ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เชียงราย

เหมาะสำหรับ

ประกอบการทำอาหารหวานต่าง ๆ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวหลาม ขนมหวานต่าง ๆ เป็นต้น หรือจะนำไปนึ่งเพื่อรับประทานพร้อมอาหารประเภทต่าง ๆ ก็จะได้คุณภาพของข้าวเหนียวที่นุ่มเป็นพิเศษ ต่างจากข้าวเหนียวที่ปลูกจากแหล่งอื่น ๆ

การหุง

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า  1 : 1 – 1.1

หม้อนึ่งข้าวเหนียว  แช่ข้าวที่ซาวแล้วในน้ำสะอาดประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง (ใช้น้ำอุ่นเพื่อลดระยะเวลาการแช่) ก่อนนำไปนึ่ง

คำแนะนำ

1.ควรซาวข้าวเบาๆด้วยน้ำสะอาดเพียง 1 ครั้ง เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าสารอาหาร

2.ควรใช้น้ำอุ่นเมื่อต้องการลดระยะเวลาการแช่ข้าวก่อนนำไปนึ่ง

3.ใช้ภาชนะปิดสนิทในการบรรจุข้าวที่นึ่งแล้ว เพื่อคงความนิ่มของข้าวเหนียว ชวนน่ารับประทาน

4.ควรปิดปากถุงข้าวที่แกะถุงแล้วและเก็บในตู้เย็นเพื่อรักษาความสดใหม่และรสชาติความอร่อยของข้าว

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายในด้านทรัพยากรพันธุกรรมข้าว โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีความแตกต่างไปตามลักษณะของพันธุ์และสภาพพื้นที่ “ข้าวเหนียวเขี้ยวงู” นับเป็นพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์หนึ่งของภาคเหนือและเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย โดยศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ได้นำพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จำนวน 28 สายพันธุ์ มาทำการปลูกศึกษาเพื่อให้ได้สายพันธุ์บริสุทธิ์จนได้สายพันธุ์ “เขี้ยวงู 8974” เป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มีลักษณะเหมาะสมที่สุดและกรมการข้าวได้รับรองพันธุ์เมื่อปี 2558 ทั้งนี้ ข้าวเหนียวเขี้ยวงูนิยมนํามาทำเป็นข้าวเหนียวมูล สำหรับรับประทานเป็นขนมหวาน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมากจนสร้างชื่อเป็นสินค้าของจังหวัดที่ โดดเด่นอีกชนิดหนึ่ง

สำหรับจังหวัดเชียงรายได้ส่งเสริมและผลักดันให้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร ชุมชน สถาบันเกษตรกร พ่อค้า และสร้างมูลค่าให้กับจังหวัด ซึ่งข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ ข้าวเหนียวเขียวงู เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพดีอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยลดคลอเลสเตอรอล เมื่อรับประทานเป็นประจำจึงช่วยป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ โรคปอด

ภาพรวมของสถานการณ์การผลิตข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงูเชียงราย ปี 2564 (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2564) มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดรวม 1,853 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 269 ราย จากการลงพื้นที่ของ สศท.1 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต พบว่า มีพื้นที่ปลูกรวม 17 อำเภอ แหล่งปลูกสำคัญ 3 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอเวียงชัย อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอพญาเม็งราย สำหรับคุณสมบัติพิเศษของข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่ไวต่อช่วงแสง เกษตรกรจะปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมของทุกปี และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ของทุกปี โดยปีเพาะปลูก 2564/65 เกษตรกรได้ผลผลิตรวม 741 ตัน คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ยปีละ 400 กิโลกรัม/ไร่

ด้านราคาขายข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย ราคาเฉลี่ยปี 2564 ความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา เฉลี่ยอยู่ที่ 11 บาท/กิโลกรัม ในส่วนของการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง (ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม) ราคาเฉลี่ย 40 – 45 บาท/ถุง และข้าวกล้องบรรจุถุงสุญญากาศ ราคาเฉลี่ย 50 – 65 บาท/ถุง ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 73 จำหน่ายให้กับสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรเพื่อผลิตเป็นข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศจำหน่ายให้ตลาดภายในจังหวัดและนอกจังหวัด ผลผลิตร้อยละ 10 จำหน่ายให้กับโรงสีข้าว ซึ่งโรงสีข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารและจำหน่ายให้ตลาดภายในจังหวัด รองลงมา ผลผลิตร้อยละ 9.9 จำหน่ายในรูปแบบข้าวเปลือกให้พ่อค้ารวบรวม ผลผลิตร้อยละ 4.5 เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และผลผลิตร้อยละ 2.6 เกษตรกร เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์   

ทั้งนี้ สำหรับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ ของข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายนั้น จังหวัดเชียงรายและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย (GI)     โดยมีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เป็นแหล่งเรียนรู้ รวบรวมและถ่ายทอดเทคโนโลยี        ทางการเกษตร อาทิ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การแปรรูป และการตลาดออนไลน์ ซึ่งหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่ ได้ส่งเสริมศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน การพัฒนาระบบข้อมูลข้าวอัจฉริยะ เพื่อเฝ้าระวังเตือนภัยการระบาดของโรค หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิต ต้นทุนและผลตอบแทนของข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย จังหวัดเชียงราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สศท.1 โทร. 053 121 318-9 หรืออีเมล          

กรมการข้าวชู“เหนียวเขี้ยวงู 8974”สุดยอด(ข้าว)พื้นเมือง สร้างยั่งยืนเกษตรกรเชียงราย

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เชียงราย

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เชียงราย

     เชียงรายนางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว และคณะฯร่วม งานประชาสัมพันธ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 &Eco Rice เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรเชียงราย และร่วมบรรยายหัวข้อ ทิศทางการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยของกรมการข้าวณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา จ.เชียงราย มีนายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน จัดโดย ม.ราชภัฏเชียงราย ภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 ใน พื้นที่ จ.เชียงราย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 พันธุ์บริสุทธิ์จากศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ส่งเสริมปลูกกระทั่งเกษตรกรผู้ปลูกฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พาน อ.เชียงแสน อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย ได้รับการยกระดับข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 ให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของดี 1 ใน 6 รายการสินค้า GI ของ จ.เชียงราย

      อนึ่ง ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 ให้เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ ก่อนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยเป็นหนึ่งใน 28 สายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ที่นักวิชาการข้าวของศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย นำเชื้อพันธุ์จากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ มาปลูกทดสอบ วิจัย คัดเลือก จนพบว่าพันธุ์ หมายเลข 8974 กำกับ มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ และให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวเหนียวเขี้ยวงูพันธุ์อื่นๆ

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เชียงราย

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 เชียงราย พันธุ์แท้ดั้งเดิม

      ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 เป็นพันธุ์พื้นเมืองของ จ.เชียงราย ที่ถูกขนานนามว่าเป็นราชาของข้าวเหนียวทั้งปวง ทางศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดเชียงราย กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้นำพันธุกรรมข้าวเหนียวเขี้ยวงูพื้นเมืองที่รวบรวมและเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ปฎิบัติการและเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (Gene bank) จำนวน 28 เชื้อพันธุ์ มาศึกษาและคัดเลือกพันธุ์โดย นายพายัพภูเบศวร์ มากกูล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ จนได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะดีและเหมาะสมที่สุดคือ สายพันธุ์ 8974 และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่  จ.เชียงราย

      ดังการเพาะปลูกของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาวนาธรรมชาติจังหวัดเชียงราย ได้เลือกวิธีพาะปลูก โดยใช้ 3วิธีคือ ปลูกต้นเดียว (ตีตารางปลูก) ปักดำแบบปราณีต และนาโยน ซึ่งทั้ง 3 วิธีจะทำให้ข้าวที่ปลูกแตกกอได้ดี สภาพแวดล้อมของต้นข้าวดีแสงแดดส่องได้ทั่วถึง การถ่ายเทอากาศดี อีกทั้งกลุ่มได้รวมตัวกันเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ ฮอร์โมน สมุนไพรป้องกัน-กำจัดโรค แมลง โดยนำความรู้มาจากศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน ต.ศรีเมืองชุม เชียงราย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวนาที่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ที่ได้รับการวิจัยตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าใช้ได้ผลจริงในการผลิตที่ปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยพลิกฟื้นดินให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

      - การเพาะปลูก กลุ่มจะมีการตรวจสอบแปลงนาอยู่เสมอพร้อมทั้งให้คำแนะนำจากปราชญ์ชาวบ้านที่มีประสบการณ์ในการทำนามาอย่างโชกโชน ทั้งเรื่องการป้องกันโรค-แมลง การจัดการธาตุอาหารให้แก่ต้นข้าว ทำอย่างไรข้าวถึงจะมีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย ทำให้ข้าวมีคุณภาพดีมากที่สุด จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก

      - การเก็บเกี่ยว กลุ่มได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวเพื่อให้พอดีกับระยะเวลาที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ข้าวสมบูรณ์ที่สุด ข้าวของกลุ่มชาวนาธรรมชาติ จ.เชียงราย จึงมีความอร่อยหอม นุ่ม เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือน

      - การลดความชื้น เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว กลุ่มจะนำข้าวมาลดความชื้นด้วยวิธีเสมือนวิธีทางธรรมชาติ เพื่อให้ข้าวยังคงมีกลิ่นหอม รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง ต่อด้วยนำมาใส่ถุงจัมโบ้เพื่อเก็บรักษา รอคำสั่งซื้อจึงสีแปรรูป ด้วยเครื่องสีข้าวที่ได้มาตรฐาน ก่อนนำมาแพ๊คบรรจุแบบสูญญากาศ เพื่อป้องกันมอดแมลง จากนั้นบรรจุกล่องมี 2 ขนาด กล่องละ10 กิโลกรัม และ 20 กิโลกรัม เพื่อเตรียมส่งให้ผู้บริโภคต่อไป

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เชียงราย

      ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 ถือได้ว่าเป็นสุดยอดราชาข้าวเหนียวมูนจนเป็นที่เล่าลือถึงความอร่อยจนกลายเป็นระดับตำนาน อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่สนใจในผลิตภัณฑ์ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาวนาธรรมชาติ จ.เชียงราย โทร.095-956-4314 หรือติดตามได้ที่เพจข้าวธรรมชาติจังหวัดเชียงราย @khaothammachad

      ขอบคุณข้อมูล-ภาพ  : เว็บไซต์กรมการข้าว และ https://mealfiction.com/qr/O57143#

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เชียงราย