การ ตั้ง คำถาม เกี่ยว กับ การ ศึกษา

ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

เมื่อโลกเดินทางโดยไม่มีวันหยุด ไม่มีการลาพักร้อน ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ อุตสาหกรรมยุคเก่าพัฒนาจนก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้สร้างผลกระทบไปทั่วทุกแวดวง เพราะการที่โลกพัฒนาและเปิดแข่งขันกันอย่างเสรีมากขึ้น ทำให้ระบบสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา รวมถึงเรื่องอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไป 

ความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง ทักษะต่างๆ ที่เคยสำคัญและจำเป็น อาจทำได้ในเวลาอันสั้นด้วยคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว 

เมื่อโลกเปลี่ยน การเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนตาม 

แนวคิดเรื่องทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จึงเริ่มปรากฏขึ้นในโลกตะวันตกและได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก 

เมื่อประมวลภาพรวมออกมาพบว่ามีอยู่ 4 ทักษะหลักที่มักถูกอ้างถึงในแนวคิดนี้ ได้แก่ 

  • การสร้างความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม (collaboration and teamwork) 
  • ความสร้างสรรค์และจินตนาการ (creativity and imagination) 
  • การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking)
  • การแก้ปัญหา (problem solving) 

ประเทศไทยก็ไม่ตกขบวน หยิบยืมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มาเป็นแนวคิดกระแสหลักในการพัฒนาเยาวชนเช่นกัน เพราะเชื่อว่าแนวคิดนี้จะกลายเป็นทางออกของการแก้ปัญหาทางการศึกษาได้ เห็นได้จากการที่หลายสถาบันได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อมุ่งไปที่การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้เชิงวิชาการ และคาดหวังให้เกิดผลลัพธ์อันดีงามอย่างการสร้างเยาวชนที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานใหม่ได้

การ ตั้ง คำถาม เกี่ยว กับ การ ศึกษา
ปัณฑิตา จันทร์อร่าม (ซ้าย) ดร.วาสนา ศรีปรัชญาอนันต์ (ขวา)

ทว่าขบวนแห่งการพัฒนาครั้งนี้ยังพบปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางหลายประการ อาทิ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านใดด้านหนึ่ง จนทำให้ทักษะอีกหลายๆ ด้าน ซึ่งมีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์และสังคมถูกมองข้ามไปได้เช่นกัน

สนทนากับ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข, ดร.วาสนา ศรีปรัชญาอนันต์ และ ปัณฑิตา จันทร์อร่าม คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยเรื่อง ‘ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21: มายาคติในการศึกษาไทย’ ภายใต้ชุดโครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย ผู้ตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบว่าตลอดเส้นทางแห่งการพัฒนาครั้งนี้ว่า “เรากำลังผลักใครตกหล่นไปหรือไม่”

ครูไทยที่เรียนรู้แบบศตวรรษที่ 20 แต่ต้องมาสอนทักษะในศตวรรษที่ 21

ในแง่บวกอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เอื้อประโยชน์ในด้านการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ทว่าอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางขบวนพัฒนาครั้งนี้คือความไม่พร้อมของครู

“ปัญหาสำคัญแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือเรื่องความไม่พร้อมของครู เนื่องจากความเข้าใจของครูอาจารย์จะส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน การประเมิน รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนโดยตรง ดังนั้นการเข้าใจวิธีคิดของครูอาจารย์ต่อแนวคิดนี้คือสิ่งที่น่าสนใจ”

วาสนาอธิบายต่อว่า ปัจจุบันแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ถูกมองเป็นนโยบายใหม่ทางการศึกษา เมื่อเป็นนโยบายจากระดับบนลงล่าง จึงพบช่องโหว่ในการทำงานมากมาย ทำให้ครูอาจารย์นักเรียนขาดการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ซึ่งกันและกัน บอกเพียงว่าเด็กต้องรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 เพราะมันสำคัญ แต่ไม่ได้บอกว่ามันสำคัญอย่างไร เราจะมีวิธีสร้างอย่างไรให้ได้ผล เรามองว่าสิ่งเหล่านี้ยังส่งต่อไม่ถึงครู” 

เดิมทีครูไทยมีภาระต้องแบกเยอะมากอยู่แล้ว เมื่อรับนโยบายใหม่เข้ามาเท่ากับว่าครูจะต้องเตรียมการสอนให้ส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 มากขึ้นอีก อีกทั้งการประเมินผลยังคงใช้วิธีแบบเดิมๆ เช่น การวัดผลด้วยคะแนนข้อสอบ ซึ่งวิธีการประเมินด้วยการให้คะแนนเช่นนี้ อาจไม่เหมาะสมต่อการประเมินทักษะ

การ ตั้ง คำถาม เกี่ยว กับ การ ศึกษา

สำหรับวาสนา ผลลัพธ์ของความไม่ชัดเจนดังกล่าวอาจส่งผลให้การศึกษากลับไปอยู่จุดเดิม ความพยายามทำให้ทักษะในศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นจริง จำเป็นต้องทำให้ทุกอย่างชัดและต้องเอื้ออำนวยกับบริบทการศึกษาไทยมากที่สุด ที่สำคัญ ต้องไม่ละทิ้งสภาพจริงที่เกิดขึ้น นั่นคือครูไทยมีภาระมากมายนอกเหนือการสอน งานที่ล้นมือของครูอาจทำให้ครูไม่มีเวลาค้นหาเครื่องมือใหม่ๆ หรือวิธีสร้างการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์กับความต้องการสร้างทักษะใหม่ๆ ได้

ทว่าปัญหานี้ไม่ได้พบเฉพาะแค่ที่ประเทศไทย ในสหรัฐอเมริกาก็พบปัญหานี้เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นประเทศต้นกำเนิดแนวคิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ก็ตาม ปัญหามาคอขวดที่ความไม่พร้อมของครู ส่งผลให้โรงเรียนในบางรัฐทำได้ บางรัฐก็ทำไม่ได้ 

สื่อ: พัฒนาหรือสร้างกับดัก

สื่อเองมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น 

ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาบทบาทของสื่อที่มีต่อแนวคิดและวิธีการนำเสนอทักษะนี้ไว้เช่นกัน

ข้อค้นพบที่เกิดขึ้น คือ ในสื่อกระแสหลัก มักเล่าการพัฒนาแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านเรื่องเล่าที่ผสมผสานประเด็นคุณธรรม จริยธรรม ความพอเพียง เช่น  ข่าวเปิดเวทีถกสร้างหลักคิดใหม่ให้คนไทย’ ประธานคณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ชวนรณรงค์ความพอเพียง ความมีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต โดยกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดหายไปในสมรรถนะคนไทยในศตวรรษที่ 21

“เราเลยมองว่านี่คือวิธีหนึ่งในการรับเอาวาทกรรมการพัฒนาเข้ามาในไทย เช่นเดียวกับวาทกรรมโลกาภิวัตน์ โดยพบว่ามีการเล่าให้เกิดความรู้สึกและยอมรับว่าในศตวรรษนี้เราต้องพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยี เพื่อก้าวข้ามกับดักความจนในประเทศ ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือกิจกรรมการพัฒนาทักษะกลุ่มนี้มีภาคธุรกิจต่างๆ เข้ามาสนับสนุนมากมาย เช่น กิจกรรมที่ให้เด็กด้อยโอกาสและเด็กนานาชาติทำโปรเจ็คต์ร่วมกัน โดยอ้างว่าสิ่งนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้าง skill ต่างๆ ที่จำเป็นให้เด็กด้อยโอกาสสามารถเติบโตมาทัดเทียมกับผู้อื่นได้ ทั้งหมดทั้งมวลเราตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเหล่านี้ในพื้นที่สื่อว่านี่คือหนทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงมายาคติที่ช่วยอำพรางปัญหาที่แท้จริง”

  • การ ตั้ง คำถาม เกี่ยว กับ การ ศึกษา
  • การ ตั้ง คำถาม เกี่ยว กับ การ ศึกษา

ผลพวงหนึ่งของการที่สื่อนำเสนอเรื่องเล่าในลักษณะนี้ ทำให้แนวคิดดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หลายคนสมาทานหรือพร้อมกระโจนเข้าหาทันทีโดยไม่เคยตั้งคำถามใดๆ

คำถามที่น่าสนใจคือทุกคนเข้าใจแก่น รวมถึงมองเห็นหัวใจของแนวคิดและคำว่าทักษะดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว ปัณฑิตา อธิบายว่าแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ยังปรากฏให้เห็นในสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ทางการศึกษาหลายสำนัก 

“สิ่งที่พบในสื่อที่เราเลือกศึกษาและคิดว่ามันเป็นปัญหาคือการเลือกใช้คำในการสื่อสารถึงแนวคิดนี้” 

เราพบว่าสื่อออนไลน์ในหน่วยงานที่เราศึกษามักใช้คำศัพท์ที่เฉพาะทาง ผู้รับสารจำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องภาษา การวิเคราะห์ หรือความเข้าใจด้านการศึกษาพื้นฐาน 

ดังนั้นถ้าบอกว่าทักษะดังกล่าวคือเรื่องจำเป็นของ ‘ทุกคน’ ในศตวรรษนี้ ความเหลื่อมล้ำในการรับข่าวสารชุดนี้ อาจไม่ต่างจากกับดักที่ทำให้คนเพียงบางกลุ่มเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวแต่ขณะเดียวกันก็ละทิ้งคนอีกมากไว้ข้างหลัง 

การ ตั้ง คำถาม เกี่ยว กับ การ ศึกษา

ทักษะศตวรรษที่ 21 ถมหรือถ่างปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข อธิบายถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากแนวคิดทางการศึกษานี้ไว้ว่า

“เมื่อถามว่าทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะอะไรบ้าง ทุกคนอาจจะตอบได้ แต่ถามว่าแต่ละอย่างมันสร้างได้อย่างไร สร้างได้ผลจริงหรือเปล่า นี่คงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย”

จากข้อค้นพบระหว่างวิจัย พบว่าสื่อมีผลต่อการรับรู้และเกี่ยวพันกับความสามารถพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 นั่นเท่ากับว่าคนที่อยู่ในกระแส ตามทันโลก เข้าถึงสื่อได้มากกว่าก็จะสามารถเข้าถึงการพัฒนาแนวคิดนี้ได้ดี

“คนที่อยู่ต่างจังหวัด คนที่อยู่ในพื้นที่กันดาร เขาอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าเรากำลังใช้แนวคิดนี้ขีดเส้นแบ่งว่า คุณคือพวกที่ไม่เข้ายุคไม่ทันสมัย คุณก็ต้องเป็นชนชั้นแรงงาน แล้วเราก็เชิดชูคนที่เข้าถึงการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือเปล่า

“เรากำลังสร้างความเหลื่อมล้ำทับซ้อนลงไป เมื่อเราบอกว่าทักษะศตวรรษที่ 21 คนที่มีทักษะคือคนที่ตลาดแรงงานต้องการ นั่นเท่ากับว่าคุณกำลังบอกกับคนอีกกลุ่มหนึ่งว่าฉันไม่ต้องการคุณ งั้นคุณก็ล้าหลังต่อไป นี่คือสิ่งที่เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีจริงหรือ มันส่งผลต่อวิธีคิดในเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมต่อไป” อดิศรชวนคิด

ทักษะ หรือเด็กที่มีทักษะ เราต้องการอะไร

การส่งเสริมการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับชาติ

นี่จึงเป็นที่มาของการเลือกศึกษาวิจัย โดยมุ่งเน้นศึกษาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาเยาวชน ตั้งคำถามถึงความเข้าใจต่อแนวคิด คุณค่า และประโยชน์ของทักษะดังกล่าวของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา 

“แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะไม่ได้ส่งเมสเสจกับเด็กโดยตรง แต่เชื่อว่ามันอาจช่วยสะท้อนเสียงกลับไปถึงคนออกนโยบายให้เขาเห็นภาพ ท้ายที่สุดเด็กจะได้ผลกระทบอย่างไรกับการเกิดแนวคิดนี้ เพราะเขาคือปลายทาง” วาสนาย้ำ

การ ตั้ง คำถาม เกี่ยว กับ การ ศึกษา

นอกเหนือสิ่งอื่นใด ในฐานะผู้วิจัยเห็นตรงกันว่าการศึกษาเรื่องมายาคติ เป้าหมายที่แท้จริงคือการชักชวนคนในสังคมให้หันกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคม ก่อนที่จะเลือกสมาทาน

งานวิจัย ‘ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21: มายาคติในการศึกษาไทย’ จึงมีเป้าหมายในการศึกษาวิธีคิดและวิถีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดดังกล่าวในสังคมไทยผ่านความเข้าใจและประสบการณ์ของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยความตั้งใจของผู้ทำวิจัยคือการมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์วาทกรรมต่างๆ ที่กำกับวิธีคิด วิถีปฏิบัติ และศึกษาผลกระทบของแนวคิดนี้ต่อผู้เรียนในแง่มุมต่างๆ

“งานวิจัยนี้ชวนทุกคนฉุกคิดว่าการศึกษารูปแบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง แม้สื่อจะให้พื้นที่กับแนวคิดนี้มากขึ้นเท่าไร แต่สำหรับเด็กบางคนยังไม่แม้แต่จะเคยได้ยิน ยังไม่ต้องกล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้เคยสัมผัสการเรียนแบบ Active Learning หรือการเรียนแบบในศตวรรษที่ 21 เลยด้วยซ้ำ”

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ‘ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21: มายาคติในการศึกษาไทย’ หนึ่งในชุด ‘โครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย’

ติดตามการนำเสนองานวิจัยทั้งหมดได้ในเวทีเสวนาวิชาการ ‘ก่อการวิจัย: ถอดสลักโลกการศึกษา ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชน’ ในวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้อง 202 ชั้น 2 อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สนใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/NotHA31v4PJ5f6yx6
(รับจำนวนจำกัดและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ)

หรือติดตาม Live ได้ที่เพจโครงการผู้นำแห่งอนาคต, ก่อการครู, Way magazine

 การศึกษาไทย, ครู, ความเหลื่อมล้ำ, ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

การ ตั้ง คำถาม เกี่ยว กับ การ ศึกษา

เริ่มต้นอาชีพด้วยการฝึกปรือและอยู่กับผู้คนในประเด็นการศึกษา สนุกจะคุยกับเด็ก ชอบฟังเรื่องเล่าในห้องเรียน ที่สนใจการเรียนรู้ก็เพราะเชื่อว่านี่เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป