ลักษณะ พื้นฐาน ของ โครงสร้าง เว็บ แบบ ลึก

เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้คนค้นหาธุรกิจของเราเจอ และรู้จักว่าเรากำลังขายสินค้าหรือบริการใด เรียกได้ว่าเว็บไซต์คือหน้าตาของแบรนด์ที่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเลยทีเดียว ดังนั้น ก่อนจะออกแบบเว็บไซต์ให้ดี เราต้องมีการออกแบบเนื้อหาและวางโครงสร้างเว็บไซต์ให้ดีเสียก่อน โดยโครงสร้างเว็บไซต์ที่ว่านั้นก็คือ “Site Structure” ที่เราจะมาอธิบายในวันนี้ ซึ่งถ้าหากเราต้องการให้เว็บไซต์ปรากฏอยู่อันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ให้ถูกต้องและเหมาะสมก่อนเป็นอันดับแรก

วิธีออกแบบ Site Structure

Table of Contents

  • Site Structure คืออะไร?
  • Site Structure สำคัญอย่างไร?
    • สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เข้าชม
    • ทำให้จัดการข้อมูลได้ง่าย
    • มีประสิทธิภาพต่อการทำ SEO
  • รูปแบบของ Site Structure คืออะไร?
    • Linear Structure
    • Hierarchical Structure
    • Web Linked Structure
    • Hybrid Structure
  • การออกแบบ Site Structure ทำอย่างไร?
    • กำหนดเป้าหมายของเว็บไซต์
    • รู้จักกลุ่มเป้าหมาย
    • มีการเชื่อมโยงแต่ละหน้าเข้าด้วยกัน
  • สรุป

Site Structure คืออะไร?

Site Structure คือ โครงสร้างเว็บไซต์ที่ประกอบไปด้วยแต่ละหน้าลิงก์ของเว็บไซต์ หรือเรียกได้ว่าเป็นการจัดระเบียบเว็บไซต์ให้รู้ว่าเว็บฯ นั้น ๆ มีเนื้อหาหลักอะไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้อัลกอริทึมของ Google เข้าใจและหาสิ่งต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ของเราได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะมีผลในการทำ SEO หรือการจัดอันดับเว็บไซต์ กล่าวคือ หากเว็บไซต์ไหนมีการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดี ก็มีโอกาสที่จะติดอันดับแรก ๆ บนหน้าการค้นหานั่นเอง โดยโครงสร้างเว็บไซต์จะแสดงข้อมูลทั้งหมด 2 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่บอกว่าเรื่องอะไร – เป็นส่วนที่บอกว่าแต่ละหน้าเสนอเนื้อหาในหัวข้อหรือประเด็นอะไร
  • ส่วนที่บอกว่าเชื่อมโยงอย่างไร – เป็นส่วนที่แสดงว่าแต่ละหน้ามีการเชื่อมโยง (Link) กันอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพว่าเมื่อผู้ชมเว็บไซต์ดูข้อมูลอยู่ที่หน้าหนึ่ง แล้วจะเดินทางไปดูหน้าอื่นอะไรได้อีกบ้าง

 

Site Structure สำคัญอย่างไร?

สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เข้าชม

โครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีจะต้องมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เข้าชมได้ กล่าวคือ ต้องช่วยให้คนที่เข้ามาหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างครบถ้วน สะดวกรวดเร็ว เมื่อนั้นผู้เข้าชมก็จะรู้สึกพอใจและอยากกลับมาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง โดยมีผลการวิจัยออกมาว่า เว็บไซต์ที่สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เข้าชมได้ จะสามารถเพิ่มค่า Conversion Rate หรืออัตราการซื้อ-ขายได้ถึง 400% เพราะเวลาที่ผู้ใช้งานเกิดความประทับใจต่อการใช้งานเว็บไซต์ก็จะเกิดการบอกต่อกัน ทำให้มีคนเข้ามาซื้อสินค้าหรือบริการของเรามากขึ้น ดังนั้น โครงสร้างเว็บไซต์ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีได้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อการประสบความสำเร็จของเว็บไซต์

ทำให้จัดการข้อมูลได้ง่าย

Site Structure จะช่วยให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น

  • ช่วยให้เห็นภาพรวมว่าผู้ใช้งานเดินทางไปยังหน้าต่าง ๆ บนเว็บไซต์อย่างไร และพวกเขาเหล่านั้นได้รับข้อมูลที่ต้องการอย่างสะดวกสบายหรือไม่
  • ทำให้ทราบว่าแต่ละหน้าบนเว็บไซต์มีหัวข้อหลัก หัวข้อย่อยอะไร เพื่อจะได้จัดกลุ่มเนื้อหาให้ถูกต้อง
  • ทำให้เมื่อต้องการขยายเว็บไซต์ ก็สามารถทำได้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้น เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเนื้อหาเดิมมีอะไรบ้าง และควรเชื่อมโยงเนื้อหาใหม่ที่หน้าไหน

มีประสิทธิภาพต่อการทำ SEO

และที่สำคัญที่สุดที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Site Structure มีผลต่อ SEO เป็นอย่างมาก เพราะกระบวนการทำงานของ Search Engine ขั้นตอนแรกคือการที่ Bot ของ Google จะเข้ามา Crawl เว็บไซต์เพื่อสำรวจว่าเว็บไซต์ดังกล่าวเกี่ยวกับอะไร มีเนื้อหาอย่างไร ซึ่ง Site Structure ก็จะทำหน้าที่เหมือนเป็นไกด์นำทางให้ Bot เข้ามาชมสิ่งต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์นั่นเอง โดยหากเรามีโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดี Bot ก็จะเดินทางได้สะดวกและเก็บข้อมูลได้รวดเร็ว ส่งผลให้มีแนวโน้มที่เว็บไซต์ของเราจะได้อันดับดี ๆ บนหน้าแรกของ Google เพราะโครงสร้างของเว็บไซต์เอื้อต่อการทำความเข้าใจได้ง่ายว่าเว็บไซต์มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร

 

รูปแบบของ Site Structure คืออะไร?

โครงสร้างเว็บไซต์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

Linear Structure

Linear Structure คือ โครงสร้างที่นำเสนอเนื้อหาเป็นลำดับทีละหัวข้อ ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า “Sequential Structure” หรือโครงสร้างแบบตามลำดับ โดยวิธีการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ประเภทนี้จะเริ่มจาก Main Page หรือหน้า Home ที่เป็นหน้าแรกของเว็บไซต์ และไปที่หน้าต่าง ๆ ตามลำดับ โครงสร้างลักษณะนี้เหมาะสำหรับธุรกิจที่นำเสนอสินค้าหรือบริการเป็นลำดับขั้นตอน เช่น คอร์สเรียนออนไลน์ที่จะต้องเริ่มจากบทที่ 1, 2, 3 ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นต้น

Hierarchical Structure

Hierarchical Structure เป็นโครงสร้างเว็บฯ ที่ผู้ประกอบการหลายคนนิยมใช้กัน มีรูปร่างลักษณะคล้ายแผนผังต้นไม้ จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Tree Structure” ด้วย ข้อดีของโครงสร้างประเภทนี้คือ เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่เพิ่งสร้างหรือเว็บไซต์ขนาดเล็กที่มีจำนวนหน้าไม่ถึง 10 หน้า ไปจนถึงเว็บไซต์ขนาดยักษ์ใหญ่อย่าง E-Commerce ที่มีจำนวนหน้า 100 หน้าขึ้นไป โดย Hierarchical Structure จะมีการจัดแบ่งหน้าต่าง ๆ เป็นหมวดหมู่ (Category) ให้เข้าใจง่าย ทั้งต่อผู้เข้าชมและต่อ Google Bot ด้วย

Web Linked Structure

โครงสร้างเว็บไซต์ประเภทนี้มีหลักการว่าทุกเว็บเพจจะต้องเข้าถึงกันและกันได้ โดยเป้าหมายคือ ไม่ว่าผู้ใช้งานจะเข้ามาที่หน้าไหนก่อนเป็นอันดับแรก แต่ต้องสามารถเข้าถึงทุกหน้าบนเว็บไซต์ได้ ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างแบบ Web Linked Structure จึงไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะเจ้าของเว็บไซต์จะเชื่อมโยงแต่ละหน้าอย่างไรก็ได้ ขอเพียงแค่ให้ผู้ใช้งานเและ Google Bot เข้าถึงได้ทุกหน้าก็พอ วิธีการนี้เหมาะสำหรับเว็บไซต์ขนาดเล็กที่มีจำนวนหน้าไม่เกิน 10 หน้า และต้องการเน้นให้ผู้ใช้งานคลิกกลับไปกลับมาภายในเว็บไซต์เท่านั้น ถ้าหากใช้กับเว็บไซต์ขนาดใหญ่ก็จะทำให้ทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและ Google Bot เข้าใจได้ยากว่าเว็บไซต์ของเราเกี่ยวกับอะไรกันแน่

Hybrid Structure

โครงสร้างแบบสุดท้าย คือ Hybrid Structure หรือรูปแบบผสม ซึ่งโดยปกติจะยึดตามโครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchy Structure) เป็นโครงสร้างหลัก และจะเชื่อมโยงหน้าต่าง ๆ บนเว็บไซต์ด้วยโครงสร้างแบบอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะออกแบบเว็บไซต์รููปแบบใด ต้องอย่าลืมว่าหน้าเพจที่อยู่สูงกว่าก็มีโอกาสที่คนจะเข้าถึงได้มากกว่า รวมไปถึงหน้าเพจที่ถูกลิงก์ถึงบ่อย ๆ ก็มีโอกาสได้จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ (Traffic) ที่มากกว่าเช่นกัน

 

การออกแบบ Site Structure ทำอย่างไร?

การออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์มีขั้นตอนคือ การกำหนดหัวข้อและเนื้อหาที่จะเผยแพร่บนหน้าเว็บฯ จากนั้นค่อยร่างแผนผังการเชื่อมโยงแต่ละหน้าเข้าด้วยกัน มีจุดประสงค์คือ ต้องการทำโครงสร้างที่ช่วยให้ผู้เข้าชมหาข้อมูลที่ต้องการเจอได้อย่างรวดเร็ว จัดหมวดหมู่เนื้อหาอย่างเป็นระเบียบ ทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้รับประสบการณ์ที่ดี ทั้งยังส่งผลดีต่อ SEO อีกด้วย โดยการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์มีแนวทางเบื้องต้น ดังนี้

กำหนดเป้าหมายของเว็บไซต์

อันดับแรกที่ต้องทำคือ การกำหนดเป้าหมายหลักว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการจากการทำเว็บไซต์ขึ้นมา เช่น ต้องการขายสินค้าหรือบริการ ต้องการมอบข้อมูลข่าวสารแก่กลุ่มเป้าหมาย หรือต้องการเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ต่าง ๆ (Blog) เป็นต้น เมื่อเรารู้เป้าหมายของตนเองแล้ว เราก็จะสามารถระบุหัวข้อหรือประเด็นหลัก ๆ ของเว็บไซต์ได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนรู้ขอบเขตของข้อมูลที่ต้องการค้นหา เพื่อให้รูปแบบของ Site Structure เป็นไปตามระบบระเบียบที่กำหนดไว้ ไม่หลงประเด็น

รู้จักกลุ่มเป้าหมาย

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรู้จักกลุ่มเป้าหมายของตนเอง โดยข้อมูลพื้นฐานที่เราจำเป็นต้องทราบ ได้แก่

  • กลุ่มเป้าหมายคือใคร
  • ความต้องการของคนเหล่านั้นคืออะไร
  • ทำไมพวกเขาถึงต้องเข้ามาที่เว็บไซต์เรา
  • สินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่พวกเขาใช้อยู่คืออะไร

ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นนี้ จะช่วยให้เราสามารถกำหนดรายละเอียดเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ลงบนหน้าเว็บฯ ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เช่น เมื่อเรารู้ว่าคนเหล่านั้นกำลังพบเจอกับปัญหาอะไร เราก็สามารถเสนอคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการของเราที่ช่วยแก้ปัญหานั้น ๆ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้ แล้วยังสามารถบอกได้อีกด้วยว่าแบรนด์เราแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ อย่างไร ทำไมพวกเขาจึงควรเลือกเรา

มีการเชื่อมโยงแต่ละหน้าเข้าด้วยกัน

ขั้นตอนสุดท้าย คือร่างแผนผังการเชื่อมโยงกับหน้าอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า Internal Link นั่นเอง ดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้วว่าแผนผังการเชื่อมโยงจะทำให้เห็นภาพว่าผู้เข้าชมเดินทางไปดูข้อมูลในหน้าต่าง ๆ บนเว็บไซต์ได้อย่างไร สะดวกสบาย และรวดเร็วหรือไม่ โดยการทำ Internal Link นั้นมีหลักการสำคัญ ได้แก่

  • ต้องเข้าถึงง่าย เน้นความสะดวก รวดเร็ว เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ใช้งาน เมื่อนั้นก็จะมีคนเข้ามาที่เว็บไซต์เพิ่มมากขึ้น เพราะเราสามารถสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้แก่คนที่เข้ามาได้ นอกจากนี้ ยังทำให้ Google Bot หาเว็บไซต์เราเจอได้ง่ายอีกด้วย
  • ต้องจัดหมวดหมู่เนื้อหาให้เป็นระเบียบ หรือที่เรียกว่าการจัดทำ Category ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าชมทราบว่าเว็บไซต์มีเนื้อหาอะไรบ้าง และสามารถเข้าถึงหมวดหมู่ที่ตนเองต้องการได้โดยง่าย ไม่เสียเวลาไปกับการเลื่อนหาแบบไร้จุดหมาย

 

สรุป

ดังนั้น Site Structure คือโครงสร้างเว็บไซต์ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลต่าง ๆ บนหน้าเว็บฯ ของเรา ว่ามีอะไรอยู่หน้าไหน ส่วนใด หรือมีหน้าไหนเชื่อมโยงกันบ้าง หากเราวางรูปแบบโครงสร้างไม่เป็นระเบียบ โอกาสที่เว็บไซต์จะได้ขึ้นเป็นอันดับดี ๆ บนหน้าแรกของ Google ก็เป็นเรื่องยาก คนทำเว็บไซต์ทุกคนจึงต้องรู้จักการทำ Site Structure เอาไว้เพื่อให้เว็บไซต์ของตนเองมีประสิทธิภาพในการทำ SEO ให้ได้มากที่สุด