ฌ อน บูรณะ หิรัญ ผล งาน

ฌอน บูรณะหิรัญ: นักสิ่งแวดล้อม-นักสื่อสารมวลชนคิดอย่างไรกับคลิป "ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตร"

  • กุลธิดา สามะพุทธิ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

25 มิถุนายน 2020

ฌ อน บูรณะ หิรัญ ผล งาน

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBC Thai

นอกจากชื่นชม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีว่าเป็น "ผู้ใหญ่ที่น่ารัก" หลังจากได้พบกันในช่วงสั้น ๆ ระหว่างกิจกรรมปลูกต้นไม้แล้ว ฌอน บูรณะหิรัญ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชื่อดังวัย 29 ปี ยังได้พูดถึงเรื่องเกษตรกรเผาป่า เตือนน้อง ๆ เรื่องการรับข่าวสารจากสื่อมวลชน และตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยเริ่มมี "วิวัฒนาการและพัฒนาการ" เหมือนเมืองนอกที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ฌอนเผยแพร่คลิป "ผมได้ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตร" ในเวลา 20.00 น.ของวันที่ 23 มิ.ย. ไม่นานนักก็เกิดปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" คือคนเข้ามาวิจารณ์ในเชิงลบจำนวนมาก ล่าสุดช่วงเย็นวันนี้ (25 มิ.ย.) คลิปที่มีความยาวเกือบ 4 นาทีมีการรับชมแล้วกว่า 1.2 ล้านครั้ง แชร์เกือบ 9,000 ครั้ง และมีคอมเมนต์กว่า 20,000 ครั้ง

ขณะที่ พล.อ.ประวิตรบอกกับสื่อมวลชนวันนี้ว่า เขาไม่ได้คุยกับฌอนและ "ไม่ได้เจอกัน จำไม่ได้" เพราะคนเยอะ ส่วนเขาจะเป็น "ผู้ใหญ่ที่น่ารัก" จริงอย่างที่ฌอนชื่นชมหรือไม่นั้น รองนายกฯ บอกว่า "แล้วแต่คนมอง"

  • ประวิตร มิตรหาย กลายเป็นศัตรู สังคมอยากรู้ นาฬิกามาจากไหน ชอบใจ CSI LA
  • “แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน” กับ 5 ข่าวร้ายของชายชื่อ ประวิตร
  • มารีญา พูลเลิศลาภ : มองความคิดทางสังคม จาก Social Movement สู่ #saveวันเฉลิม

คลิปดังกล่าวถ่ายทำตอนที่ฌอนไปร่วมปลูกป่าภายใต้กิจกรรม Climate Festival@North "พลัง เหนือ ธรรมชาติ" ที่ห้วยตึงเฒ่า จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.

ฌอนผู้ได้รับรางวัล "ฐานันดรที่ 4 ทองคำ" ในฐานะนักสื่อสารมวลชนดีเด่นจากมหาวิทยาลัยรังสิตเมื่อปี 2562 เปิดเรื่องด้วยท่าทางตื่นเต้นว่าเขาจะได้พบกับ "ท่านประวิตร" และชวนผู้ชม "ไปดูกันว่าสิ่งที่ทุกคนพูดมันจริงไหม" จากนั้นฌอนพูดเรื่องกิจกรรมนี้ว่าทำให้คนรับรู้เกี่ยวกับการเผาป่าในเชียงใหม่มากขึ้นและเขาดีใจที่ "ผู้มีอิทธิพลต่อประเทศ" มาร่วมงานด้วย

"เมื่อกี้ได้เจอท่านประวิตร มันไม่เหมือนที่เราได้เห็นใน MEME ที่เขาหลับและภาพดูออกร้ายหน่อย พอได้เห็นตัวจริง เหมือนผู้ใหญ่ที่น่ารัก" ฌอนกล่าวตอนหนึ่งในคลิป และเตือนผู้ชมว่า "สิ่งที่เราเห็นในสื่อ มันก็มีเจตนาที่จะทำให้เราคิดอะไรบางอย่าง อย่าเพิ่งตัดสินใจจนกว่า เราจะได้เจอเขาจริง ๆ ได้คุยกับเขา และได้สัมผัสกับเขา น้อง ๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ อยากให้รู้ว่า ข่าวก็มีเจตนาของเขานะ อย่าเพิ่งเชื่อ 100%"

การเปิดหน้าสนับสนุน พล.อ.ประวิตร ของนักพูดสร้างแรงบันดาลใจทำให้เขาถูกวิจารณ์ ล้อเลียน และเสียดสีอย่างล้นหลาม และยังส่งผลให้จำนวนผู้ติดตามเฟซบุ๊ก Sean Buranahiran - ฌอน บูรณะหิรัญ" หายไปราว 1 ล้านบัญชีในชั่วข้ามคืน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

"แล้วแต่คนมอง" พล.อ.ประวิตรตอบคำถามสื่อมวลชนหลังจากถูกถามว่าเป็น "ผู้ใหญ่ที่น่ารัก" ตามที่ฌอนพูดหรือไม่

แต่นอกจากประเด็นที่เขาออกมาชื่นชม พล.อ.ประวิตร แล้ว ฌอนยังได้พูดถึงเรื่องของการเผาป่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนไทย ซึ่งบีบีซีไทยได้ถามผู้เชี่ยวชาญในประเด็นเหล่านี้ว่ามีความเห็นอย่างไร

บีบีซีไทยพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ฌอนต่อเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้น แต่ได้รับแจ้งจากทีมงานว่าเขาติดภารกิจและยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ พร้อมกับไม่อนุญาตให้ใช้ความเห็นที่ฌอนโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กของเขาประกอบการรายงานข่าวเนื่องจาก "ทางเราอยากให้จบเท่านี้"

เกษตรกรเผาป่า?

ฌอน : การปลูกต้นไม้เป็นแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือช่วยกระจายความรู้ให้เกษตรกรไม่เผาป่า ซึ่งมันจะมีเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เขาไม่ต้องใช้สารเคมีและไม่ต้องเผาไร่ของเขาแล้วเพิ่มรายได้ให้เขาด้วย สุขภาพเขาก็จะดีขึ้นเพราะไม่ต้องใช้สารเคมี คนในเมืองก็ไม่ต้องเจอ PM2.5 เยอะทุกปี ถ้าเราแก้ตรงนี้ เราจะไม่ต้องมาปลูกต้นไม้ที่นี่...นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยให้เชียงใหม่ไม่ต้องเจอ PM2.5 อันดับ 1 ของโลกทุกปีครับ

บัณรส บัวคลี่ สมาชิกสภาลมหายใจเชียงใหม่ :

สาเหตุของไฟป่าและฝุ่นควันมันมีเยอะมาก จะมาพูดสั้น ๆ หรือเหมารวมว่าชาวบ้านเผาป่าไม่ได้ และจะนำไปสู่ความไม่เข้าใจปัญหามากขึ้นไปอีก ประเด็นนี้เป็นเรื่องต้องอธิบายกันยาว กลุ่มของเราที่ทำงานเรื่องแก้ปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่ก็จะระมัดระวังในการพูดเพื่อไม่ให้กระทบกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่ดูแลพื้นที่ป่าดี ๆ มีเยอะ ถ้ามีเวลาน้อยในการพูดยิ่งต้องระวังให้มาก เพราะคำ ๆ เดียวนี่เองที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเพี้ยนไป

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/INTHANON DEK DOI

คำบรรยายภาพ,

ชาวบ้านช่วยกันทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน เม.ย. 2563

จากที่ผมทำงานมา ปัญหาเรื่องการเผาป่าและปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 มีหลายสาเหตุ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือเป็นพื้นที่ป่า จ.เชียงใหม่มีป่า 80% ของพื้นที่จังหวัด ดังนั้นจึงมีชุมชนจำนวนมากอยู่ในเขตป่าและมักจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ทำกิน ในมุมของรัฐพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ป่า แต่ในมุมของชาวบ้านตรงนี้เป็นที่ดินทำกิน ยังเป็นข้อพิพาทกันอยู่ในหลายพื้นที่ คนชั้นกลางในเมืองก็โทษว่าชาวบ้านเผา ซึ่งผมพบว่าจริง ๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่าแค่ชาวบ้านเผา มีคนนอกพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและพืชอาหารสัตว์ด้วย

  • ไฟป่าเชียงใหม่ : ทำไมปีนี้ หนักกว่าทุกปี
  • ไฟป่าเชียงใหม่ : สู้ไฟจนตัวตาย เรื่องเคราะห์ร้ายของหญิงอาสาสมัครดับไฟป่า
  • โลกร้อน : งานวิจัยระบุการให้เงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้อาจส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

เรื่องการให้ความรู้เกษตรกรไม่ให้เผาป่าที่ฌอนพูดนั้น ผมมองว่าเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ด้วยการให้ความรู้เกษตรกร ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเผาส่งผลกระทบอย่างไร แต่มันมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เขาใช้วิธีนี้ในการทำกินมันซับซ้อนกว่าแค่บอกว่าให้ความรู้เกษตรกร

ปัญหา PM2.5 ในเชียงใหม่มีสาเหตุหลักมาจากการเผาในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ทำการเกษตรก็จริง แต่ยังมีสาเหตุรอง ๆ อีกมากมาย เช่น การใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ได้มาตรฐาน ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงควันไฟจากรัฐฉานที่คนเริ่มบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น ถ้าจะแก้เรื่องนี้จริง ๆ สังคมไทยต้องยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตและการสร้างผลผลิตใหม่ โดยรัฐต้องสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศด้วย

ข่าวมีเจตนา?

ฌอน : สิ่งที่เราเห็นในสื่อ เขาก็มีเจตนาที่จะทำให้เขาคิดอะไรบางอย่าง อย่าเพิ่งตัดสินใครจนกว่าเราได้เจอเขาจริง ๆ ได้คุยกับเขาและสัมผัสกับเขา...น้อง ๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ อยากให้รู้ว่าข่าวก็มีเจตนาของเขานะ เราอย่าเพิ่งเชื่อ 100% ในสิ่งที่เราดู...ผมไม่ได้พยายามบอกให้เราชอบใครหรือไม่ชอบใคร ผมอยากบอกให้น้อง ๆ เป็นกลาง เพราะว่า สื่อต่าง ๆ พยายามมีอิทธิพลต่อความคิดของเรา ดังนั้นอย่าให้สื่อไหนทำให้เราชอบใครเกลียดใคร ให้เราอยู่กลางแล้วฟังทั้งสองฝ่าย แล้วถ้าเป็นไปได้ เข้าไปหาเขาจริง ๆ เลย ถึงจะค่อยตัดสินใจด้วยตัวเอง

ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ประธานหลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์ :

ก่อนอื่นต้องเข้าใจบทบาทของฌอนที่วางสถานะตัวเองกับคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยบนโลกโซเชียลมีเดีย จนทำให้กลายเป็นคนมีชื่อเสียง กลายเป็น influencer (ผู้มีอิทธิพล) ในโลกออนไลน์กับความเป็น "Life Coach" (ผู้ให้แนวทางในการใช้ชีวิตและความคิด) ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตและหน้าที่การงาน

การออกมาทำบทบาทไลฟ์โคชของฌอนต่อการรับรู้ผ่านสื่อมวลชนไม่ผิดตามหลักการรู้เท่าทันสื่อ ในประเด็นที่ว่าสื่ออาจพูดครึ่งเดียว มีวาระซ่อนเร้นเพื่อนำไปสู่เป้าประสงค์ไม่ว่าบวกหรือลบต่อสิ่งที่กำลังรายงาน นำไปสู่การทำให้บุคคลหนึ่งกลายเป็นฮีโร่ในหรือผู้ร้ายในสังคม

แต่บทบาทไลฟ์โคชในกรณี พล.อ.ประวิตรครั้งนี้ กลับย้อนแย้งในหลักการรู้เท่าทันสื่ออย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังประเมินกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่เรื่องการเมืองต่ำเกินไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่เติบโตมาในสื่อสังคมออนไลน์ เขารู้เท่าทันสารในสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเรื่องการเมือง เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้ฌอนได้เป็นอย่างดีว่าเป็นไลฟ์โคชไม่ได้กับทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องการเมือง และการออกมาตอบโต้ด้วยวิธีการพูดตลก เลี่ยงไปพูดถึง "การเมีย" เพื่อล้อคำ "การเมือง" ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของความเป็นไลฟ์โคช เป็นลบ

รักษาสิ่งแวดล้อมคือความคูล?

ฌอน : (เมืองไทย) เริ่มเป็นเหมือนเมืองนอกที่คนรุ่นใหม่สนใจสิ่งแวดล้อม เพราะว่าที่นั่นมัน cool (ดูดี) มากที่เราจะรักษาสิ่งแวดล้อม มันดูเหมือนคนที่มีวิวัฒนาการและพัฒนา ไม่ทำลายโลกรักษาสิ่งแวดล้อม

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว :

ประเด็นแรก-การที่ฌอนสื่อสารในทำนองที่ว่าการปลูกต้นไม้จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น คิดว่าการปลูกต้นไม้จะแก้ปัญหา สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจเรื่องของธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างมาก ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกเยอะ

ประเด็นที่สอง-ฌอนพูดทำนองว่าเมืองนอกที่ผู้คนมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเทศที่มีวิวัฒนาการและการพัฒนามากกว่า มีนัยว่าคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นคนที่เหนือกว่า สูงกว่า แล้วกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมในเมืองนอกก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว

ที่มาของภาพ, Getty Images

เวลาที่เราพูดถึงพัฒนาการหรือวิวัฒนาการ อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของความสูงหรือเหนือกว่า แต่มันเป็นเรื่องของความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตไม่ได้หมายถึงการดีกว่าหรือเจ๋งกว่า แต่หมายถึงความเหมาะเจาะกับบริบทและช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งบริบทของเราตอนนี้คือเรามีวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างมโหฬารอย่างที่เราไม่เคยนึกเลยว่าจะมาถึงจุดนี้ ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมเพราะคนรุ่นนี้คือรุ่นที่จะต้องได้รับผลกระทบเต็ม ๆ

คนทำเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้ดีกว่าคนที่ทำเรื่องอื่น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้คำพูดที่มีนัยแบบนี้ แต่สิ่งที่ควรจะมองคือขณะนี้มีวิกฤตอะไร เอาข้อเท็จจริงมาพูด และถ้าเราเป็นคนที่ใส่ใจจริง ๆ เราก็ต้องพยายามปรับตัว

ประเด็นที่สาม- คนไม่ควรจะมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงเพราะความคูล ความเท่ คนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะความ cool มักจะเป็นคนที่ clueless คือไม่มีข้อมูล ซึ่งการออกมาพูดโดยที่ไม่มีข้อมูลยิ่งทำให้คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทำงานยากขึ้นอีกมากเพราะเขาสร้างความเข้าใจผิดได้เยอะแยะ จนบางครั้งทำให้เกิดกระแสการทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะช่วยรักษามันด้วยซ้ำ

ฌอนอาจจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่านี้ถ้าเปิดใจไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม