การบริหารความเสี่ยงทางการเงินคืออะไร

การบริหารความเสี่ยงทางการเงินคืออะไร

ความเสี่ยง (Risk) 
ความเสี่ยง คือ โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่า หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือการกระทำใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตและมีผลกระทบหรือทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ การปฏิบัติงาน การเงินและการบริหาร

การบริหารความเสี่ยง คือ กระบวนการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้องค์กรลดมูลเหตุของแต่ละโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย ให้ระดับของความเสียหายและขนาดของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ ประเมินได้ ควบคุมได้ และตรวจสอบได้อย่างมีระบบ โดยคำนึงถึงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์กรเป็นสำคัญ

ความเสี่ยงจำแนกได้เป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

1) ความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk : SR)
2) ความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risk : FR)
3) ความเสี่ยงทางด้านการปฏิบัติงาน (Operational Risk : OR)
4) ความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย และข้อกำหนดผูกพันองค์กร (Compliance Risk : CR)

ปัจจัยความเสี่ยง (Risk Factor)
ปัจจัยความเสี่ยง หมายถึง ต้นเหตุ หรือสาเหตุที่มาของความเสี่ยง ที่จะทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยต้องระบุได้ด้วยว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดที่ไหน เมื่อใดและจะเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไม ทั้งนี้สาเหตุของความเสี่ยงที่ระบุควรเป็นสาเหตุที่แท้จริง เพื่อจะได้วิเคราะห์และกำหนดมาตรการความเสี่ยง ในภายหลังได้อย่างถูกต้อง

ปัจจัยความเสี่ยงพิจารณาได้จาก

1) ปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย ฯลฯ
2) ปัจจัยภายใน เช่น กฎระเบียบ ข้อบังคับภายในองค์กร ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ ระบบการทำงาน ฯลฯ

การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
การประเมินความเสี่ยง หมายถึง กระบวนการระบุความเสี่ยง การวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดลำดับความเสี่ยง โดยการประเมินจากโอกาสที่จะเกิด (Likelihood) และผลกระทบ (Impact)

1) โอกาสที่จะเกิด (Likelihood) หมายถึง ความถี่หรือโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ ความเสี่ยง
2) ผลกระทบ (Impact) หมายถึง ขนาดความรุนแรงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากเกิด เหตุการณ์ความเสี่ยง
3) ระดับของความเสี่ยง (Degree of Risk) หมายถึง สถานะของความเสี่ยงที่ได้จากประเมินโอกาสและผลกระทบของแต่ละปัจจัยเสี่ยงแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ สูงมาก สูง ปานกลาง น้อย และน้อยมาก

การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
การบริหารความเสี่ยง หมายถึง กระบวนการที่ใช้ในการบริหารจัดการให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลงหรือผลกระทบของความเสียหายจากเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลงอยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ ซึ่งการจัดการความเสี่ยงมีหลายวิธีดังนี้

1) การยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance) เป็นการยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่คุ้มค่า ในการจัดการควบคุมหรือป้องกันความเสี่ยง
2) การลด/การควบคุมความเสี่ยง (Risk Reduction) เป็นการปรับปรุงระบบการทำงานหรือการออกแบบวิธีการทำงานใหม่เพื่อลดโอกาสที่จะเกิด หรือลดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้
3) การกระจายความเสี่ยง หรือการโอนความเสี่ยง (Risk Sharing) เป็นการกระจายหรือถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้อื่นช่วยแบ่งความรับผิดชอบไป
4) เลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance) เป็นการจัดการความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงมากและหน่วยงานไม่อาจยอมรับได้ จึงต้องตัดสินใจยกเลิกโครงการ/กิจกรรมนั้น

การควบคุม (Control)
การควบคุม หมายถึง นโยบาย แนวทาง หรือขั้นตอนปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งกระทำเพื่อลดความเสี่ยง และทำให้การดำเนินบรรลุวัตถุประสงค์ แบ่งได้ 4 ประเภท คือ

1) การควบคุมเพื่อการป้องกัน (Preventive Control) เป็นวิธีการควบคุมที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยง และข้อผิดพลาดตั้งแต่แรก
2) การควบคุมเพื่อให้ตรวจพบ (Detective Control) เป็นวิธีการควบคุมที่กำหนดขึ้นเพื่อค้นพบข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว
3) การควบคุมโดยการชี้แนะ (Directive Control) เป็นวิธีการควบคุมที่ส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
4) การควบคุมเพื่อการแก้ไข (Corrective Control) เป็นวิธีการควบคุมที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องหรือเพื่อหาวิธีการแก้ไขไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต

ที่มา : http://www.thai-sciencemuseum.com

AMTsolution
วางระบบบัญชี
ที่ปรึกษาบริษัทเตรียมเข้าตลาดฯ
วางระบบบริษัทเตรียม IPO

ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศไทยยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 นั้น มักจะมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ที่ประสบปัญหาในการดำเนินงานจนถึงขั้นต้องปิดกิจการหรือล้มละลาย

โดยปกติความเสี่ยงทางการเงินเป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่เมื่อประสบกับภาวะวิกฤติ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติโรคภัยอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

หากเราจะนิยามความเสี่ยงทางการเงินก็จะสามารถพูดถึงได้ง่ายๆ ว่าเกี่ยวกับความสามารถของธุรกิจในการชำระหนี้ หรือประสิทธิภาพในการจัดการกับภาระหนี้ ทั้งในส่วนที่มาจากการกู้ยืมเงินหรือการจัดการกับเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจ หรืออาจจะมองอีกอย่างหนึ่งว่าบริษัทสามารถจัดการเงินสดรับให้มีมากกว่าเงินสดจ่ายในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร

ในบางครั้งเมื่อพูดถึงความเสี่ยงทางการเงินอาจจะรวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านเครดิต ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงจากการลงทุน และความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

วิธีการจัดการความเสี่ยงทางการเงินในยุควิกฤตินี้อาจจะแบ่งเป็น 2 ประการดังนี้

1) การวิเคราะห์ทางการเงินเบื้องต้น คือการสังเกตการเปลี่ยนแปลงในส่วนของสินทรัพย์และรายรับขององค์กร โดยเฉพาะในส่วนของรายรับให้ดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลูกค้ากลุ่มใดที่มีความผันผวนมาก โดยจะต้องมีการติดตามเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน คือการมองหาโอกาสในการเพิ่มรายรับจากกลุ่มที่ยังมีโอกาสเติบโต และควรควบคุมไม่ให้มีการเพิ่มสินทรัพย์กลุ่มที่ดินอาคารและอุปกรณ์ที่มากเกินไป เพราะการเพิ่มสินทรัพย์กลุ่มนี้มักจะมีการผูกพันในระยะยาว

2) การวิเคราะห์เชิงปริมาณโดยใช้อัตราส่วนทางการเงินประกอบการพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนทางการเงินประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราส่วนทางการเงินด้านหนี้สิน เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt / Equity Ratio) ซึ่งเป็นการเทียบระหว่างหนี้สินรวมกับส่วนของ (ทุน) เจ้าของ ซึ่งหากอัตราส่วนนี้เท่ากับ 1 แสดงว่าหนี้สินและส่วนของทุน มีมูลค่าเท่ากันในการใช้อัตราส่วนนี้ บริษัทไม่ควรให้อัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นสูงเกินไป ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ และอีกอัตราส่วนทางการเงินที่ช่วยตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ คือ อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ซึ่งดูได้จากกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งอัตราส่วนที่สูงแสดงถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ดีของบริษัท ซึ่งแนวทางวิเคราะห์ง่ายๆ ว่า หากอัตราส่วนนี้ต่ำกว่า 1.5 อาจจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาในการชำระหนี้

นอกจากนี้ ในการจัดการหนี้สินระยะสั้นโดยอาจจะดูจากอัตรส่วนเงินสด (Cash Ratio) คือเงินสดและหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย และ อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) ซึ่งหาได้จาก สินทรัพย์ระยะสั้นเทียบกับหนี้สินระยะสั้น ซึ่งอาจจะกล่าวสำหรับการใช้อัตราส่วนเงินสดและอัตราส่วนสภาพคล่องแบบง่ายๆ คือ อัตราส่วนทั้งสองตัวนี้ควรจะมีค่ามากกว่า 1 และหากอัตราส่วนทั้งสองนี้หากมีค่าสูงแสดงถึงความสามารถในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินระยะสั้นได้มีประสิทธิภาพ

อีกประการสำคัญในการใช้อัตราส่วนทางการเงินข้างต้นนี้ คือการดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ช่วงเวลา เช่น 3 ไตรมาส เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้ม และหากสามารถเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็จะยิ่งทำให้บริษัทสามารถเห็นถึงตำแหน่งในการดำเนินการทางธุรกิจของเราได้ดีขึ้น

การบริหารความเสี่ยงทางการเงินนั้นไม่ได้อยู่ที่การวิเคราะห์เบื้องต้นทางการเงิน หรือการวิเคราะห์เชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการวางแผนการจัดการความเสี่ยงด้านการเงินที่ดี เช่น 1) การมีทีมงานวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงิน โดยมีการแยกแยะและแบ่งประเภทความเสี่ยงทางการเงินที่บริษัทต้องเกี่ยวข้องออกให้ชัดเจน รวมถึงระยะเวลาที่ภาระหนี้สินทางการเงินจะครบอายุอย่างละเอียด 2) พิจารณาในเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน โดยนโยบายประกันภัยประเภทต่างๆ 3) เตรียมเงินกองทุนเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการเตรียมเงินสำรองไว้เป็นการเตรียมความพร้อมกับผลกระทบอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ 4) การมองหาโอกาสเพื่อการปรับตัวหรือขยายธุรกิจไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ยังมีการเติบโต และ 5) การมีวินัยทางการเงินที่ดี เพราะหากมีการดำเนินธุรกิจด้วยวินัยทางการเงินที่ดีเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุดประการหนึ่ง วิธีการจัดการความเสี่ยงทางการเงินอื่นๆ ได้แก่ การสร้างเครดิตทางการเงินให้มีความน่าเชื่อถืออย่างสม่ำเสมอ การลดการซื้อสินทรัพย์ถาวรที่จะมีภาระผูกพันในระยะยาว และการจำกัดการเพิ่มหนี้สินใหม่ๆ โดยไม่จำเป็น

สรุปคือการจัดการความเสี่ยงทางการเงินในช่วงวิกฤติเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับธุรกิจประเภทต่างๆ และการหมั่นตรวจสอบผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอและวินัยทางการเงินที่ดี จะสร้างผลประกอบการที่ดีและนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจได้ในระยะยาว

Business Todayhttps://businesstoday.co

Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)