ตลาดสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย

สินค้าไทยถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดโลกไม่น้อยเลยทีเดียว โดยรายงานจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พบว่าการส่งออกในปี 2017 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 3,030,418.6 ล้านบาท โดย 5 ตลาดหลักที่น่าสนใจและมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออก ก็มีอัตราการขยายตัวอยู่ตลอด นอกเหนือจากนี้เราจะสังเกตเห็นได้เสมอว่า เวลาชาวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยทีไร ก็จะซื้อสินค้ากลับไปฝาก เพื่อน พี่น้อง และครอบครัวมากมาย แสดงให้เห็นถึงความต้องการและความสนใจ ในสินค้าไทยของชาวต่างชาติ ซึ่งตรงนี้เองถือเป็นโอกาสดีที่เราจะส่งสินค้าออกไปขายให้ตรงกับตลาดเหล่านั้นบ้าง

ตลาดสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย

5 ตลาดหลักที่สินค้าไทยส่งออก

อันดับ 1 – จีน

ประเทศจีนถือเป็นอันดับต้นที่การส่งออกมีมูลค่าสูงที่สุดถึง 995,474.8 ล้านบาท ในปี 2017 ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งถึง 12.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่และมีกำลังซื้อมหาศาล เพียงแค่เราสามารถเจาะเข้าไปได้เพียง 1% ของประชากรทั้งหมดก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่เค้กก้อนใหญ่ก้อนนี้ ใช่ว่าจะสามารถตัดมารับประทานได้โดยง่าย ผู้บริโภคชาวจีนมองว่าสินค้าไทย มีความแตกต่างทั้งทางภาพลักษณ์ คุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสินค้าที่จะขายดีเป็นที่นิยม อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ไทยเสมอไป แต่ต้องเน้นที่ความน่าสนใจ และความปราณีตในการนำเสนอสินค้าต่างๆ โดยสินค้าที่เหมาะแก่การส่งออกไปยังประเทศจีน คือ อาหาร พวก ขนมทานเล่น เช่น กล้วยทอด เผือกทอด ทุเรียนทอด ยาสมุนไพร ยางพารา

อ่านเพิ่มเติม: 5 แอปพลิเคชันฮิต อยากส่งออกไปจีนต้องรู้จัก

อันดับ 2 – สหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฝั่งตะวันตก และอันดับ 2 ของโลกที่ไทยส่งออกสินค้า มากที่สุด ซึ่งในปี 2017 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 897,666.04 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่ง 11.2% ของทั้งหมด โดยสินค้าที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เหมาะกับการส่งออก คือ อาหารแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับ แผงโซล่าเซลล์ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปหากเราสามารถพัฒนารูปแบบสินค้า ออกแบบ ให้มีความน่าสนใจ เข้าใจตรงตามเทรนด์ ก็จะยิ่งเป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากคุณภาพและการตัดเย็บของไทยเป็นที่น่ายอมรับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอย่าประมาทคู่แข่งอย่าง จีน อินโดนีเซีย เม็กซิโก แม้คุณภาพสินค้าจะต่ำกว่าของไทย แต่เมื่อมีราคาถูก จึงอาจจะทำให้เราสูญเสียตลาดได้ง่าย

อันดับ 3 – ญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งด้านการส่งออกสินค้าจากไทยถึง 9.4% คิดเป็นมูลค่ารวม 754,855.18 ล้านบาท จากข้อมูลในปี 2017 ที่ผ่านมา ย้ำชัดถึงความต้องการในสินค้าไทย ไม่เพียงแต่มีความโดดเด่นมาในด้านการท่องเที่ยว แต่ด้านการนำเข้าสินค้าจากไทยก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยญี่ปุ่นเป็นชาติที่นิยมใช้ผ้าไหมเป็นอย่างมาก สังเกตได้จาก ความประณีต และศิลปะต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าผ้าไหมไทย มีลวดลาย สีสันสวยงาม มีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ ฝีมือการทอปราณีต และมีคุณภาพดี อีกทั้งยังเป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีมูลค่าสูงเพราะทำมือ โดยนอกเหนือจากผ้าไหม ด้ายปั่นไหม เศษไหม ก็สามารถนำมาพัฒนาเป็นสินค้า เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ให้ตรงตามรสนิยมของ คนญี่ปุ่นก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อีก นอกเหนือจากนี้ สินค้าที่น่าสนใจส่งออกก็คือ เครื่องครัว ของใช้ภายในบ้าน เซรามิก และเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์เก๋ๆ นอกจากนี้ยังมี สมุนไพรจากธรรมชาติ และเครื่องหอมต่างๆ อีกด้วย

อันดับ 4 – ฮ่องกง

ประเทศฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งประเทศในแถบเอเชีย ที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยติดอันดับ โดยในปีที่ผ่านมา 2017 มีมูลค่าการส่งออก 416,566.83 ล้านบาท คิดเป็นทั้งหมด 5.2% ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีพื้นที่จำกัด แต่ก็มีประชากรจำนวนมาก และยังมีกำลังการซื้อที่ไม่เป็นรองใครด้วย สำหรับสินค้าที่เหมาะกับการส่งออกไปโกอินเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าด้านเกษตรกรรม เนื่องจากประเทศฮ่องกงมีลักษณะภูมิทัศน์ที่ไม่เอื้อต้องการเพาะปลูก และไม่มีพื้นที่เพียงพอ ดังนั้น ผลไม้สด อย่างเช่น ข้าว ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว รวมไปถึง ดอกไม้นานาชนิด จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะกล้วยไม้ ซึ่งประเทศไทยเราได้เปรียบ ตรงที่มีภาพลักษณ์ตรงกับการปลูกกล้วยไม้อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีฐานผู้สั่งซื้อและเป็นที่รู้จักเป็นจำนวนมาก

อันดับ 5 – เวียดนาม

ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย 393,723.79 ล้านบาท คิดเป็น 4.9% ถือเป็นตลาด ที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะเมื่อเวียดนามมีแผนกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในปี 2016-2020 ยิ่งเป็น การดีสำหรับผู้ส่งออกไทย ที่จะต้องมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าแบรนด์ไทย มากไปกว่านั้นธุรกิจไทย จะได้รับสิทธิประโยชน์จาก FTA อีกด้วย โดยสินค้าที่เหมาะแก่การส่งออกไปโกอินเตอร์ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า เครื่องสำอางค์ ครีมบำรุง เครื่องดื่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์

การทำธุรกิจหรือการทำการค้า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงคือข้อมูล สถิติในการตัดสินใจ ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงการส่งออกด้วย เพราะสถิติทิศทาง ยอดการเติบโตของการส่งออก ทำให้ SME สามารถวางแผนได้ว่าจะบุกสินค้าประเภทไหน ในสัดส่วนเท่าไหร่ สต๊อกสินค้าควรเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการวางแผนการส่งออก

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าไตรมาสแรก ปี 2559 ประเทศไทยมีตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.90% โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พลิกเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือนหลังสุด โดยการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวเป็นกลุ่มสินค้ากลุ่มยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการซ้อมรบ ซึ่งมีมูลค่า 683 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการส่งออกทองคำที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำมัน

ขณะเดียวกัน มูลค่าการส่งออกไทยเดือนมีนาคมที่ขยายตัว 1.3% จากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 2 เท่า แต่หากไม่รวมทองคำ ส่งออกไทยจะหดตัวที่ -1.1% ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักอย่างอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันลดลงตามราคาที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ แม้ตัวเลขภาพรวมของมูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นแต่ก็มาจากปัจจัยชั่วคราว โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ โดยมูลค่าการส่งออกหากไม่รวมทองคำในช่วง 3 เดือนแรกของปีจะยังหดตัวกว่า 2.7%

ส่วนมูลค่าการนำเข้าเดือนมีนาคมหดตัวน้อยลงที่ 6.9% จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ดีขึ้น โดยมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบที่ขยายตัวกว่า 26% ส่งสัญญาณดีขึ้นในเดือนมีนาคม แต่ยังมีความเสี่ยงหากการลงทุนของภาครัฐล่าช้า

ตลาดสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย

ขณะเดียวกัน 10 อันดับสินค้าออกที่สำคัญของประเทศมีข้อมูลจากการค้าไทย (ThaiTrade) ระบุอันดับสินค้าส่งออกไว้ดังนี้ (1.) กลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2.) อัญมณีและเครื่องประดับ (3.) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (4.) เม็ดพลาสติก (5.) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (6.) แผงวงจรไฟฟ้า (7.) ผลิตภัณฑ์ยาง (8.) เคมีภัณฑ์ (9.) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (10.) ข้าว

ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญของประเทศไทย 10 อันดับแรก ประกอบด้วย (1.) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (2.) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (3.) เคมีภัณฑ์ (4.) น้ำมันดิบ (5.) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (6.) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (7.) แผงวงจรไฟฟ้า (8.) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (9.) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ (10.) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์