บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

จัดงานเช้าที่บ้านเอง ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด19 (COVID 19 ) ทำให้บ่าวสาวหลายคู่เริ่มหันมาจัดงานแต่งที่บ้านกันเองแบบเล็กๆ แต่การจัดงานแต่งงานในพิธีแต่งงานแบบไทย เป็นพิธีการที่มีรายละเอียด ทั้งการแห่ขบวนขันหมาก พิธีรดน้ำสังข์ พิธีส่งตัว เป็นต้น สำหรับคู่บ่าวสาวที่นับถือศาสนาพุทธก็คงจะข้ามพิธีสงฆ์ในช่วงเช้าของวันแต่งงานไปไม่ได้ การประกอบพิธีทางศาสนาเป็นสิ่งสำคัญเพื่อความเป็นสิริมงคลและอำนวยอวยพรให้บ่าวสาวได้พบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

ซึ่งขั้นตอนนั้นมีมากมายจนต้องทำให้บ่าวสาวหลายๆคู่ต้องปวดหัวกันอยู่พอสมควร วันนี้ทางทีม tonrakwedding จึงอยากจะขอแนะนำขั้นตอนในการประกอบพิธีสงฆ์ในพิธีแต่งงานแบบไทยมาฝากเพื่อให้บ่าวสาวได้เตรียมตัวในพิธีนี้ได้ดีที่สุดครับ

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง
  1. พิธีสงฆ์
    พิธีสงฆ์ในพิธีแต่งงานแบบไทยนั้นโดยการลำดับขั้นตอนพิธีก่อนหลังนั้น ขึ้นอยู่กับธรรมเนียนนิยมในแต่ละพื้นที่ ที่มีทั้งการแห่ขันหมากก่อนทำพิธีสงฆ์ หรือที่ทำพิธีสงฆ์ก่อนการแห่ขันหมากก็ได้ โดยมีเครื่องใช้ที่ต้องจัดเตรียมสำหรับพิธีสงฆ์การจัดงานแต่งงาน ดังนี้
  • ชุดโต๊ะหมู่บูชา
  • แจกันดอกไม้ 2 ชุด ธูป 3 ดอก เทียนสีเหลือง 2 เล่ม เทียนต่อ 1 เล่ม
  • เชิงเทียน และกระถางธูป
  • ด้ายสายสิญจน์สำหรับทำพิธี และสายสิญจน์ที่ทำเป็นมงคลคู่ หรือมงคลแฝด
  • อาสนะ 9 ที่
  • ที่กรวดน้ำ กระโถน แก้วน้ำ ทิชชู
  • ขันน้ำมนต์ และที่สำหรับประพรมน้ำมนต์
  • อุปกรณ์เครื่องเจิม หรือแป้งเจิม
  • ปัจจัยถวายพระสงฆ์
  • ภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์ 9 รูป
  • ชุดเครื่องเช่นสำหรับพระพุทธ และพระภูมิเจ้าที่
  • อาหารสำหรับตักบาตร ขันข้าว ทัพพี
  • ดอกไม้ธูปเทียนถวายพระ 9 ชุด
  • พานใส่ของถวายพระ
บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

ลำดับขั้นตอนของ พิธีสงฆ์ และพิธีสวดพระพุทธมนต์ ในงานแต่งงาน

• เมื่อถึงเวลาสมควรแล้วเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่งหน้าโต๊ะหมู่บูชา (หญิงซ้ายชายขวา)
• รับเทียนชนวนจากพิธีกร จับด้วยกัน จุดเทียนจากซ้ายไปขวา (ของผู้จุด) แล้วจุดธูป เสร็จแล้วส่งเทียนชนวนคืนพิธีกร
• กราบลงที่หมอนพร้อมกัน ๓ ครั้ง เสร็จแล้วกลับที่นั่ง นั่งพนมมือรับศีลฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาจุดเทียนน้ำมนต์
• คุกเข่า รับเทียนชนวนจากพิธีกร จับด้วยกัน จุดเทียนน้ำมนต์ที่บาตรน้ำมนต์ แล้วส่งเทียนชนวนคืนพิธีกรยกบาตรน้ำมนต์ด้วยกัน ประเคนพระรูปแรก (ยกพอพ้นพื้นวางลงบนผ้าที่พระท่านถือรองรับ) แล้วกลับมานั่งที่นั่ง พนมมือฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ต่อ จนกว่าจะถึงเวลาตักบาตร (พระสวด ”พาหุง”)

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

• ลุกไปตักบาตร (จับทัพพีด้วยกัน หยิบของใส่บาตรด้วยกัน)
• กลับมาที่พระสงฆ์เพื่อประเคนภัตตาหารเมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ(ยกถวายด้วยกันทุกอย่าง) เสร็จแล้วกราบ พระสงฆ์ ๓ ครั้ง แล้วลุกไปพักผ่อนต้อนรับแขก ญาติมิตร ตามอัธยาศัยจนกว่าพระสงฆ์จะฉันเสร็จ (เวลาที่จะออกมาถ่ายรูปได้)
• กลับมาที่พระสงฆ์เพื่อประเคนไทยธรรม ยกประเคนด้วยกันจนครบทุกรูป

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

• กลับมานั่งที่เดิม ถือที่กรวดน้ำด้วยกันเตรียมกรวดน้ำ เริ่มรินน้ำเมื่อพระเริ่ม “ยถา…” โดยตั้งใจอุทิศกุศล และรีบรินน้ำให้หมดเมื่อพระรูปแรกว่าจบลง แล้วพนมมือรับพรต่อไปจนกว่าพระสงฆ์จะอนุโมทนาจบ
• น้อมศีรษะพนมมือเข้ารับประพรมน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ทีละรูปจนครบทุกรูป เสร็จแล้วกลับมานั่งที่เดิม
• กราบลาพระคุณเจ้า “นโม…” แล้วลุกไปรอส่งพระเป็นอันเสร็จพิธี

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

2. ขันหมาก และ การแห่ขันหมาก
พานขันหมากหลัก ๆ จะมีเพียง ขันหมากเอก และ ขันหมากโท เท่านั้น นอกจากนั้นที่ปรากฏในการสู่ขอและพิธีแต่งงานก็คือ “สินสอดและเงินทุน”

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

พานขันหมากเอก
– พานขันหมากเอก เป็นพานที่ฝ่ายชายนำมาเพื่อสู่ขอฝ่ายหญิง ซึ่งในพานจะมี หมากพลู จัดไว้ 4 คู่ หรือ 8 คู่ มี ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ซึ่งมีความหมายว่าทำให้มีเงินทองร่ำรวย
ประดับพานด้วยดอกไม้มงคล ได้แก่ ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย และดอกดาวเรือง ซึ่งสื่อถึงความรักที่เหนียวแน่น ยั่งยืน ไม่ร่วงโรย และความเจริญรุ่งเรืองของคู่แต่งงาน ในพานยังมี ข้าวเปลือก ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์สื่อถึงการเริ่มต้นชีวิตและต้นทุนในการสร้างครอบครัว
รวมถึงมี ข้าวตอก งา ถั่วเขียว ที่ใส่ในถุงเงิน ถุงทองอย่างละ 2 ใบ
– พานสินสอดทองหมั้น สำหรับใส่เงินสด ทองคำ เครื่องประดับ หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นสินสอด
– พานแหวน เป็นพานเล็กๆ สำหรับวางแหวนหมั้น ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้สวยงาม
– พานธูปเทียนแพ ประกอบด้วยธูป เทียนแพ และกระทงดอกไม้ โดยวางตามลำดับเพื่อความเป็นสิริมงคล คือกระทงดอกไม้อยู่บนสุด ตามด้วยธูปแพ และเทียนแพอยู่ล่างสุด จัดไว้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกราบพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
– ต้นกล้วย ต้นอ้อย โดย อ้อย สื่อถึงการทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง และ กล้วย หมายถึงการมีลูกหลานมากมาย ตามประเพณีดั้งเดิม บ่าวสาวจะต้องนำกล้วยและอ้อยไปปลูกที่บ้านให้เจริญออกดอกออกผล แต่ปัจจุบันการปลูกกล้วยและอ้อยอาจทำได้ลำบากเพราะไม่มีพื้นที่ บางบ้านจึงอาจใช้หน่อกล้วย หน่ออ้อย มาใส่ในขันหมากแทน
– ร่มสีขาว 2 คัน เพื่อให้เถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายถือ
– ช่อดอกไม้เล็ก ๆ ซึ่งอาจมีไว้ สำหรับให้เจ้าบ่าวถือ
– ซองสำหรับผ่านทาง อันนี้ขาดไม่ได้เลยยยครับในสมัยนนี้

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

ขันหมากโท
ขันหมากโท คือ ขันหมากบริวารของขันหมากเอก ในขบวนขันหมากโทประกอบด้วยพานขนมมงคลต่าง ๆ โดยปกติจะจัดสิ่งของเป็นคู่ใส่ถาดหรือพาน
– พานขนม ในพานจะจัดวางขนมมงคล 9 อย่าง ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทร์ ลูกชุบ ขนมกง ขนมชั้น ซึ่งความหมายโดยรวมคือให้คู่แต่งงานร่ำรวยเงินทอง การงานเจริญก้าวหน้า มีความรักนิรันดร์ไม่เสื่อมคลาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง
– พานไก่ต้ม และหมูนอนตอง (หมูสามชั้นต้ม วางในใบตอง)
– พานวุ้นเส้น 1 คู่
– พานมะพร้าว 1 คู่
– พานกล้วยหอม จำนวนหวีเป็นคู่ และส้ม 1 คู่
– พานส้มโอ 1 คู่
– พานชมพู่ 1 คู่
– พานขนมเปี๊ยะ หรือขนมเสน่ห์จันทร์ 1 คู่
– พานขนมกล่อง เพื่อมอบแก่ญาติผู้ใหญ่ จัดใส่กล่องตามจำนวนคน โดยชนิดขนมนั้นแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

ฝั่งเจ้าสาว เองก็มีหน้าที่ต้องเตรียมสิ่งของในขบวนขันหมาก รวมถึงคนที่จะมาร่วมในพิธีด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่ครอบครัวเจ้าสาวต้องเตรียมไว้ มีดังนี้

– พานเชิญขันหมาก เป็นพานที่ญาติทางฝั่งเจ้าสาวจะถือเพื่อต้อนรับขบวนขันหมากที่ฝ่ายเจ้าบ่าวแห่มา โดยเมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง จะมีขั้นตอนการเชิญขันหมากขึ้นเรือน และต้อนรับญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเข้าบ้าน ผู้ถือพานเชิญขันหมากโดยปกติจะเป็นเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นญาติฝั่งเจ้าสาว
– คนล้างเท้าเจ้าบ่าว บางจังหวัด มีประเพณีล้างเท้าเจ้าบ้านก่อนเข้าเรือน โดยจะเป็นญาติฝ่ายหญิงที่เด็กกว่าเจ้าสาว ซึ่งจะมีหน้าที่เป็นคนตักน้ำล้างเท้าเจ้าบ่าวก่อนขึ้นเรือนเจ้าสาว
– ประตูเงิน ประตูทอง รวมถึงญาติหรือเพื่อนที่เป็นคนกั้นประตู นิยมจำนวนเป็นคู่ จะใช้ดอกไม้ร้อยกรองเป็นสายมากั้นก็ได้ หรือ อาจใช้เข็มขัดเงิน เข็มขัดนาก สร้อยทอง เป็นต้น

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

การแห่ขันหมากตามธรรมเนียมมักเริ่มในช่วงเช้าหรือสาย หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ โดยฤกษ์งามยามดีอาจเป็นเวลา 9.09 น. หรือ 9.19 น. หรือเวลาอื่นๆ ตามฤกษ์ดีของแต่ละคู่ ซึ่งพิธีแห่ขันหมากส่วนใหญ่มีลำดับขั้นตอนดังนี้
– เริ่มแรก ฝ่ายเจ้าบ่าวจะจัดขบวนขันหมากและตั้งขบวนห่างจากบ้านเจ้าสาวระยะหนึ่ง ก่อนเริ่มเดินขบวนจะมีการโห่ร้องรับกัน 3 ครั้ง เพื่อให้สัญญาณ แล้วจึงเริ่มเคลื่อนขบวนกันมายังบ้านเจ้าสาว
– เมื่อขบวนขันหมากมาถึงหน้าบ้านเจ้าสาว ก็จะมีการโห่ร้องรับกันอีก 3 ครั้ง เพื่อเป็นสัญญาณว่าเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงแล้ว ทางฝั่งเจ้าสาวก็จะมีญาติ ซึ่งมักเป็นเด็กผู้หญิง ถือพานเชิญขันหมาก และพานหมากที่จัดไว้เป็นคู่มาต้อนรับ พร้อมกับรับพานดอกไม้ธูปเทียนจากเจ้าบ่าว
สำหรับขบวนแห่กลองยาวจะมีก็ได้ หรือ ไม่มีก็ได้แล้วแต่ท่านเลยค่ะ บางแห่งนิยมให้มีกลองยาวและขบวนแห่ขันหมากร้องรำ เพื่อความสนุกสนาน
– ตามธรรมเนียมแล้วจะมีการสนทนาระหว่างผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ในทำนองว่า ผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าสาวจะถามว่า “วันนี้มีทำอะไรกัน” ทางผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าบ่าวก็จะตอบว่า “วันนี้เป็นวันดี จึงนำขันหมากและลูกเขยมาให้” ซึ่งผู้เป็นตัวแทนเจรจาอาจเป็นเถ้าแก่ของทั้งสองฝ่ายก็ได้
– ขบวนขันหมากจะต้องผ่านด่านประตูเงิน ประตูทอง ที่ญาติและเพื่อนๆ เจ้าสาวยืนกั้นอยู่เป็นคู่ๆ ซึ่งขั้นนี้ประตูแต่ละด่านอาจมีการทดสอบเจ้าบ่าวด้วยภารกิจเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงฝั่งเจ้าบ่าวก็จะมอบซองใส่เงินให้เพื่อเป็นค่าผ่านทาง
– เมื่อผ่านประตูมาได้แล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีแห่ขันหมาก จากนั้นก็จะเข้าสู่พิธีสู่ขอ นับสินสอด พิธีหมั้น รดน้ำสังข์ พิธีแต่งงาน และส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว ตามฤกษ์งามยามดีต่อไป

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

3. พิธีสู่ขอ
เมื่อเจ้าบ่าวและขบวนขันหมากเข้าไปในสถานที่จัดงานเรียบร้อยแล้ว จะจัดเรียงสิ่งของจากขบวนขันหมากวางเป็นคู่บนโต๊ะหน้าพิธีที่ฝ่ายเจ้าสาวจัดเตรียมไว้ให้ เว้นแต่ต้นกล้วยและต้นอ้อยเอาไว้นอกบ้านเพื่อขุดดินปลูกต่อไป ผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะนั่งในบริเวณที่ประกอบพิธี โดยการนั่งจะให้ฝ่ายชายอยู่ทางซ้าย คุณแม่จะนั่งด้านซ้ายสุด ตามด้วยคุณพ่อ และเถ้าแก่ฝ่ายชาย จากนั้นเป็นลำดับของฝ่ายหญิง เถ้าแก่ฝ่ายหญิงนั่งติดกับเถ้าแก่ฝ่ายชาย ตามด้วยคุณพ่อเจ้าสาว และคุณแม่จะนั่งด้านขวาสุด

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

ขั้นตอนการทำพิธีสู่ขอ

  1. เถ้าแก่ฝ่ายชาย กล่าวแนะนำตนเอง (ชื่อ-สกุล ตำแหน่ง) และกล่าวถึงฝ่ายชายที่ต้องการให้ฝ่ายหญิงไปเป็นคู่ครอง รวมถึงสินสอดที่นำมาให้กับฝ่ายหญิง จากนั้นเชิญให้แม่เจ้าสาวตรวจนับสินสอด
  2. เถ้าแก่ฝ่ายหญิงและแม่เจ้าสาวก็จะพิจารณาดูสินสอดพอเป็นพิธี จากนั้นแม่เจ้าสาวจะอนุญาตให้เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวมายังที่ทำพิธี โดยเจ้าบ่าวจะถือดอกไม้ 1 ช่อเพื่อไปมอบให้เจ้าสาว และเดินจูงมือมายังพิธี ซึ่งจะเดินเข้ามาทางฝั่งเจ้าบ่าว
  3. บ่าวสาวกราบพ่อแม่ โดยเริ่มจากพ่อแม่เจ้าบ่าว 3 ครั้ง แล้วคลานเข่าไปกราบพ่อแม่เจ้าสาว เพราะพ่อแม่เป็นพระสำหรับลูก จากนั้นหันหน้าออกมาด้านหน้า
  4. เถ้าแก่ฝ่ายชายจะเริ่มทำการสู่ขอเจ้าสาวจากพ่อแม่ฝ่ายหญิง โดยบอกกล่าวว่าเด็กสองคนเขารักกันอย่างไร อยากได้ฝ่ายหญิงไปเป็นครองคู่ ไปอยู่กันไปแบบสามี-ภรรยา เถ้าแก่ และพ่อแม่เจ้าสาวก็จะถามความสมัครใจว่าเจ้าสาวยินดีจะแต่งงานกับเจ้าบ่าวหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่พิธีนับสินสอด

4. พิธีนับสินสอด

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

เมื่อทุกคนพร้อมนายพิธีจะเรียนเชิญแม่เจ้าสาวมาตรวจนับสินสอด โดยนิยมให้เพื่อนเจ้าสาวมาช่วยแก้ผ้าห่อสินสอด และรวบรวมใส่พานให้แม่เจ้าสาว โดยนำใบพลู ใบหมาก ใบเงิน ใบทอง ใบรัก มาจัดเรียงในพาน วางอยู่บนผ้าแดงหรือผ้าเงินผ้าทอง และนำสินสอด เงิน ทองมาวางจัดเรียงรวมกันในพานให้สวยงาม
จากนั้นจะให้แม่เจ้าสาวนำถั่วงา ข้าวตอก ดอกไม้จากพานสินสอดมาโรยในพานวางสินสอด พร้อมให้พรให้สินสอดทองหมั้นงอกเงยเติบโตดุจถั่วงา ปัจจุบันนิยมให้ญาติผู้ใหญ่บนเวที ช่วยกันโปรยที่ละท่านเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย
ตามธรรมเนี่ยมสินสอดทองหมั้นถือเป็นค่าตอบแทนที่มอบให้กับแม่เจ้าสาวที่เลี้ยงดูเจ้าสาว ซึ่งหากว่าแม่เจ้าสาวจะคืนให้ลูกไปใช้ในการตั้งเนื้อตั้งตัวหลังจากแต่งงาน มักจะนำส่วนหนึ่งมาคืนให้คู่บ่าวสาวตอนพีธีรับไหว้

5. พิธีหมั้น
เมื่อได้เวลาแล้ว ฝ่ายชายสวมแหวนหมั้นให้กับฝ่ายหญิง (ถ้ามีสร้อยหรือกำไลข้อมือจะสวมมอบให้ว่าที่เจ้าสาวด้วยก็ได้) เพื่อเป็นการประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบว่า หญิงและชายคู่นี้ เป็นคู่หมั้นคู่หมายกันแล้ว และจะทำพิธีแต่งงานกันในอนาคต โดยมีแหวนหมั้นเป็นตัวแทนในการหมั้นหมายของทั้งสองคน จากนั้นฝ่ายหญิงจะกราบลงที่ตักหรือไหว้ที่ไหล่ของฝ่ายชาย
จากนั้นคู่หมั้นคู่หมาย ถึงไปกราบคุณพ่อคุณแม่และเฒ่าแก่ทั้งสองฝ่าย (กราบมือตั้งครั้งเดียว) จึงจะเป็นอันเสร็จสวมแหวนหมั้นที่ถูกต้องตามประเพณี

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

6. พิธีรดน้ำสังข์
พิธีรดน้ำสังข์ เป็นพิธีที่มีความสำคัญในขั้นตอนการแต่งงาน เพราะถือว่าเป็นพิธีที่ให้ญาติและแขกผู้ใหญ่ได้ทำการอวยพรแก่คู่บ่าวสาวเกี่ยวกับการครองเรือน รวมถึงให้ข้อคิดเตือนใจ เพื่อให้คู่บ่าวสาวได้นำไปใช้ในชีวิตคู่ให้ราบรื่นและมีความสุขในอนาคต

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการรดน้ำสังข์

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

– แป้งเจิม ใช้เพื่อเจิมหน้าผากของเจ้าบ่าวเจ้าสาว
– ชุดตั่งรดน้ำสังข์ มีเก้าอี้นั่ง 2 ตัว, โต๊ะวางพานรับน้ำสังข์ 2 ตัว, โต๊ะวางมือ 2 ตัวและโต๊ะวางอุปกรณ์ 1 ตัว
– หมอนรองมือ ใช้เพื่อรองมือและแขน
– พวงมาลัยบ่าวสาว ใช้เพื่อคล้องคอเจ้าบ่าวเจ้าสาว ส่วนใหญ่จะใช้เป็น มาลัยสองชาย
– มงคลแฝด ใช้เพื่อสวมศีรษะให้กับคู่บ่าวสาว
– พานพุ่มดอกไม้สำหรับรับน้ำสังข์ ใช้รองรับน้ำสังข์ที่รดลงบนมือของเจ้าบ่าวเจ้าสาว
– ของชำร่วย ใช้เพื่อมอบให้กับญาติผู้ใหญ่หรือแขกที่มาร่วมแสดงความยินดี
– พานวางหอยสังข์และพานสำหรับรับน้ำสังข์
– ขั้นตอนการทำพิธีรดน้ำสังข์ เป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เพียงเตรียมของที่จำเป็นต้องใช้ให้พร้อมก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยมีลำดับขั้นตอนการรดน้ำสังข์คู่บ่าวสาวดังนี้

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

เจ้าบ่าวเจ้าสาวจุดธูปเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นมานั่งประจำที่ตั่งเพื่อทำพิธี โดยการนั่งให้เจ้าสาวนั่งทางด้านซ้ายของเจ้าบ่าวและหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ
ทำการเจิมหน้าผาก โดยให้ประธานในพิธีหรือพ่อแม่ของบ่าวสาวเป็นผู้เจิม เจิมเป็นจุดสามเหลี่ยมสามจุด จากนั้นคล้องมาลับและสวมมงคลแฝดให้กับคู่บ่าวสาว
ประธานในพิธี พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่และแขกที่มาร่วมงานจะทยอยเข้ามารดน้ำสังข์พร้อมกล่าวคำอวยพรให้กับคู่บ่าวสาว โดยจะมีญาติหรือเพื่อนเจ้าสาวตักน้ำเติมในสังข์และส่งให้
เมื่อทำการรดน้ำสังข์และอวยพรเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการเชิญแขกผู้ใหญ่ที่นับถือมาถอดมงคลแฝดออกจากศีรษะของบ่าวสาวและวางลงบนพานที่เตรียมไว้หรือบางพื้นที่ก็นำสายมงคลมาม้วนเป็นข้อมือแล้วสวมใสไว้ที่มือเจ้าสาวก็ได้ จากนั้นจะจับมือของบ่าวสาวให้ลุกขึ้นยืนพร้อมกัน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ

บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

7. พิธีส่งตัวเข้าหอ

พิธีการส่งตัวเข้าหอนั้น หลักๆ แล้วจะประกอบด้วย 2 พิธีด้วยกัน นั่นคือ พิธีส่งตัวเข้าหอ และพิธีปูที่นอน

  1. กราบขอพรกับพ่อแม่ เพื่อเป็นสิริมงคลต่อคู่ชีวิต
  2. กราบพระ ให้คุ้มครองชีวิตคู่ให้อยู่เย็นเป็นสุข จนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
  3. กราบ 6 ทิศ เสริมดวงและความเชื่อต่างๆ
บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง
  • ทิศตะวันออก บอกบิดามารดาให้พร
  • ทิศใต้ บอกครูบาอาจารย์ให้เจริญขึ้น
  • ทิศตะวันตก บอกสามี ภรรยา อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน
  • ทิศเหนือ บอกมิตรสหายให้ช่วยเหลือกัน
  • ทิศเบื้องบน บอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภิกษุ สามเณร ให้คุ้มครอง
  • ทิศเบื้องล่าง บอกให้บ่าวไพร่ให้เป็นบริวารที่ดี การทำพิธีก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เริ่มจากการจัดปูที่นอนในห้องหอคืนส่งตัวเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวต่อไปในอนาคต ในสมัยก่อนนั้นพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยาซึ่งชีวิตครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์
    ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม อีกทั้งยังมีบุตรที่เป็นคนดี สร้างความภาคภูมิใจให้ครอบครัว เพื่อถือเคล็ดว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดีเช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้ต้องอาบน้ำให้สะอาด แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามดีก่อน แล้วจึงเข้ามาในห้องหอเพื่อจัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี จากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอนอันได้แก่
  1. หินบดยาหรือหินก้อนเส้าซึ่งใช้ก่อไฟในครัว หมายถึงความหนักแน่น
  2. ฟักเขียว หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข
  3. แมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว) หมายถึงการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
  4. พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว ซึ่งล้วนหมายถึงความเจริญงอกงาม
  5. ขันใส่น้ำฝน เป็นความเย็น ความสดชื่นชุ่มฉ่ำ
    ซึ่งพิธีร่วมเรียงเคียงหมอนนั้นในปัจจุบันอาจจะไม่สมบูรณ์เท่าในอดีต หลงเหลือเพียงการทำแค่พอเป็นพิธีเท่านั้น เพราะก่อนวันแต่งงานส่วนมากได้มีการจัดเตรียมของทุกอย่างไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พอได้ฤกษ์ท่านทั้งสองจะจัดที่นอน และหยิบเอาเครื่องพิธีปูที่นอนซึ่งเตรียมไว้แล้วรวมกับดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล
    เฒ่าแก่จะหยิบเอาถั่วงา และดอกไม้มาโปรยบนที่นอนแล้วขึ้นไปนอนบนเตียง เรียกว่าฤกษ์เรียงหมอน ผู้ชายนอนทางขวาของผู้หญิง แล้วทำเป็นหลับไปสักครู่จึงทำเป็นตื่นนอนแล้วสนทนากันด้วยเรื่องที่เป็นมงคล กล่าวว่านอนหลับฝันดีฝันเห็นแต่สิ่งที่เป็นมงคล แล้วจึงลุกขึ้นมาจูงเจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นนอนบนเตียง
    กล่าวให้ศีลให้พรแก่คู่บ่าวสาว รวมถึงการให้โอวาทในการครองเรือน แล้วจึงออกมาจากห้องหอ ส่วนพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็มักจะฝากฝังให้ฝ่ายชายช่วยดูแลปกป้องคุ้มครองลูกสาวของตนเอง และถ้ามีสิ่งใดบกพร่องก็ขอให้เจ้าบ่าวให้อภัย เมื่อพ่อแม่ให้พรต่างๆ แล้วก็จะออกไปจากห้องเป็นอันจบพิธีการ อย่างไรก็ตาม พิธีเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาเพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวคู่บ่าวสาวเท่านั้น การใช้ชีวิตคู่จำเป็นจะต้องมีอีกหลายสิ่งที่ควรยึดมั่นทั้งความซื่อสัตย์ ความเข้าใจ รวมถึงการให้อภัย ที่จะทำให้ชีวิตคู่ของคุณกลายเป็นครอบครัวที่มีความสุขและสมบูรณ์แบบ
บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง

ภาพโดย : Tonrakwedding

Post Views: 1,181