พรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กฤษฎีกา

พรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กฤษฎีกา

"...ข้อเสนอที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางการดำเนินงานในอำนาจหน้าที่เสนอต่อรัฐสภา อาจเป็นช่องทางให้ภาคการเมืองสามารถแทรกแซงหรือกดดันการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะลดทอนความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางได้และส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ อีกทั้งการแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินยังอาจส่งผลกระทบให้เกิดบริบททางเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์ได้..."

.............................

สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 โดยให้เพิ่มเติมมาตรา 61/1 ที่ระบุว่า

“ทุกสามเดือนให้ ธปท. จัดทำรายงานเปิดเผยสภาพเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจัดทำแนวทางการดำเนินงานในอำนาจหน้าที่ของ ธปท. เสนอต่อรัฐสภา เพื่อรายงานให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภาทราบ ทั้งนี้ ให้จัดทำรายงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ 31 มีนาคม วันที่ 30 มิถุนายน วันที่ 30 กันยายน และวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี”

และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้เสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ไปพิจารณา ก่อนรับหลักการ โดยให้รอการพิจารณาไว้ภายในระยะเวลา 60 วัน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อที่ 118 นั้น

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....)

โดย ครม. มีมติว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ตามร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ พิสิฐ ลี้อาธรรม กับคณะ เสนอ ซึ่งเป็นไปตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้ส่งคืนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานรัฐ 4 แห่ง ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

@ธปท.หวั่นเปิดช่อง'ภาคการเมือง'แทรกแซง-กดดัน  

ธนาคารแห่งประเทศไทย

เห็นว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความโปร่งใสในการรายงานข้อมูล ทั้งการรายงานสภาพเศรษฐกิจ การเงิน นโยบายการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน รวมทั้งวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ แนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยตลอดจนงบการเงิน ซึ่งเป็นภารกิจการรายงานตามที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ) กำหนด

อีกทั้งยังมีการจัดทำรายงานหรือข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะให้ทราบทั่วกันหลายช่องทาง ทั้งผ่านทางเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำปี รายงานเศรษฐกิจและการเงิน รายงานนโยบายการเงิน รายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ รายงานแนวโน้มธุรกิจ รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการแถลงข่าวและการสื่อสารเชิงรุกในประเด็นสำคัญต่างๆ ต่อสาธารณะผ่านช่องทางต่างๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงกับคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ ทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยเฉลี่ยปีละมากกว่า 100 ครั้ง

แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ...) พ.ศ... จะมีเจตนาที่จะเพิ่มช่องทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้แทนของประชาชน แต่การดำเนินการในกรณีดังกล่าวสามารถทำผ่านทางคณะกรรมาธิการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ทั้งนี้ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถใช้เวลาพิจารณาเรื่องอื่นที่มีความสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการมาประกอบการพิจารณาดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย

อีกทั้ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ได้ออกแบบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบต่อฝ่ายบริหาร ซึ่งหากมีประเด็นข้อสงสัยหรือประเด็นซักถาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิตั้งกระทู้ถามเพื่อให้ฝ่ายบริหารมาตอบข้อซักถามได้อยู่แล้ว

สำหรับกรณีเทียบเคียงกับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ นั้น จากการตรวจสอบพบว่า ส่วนใหญ่จะกำหนดให้ธนาคารกลางต้องรายงานต่อรัฐบาล มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่กำหนดให้ธนาคารกลางต้องรายงานต่อรัฐสภา ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงสร้างของกฎหมายว่า ให้ธนาคารกลางรับผิดชอบต่อฝ่ายบริหารหรือรัฐสภา โดยส่วนใหญ่มักจะสัมพันธ์กับผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้ว่าการของธนาคารกลาง

เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกาที่รัฐสภาเห็นชอบการแต่งตั้งประธานธนาคารกลาง การรายงานของธนาคารกลางจะเป็นการรายงานต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มิได้เป็นการรายงานโดยตรงต่อรัฐสภา

นอกจากนี้ ข้อเสนอที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำแนวทางการดำเนินงานในอำนาจหน้าที่เสนอต่อรัฐสภา อาจเป็นช่องทางให้ภาคการเมืองสามารถแทรกแซงหรือกดดันการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะลดทอนความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางได้และส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ อีกทั้งการแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินยังอาจส่งผลกระทบให้เกิดบริบททางเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์ได้

พิเคราะห์แล้ว จึงเห็นว่า เมื่อการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่รายงานเศรษฐกิจ การเงิน วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประทศไทยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว อีกทั้งปัจจุบันยังมีการสื่อสารเชิงรุกไปยังสาธารณะเป็นประจำ การเข้าถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเงิน รวมทั้งแนวนโยบายต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นไปได้โดยสะดวก

ประกอบกับหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภามีประเด็นข้อสงสัยหรือข้อซักถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินหรือแนวนโยบายในการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็สามารถใช้ช่องทางตามอำนาจหน้าที่ในการตั้งกระทู้ ถามเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากฝ่ายบริหารได้อยู่แล้ว กรณีจึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐสภาโดยตรง

พรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กฤษฎีกา

พรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กฤษฎีกา
(ที่มา เอกสารประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565)

@'สศค.'ระบุ'ธปท.'รายงาน-เผยแพร่ข้อมูลสภาพเศรษฐกิจเพียงพอแล้ว 

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

เห็นว่า การรายงานสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน และแนวทางการดำเนินงานและประเมินผล เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจัดทำเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ รวมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วแต่กรณี ตามที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ บัญญัติไว้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีการสื่อสารต่อสาธารณชน เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินงานและนโยบายต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีการเผยแพร่รายงานเศรษฐกิจรายเดือน การรายงานนโยบายการเงิน การรายงานเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน และรายงานประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

สำหรับการรายงานหรือชี้แจงเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา นั้น ปัจจุบันทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มีการเข้าร่วมประชุมชี้แจงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินต่อคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นประจำ

โดยคณะกรรมาธิการฯ มีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น รวมทั้งยังมีการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ทราบด้วยอยู่แล้ว

กรณีนี้จึงมีความเห็นสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่า การดำเนินการรายงานรวมถึงการสื่อสารข้อมูลด้านต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพียงพอที่จะให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลและรับรู้สภาพเศรษฐกิจ การเงิน และแนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว

@'สศช.'ชี้ให้'ธปท.'ทำรายงานเสนอสภาฯทุก 3 เดือน'ยังไม่จำเป็น'

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เห็นว่า ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนได้รับทราบผ่านทางช่องทางต่างๆ รวมถึงการชี้แจง การรายงานข้อมูล การตอบข้อซักถาม และการจัดส่งเอกสารต่อคณะกรรมาธิการฯ ตามที่ได้รับการร้องขอ

ดังนั้น การเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจัดทำรายงานเปิดเผยสภาพเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงการจัดทำแนวทางการดำเนินงานเสนอต่อรัฐสภา โดยเฉพาะการให้จัดทำรายงานที่มีความถี่ในทุกรอบระยะเวลา 3 เดือน จึงอาจจะยังไม่มีความจำเป็น

@'สำนักงบฯ-สนง.กฤษฎีกา'เห็นพ้อง'ธปท.'ไม่ต้องทำรายงานเสนอสภาฯ

สำนักงบประมาณ

เห็นว่า การเพิ่มบทบัญญัติเรื่องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำรายงานเปิดเผยสภาพเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจัดทำแนวทางการดำเนินงานเสนอต่อรัฐสภานั้น

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ดังกล่าวในหลากหลายช่องทางอยู่แล้ว การเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว จึงอาจไม่มีความจำเป็น โดยเห็นควรให้เป็นไปตามความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เห็นว่า ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการรายงานเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและการเงิน โดยต้องวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินงาน เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งต้องจัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงินนโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงานและประเมินผล

เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบทุก 6 เดือน โดยรายงานภายใน 60 วันนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 60 และมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ

ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการดำเนินการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีการรายงานข่าวสารเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและการเงิน รายงานเศรษฐกิจการเงินรายเดือน รายงานนโยบายการเงิน รายงานแนวโน้มธุรกิจรายไตรมาส เป็นต้น ผ่านเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการทั่วไป เพื่อเป็นข้อมูลและสื่อสารแนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยให้สาธารณชนรับทราบซึ่งข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวอยู่แล้ว ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าดูข้อมูลและติดตามข่าวสารได้

นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติยังมีอำนาจตามมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบ โดยมีอำนาจในการเรียกเอกสารหรือบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะตรวจสอบ รวมทั้งมีสิทธิตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 150 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จึงสามารถเข้าถึงและรับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การเงิน และแนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีสิทธิในการชักถามประเด็นที่สงสัยได้โดยสะดวก เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินการต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่ามีช่องทางการเผยแพร่และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจการเงิน แนวนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เอื้อต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการรับรู้ของประชาชนแล้ว ในชั้นนี้ จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มบทบัญญัติในการรายงานต่อรัฐสภา (ร่างมาตรา 61/1) ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ

ประกอบกับการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้แก่ประชาชนในด้านเศรษฐกิจนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถให้ความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจการเงิน การคลัง หรือการวิเคราะห์สภาวะทางเศรษฐกิจในภาพรวมโดยวิถีทางอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย

“ด้วยเหตุผลข้างต้น สำนักงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีความเห็นในชั้นนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ตามร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กับคณะ เป็นผู้เสนอ” ความเห็นของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุ

@หวังคนไทย 60 ล้านคน รับรู้-เข้าใจสภาพเศรษฐกิจ-การเงิน

สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ....นั้น พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เสนอร่างฯ ได้เสนอเหตุผลและความความจำเป็นในการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ .) พ.ศ. โดยระบุว่า

เนื่องจากประเด็นทางด้านเศรษฐกิจการเงินเป็นประเด็นที่สำคัญ และที่ผ่านมาการใช้ระยะเวลาในการพิจารณาของรัฐสภาจะเน้นไปที่เรื่องของกฎหมาย สังคม และสิทธิมนุษยชน ค่อนข้างมาก การให้เวลากับเรื่องเศรษฐกิจมีเพียงเล็กน้อยและส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องแนวนโยบายทางด้านการคลัง

แต่ในเรื่องสภาพเศรษฐกิจการเงินและแนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐสภาและประชาชนคนไทยมีโอกาสได้รับรู้น้อย จึงเห็นว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทยได้มาชี้แจงแถลงรายงานเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจการเงินและแนวนโยบายในการดำเนินงานในรัฐสภา จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประชาชนอย่างมาก

เพราะการขี้แจงในรัฐสภาไม่เพียงแต่เป็นการชี้แจงหรือรายงานต่อสมาซิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น ยังเป็นการรายงานต่อประชาชนคนไทยอีกกว่า 60 ล้านคน เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจการเงิน และแนวนโยบายในการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในด้านการเงิน (Financial Literacy) ให้กับสมาชิกรัฐสภาและประชาชนคนไทย

ประกอบกับหากมีความเข้าใจผิดหรือมีความสับสนในข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงิน หรือแนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะเป็นโอกาสอันดีในการชี้แจงความไม่เข้าใจหรือการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหมดสิ้นไป

ประกอบกับที่ผ่านมา แม้จะมีการขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมาขี้แจงต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการเงิน แต่การรับรู้รับทราบก็จะจำกัดอยู่เพียงแค่บุคคลบางกลุ่มเท่านั้น มิได้สร้างความรับรู้แก่บุคคลทั่วไปดังเช่นการประชุมรัฐสภา ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนให้รับรู้รับทราบทั่วกัน ซึ่งจะทำให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจการเงินและแนวนโยบายต่างๆ ซึมชับในระบบได้มากขึ้น อันจะส่งผลให้ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาทางด้านความรู้ทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงิน และแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านทางเว็บไชต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มิได้เข้าถึงได้โดยสะดวกกับบุคคลทุกกลุ่ม

จึงสมควรแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้สื่อสารกับสมาชิกรัฐสภาและประชาชน เพื่อชี้แจงถึงสภาพเศรษฐกิจและการเงินและบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยได้โดยตรง ซึ่งร่างกฎหมายนี้น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

@'พิสิฐ'ระบุ'ธปท'ขาดโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

นอกจากนี้ พิสิฐ ยังให้ความเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 กำหนดให้ ธปท.มีหน้าที่ในการการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ 4 เสาหลัก ได้แก่ 1.เสถียรภาพของการเงิน หรือการดูแลปัญหาเงินเฟ้อ 2.เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน 3.เสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และ 4.เสถียรภาพของเศรษฐกิจกับต่างประเทศ

ดังนั้น ธปท. จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์รวมของข้อมูลและความรู้ทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด ธปท. มีบทบาทในการช่วยเหลือเศรษฐกิจและประชาชน โดยการออกมาตรการต่างๆ

เช่น การออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs ด้วยการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 5 แสนล้านบาท ,การตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้ 4 แสนล้านบาท ,การศึกษาติดตามปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 90% ต่อจีดีพี และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความทุกข์ยากเกี่ยวกับหนี้สินด้วยการตั้งคลินิกแก้หนี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯชุดต่างๆ ได้เชิญตัวแทนจาก ธปท. มาชี้แจงในประเด็นต่างๆ แต่ก็ได้ผลเพียงจำกัด ทำให้ตัวแทนของประชาชน คือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีโอกาสได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับการทำงานของ ธปท. ขณะที่ ธปท.เองก็ขาดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นว่า ประชาชนเห็นอย่างไรต่อการทำงานของ ธปท.

ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ให้มีความทันสมัย โดยขอให้ ธปท. มารายงานต่อรัฐสภาเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การเงิน และการดำเนินงานของ ธปท. เพื่อให้รัฐสภาได้รับทราบ และเพื่อให้มีความยึดโยงการทำงานระหว่างธปท. กับประชาชน

พรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กฤษฎีกา
(พิสิฐ ลี้อาธรรม ที่มาภาพ : รัฐสภา)

@ยันไม่ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของ'ธปท.-ผู้ว่าฯธปท.'

พิสิฐ ยังระบุว่า การให้ ธปท. มารายงานดังกล่าว ไม่ได้ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. แต่ประการใด แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติที่ธนาคารกลางสำคัญในโลกได้กระทำ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นธนาคารกลางที่เป็นอิสระ แต่ก็ยังมีหน้าที่ต้องมาชี้แจงต่อรัฐสภา

ส่วนผลการรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งพบว่ามีตัวแทนประชาชน แสดงความห่วงว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อาจกระทบต่อความเป็นอิสระ หรืออาจทำให้เกิดการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. นั้น ขอยืนยันว่า การที่ ธปท. เข้ามาให้ข้อมูลกับสภาฯนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน เพื่อที่ ธปท.จะนำข้อมูลที่ได้รับกลับไปทำงานต่อไปได้

นอกจากนี้ การทำงานของ ธปท. และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ได้รับการรับรองในกฎหมายของธนาคารอยู่แล้วว่า จะมีความเป็นอิสระ และไม่มีโอกาสที่จะให้ฝ่ายใดเข้าไปแทรกแซง อีกทั้งถือเป็นประเพณีปฏิบัติของธนาคารกลางทั่วโลก

พรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กฤษฎีกา

พรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กฤษฎีกา
(ที่มา : รายงานผลการรับฟังความเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่พิสิฐ ลี้อาธรรม กับคณะเสนอ)

“การเสนอกฎหมายดังกล่าวเป็นการเสนอเพื่อให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้ ธปท. ได้มารายงาน และให้ข้อมูลทางการเงิน และเศรษฐกิจให้มีการเผยแพร่อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นการตัดปัญหาข่าวลืออันเกิดจากความไม่เข้าใจในระบบสถาบันการเงิน ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวิกฤติปี 40 จนทำให้ระบบสถาบันการเงินมีความไม่มั่นคง...

และเวลานี้ ธปท. มีบทบาทในการแก้ไขระบบการเงิน โดยจะมีการปฏิรูประบบการเงินครั้งใหญ่ ซึ่งมีผู้รับรู้มีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ติดตามข่าว ธปท. อย่างใกล้ชิดเท่านั้น แต่สภาฯไม่มีโอกาสได้รับทราบหรือแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั้งประเทศไม่มีโอกาสได้รับทราบเลย” พิสิฐ ระบุ

พิสิฐ ย้ำว่า ในระยะต่อไป บทบาทของ ธปท. จะมีมากขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ระบบการเงิน และการทำงานของสถาบันการเงินมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งจะมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ตามที่ผู้ว่าการ ธปท.ได้เสนอผ่านสื่อต่างๆ ดังนั้น หากได้มีการแลกเปลี่ยนพูดจากันในประเด็นเหล่านี้ในสภาฯก็จะเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

จากนี้จึงต้องติดตามว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ฉบับดังกล่าว ถูกส่งกลับคืนมาให้สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ที่ประชุมสภาฯในสมัยประชุมที่หน้า ซึ่งจะเปิดประชุมสภาฯในเดือน พ.ค.2565 นั้น จะมีมติ ‘รับหลักการ’ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือไม่ อย่างไร?

อ่านประกอบ :

ฟังความเห็นแก้กม.แบงก์ชาติ! ให้รายงานผลการดำเนินงานสภาฯทุก 3 เดือน