ข้อใดกล่าวถึงลักษณะการเขียนในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไม่ถูกต้อง

วิธีพิสูจน์ศิลาจารึก (ปลอมหรือของจริง)
หลักเกณฑ์ในการพิสูจน์ศิลาจารึกนั้น นักอักขรวิทยาเขาศึกษากัน ๓ ประการ คือ 

          ๑. ตัวอักษร
          ๒. คำศัพท์
          ๓. เนื้อความ

          นั่นคือศิลาจารึกบางหลักที่ไม่ได้เขียนศักราชไว้ นักอักขรวิทยาจะพยายามพิสูจน์ว่า ศิลาจารึกหลักนั้นๆ น่าจะสร้างในยุคสมัยใด เขาจะใช้กฎเกณฑ์ทั้ง ๓ ประการดังกล่าวเทียบเคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทราบศักราช เพื่อกำหนดยุคสมัยของศิลาจารึกหลักนั้นๆ 

          หากนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาบทความที่เสนอ ว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีพิรุธ(ปลอม) ของนักวิชาการหัวก้าวหน้า ไม่ว่า ไมเคิล วิคเคอรี่ หรือ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ จะพบว่าเขาศึกษาเพียงผิวๆ มิได้ศึกษาเจาะลึกลงไปในแต่ละหัวข้อ 

         

นั่นคือ เขาสร้างพิมพ์เขียวไว้ก่อนแล้วว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นั้นควรจะมีเนื้อหา คำศัพท์ และ อักษรอย่างไร หากพบส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ตรงกับพิมพ์เขียวที่เราสร้างไว้ก็หยิบมาวิพากษ์ เรียกกันว่า ใช้วิธีศึกษาแบบเลือกและหยิบมาใช้ (Pick and Choose) และละเว้นส่วนสำคัญอื่นๆ โดยไม่กล่าวถึง ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่ควรจะนำมาใช้กับการพิสูจน์ศิลาจารึก เพราะจะทำให้ผู้อ่านสับสน ตัวอย่างการอธิบายคำศัพท์ต่อไปนี้

โบราณิกศัพท์ 

          ๑.พระขพุง   กลุ่มนักวิพากษ์ที่กล่าวว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ปลอมนั้น ไม่ได้ยกคำนี้มาอธิบายเลยว่าปัญญาชนสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ จะรู้จักคำนี้ได้อย่างไร เพราะคำว่า "พระขพุง" ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า

         

"เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย...มีพระขพุง ผีเทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในทุกเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี..."

          คำว่า "พระขพุง" เป็นคำที่เลิกใช้นานแล้ว คนสมัยอยุธยาก็ไม่มีใครรู้จัก จึงไม่พบในเอกสารโบราณของไทยอื่นๆ อีกเลย ปัญญาชนไทยสมัยราชกาลที่ ๓ จะนำคำนี้มาจากที่ใด เพราะสมัยอยุธยาคนไทยนับถือผีแขกอินเดียจนลืมผีไทยไปแล้ว ดังเช่นในลิลิตโองการแช่งน้ำ จำเป็นจะต้องกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (แต่ไม่มีพระขพุง) มาเป็นสักขีพยานในการดื่มน้ำสาบานกัน จึงอ้างถึงเทพของอินเดีย ตัวอย่าง

         

"โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่นแกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สีมือถือสังข์จักร ธรณี ภีรุอวตาร.."

          หากศิลาจารึกหลักที่ ๑ สร้างสมัยรัชกาบที่ ๓ ปัญญาชน(ผู้ปลอม) สมัยนั้นจะเอาคำ "พระขพุง" มาจากไหน เรื่องนี้นักวิชาการกลุ่มหัวก้าวหน้าก็ละเว้นไม่กล่าวถึง

          คำว่า "พระขพุง" เราเพิ่งจะมาค้นพบในศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ที่พบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อคราวบูรณะอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และเป็นศิลาจารึกที่สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๕ ร่วมสมัยกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ เนื้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ (หรือจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด) นั้นกล่าวถึงเจ้าปู่เจ้าหลานสบถสาบานกัน และอ้างเทพเจ้ามาเป็นสักขีพยาน นามสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีชื่อ "พระขพง" (พระขพุง) อยู่ด้วยดังนี้ "ทั้งปู่เจ้าพระขพง เขายรรยงพระศรีผีบางพระศักดิ์ อารักษ์ทุกแห่ง"

          ข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวในหลายๆ ตัวอย่างที่ นักวิชาการหัวก้าวหน้าหาคำตอบไม่ได้ จึงละเว้นไม่กล่าวถึง

          ๒.หมากลาง   (ปัจจุบันยังตกลงกันไม่ได้ว่าหมายถึงขนุน หรือมะพร้าวพันธุ์หนึ่ง) ซึ่งเราพบชื่อผลไม้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "หมากลาง" (ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ป่าลางก็หลายในเมืองนี้) (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓-๔) เราพบคำว่าหมากลาง ในศิลาจารึกหลักที่ ๓ ด้วย ดังนี้

          "ปลูกหมากพร้าวหมากลางทุกแห่ง" (หลักที่ ๑ ด้านที่ ๒/ บรรทัดที่ ๒๘)

          ๓.ปู่ครู และหลวก    คำว่า ป่าครู หมายถึงพระมหาเถร และหลวก หมายถึง ฉลาด เราพบคำทั้งสองในหลักที่ ๑ ว่า "สังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าครูในเมืองนี้ทุกคน ลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา" (ด้านที่ ๒/บรรทัด ๒๙-๓๑) คำว่า หลวก และปู่ครู เราพบในศิลาจารึกหลักอื่นๆ ดังนี้ 

          "ยังฝูงผู้หลวก" (หลักที่๒๓ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๓)
          "ให้ยำปู่ครู" (หลักที่ ๓ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓๗)

          ๔.แพ้    (มีความหมายว่า มีชัย ตรงข้ามกับพ่าย) คำว่าแพ้ ชาวภาคกลางใช้ในความหมายว่า ปราชัย หรือ พ่ายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อใช้ในความหมายว่า "มีชัย" เหมือนในจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า "ช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่านหนี" (หลักที่ ๑ ด้าน ๑ บรรทัด ๘-๙) แสดงว่าได้เขียนศิลาจารึกหลักที่ ๑ สมัยที่ยังใช้คำว่า "แพ้ในความหมายว่า มีชัย" และได้พบคำว่าแพ้ในความหมายว่ามีชัยอีกหลายแห่งในสมัยสุโขทัย เช่น 

          "แพ้ตนแพ้ท่าน ก็รู้หมั่น" (หลักที่๒ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๘)

          ๕.ราม    (รุ่น กลาง น้อย) คำว่า ราม ในความหมายเหมือนในสมัยสุโขทัยนั้น แตกต่างกับสมัยปัจจุบัน เราพบในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า "มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม"(หลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๕-๒๖) คำว่า "ราม" ในความหมาย รุ่น กลาง เล็ก เราพบอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยอื่นๆ เช่น "แลสมเด็จเจ้าพระยาให้มนตรีกวีราชผู้ใหญ่ ผู้ราม" (หลักที่ ๘ ก ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒)

         

นอกจากนี้ยังมีชื่อบ้านนามเมืองที่ยังไม่รู้ว่าหมายถึงเมืองใดที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ และปรากฏในศิลาจารึกสมัยพระยาลิไทด้วย ไม่ทราบว่าผู้สร้างปลอมรู้จักคำเหล่านั้นได้อย่างไร เช่น เมืองราด สะค้า เมืองลุ่มบาจาย เป็นต้น

คำโบราณิกศัพท์ ที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้น บางคำไม่มีปรากฏในสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน (บางคำยังใช้ในภาษาถิ่น) และบางคำยังมีปรากฏบ้าง แต่ความหมายเปลี่ยนไปแล้ว หากปัญญาชนไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ จะสร้างศิลาจารึกปลอม เขาจะใช้คำโบราณิกศัพท์ได้ถูกต้อง มีความหมายเหมือนคำที่ใช้กันในสมัยสุโขทัยได้อย่างไร 

          ฉะนั้นหากนักวิชาการหัวก้าวหน้าที่กล่าวหาว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำปลอมนั้น หากได้ศึกษาโบราณิกศัพท์เหล่านี้ได้อย่างเข้าใจแล้ว ก็คงจะเปลี่ยนใจ