การบูรณาการแผน ระดับพื้นที่ one plan

ปลัด มท. ปลุกพลังราชสีห์นักวางแผน มุ่งขับเคลื่อน One Plan เพื่อเสริมสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง

ปลัด มท. ปลุกพลังราชสีห์นักวางแผน มุ่งขับเคลื่อน One Plan เพื่อเสริมสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้เกิดความยั่งยืน

วันนี้ (9 มิ.ย. 65) เวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษ นโยบายการขับเคลื่อนโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย กิจกรรมการจัดทำ Workshop การจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ (One Plan) โดยมี บุคลากรที่รับผิดชอบการจัดทำแผนงาน/โครงการ และด้านยุทธศาสตร์ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวม 120 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า One Plan เป็นเหมือนวาทยกร (Conductor) ที่เรียบเรียงเสียงดนตรีจากเครื่องดนตรีต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นเสียงที่ไพเราะ อันได้แก่ 1) กรอบยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาจังหวัด และ 2) ปัญหาความต้องการของทุกหมู่บ้าน/ตำบลในอำเภอ เพราะหลักการทำแผนต้องมีทั้งการนำเสนอจากพื้นที่ (Bottom up) และจากส่วนกลางไปในพื้นที่ (Top down) ด้วยการนำสภาพปัญหาของพี่น้องประชาชนมาจัดลำดับความสำคัญ เพื่อที่ประชุมอำเภอรับรองและส่งต่อไปยังจังหวัด ยึดโยงกับแผนชาติและแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งหากแผนดังกล่าวถูกต้อง แม่นยำ ครอบคลุม และมีคุณภาพ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 62 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”ด้วยการเป็นผู้นำของพื้นที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของจังหวัด และนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ต้องเป็นแม่ทัพนำทุกภาคส่วนไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งในเชิงพื้นที่ (Area Based) และเชิงอำนาจหน้าที่ (Function Based) ซึ่งการจะเป็นผู้นำที่ดี มีนัยที่สำคัญ คือ ต้องเป็นนักประสานงานการทำงานของทั้ง 20 กระทรวงในพื้นที่ และเป็นผู้นำที่สามารถประสานงานทุกภาคีเครือข่ายให้ได้ “รัฐบาลมีนายกรัฐมนตรีฉันใด ท่านต้องมีภาคีเครือข่ายเหมือนเราฉันนั้น อันหมายความว่า เมื่อออกจากทำเนียบรัฐบาล ก็มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอื่น ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นทั้งผู้นำในการขับเคลื่อนและเป็นผู้ประสานความรักความสามัคคีของทุกภาคีเครือข่ายมาเกื้อหนุนให้การขับเคลื่อนเกิดพลัง เฉกเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอที่ต้องบริหารทรัพยากรทั้งคน งบประมาณ ระบบ ภาวะผู้นำ และวิธีการบริหารจัดการ ภายในพื้นที่จังหวัด/อำเภอ โดยมี 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ 1) ภาคราชการ 2) ภาควิชาการ ปราชญ์ท้องถิ่น 3) ภาคผู้นำศาสนา 4) ภาคเอกชน 5) ภาคประชาชน 6) ภาคประชาสังคม และ 7) ภาคสื่อมวลชน ซึ่งภาคสื่อมวลชนนี้หมายรวมถึงตัวพวกเราทุกคนที่มีความรู้ความสามารถและชอบสื่อสารกับสังคมทั้งวงเล็ก และวงกว้าง ดังเช่น ท่านพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีที่ใช้หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน และสื่อสังคมออนไลน์อย่างขะมักเขม้น ขยันขันแข็ง ในการบันทึกเสียงบอกเล่าภารกิจประจำวัน แนวนโยบายของทุกหน่วยงาน รวมถึงเรื่องที่อยากคุยกับประชาชนก่อนนอนทุกคืน เพื่อเผยแพร่ในทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ซึ่งท่านก็กลายเป็น “สื่อมวลชน” ดังนั้น สิ่งสำคัญในการทำงาน คือ การรายงานผล (Report) ทั้งจากผู้ปฏิบัติไปยังนายอำเภอ และนายอำเภอก็ประชาสัมพันธ์กับสื่อมวลชนกับประชาชน เพื่อให้เกิดความสนิทสนมคุ้นชินระหว่างผู้นำกับพี่น้องประชาชน และเกิดภาพลักษณ์ที่ดี เกิดการสร้างการรับรู้ การยอมรับนับถือจากพี่น้องประชาชน และยังเป็นช่องทางทำให้นายอำเภอได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเสนอแนะหรือปัญหาจากพี่น้องประชาชน โดยใช้รายการ + ช่องทางให้พี่น้องประชาชนได้สื่อสารกับเราได้ เช่น สายด่วน 1567 หรือตู้ราชสีห์ ที่เริ่มต้นจากนางวิพร แววสีผ่อง นายอำเภอสามโคก ทำเป็นตัวอย่างในการ “สื่อสารสังคม” อันเป็นขั้นตอนสำคัญที่นำความสำเร็จไปสู่การยอมรับนับถือ สู่ความร่วมมือ สู่การทำงานที่ทันท่วงที ท่ามกลางพลวัตความเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว

การบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน โดยมีผู้นำเป็นผู้กระตุ้น ปลุกเร้า เรียกร้องการทำงานที่หนัก อย่างรอบด้าน เพื่อให้การบูรณาการเกิดขึ้น ด้วยการปรับกรอบความคิด (Mindset) สู่การเป็นผู้นำการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่กระทรวงมหาดไทย โดยโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย จะทำให้เกิดผู้นำและทีมงานที่เข้าไปนั่งในหัวใจของประชาชน อันเป็นความท้าทายของท่านนายอำเภอทุกคน และผู้เข้าอบรมจากส่วนกลาง รัฐวิสาหกิจทุกคน ว่า “ใจท่านมี Passion ในการ Change for Good ซึ่งสิ่งที่จำเป็น คือ ทุกคนต้องให้กำลังใจกัน ต้องช่วยกันปลุกเร้าจิตใจว่ามันถึงเวลาที่เราต้องมาทบทวนบทบาทของการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าจำเป็นต้องปรับรูปแบบและวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เหมาะสมกับสถานการณ์ภูมิสังคมในปัจจุบัน และมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดความยากจน โดยพัฒนาคนให้เป็นบุคลากรคุณภาพ เพื่อกลับไปพัฒนาชุมชน ตำบล หมู่บ้าน และก่อให้เกิดนักพัฒนาที่สามารถลุกขึ้นมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวให้มีความมั่นคง ยั่งยืนให้ได้ ทั้งนี้ ภายหลังจากรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ทำให้กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM ในการหาเป้าหมายความเดือดร้อนทุกเรื่องที่ประชาชนกำลังประสบและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง และมีข้อมูลครบทั้ง 878 อำเภอ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้นำข้อมูลดังกล่าวมอบให้กับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่ออุดช่องว่างของปัญหาที่อาจตกหล่นหรือยังไม่ได้รับการแก้ไข และปลุกเร้าทำให้ผู้คนในพื้นที่เดียวกันมาช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนสิ่งที่ดีให้ประโยชน์สุขทั้งหลายกลับไปสู่พี่น้องประชาชนให้ได้ ทั้งระยะสั้น คือ อยู่รอด ระยะกลาง ให้พอเพียงเลี้ยงตัวเองได้ และระยะยาว คือ มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยพลังภาคีเครือข่ายที่กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เช่น บันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และ MOU ความร่วมมือ บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และการประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) อันจะส่งผลทำให้การพัฒนาประเทศส่งผลให้โลกสามารถดำรงคงอยู่ นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น อยู่ที่ Passion ของผู้ปฏิบัติที่ต้องเห็นร่วมกันก่อน และเมื่อเห็นร่วมกันแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติ ใน 2 บทบาท คือ 1) ทุกคนต้องเป็นผู้ปฏิบัติ หรือเป็น Change Agent ผู้นำการเปลี่ยนแปลง อะไรที่เราว่าดี ที่เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องดีที่ต้องเผยแพร่ เราก็ต้องทำเอง และ 2) ต้องเป็นผู้สนับสนุนในการกำหนดกรอบแผนงาน/โครงการ หรือ “ทำหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีที่สุด” ให้ได้ ด้วยการนำเสนอ (input) สิ่งที่ดีที่อยากให้เกิดขึ้นให้ผู้บริหารเห็นพ้องต้องกับเราและทำตามที่เราต้องการ หรืออาจเรียกได้ว่า “ผู้นำต้องทำก่อน” ทั้งการทบทวน วางแผน ริเริ่ม นำเสนอ โน้มน้าว ยกตัวอย่าง เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและทำตามเป้าประสงค์ให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อของสหประชาชาติ ซึ่งส่วนหนึ่ง คือ เป้าหมายหรือสภาพปัญหาที่นายอำเภอและท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ไปค้นเจอแล้ว เช่น ไม่มีข้าว ไม่มีน้ำ หิวโหย ป่วยติดเตียง ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชน ลูกหลานติดยาเสพติด เป็นหนี้นอกระบบ มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีความรู้ ไม่มีอาชีพ และอื่น ๆ อีกมากมาย อันเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ และการช่วยเหลือที่สำคัญ ต้องมี “ผู้นำ” ที่เข้าใจในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ และต้องเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างทุกปัญหาสามารถแก้ไข โดยน้อมนำแนวพระราชดำริต่าง ๆ มาศึกษา ค้นคว้า และขับเคลื่อนปฏิบัติ เช่น การน้อมนำพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” มาเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” อันเป็นการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาคนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งตัวอย่างโครงการเหล่านี้ นอกจากจะตอบโจทย์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาที่ยังยืนครบทั้ง 17 ข้ออีกด้วย

ชาวมหาดไทยทุกคนต้องรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และช่วยกันสอดส่อง ดูแล ส่งเสริมให้คนดีได้มีอำนาจ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพราะเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่เราสามารถทำให้คนดีได้มีอำนาจในการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด จึงเป็นที่มาของ “โครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย” ซึ่งพวกเราจะได้ช่วยกันถอดบทเรียนความสำเร็จและปฏิบัติการขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่สำเร็จในโครงการนำร่อง อย่างน้อยที่สุด 76 อำเภอใน 76 จังหวัด ด้วยการบูรณาการทำให้คนของทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจไปสนับสนุนนายอำเภอให้ทำงานในพื้นที่ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ครัวเรือน โดยใช้ 5 กลไก คือ การประสานงานภาคีเครือข่าย แผนงานยุทธศาสตร์ การติดตามประเมินผล การจัดการความรู้ และการสื่อสารกับสังคม เพื่อให้ทุกภาคีเครือข่ายช่วยทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถขจัดความทุกข์ยากลำบาก ทำให้ทุกชุมชนมีรากฐานสำคัญของการดำรงชีวิต การทำมาหากิน คือ มีคนที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทั้งผู้นำชุมชน หัวหน้าครอบครัว ต้องตื่นขึ้นมา วางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำให้เกิดผู้นำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย “ใจ” ต้องเป็นผู้นำ “ใจ” ต้องเป็นเรื่องใหญ่ และกลไกส่วนกลางทั้งหมดต้องสนับสนุนบทบาทท่านนายอำเภอ เพื่อประโยชน์พี่น้องประชาชนและประเทศชาติ อันส่งผลให้กระทรวงมหาดไทยยังเป็นที่เคารพ เชื่อมั่น ศรัทธา และยกย่องว่า “อยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน” สนองพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย