เยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 มีลักษณะอย่างไร

เยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 มีลักษณะอย่างไร

         สอวช. และ มจธ. พาทุกคนมารู้จักกับข้อเสนอนโยบายของนักวิจัยรุ่นใหม่ ภายใต้ "หลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" รุ่นที่ 2 หลักสูตรที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถในการออกแบบและจัดทำนโยบายด้าน อววน. ซึ่งประเด็นแรกเป็นเรื่อง "คุณภาพเด็กและเยาวชนสำหรับสังคมรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21" มาติดตามไปพร้อมๆ กัน!
          ประเทศไทยกําลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้วัยแรงงานต้องทํางานหนักมากขึ้น ทำงานที่มีทักษะมากขึ้น สร้างผลผลิตต่อชั่วโมงได้สูงขึ้น เพื่อรองรับจํานวน (เด็กและผู้สูงอายุ) ที่มีมากขึ้น ดังนั้น เด็กและเยาวชนในยุคนี้จึงจำเป็นที่จะต้องเติบโตมามีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ดีและจำเป็น รวมถึงต้องเหมาะสมต่อสังคมในศตวรรษที่ 21 และอนาคตต่อไปด้วย ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ได้มุ่งเน้นไปในการสร้างนโยบายที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทยอายุ 0 – 18 ปี ซึ่งเป็นประชากรประมาณ 14.13 ล้านคน หรือคิดเป็น 21% ของประชากรทั้งหมด พบว่าปัญหาและความท้าทายของสังคมไทย ได้แก่
"สภาพทางเศรษฐกิจ" พบว่า ครัวเรือนไทยมีความอบอุ่นลดลง ครอบครัวแหว่งกลางจากการที่พ่อและแม่ต้องออกไปทำงานในเมือง หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น ผู้สูงอายุยังพึ่งพิงเงินจากลูกหลานมากกว่าเงินออม
"ด้านการศึกษา" เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า อัตราการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาของเด็กไทยค่อนข้างต่ำ แต่อัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษากลับสูง ขาดแคลนแรงงานทักษะระดับอาชีวศึกษาความสามารถทางด้านวิชาการและกระบวนการคิดอยู่ในระดับต่ำ และยังพบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจในระดับครอบครัวอีกด้วย
"ด้านสุขภาวะ" พบว่า สุขภาพของคนไทยดีขึ้น ระบบสาธารณสุขของประเทศดีขึ้นมาก แต่พบปัญหาจากพฤติกรรมและพันธุกรรมเพิ่มขึ้น เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน มีแนวโน้มความพยายามในการการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาคุณแม่วัยใสและยาเสพติด
"ด้านโอกาสและความเสี่ยง" คนไทยใช้เวลาในโลกดิจิทัลมากขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์จะดีขึ้น รวมถึงคนไทยมีความใส่ใจสุขภาพ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ในครอบครัวที่มีฐานะดีจะมีชีวิตที่ดี เกษตรกรรุ่นเดิมสามารถรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรจนดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ มีที่ดินทำกินอย่างเพียงพอ แต่ก็พบปัญหาและความเสี่ยงอันเกิดจากโอกาสที่เกิดขึ้นเช่นกัน
การสร้างเด็กและเยาวชนใน "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" จำเป็นต้องมีทักษะต่างๆ ใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1) Foundational Literacies ทักษะพื้นฐานที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
2) Competencies ทักษะที่สามารถจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
3) Character Qualities ทักษะที่สามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้
       โดยทีมวิจัยได้จัดทำข้อเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และนำไปสู่เป้าหมาย "เด็กและเยาวชนไทยที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21" แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1) นโยบายเสริมเกราะสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยที่ยังไม่มีความพร้อมในการเสริมสร้างให้กลายเป็นเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ได้ทันที
1.1 นโยบายสร้างความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของเด็กไทย : การสร้างนักโภชนาการในโรงเรียนพร้อมกับระบบที่ใช้งานสำหรับการเตรียมโภชนาการที่สมบูรณ์
1.2 ศูนย์เลี้ยงเด็กจากอาสาผู้สูงวัย
1.3 สร้างจิตอาสาด้วยสลากทำดี
2) นโยบายติดปีกสำหรับเด็กและเยาวชนไทยมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21
2.1 Experience Education : โรงเรียนสอนประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเรียกว่า Experience Education ผ่านโปรแกรม Simulator
2.2 จัดตั้ง PBL Education Center
2.3 การสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับเด็กรุ่นใหม่ : โรงเรียนนำร่องกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise School)
3) นโยบายหลังโควิด-19 เป็นนโยบายที่ทีมวิจัยศึกษาและออกแบบมาจากปัญหาที่พบในช่วงที่ประเทศไทยเกิดสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
3.1 ปฏิรูประบบดิจิทัลเพื่อการศึกษา
3.2 โรงเรียนคุณภาพคือโรงเรียนใกล้บ้าน : การสนับสนุนให้พัฒนาโรงเรียนเล็กเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพด้วยการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ
4) นโยบายเฉพาะสำหรับ 6 วิชาชีพ เป็นการวิจัยในเชิงลึกของแต่ละอาชีพว่าควรมีความโดดเด่นของทักษะหรือความรู้ด้านใดบ้างเพื่อนำมาออกแบบนโยบายเฉพาะทางของแต่ละอาชีพ
4.1 อาชีพผู้ประกอบการ : เตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนในการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
4.2 อาชีพ Smart Farmer : Education from Farm to E-Farm
4.3 อาชีพวิศวกร : การขยายห้องปฏิบัติการ STEM Lab/Fabrication Lab ทั่วประเทศ
4.4 อาชีพ Blogger : ส่งเสริมบล็อกเกอร์รุ่นเยาว์ด้วยโปรแกรม Young Blogger Academy
4.5 อาชีพแพทย์ : การปั้น แพทย์นวัตกร :รุ่นเยาว์
4.6 อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล : สร้างเยาวชนให้มีความตระหนักรู้และสนใจในอาชีพด้าน ICT และ Digital ที่หลากหลาย
       ข้อเสนอนโยบายเหล่านี้เป็นข้อเสนอนำร่องในการวางนโยบายของประเทศที่จะสร้างเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้สามารถยืนหยัดอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 และวางรากฐานการก้าวสู่ศตวรรษต่อไปอย่างมั่นคงได้

ที่มา:https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND

Last Updated on Friday, 27 November 2020 14:25

ดร.วิขัย พยัคฆโส 14 มิถุนายน 2564 23:00 น. สยามรัฐผลัดใบ

เยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 มีลักษณะอย่างไร

ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ไทยเราเสียเวลาจากการปฏิรูปการศึกษาและพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาเป็นเวลา 22 ปีแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จาก พ.ร.บ. 2542 นั้น เห็นว่าน่าจะล้มเหลว เพราะใช้เวลานานขนาดนี้ผลลัพธ์ที่ได้เท่าเดิมหรือแย่กว่าเดิม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ได้รวมเอากระทรวง อว.ในการหล่อหลอมคนในชาติเข้าสู่อาชีพการทำงานแต่กระทรวง อว.แยกตัวออกมาแล้วจะทำให้มีความคล่องตัวในการพัฒนาการศึกษาของชาติได้สะดวกรวดเร็วขึ้น หันไปดูร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... เห็นวัตถุประสงค์ก็เพื่อพัฒนาคนเอาคนไปสร้างชาติ โดยเฉพาะพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดีมีคุณลักษณะ ทักษะ และพัฒนาการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญตามราชอาณาจักร พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ นั่นคือการพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ลงลึกไปดูเป้าหมายด้านผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบไปด้วย 3R ได้แก่ อ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็นและยังมีทักษะอันพึงประสงค์ของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 อีก 1.Competency 2.Creativity 3.Citical Thinking 4. Communication 5.Collaboration 6.Communication Technology นอกเหนือจากนี้ยังมีทักษะที่เป็น Softskill อย่างอื่นเพิ่มอีก เช่น ความมีเมตตา กรุณา มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม พัฒนาด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วย ประเด็นปัญหาคงอยู่ที่ครูจะสอนอย่างไรให้เกิดคุณลักษณะทั้ง 6 เรื่องที่สำคัญ ซึ่งครูจะต้องมีทักษะในส่วนนั้นก่อน หมายถึงครูย่อมได้รับการศึกษาวิธีการสอนที่ให้ผลจริงดังได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้วนั่นคือ active learning นั่นเอง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติมุ่งเน้นในเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของชาติ การพัฒนาทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเทาเทียมทางการศึกษา การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการศึกษา พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดเพราะจะต้องรอประเมินผล วัดผลอีกอย่างน้อย 16 ปี ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา หวังว่าคงทำกันจริงจังไม่เหมือนกับ พ.ร.บ.ที่ผ่านมา ปรับแต่โครงสร้างมากกว่าที่จะพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา เพราะเรามุ่งหวังพัฒนาคนให้เข้าสู่คนที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างชาติให้รุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 21 ด้วยความมุ่งหวังอันเต็มเปี่ยม รมว.กระทรวงศึกษาต้องทำงานหนักกับ พ.ร.บ.นี้