หัวใจของระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานประกอบด้วยอะไรบ้าง

Supply Chain คืออะไร?

Supply Chain คือ ห่วงโซ่อุปทาน ที่เป็นกระบวนการซึ่งเริ่มตั้งแต่การเริ่มจัดหาวัตถุดิบและสิ้นสุดเมื่อส่งสินค้าถึงมือลูกค้า โดยทุกกิจกรรมของ Supply Chain เกี่ยวข้องในลักษณะต่อเนื่องกันเหมือนห่วงโซ่ จึงเป็นที่มาของชื่อ Supply Chain (ซัพพลายเชน) หรือห่วงโซ่อุปทาน

Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทาน ตามปกติประกอบด้วยห่วงโซ่ที่เป็นเหมือนกิจกรรมพื้นฐานของแต่ละธุรกิจ ได้แก่: 

  1. การจัดหาและจัดซื้อวัตถุดิบ (Procurement) ที่ต้องใช้ในการผลิต
  2. การนำเข้าวัตถุดิบและการจัดเก็บวัตถุดิบ (เพื่อรอการผลิต)
  3. การวางแผนการผลิต เช่น การพยากรปริมาณการผลิต และการจัดลำดับการผลิต
  4. การจัดเก็บสินค้าหลังจากผลิตเสร็จ (Finished Goods) เพื่อรอการกระจายสินค้าหรือรอจัดจำหน่าย
  5. การกระจายสินค้า เพื่อส่งสินค้าไปยังลูกค้าที่สั่งซื้อหรือตัวแทนจำหน่ายที่จะนำไปขายต่อ
  6. การบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค่า ซึ่งก็คือความสัมพันธ์กับ Supplier และลูกค้า

โดยสิ่งที่เชื่อมแต่ละส่วนของ Supply Chain คือกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เป็นกิจกรรมย่อยของ Supply Chain Management ซึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสินค้าและข้อมูลจากกิจกรรมหนึ่งสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply มักจะมาพร้อมกับคำว่า Logistics (โลจิสติกส์)

อย่างไรก็ตาม บางองค์กรอาจจะไม่มีบางส่วนของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ยกตัวอย่างด้านบนก็ได้ อย่างเช่น บริษัทที่ใช้การผลิตแบบ Just In Time ทำให้ Supply Chain ของบริษัทจะไม่มีในส่วนของการจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้าหลังผลิตเสร็จ

หรืออีกกรณีคือบริษัทที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรงกับบริษัททำให้ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

หัวใจของระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานประกอบด้วยอะไรบ้าง
แผนภาพตัวอย่างกระบวนการ Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

จากแผนภาพวงจร Supply Chain ด้านบนจะเห็นว่าเกิดการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายตามลูกศรจากหน้าที่หนึ่งไปยังอีกหน้าที่หนึ่งของ ซัพพลายเชน (Supply Chain) คือ การขนส่งหรือโลจิสติกส์นั่นเอง

Supply Chain Management คืออะไร?

Supply Chain Management คือ การบริหารจัดการเพื่อทำให้ทุกส่วนของ Supply Chain เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งก็คือการทำให้ Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทาน ไม่เกิดการดำเนินงานที่สร้างความสูญเปล่า (Waste) เพราะการบริหาร Supply Chain Management ที่เกิดความสูญเปล่าจะส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนโดยรวมสูงขึ้น

หลักของการจัดการ Supply Chain Management จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลักเรียกว่า 3 Flow of Supply Chain หรือ 3 Flow คือ

  • Material Flow (การไหลของวัตถุดิบ)
  • Information Flow (การไหลของข้อมูล)
  • Financial Flow หรือ Money Flow (การไหลของเงินทุน)

Material Flow คือ พื้นฐานของ Supply Chain เหมือนที่ได้อธิบายไปในตอนต้น โดย Material Flow ของ Supply Chain คือ การไหลของวัตถุดิบจนกลายเป็นสินค้าจนถึงมือลูกค้าตามแผนภาพด้านบน

ในส่วนของ Material Flow ส่งที่สำคัญคือ ความถูกต้องของกระบวนการ โลจิสติกส์ หรือ Logistics ที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายตั้งแต่วัตถุดิบไปจนการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค (ต้นน้ำถึงปลายน้ำ) เพราะความผิดพลาดของการขนส่งจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามมา อย่างเช่น ต้นทุนในการรับสินค้ากลับและส่งสินค้าที่ถูกต้องใหม่อีกครั้ง

Information Flow คือ การไหลของข้อมูลในระบบ Supply Chain ขององค์กร อย่างเช่น สถิติยอดขายสินค้าแต่ละชนิดเพื่อนำไปใช้ในการพยากรณ์ปริมาณการผลิต

สำหรับการไหลเวียนที่ดีของข้อมูลภายในองค์กร คือการที่ทุกฝ่ายสามารถรับรู้ข้อมูลได้อยากถูกต้องและครบถ้วน เพราะข้อมูลที่ได้รับมาไม่ถูกต้องจะนำไปสู่ความผิดพลาดต่อเนื่องไปยังส่วนอื่นๆ 

Money Flow คือ การไหลของเงินทุน จากลูกค้าไปหาซัพพลายเออร์ (Supplier) โดยปกติเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าและตรวจสอบว่าถูกต้องลูกค้าก็จะจ่ายเงิน ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวก็จะไหลย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นหรือก็คือ Supplier นั่นเอง

สรุป Supply Chain เกี่ยวกับอะไร

โดยสรุป Supply Chain คือ กระบวนการตั้งแต่การจัดหารับวัตถุดิบจนวัตถุดิบกลายเป็นสินค้าและส่งถึงมือลูกค้า โดย Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานที่ดีจะต้องเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ไม่เกิดความสูญเปล่าในการดำเนินงาน เพราะความสูญเปล่า (Waste) คือสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นอย่างไม่จำเป็น

ซึ่งการบริหาร Supply Chain Management ที่ดีคือการทำให้การไหลหรือ Flow ทั้ง 3 ส่วนของซัพพลายเชนหรือ 3 Flow คือ Material Flow, Information Flow, และ Financial Flow สามารถไหลได้อย่างถูกต้องอย่างที่อธิบายด้านบน

สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังสงสัยว่า Supply Chain และ Logistics เรียนเกี่ยวกับอะไร? คำตอบแบบกว้าง ๆ ก็คือเรียนเจาะลึกในแต่ละส่วนของ Supply Chain Management ตามที่ได้อธิบายในบทความนี้ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain แต่ไม่ได้ถูกพูดถึงในหัวข้อนี้อย่างเช่นเรื่องของ Logistics (โลจิสติกส์)

Kris Piroj

บรรณาธิการ GreedisGoods | อดีตที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการเงิน | นักลงทุนที่สนใจในเศรษฐศาสตร์มหภาคและอนุพันธ์เป็นพิเศษ | หากบทความเป็นประโยชน์สามารถติดตามเราได้บน Facebook และ Twitter