สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

สำหรับคนชอบหวาน ขาดหวานไม่ได้ แต่จำเป็นต้องควบคุมน้ำหนัก หรือลดการรับประทานน้ำตาลให้น้อยลงเพราะเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความดัน สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นทางออกที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ได้รับประทานอาหารที่มีรสหวานตามต้องการแต่ไม่มีน้ำตาลและพลังงานต่ำ ทั้งนี้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีหลายประเภท และมีข้อดีข้อเสีย รวมถึงผลข้างเคียงต่อสุขภาพแตกต่างกันไป

สารบัญเนื้อหา ซ่อน

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลคืออะไร?

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีอะไรบ้าง?

1. สารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำ หรือไม่ให้พลังงาน

2. สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีอันตรายอย่างไร?

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลคืออะไร?

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Non-nutritive sweeteners) คือ สารที่ให้รสหวาน แต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ได้รับการจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามพระราชบัญญัติอาหารปี พ.ศ. 2522 และใช้อักษรย่อว่า “คน” ซึ่งสารให้ความหวานแทนน้ำตาลสามารถกระตุ้นต่อมรับรสหวานได้ เมื่อนำไปปรุงอาหารจะทำให้ได้อาหารที่มีรสชาติเหมือนปรุงด้วยน้ำตาลทรายตามปกติ จึงเป็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีอะไรบ้าง?

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ แบบที่ให้พลังงานต่ำ หรือไม่ให้พลังงาน และแบบที่ให้พลังงาน

สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
สตีเวีย (Stevia)

1. สารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำ หรือไม่ให้พลังงาน

1.1 แซคคารีน (Saccharin)

แซคคารีน หรือขัณฑสกร เป็นสารให้ความหวานชนิดให้พลังงานต่ำ แต่ข้อเสียคือไม่ทนความร้อน ใช้ปรุงอาหารระหว่างใช้ความร้อนไม่ได้ ดังนั้นจึงนิยมใช้ในขนมหวาน เครื่องดื่ม ไอศกรีม และผลไม้ดอง แต่เมื่อใช้ในปริมาณมากจะมีรสขม และถ้ารับประทานในขนาด 5-25 กรัมติดต่อกันหลายวัน หรือรับประทาน 100 กรัมในครั้งเดียว จะก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ซึม จนถึงขั้นชักได้

ถ้าเป็นคนที่แพ้แซคคารีน การรับประทานเพียงปริมาณน้อยก็ทำให้อาเจียน เกิดผื่นที่ผิวหนังได้ รวมถึงมีผลงานวิจัยว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานในปริมาณมากและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และควรใช้ในวงจำกัด เช่น ใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน

1.2 แอสปาแทม (Aspartame)

แอสปาแทม ประกอบด้วยกรดอะมิโน 2 ชนิดต่อกัน คือ ฟินิลอลานิน (phenylalanine) และกรดแอสปาติก (aspartic acid) มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 180-200 เท่า เป็นสารหลักๆ ที่ใช้ในอาหาร เครื่องดื่มน้ำอัดลม และยา มีความปลอดภัยในการบริโภค ไม่กระตุ้นการเกิดน้ำตาลในเลือด และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา

แต่ผู้ที่ต้องระวังในการบริโภคคือผู้ป่วยไมเกรน เพราะอาจกระตุ้นการปวดไมเกรน และสตรีมีครรภ์ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม รวมถึงห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคฟินิลคีโตนูเรีย ซึ่งมีข้อห้ามนี้ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ทุกตัวที่ใช้แอสปาแทม ส่วนข้อเสียอีกอย่างคือไม่ทนความร้อน จึงไม่ควรใช้ปรุงอาหารขณะที่กำลังใช้ความร้อน เพราะจะทำให้แอสปาแทมสลายตัวและรสชาติเปลี่ยนไป

1.3 สตีเวีย (Stevia)

สตีเวีย หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “หญ้าหวาน” เป็นสารธรรมชาติจากต้นหญ้าหวาน มีพลังงานน้อย แต่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 200 เท่า ใช้กันอย่างแพร่หลายมานานในหลายประเทศ สตีเวียมีข้อดีคือทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงนำมาปรุงอาหารในขณะใช้ความร้อนได้ ต่างจากแอสปาแทมที่จะสลายตัวหากโดนความร้อน ในประเทศญี่ปุ่นกับเกาหลียังนิยมใช้ในการหมักเนื้อ ปลา และผักดอง

ทั้งนี้จากการศึกษาอย่างยาวนานยังไม่มีผลรายงานด้านความอันตรายจากการบริโภค และเป็นสารที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา จึงนับได้ว่ามีความปลอดภัยสูง เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ และบุคคลที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

1.4 ซูคราโลส (Sucralose)

ซูคราโลสเป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า แต่ไม่มีพลังงาน และยังไม่สะสมในร่างกาย ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าปลอดภัยเทียบเท่าน้ำตาลธรรมชาติ ทั้งยังทนความร้อนสูง สามารถปรุงระหว่างใช้ความร้อนได้ จึงมีการใช้ในน้ำอัดลมบางยี่ห้อ ขนม ชา และกาแฟ

ส่วนข้อเสียคือ กระบวนการผลิตซูคราโลสต้องเพิ่มคลอรีนเข้าไปในโมเลกุลน้ำตาล ส่งผลให้กระเพาะอาหารไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น และอาจมีผลข้างเคียงทำให้ปวดศีรษะอีกด้วย

2. สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน

2.1 ไซลิทอล (Xylitol)

ไซลิทอลอยู่ในกลุ่มของน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) รสชาติใกล้เคียงน้ำตาลมาก และให้พลังงานเพียง 40% ของน้ำตาล สำหรับผู้ที่ชอบเคี้ยวหมากฝรั่งคงเห็นไซลิทอลเป็นส่วนประกอบอยู่บ่อยๆ รวมทั้งยังมีในยาสีฟันอีกด้วย เพราะไซลิทอลลดการเกิดกรดในช่องปากจึงไม่ทำให้ฟันผุ ไซลิทอลเป็นสารที่มีอยู่ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เห็ด ผักกาดแก้ว ต้นเบิร์ช และข้าวโพด นอกจากนี้ร่างกายสามารถสร้างไซลิทอลระหว่างการสันดาปของกลูโคสด้วย

2.2 มอลทิทอล (Maltitol)

มอลทิทอลมาจากน้ำตาลมอลโทส เป็นสารให้ความหวานที่ให้พลังงาน 60% ของน้ำตาลปกติ ทนต่อความร้อน จึงใช้ปรุงอาหารระหว่างใช้ความร้อนได้ มักพบในการทำขนมประเภทเบเกอรี่ กาแฟ นม นมถั่วเหลือง ไม่ทำให้ฟันผุคล้ายกับไซลิทอล ช่วยระบบการย่อย แต่ถ้าบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้

2.3 ซอร์บิทอล (Sorbitol)

ซอร์บิทอลอยู่ในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ มักทำมาจากน้ำเชื่อมข้าวโพด มีความหวาน 60% ของน้ำตาลทราย ให้พลังงาน 2.6 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 กรัม มักพบใน ลูกอม ยาแก้ไอ และหมากฝรั่ง แต่ซอร์บิทอลอาจทำให้เกิดฟันผุได้ แตกต่างกับไซลิทอลที่ลดการเกิดกรดในช่องปาก และถ้าบริโภคเป็นปริมาณมากอาจทำให้ท้องร่วงได้

2.4 ฟรุกโตส (Fructose)

ฟรุกโตสเป็นน้ำตาลจากผลไม้ ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 1.4 เท่า มักพบในเครื่องดื่ม อย่างเช่น น้ำอัดลม ผลไม้กล่อง ข้อเสียของฟรุกโตส คือ จะสะสมเป็นไขมันที่ตับ และสามารถระงับการหลั่งสารอินซูลินได้ จึงมีผลให้น้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลสูง อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจและเบาหวาน จึงเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ควรบริโภคในปริมาณที่น้อยมาก และควรหลีกเลี่ยง

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีอันตรายอย่างไร?

1. มีสารเคมีตกค้าง

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีส่วนประกอบทางสารเคมีที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดไปได้หมด ถ้าบริโภคเป็นเวลานานอาจทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ ทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติ และกลายเป็นมะเร็งได้

2. เป็นสาเหตุโรคอ้วนและเบาหวาน

การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปก็สามารถทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานตามมาได้ และการบริโภคแอสปาแทมปริมาณมากอาจส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ และกลับมาอยากน้ำตาลแท้มากขึ้นกว่าเดิม

3. มีสารประกอบบางอย่างที่อันตราย

แม้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลหลายอย่างจะได้รับการยอมรับจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของอาหารและยา แต่จากผลการวิจัยก็พบว่ายังมีผลข้างเคียงอยู่ไม่น้อย เช่น อาจทำให้ชักรุนแรงจนเสียชีวิต ก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นต้น

4. ส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะลำไส้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มีผลข้างเคียงทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือทำให้ท้องร่วงรุนแรงได้

5. ส่งผลต่อการทำงานของสมอง

ส่วนประกอบบางชนิดสามารถผ่านเข้าไปสะสมในเซลล์สมองได้ ซึ่งอาจทำให้สมองทำงานผิดปกติและเกิดโรค เช่น อัลไซเมอร์ ลมบ้าหมู เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คณะการอาหารและยาได้ระบุว่า ปริมาณการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เหมาะสม มีดังนี้

  1. แอสปาแตม ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน
  2. แซคคาริน ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน

ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคหรือมีภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย ห้ามทานแอสปาแทมโดยเด็ดขาด เพราะอันตรายต่อระบบประสาทและสมอง

จากข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาล มีทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งในด้านของโทษอาจดูอันตรายกว่าที่คิด ดังนั้นหากต้องการรับประทานสารให้ความหวานเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือเพราะป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน ควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง แต่สำหรับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก การค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการกินหวานลงโดยไม่ต้องใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพื่อการรักษาสุขภาพในระยะยาว