ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาด้านใด

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ : ปอมเปโอเยือนไทยกับภารกิจที่ไม่ลับ ถ่วงดุลจีน-สานต่อการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

  • สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย

30 กรกฎาคม 2019

ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาด้านใด

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

การเยือนประเทศไทยแบบทวิภาคีของ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างการร่วมประชุมอาเซียนระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค. 2562 นี้ จะเป็นการตอกย้ำความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงเพื่อสร้างดุลยภาพกับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

นักสังเกตการณ์มองว่า สหรัฐฯ มุ่งหวังจะยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ให้ได้ทั้งความสัมพันธ์โดยเฉพาะทางการทหารที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นหลังจากที่ปล่อยให้ไทยเข้าใกล้จีนมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน

ปอมเปโอ มีกำหนดจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 1 ส.ค. เพื่อประชุมกับกลุ่มอาเซียนและกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative-LMI) กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย นอกจากนี้แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังจะได้หารือทวิภาคีกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และปาฐกถาเรื่องบทบาททางเศรษฐกิจของอเมริกันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

  • "เผือกร้อน" การต่างประเทศ 3 ก้อน ในมือรัฐบาลใหม่
  • ที่ประชุมสุดยอดผู้นำรับรองปฏิญญาต้านขยะทะเลอาเซียน เร่งผลักดัน RCEP ภายในปีนี้
  • นักวิเคราะห์ชี้ ทรัมป์คุยประยุทธ์ ผลประโยชน์อเมริกาอยู่เหนือค่าประชาธิปไตย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวผ่านการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปอมเปโอจะหารือกับนายดอนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ต่อข้อสงสัยที่ว่า ทำไมสหรัฐฯ ไม่ค่อยเอาใจใส่เรื่องความถดถอยของประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวซึ่งไม่ประสงค์จะให้ระบุชื่อ กล่าวว่า แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลายอย่างจะเป็นสิ่งที่น่าเสียใจ แต่การเลือกตั้งในเดือน มี.ค. ก็แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้

"เรามองว่า (ประชาธิปไตย) เป็นกระบวนการมากกว่าจะเป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง และเราจะดำเนินการร่วมกับประเทศไทยจากจุดนั้น" เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว

นายดอนกล่าวว่า ท่าทีดังกล่าวบวกกับถ้อยแถลงของปอมเปโอในการต้อนรับคณะรัฐมนตรีใหม่ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยเห็นว่า "เป็นท่าทีที่สร้างสรรค์อย่างมาก สมกับความเป็นมิตรประเทศกันมา 200 ปี ผลประโยชน์ที่ร่วมกันมาทั้งในอดีตและปัจจุบันก็เป็นที่รับรู้กันอยู่ ก็ไม่ใช่แต่เรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียว ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะมาจากรัฐประหารแต่ชีวิตประจำวันของประชาชนก็มีความสงบ เรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ทำกันได้มาโดยตลอดตามหน้าสื่อมวลชน รัฐบาลก็ไม่ได้ห้าม ที่ห้ามก็เป็นเฉพาะความพยายามที่จะสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้ห้ามปรามมากมายอะไร ข้างนอกก็ไม่ได้เห็นว่าประเทศไทยผิดปกติแต่อย่างใด"

แม้ว่าจะมีความขุ่นเคืองกันทางการทูตในกรณีที่สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศตัวตั้งตัวตีที่ส่งคนไปสังเกตการณ์คดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อเดือนเม.ย. ถึงขนาดกระทรวงการต่างประเทศไทยเรียกอุปทูตสหรัฐฯ และผู้แทนสถานทูตของประเทศอื่น ๆ ที่ไปร่วมสังเกตการณ์คดีนั้นไปรับบันทึกช่วยจำแสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว แต่นักสังเกตการณ์ก็เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์หรือแม้แต่ตัว ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศเอง ก็ไม่ได้จริงจังกับปัญหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเท่าใดนัก

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

พล.อ.ประยุทธ์และคณะเข้าพบและเจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 2 ต.ค. 2560

ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เยือนทำเนียบขาวเมื่อเดือนต.ค. 2560 หลังจากนั้นผู้นำระดับสูงโดยเฉพาะทางฝ่ายความมั่นคงและการทหารเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการความมั่นคงเอเชียและแปซิฟิก แรนดัล ไชรฟเวอร์ เยือนประเทศไทยในวันที่ 29-30 พ.ย. 2561 เพื่อเป็นประธานร่วมการหารือทวิภาคีด้านยุทธศาสตร์กลาโหมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย แม้ว่าความช่วยเหลือทางทหารบางรายการจะติดค้างอยู่อันเนื่องมาจากการรัฐประหารในปี 2557 เช่น International Military Education (IMET) ก็คาดว่าจะกลับมาให้อีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้ อีกทั้งความร่วมมือด้านอื่น เช่น การซ้อมรบคอบราโกลด์และรายการอื่น ๆ รวมถึงการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ดำเนินไปตามปกติตลอดมา

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

คอบร้าโกลด์เป็นการฝึกซ้อมทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกรก เรย์มอนด์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยุทธศาสตร์และความมั่นคง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บอกกับบีบีซีไทยว่า แม้ว่าการเลือกตั้งของไทยในเดือน มี.ค. จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความไม่โปร่งใสและกฎระเบียบที่ไม่ได้มาตรฐานสากล แต่การที่สหรัฐฯ แสดงท่าทีซึ่งเป็นไปในทางบวกพร้อมกับแถลงการณ์ต้อนรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็เป็นการเปิดทางให้ความร่วมมือทางความมั่นคงและการทหารของไทยและสหรัฐฯ สามารถดำเนินการไปได้อย่างเต็มรูปแบบ

  • ดิอีคอนอมิสต์ วิเคราะห์ รัฐบาลใหม่ คือ "ตอนใหม่ที่ไม่เท่าเทียม" ของการเมืองไทย
  • วอชิงตันโพสต์ ระบุประชาธิปไตยจอมปลอมของไทย ยังไม่คู่ควรกับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
  • เหมือนและต่างของความเป็น ทรัมป์ และ ประยุทธ์

ถ้าหากไม่ยึดติดท่าทีทางการทูตเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น คดีของธนาธรแล้วจะพบว่า สหรัฐฯ เอาจริงเอาจังกับการรุกคืบในทางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับไทยในทางความมั่นคงและการทหารมาโดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ ในขณะที่ฝ่ายไทยก็มีท่าทีการตอบสนองไปทางที่เป็นบวกมากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ว่าการเลือก พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี 2561 อาจจะตอบสนองต่อปัญหาดุลกำลังทางการเมืองภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่เรย์มอนด์ ผู้เขียนหนังสือ เรื่อง อำนาจทหารไทย (Thai Military Power) บอกว่า การที่ พล.อ. อภิรัชต์ได้รับการศึกษาชั้นสูงในสหรัฐฯ และท่าทีซึ่งแสดงออกว่านิยมชมชอบสหรัฐฯ เป็นการเอื้อต่อการกระชับความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

พล.อ.อภิรัชต์เลือกที่จะไปเยือนสหรัฐฯ ก่อนจีนเมื่อครั้งที่เขาเข้ารับตำแหน่งใหม่ในปี 2561 เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงลำดับความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เขาประกาศว่าจะปรับปรุงกองทัพตามแบบอย่างกองทัพสหรัฐฯ เขาเลือกยานยนต์หุ้มเกราะล้อยางสไตร์เกอร์จากสหรัฐฯ เพื่อเข้าประจำการในกองพลทหารราบที่ 11 กองทัพไทยประชาสัมพันธ์ยุทโธปกรณ์รายการนี้อย่างคึกโครมว่า M-1126 สไตรเกอร์ จากสหรัฐฯ ภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการทหาร (Foreign Military Sale-FMS) จำนวน 37 คัน และได้รับสนับสนุนแบบให้เปล่าจากสหรัฐฯ อีก 23 คัน ทำให้กองทัพบกจะได้รับรถรบในรุ่นมาตรฐานเดียวกับที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติงานทั้งสิ้น 60 คัน และที่สำคัญยานเกราะรุ่นนี้เป็นยุทโธปกรณ์ระดับโลกที่สหรัฐฯ ขายให้ไทยเป็นชาติแรก สินค้ารายการนี้จะเริ่มทยอยส่งมอบในเดือน ก.ย. นี้

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

เครื่องบินรบ F-16

อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่งแจ้งสภาครองเกรสเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ว่า จะอนุมัติการซื้อรถลำเลียงหุ้มเกราะจำนวน 60 คันให้กองทัพไทยในมูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่ได้กล่าวถึงจำนวนที่ให้เปล่าแต่อย่างใด และเหมือนกับการขายอาวุธล็อตอื่น ๆ เหตุผลสำคัญในการขายให้ไทยคือ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ อีกทั้งเพื่อช่วยปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศพันธมิตรนอกนาโต้ (major non-NATO ally) ในอินโด-แปซิฟิก

แม้จะปรากฏมีข่าวทั่วไปว่า หลังจากกองทัพยึดอำนาจทางการเมืองในปี 2557 แล้ว ไทยจะซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรถลำเลียงหุ้มเกราะ รถถังหรือเรือดำน้ำ แต่กองทัพไทยก็ไม่ได้หยุดซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ

สถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทยระบุว่า ไทยซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ผ่านโครงการ FMS มูลค่าทั้งสิ้น 437 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับแต่การรัฐประหารปี 2557 ในจำนวนนั้นประกอบไปด้วย การปรับปรุงสมรรถภาพเครื่องบินรบ F-16, การซื้อเฮลิคอปเตอร์ แบล็กฮอว์กไปจนถึงขีปนาวุธ RGM-84L Harpoon Block II Surface Launched Missiles

  • ก.ตปท.สหรัฐฯ อนุมัติขายขีปนาวุธ แก่ไทย มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท
  • อังกฤษขายอาวุธ-ยุทธภัณฑ์ให้ไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า ในสมัย คสช.

ที่มาของภาพ, BOEING DEFENSE, SPACE & SECURITY

คำบรรยายภาพ,

ขีปนาวุธ ฮาร์พูน บล็อค ทูว์ รุ่น RGM-84L

ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ไชรฟเวอร์ บอกกับผู้สื่อข่าวกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งเมื่อครั้งมาเยือนประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ ไม่มีปัญหาอะไรกับการที่ไทยจะซื้ออาวุธจากจีน แต่อยากให้กองทัพไทยพิจารณาว่า อุปกรณ์ของสหรัฐฯ มีมาตรฐานสูงกว่า และก็ไม่กังวลด้วยว่าไทยและจีนจะมีความร่วมมือทางทหารแนบแน่นยิ่งขึ้น ตราบเท่าที่ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปโดยเปิดเผย เพราะกองทัพสหรัฐฯ ก็มีความร่วมมือกับกองทัพประชาชนจีนด้วยเช่นกัน

ในทำนองเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนที่แน่นแฟ้นมากขึ้นก็เป็นเสมือนแรงจูงใจสำคัญให้สหรัฐฯ ต้องพยายามใกล้ชิดกับไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน รายงานข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัล เกี่ยวกับการทำสัญญาลับในการใช้กัมพูชาเป็นฐานทัพเรือของจีน แม้ว่าจะยังพิสูจน์ทราบไม่ได้แน่ชัดนักและทางการกัมพูชาก็ปฏิเสธข่าวนี้แล้ว แต่ทั้งไทยและสหรัฐฯ ก็จับตามองเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่า วอชิงตันจะอาศัยแรงส่งจากเรื่องนี้ในการทำความร่วมมือกับกองทัพไทยมากยิ่งขึ้น เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยคือภัยคุกคามความมั่นคงของไทยอย่างหนึ่งอยู่แล้ว การที่จีนสนับสนุนกัมพูชาในการตั้งฐานทัพใกล้ชายแดนยิ่งกระตุ้นให้กองทัพไทยต้องสร้างสมดุลทางทหาร

  • ส่องงบกองทัพไทย เพิ่มกว่า 2 เท่าในรอบ 12 ปี
  • ทิลเลอร์สันเยือนไทย: เรา กับ เขา หวัง อะไรกัน

ผู้เชี่ยวชาญอย่างเรย์มอนเชื่อว่า รัฐบาลของทรัมป์ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดดุลการค้ากับไทย เป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มความร่วมมือทางทหารที่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ไทยต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อปรับดุลการค้ากัน

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า มูลค่าการค้าของไทยและสหรัฐฯ มีทั้งสิ้น 800,000 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ มากถึง 200,000 ล้านบาท แต่การเติบโตของการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มีเพียง 17.5 % ในขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ ขยายตัว 30 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน