยู่บนถนนสี่พระยา ส่วนห้างของชาวจีน ได้แก่ ห้างดีเซียงแอนด์ซัน ห้างฮุนชุยโห ห้างย่งหลีเส็ง ห้างเหล่านี้ ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าจำพวกสุรา ยารักษาโรค และพืชไร่ ที่ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

    เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใหม่ๆนั้นการค้ากับต่างประเทศมียังไม่มากเพราะมีปัญหาภายในและต้องทำสงครามกับพม่า  ภายหลังไทยสามารถเอาชนะพม่าได้อย่างเด็ดขาดในสงครามท่าดินแดง(พ.ศ.2329)ทำให้มีหลายประเทศเข้ามาทำการค้าด้วย เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจการค้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เจริญรุ่งเรือง คือ การปรับปรุงจัดทำเงินตราขึ้นใหม่ เงินตราที่ใช้ในสมัยนี้ คือ เงินพดด้ว

มีรูปร่างคล้ายตัวด้วง และมีตราเครื่องหมายประจำรัชกาลตีกำกับไว

เพราะเหตุใดการค้าขายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยจึงต้องอาศัยชาวจีนเป็นผู้ช่วยเหลือทำการค้าให้

    1.  รายได้จากการค้ากับต่างประเทศ                                                            

         กรุงเทพฯ นับว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมในการติดต่อค้าขายทางเรือ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากทะเล ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ซึ่งทรงบังคับบัญชากรมท่า มีบทบาทในการส่งเสริมการค้าโดยเฉพาะกับจีน จนสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเรียกพระนามว่า "เจ้าสัว"  ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การค้าขายกับต่างประเทศจึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าใน 2 รัชกาลแรกรายได้จากการค้ากับต่างประเทศที่สำคัญ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้คือ

             (1)  การค้าสำเภาหลวง   พระคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐขึ้นอยู่กับพระคลัง (พระยาโกษาธิบดี) มีหน้าที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ โดยการแต่งเรือสำเภาหลวงบรรทุกสิ่งของที่เป็นส่วย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ  รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่จัดซื้อหาเพิ่มเติมออกไปค้าขายกับจีนและประเทศใกล้เคียง เช่น เขมร ญวน และมลายู แล้วรับซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ภายในประเทศ เช่น ผ้า ถ้วยชาม มาจำหน่ายแก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ผลกำไรจากการค้าสำเภาหลวงนับเป็นรายได้ที่สำคัญยิ่งของแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

             (2)  กำไรจากการผูกขาดสินค้า   พระคลังสินค้ามีหน้าที่ควบคุมการค้ากับต่างประเทศ เช่นในสมัยอยุธยา โดยผูกขาดสินค้าบางอย่างซึ่งเป็นสินค้าหายาก ราคาแพง  เช่น รังนก ฝาง ดีบุก งาช้าง พริกไทย เนื้อไม้ ตะกั่ว และพลวง  เป็นสินค้าผูกขาดของหลวง  ราษฎรผู้ใดมีสินค้าดังกล่าว ให้นำมาขายแก่พระคลังสินค้า เท่านั้น  ห้ามเอกชนซื้อขายกับพ่อค้าต่างชาติโดยตรง  ถ้าชาวต่างประเทศ

ต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้ จะต้องซื้อผ่านพระคลังสินค้าซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง เรียกสินค้าเหล่านี้ว่า สินค้าต้องห้าม

             (3)  ภาษีปากเรือ   เป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งเก็บจากเรือสินค้าของชาวต่างประเทศที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของไทย  กำหนดเก็บภาษีตามส่วนกว้างที่สุดของเรือ      

             (4)  ภาษีสินค้าขาเข้า   เก็บจากสินค้าที่พ่อค้าต่างประเทศนำเข้ามาจำหน่าย เช่น ผ้าฝ้าย  ผ้าแพรจีน  เครื่องแก้ว  เครื่องลายคราม  ใบชา  อัตราการเก็บไม่แน่นอน  ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม  เช่น  เรือของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีเข้ามาค้าขายเป็นประจำ จะได้รับสิทธิพิเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 2  เรือสินค้าของชาวจีนเสียภาษีสินค้าขาเข้าร้อยละ 4 ถ้าเป็นเรือสินค้าของชาติตะวันตก เสียภาษีร้อยละ 8 ของราคาสินค้า

             (5)   ภาษีสินค้าขาออก   เก็บจากสินค้าที่ส่งออกในอัตราที่ต่างกันไปตามชนิดของสินค้า  เช่น  ในสมัยรัชกาลที่ 2 รังนกนางแอ่นกับเขากวางอ่อน  เสียภาษีร้อยละ 20 ของราคาสินค้า  งาช้างหาบละ 10 สลึง  เกลือเกวียนละ 4 บาท  หนังวัว  หนังควาย  กระดูกช้าง หาบละ 1 บาท

    2.  รายได้ภายในประเทศ

         ส่วนใหญ่คงเป็นแบบเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี  รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีอากร แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

             (1)   จังกอบ   หมายถึง  ภาษีสินค้าผ่านด่านทั้งทางบกและทางน้ำ  โดยการเก็บตามสัดส่วนสินค้าในอัตรา 10 หยิบ 1  หรือเก็บเงินตามขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้าผ่านด่าน ส่วนใหญ่วัดตามความกว้างที่สุดของปากเรือ

             (2)   อากร   เป็นเงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรได้จากการประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การค้าขายโดยตรง เช่น การทำนา ทำสวน หรือเงินที่พ่อค้าเสียให้แก่รัฐบาลในการให้สัมปทานการประกอบการต่าง ๆ เช่น การให้เก็บของป่า การต้มสุรา อัตราที่เก็บประมาณ 1 ใน 10 ของผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้

             (3)   ส่วย   เป็นเงินหรือสิ่งของที่ไพร่หลวงที่ไม่ต้องการเข้าเวรรับราชการส่งมาให้รัฐแทนการเข้าเวรรับราชการ  โดยรัฐเป็นผู้กำหนดว่าให้ไพร่หลวงต้องเข้าเวรภายใน 3 เดือน  ผู้ใดไม่ต้องการจะเข้าเวร  จะต้องเสียเป็นเงินเดือนละ 6 บาท

             (4)   ฤชา   เป็นเงินค่าธรรมเนียมที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎร  ในกิจการที่ทางราชการจัดทำให้  เช่น  การออกโฉนด  เงินปรับสินไหม ที่ฝ่ายแพ้จะต้องชดใช้ให้แก่ฝ่ายชนะ  รัฐก็จะเก็บไปครึ่งหนึ่งเป็นค่าฤชา  เรียกว่า  "เงินพินัยหลวง" นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงภาษีบางอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิมในสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3  ที่สำคัญ ๆ ดังนี้ 

             สมัยรัชกาลที่ 2 มีการปรับปรุงภาษี ดังนี้

    การเดินสวน  คือ  การให้เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปสำรวจเรือกสวนของราษฎรว่าได้จัดทำผลประโยชน์ในที่ดินมากน้อยเพียงใด แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานการเสียภาษีอากร  ซึ่งการจัดแบ่งภาษีการเดินสวนจัดแบ่งตามประเภทของผลไม้

    การเดินนา  คือ  การให้เจ้าพนักงานออกไปสำรวจที่นาของราษฎร  แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการเสียภาษีอากรที่เรียกว่า "หางข้าว"  คือ การเก็บข้าวในอัตราไร่ละ 2 ถัง และต้องนำไปส่งที่ฉางหลวงเอง

    เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน   เดิมชาวจีนได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานในขณะที่ราษฎรไทยที่เป็นไพร่และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยต้องถูกสักข้อมือเป็นไพร่และต้องทำงานให้แก่มูลนายและพระเจ้าแผ่นดิน  รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 เห็นควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานจีน จึงได้พิจารณาเก็บเงินค่าราชการจากชาวจีน 1 บาท 50 สตางค์ ต่อ 3 ปี  จีนที่มาเสียค่าแรงงานแล้ว จะได้รับใบฎีกาพร้อมกับได้รับการผูกปี้ข้อมือด้วยไหมสีแดงประทับตราด้วยครั่งเป็นตราประจำเมือง ซึ่งแตกต่างกันออกไป เช่น เมืองเพชรบุรีเป็นรูปหนู  กาญจนบุรี เป็นรูปบัว   การผูกปี้ข้อมือจีนนี้ เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชบัญญัติลักษณะการผูกปี้ข้อมือจีน พ.ศ. 2443 ออกใช้บังคับทั่วทุกมณฑล และได้ยกเลิกไปในตอนปลายรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2451

     สมัยรัชกาลที่ 3  มีการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นหลายชนิด  เช่น  ภาษีพริกไทย  น้ำตาล  เป็นต้น  ในสมัยนี้มีระบบการเก็บภาษีแบบใหม่เกิดขึ้น  เรียกว่า  "ระบบเจ้าภาษีนายอากร"  หมายถึงการที่รัฐเปิดประมูลการเก็บภาษี  ผู้ชนะการประมูล คือ ผู้ที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดให้แก่รัฐบาล  มีอำนาจไปดำเนินการเก็บภาษีแทนรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง  ผู้ที่ประมูลภาษี เรียกว่า "เจ้าภาษีนายอากร" ส่วนมากเป็นชาวจีนผู้มีฐานะดีทางเศรษฐกิจจากการลงทุนค้าขาย