จรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี

1.    ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity)

1.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีพึงปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อวิชาชีพ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ปฏิบัติงานตรงตามความเป็นจริง

1.2   ข้อกำหนด

1.2.1  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

1.2.2  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานวิชาชีพอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงานที่ตนให้ บริการทางวิชาชีพ

2.    ความเที่ยงธรรม (Objectivity)

2.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ ประกอบวิชาชีพบัญชีพึงปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ปราศจากความลำเอียงและอคติ คงไว้ซึ่งความเป็นกลางในการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงาน

2.2   ข้อกำหนด

2.2.1 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องมีความยุติธรรม ซื่อตรงต่อวิชาชีพ และต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ ของงานที่ตนให้บริการทางวิชาชีพ นอกจากค่าตอบแทนที่ได้รับจากการให้บริการทางวิชาชีพนั้น

2.2.2  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ดุลพินิจบนพื้นฐานของหลักฐานที่เชื่อถือได้ โดยปราศจากความมีอคติ ความลำเอียง

2.2.3 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ดุลพินิจอย่างเที่ยงธรรมโดยหลีกเลี่ยงความ สัมพันธ์หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่อาจทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

3. ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพและความระมัดระวังรอบคอบ (Professional Competence and Due Care)

3.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีพึงปฏิบัติงานโดยใช้ความรู้ความสามารถ และความชำนาญใน วิชาชีพด้วยความมีสติ ใส่ใจ เต็มความสามารถ ความเพียรพยายาม และปฏิบัติด้วยความระมัดระวังรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และมั่นใจได้ว่า ได้ให้บริการทางวิชาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ต่างๆ และมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

3.2   ข้อกำหนด

3.2.1 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ วิธีปฏิบัติ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความชำนาญและประสบการณ์ทางวิชาชีพด้วยความมีสติ ใส่ใจ เต็มความสามารถ และระมัดระวังรอบคอบ

3.2.2 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องให้บริการทางวิชาชีพ โดยมีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติงานให้สำเร็จได้

3.2.3 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องให้บริการทางวิชาชีพด้วยความมุ่งมั่นและขยันหมั่นเพียร

3.2.4 ผู้ ประกอบวิชาชีพบัญชี ต้องศึกษาหาความรู้และความชำนาญทางวิชาชีพเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถให้ทันสมัยอยู่เสมอ

4.    การรักษาความลับ (Confidentiality)

4.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่พึงเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของกิจการที่ตนได้มาจากการให้บริการทางวิชาชีพ

4.2   ข้อกำหนด

4.2.1  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของกิจการ ซึ่งตนได้มา ในระหว่างการปฏิบัติงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง เว้นแต่กรณีที่ต้องให้ถ้อยคำในฐานะพยานตามกฎหมาย เป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบตามกฎหมาย หรือโดยสิทธิในทางวิชาชีพ หรือโดยหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือมาตรฐานของวิชาชีพที่จะต้องเปิด เผย

4.2.1 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่นำความลับของกิจการที่ตนได้มาระหว่างที่ปฏิบัติงาน ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลที่สาม

5.  การปฏิบัติตนเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ (Professional Behavior)

5.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ ประกอบวิชาชีพบัญชีพึงประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร สำนึกในหน้าที่ และพึงปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบเพื่อรักษาชื่อเสียงแห่งวิชาชีพ และงดเว้นการกระทำที่จะนำมาสู่การเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

5.2   ข้อกำหนด

5.2.1  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร สำนึกในหน้าที่ และไม่ปฏิบัติตนในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แก่วิชาชีพ

5.2.2 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นอ้างชื่อว่าตนเป็นผู้ปฏิบัติหรือ ควบคุมงานให้บริการทางวิชาชีพบัญชีโดยที่ตนเองมิได้เป็นผู้ปฏิบัติหรือควบ คุมงานให้บริการอย่างแท้จริง

5.2.3 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการของตนเกินความเป็นจริง ไม่โอ้อวด หรือเปรียบเทียบตนเองหรือสำนักงานที่ตนเองสังกัดอยู่กับผู้ประกอบวิชาชีพ บัญชีอื่น หรือสำนักงานที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอื่นสังกัดอยู่

6. ความโปร่งใส (Transparency)

6.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีพึงปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส โดยไม่ปิดบังซ่อนเร้น บิดเบือน หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มีการกำกับดูแลที่ดีและสามารถตรวจสอบได้

6.2   ข้อกำหนด

6.2.1 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้

6.2.2  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติ วิชาชีพบัญชีสามารถ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องได้อย่างเพียงพอ สะดวก ตามที่จำเป็นและเหมาะสมแก่กรณี

7. ความเป็นอิสระ (Independence)

7.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีพึงปฏิบัติงานด้วยความเป็นอิสระภายใต้กรอบวิชาชีพบัญชี เพื่อให้ผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเชื่อถือได้

7.2   ข้อกำหนด

7.2.1 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ดุลพินิจอย่างเป็นอิสระภายใต้กรอบวิชาชีพบัญชี

7.2.2  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่ปฏิบัติ งานที่ตนขาดความเป็นอิสระภายใต้กรอบวิชาชีพบัญชี

8. มาตรฐานในการปฏิบัติงาน (Professional Standards)

8.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ ประกอบวิชาชีพบัญชีพึงปฏิบัติงานตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ โดยพึงวางแผนและควบคุมงานจนสามารถรวบรวมข้อมูลและหลักฐานให้เพียงพอในการ ปฏิบัติงาน

8.2   ข้อกำหนด

8.2.1  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องให้บริการทางวิชาชีพที่สอดคล้องกับมาตรฐานของวิชาชีพและมาตรฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง

8.2.2 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และด้วยความชำนาญตามมาตรฐานของวิชาชีพและมาตรฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง

9. ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน (Accountability)

9.1   หลักการพื้นฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีพึงปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อ ถือและประโยชน์ต่อบุคคลต่างๆ ภายใต้กรอบวิชาชีพ จากผลการประกอบวิชาชีพบัญชี

9.2   ข้อกำหนด

9.2.1  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องมีความรับผิดชอบภายใต้กรอบวิชาชีพบัญชีต่อผู้รับ บริการ ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วนบุคคลหรือนิติบุคคลที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ ให้

9.2.2  ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและประโยชน์ต่อบุคคลต่างๆ ภายใต้กรอบวิชาชีพ

สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบัญชี  แต่เดิมตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี  พ.ศ.  2505  ใช้คำว่า  “มรรยาท”  เพื่อกำหนดแนวทางการประพฤติปฏิบัติทางวิชาชีพของผู้ที่ประกอบการวิชาชีพสอบบัญชี  เป็น  “มรรยาทของผู้ประกอบวิชาชีพสอบบัญชี”    (Code  of  professional  ethics-Auditor)และได้มีการกำหนดมรรยาทของผู้สอบบัญชีโดยแบ่งเป็น  5  หมวด  คือ

1.  ความเป็นอิสระ  ความเที่ยงธรรม  และความซื่อสัตย์สุจริต

2.  ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

3.  มรรยาทต่อลูกค้า

4. มรรยาทต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ

5. มรรยาททั่วไป

ต่อมาพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี  พ.ศ.  2547  กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพ  หรือผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี  ซึ่งในเบื้องต้นนี้  ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีการควบคุมโดยตรง  ได้แก่    ผู้สอบบัญชีและผู้ทำบัญชีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี   โดยมีกำหนดหัวข้อของจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไว้  ดังนี้

1. ความโปร่งใส  ความเป็นอิสระ  ความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต

2.  ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

3.  ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการและการรักษาความลับ

4. ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น  ผู้เป็นหุ้นส่วน  หรือบุคคล  หรือนิติบุคคลที่ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่ให้

หากไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณนี้แล้ว  กฎหมายจะถือว่าเป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ  และมีการกำหนดโทษของการประพฤติผิดจรรยาบรรณ  แบ่งเป็น  4  ระดับ  คือ

1. ตักเตือนเป็นหนังสือ

2. ภาคทัณฑ์

3. พักใช้ใบอนุญาต  พักการขึ้นทะเบียน  หรือห้ามการประกอบวิชาชีพด้านที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณ โดยมีกำหนดเวลา  แต่ไม่เกินสามปี

4. เพิกถอนใบอนุญาต  เพิกถอนการขึ้นทะเบียน  หรือสั่งให้พ้นจากการเป็นสมาชิก        สภาวิชาชีพบัญชี

นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณขึ้นในสภาวิชาชีพบัญชี  ให้เป็น        ผู้พิจารณาไต่สวนว่าผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี  หรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีประพฤติผิดจรรยาบรรณตามที่มีผู้กล่าวหาหรือไม่  และให้มีอำนาจสั่งลงโทษผู้ที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณได้

ในการนี้  สภาวิชาชีพบัญชี  ได้ร่างแบบคำกล่าวหาสำหรับผู้ที่จะกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในกรณีทำผิดจรรยาบรรณในเรื่องต่าง  ๆ  ซึ่งอาจใช้เป็นตัวอย่างการประพฤติผิดจรรยาบรรณที่อาจถูกกล่าวหาได้  โดยจัดกลุ่มตามหัวข้อจรรยาบรรณได้ดังนี้

1. กระทำการใด ๆ  อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชี

2. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรฐานการบัญชี  มาตรฐานการสอบบัญชี  หรือมาตรฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี  พ.ศ.  2547

3. ไม่ประกอบวิชาชีพบัญชีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

4. ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม  หรือใช้อิทธิพลหรือให้ผลประโยชน์แก่บุคคลใด     เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับหรือไม่ได้รับงาน

5. เรียก  รับ  หรือยอมรับทรัพย์สิน  หรือผลประโยชน์อย่างใดสำหรับตนเอง  หรือผู้อื่นโดยมิชอบจากผู้ว่าจ้างหรือบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องในงานที่ทำอยู่กับผู้ว่าจ้าง

6. โฆษณา  หรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณา  ซึ่งการประกอบวิชาชีพเกินความเป็นจริง

7. ประกอบวิชาชีพเกินความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้

8. ละทิ้งงานที่ได้รับทำโดยไม่มีเหตุอันสมควร

9. ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในงานที่ตนเองไม่ได้รับทำ  ตรวจสอบ  หรือควบคุมด้วยตนเอง

10. เปิดเผยความลับของงานที่ตนเองได้รับทำโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง

11. แย่งงานจากผู้ประกอบวิชาชีพอื่นในด้านเดียวกัน

12. รับทำงาน  หรือตรวจสอบงานชิ้นเดียวกันกับผู้ที่ประกอบวิชาชีพอื่นทำอยู่  โดยไม่ใช่การตรวจสอบตามหน้าที่  และไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นนั้นทราบล่วงหน้า

13. ใช้  หรือคัดลอกแบบ  รูป  หรือเอกสารที่เกี่ยวกับงานของผู้ประกอบวิชาชีพอื่นในด้านเดียวกัน  โดยไม่ได้รับอนุญาต

14. กระทำใด ๆ  โดยจงใจให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียง  หรืองานของผู้ประกอบวิชาชีพอื่นในด้านเดียวกัน

15. อื่น ๆ

จะเห็นว่าการกระทำผิดตามมูลความผิดบางข้ออาจถือว่าเป็นการทำผิดจรรยาบรรณได้     หลายข้อ  เช่น  การไม่ประกอบวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  นอกจากจะผิดจรรยาบรรณในเรื่องของความโปร่งใสความเป็นอิสระ  ความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว    ยังอาจถือว่าเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น  ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคล  หรือนิติบุคคลที่ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่ให้อีกด้วย  ในขณะเดียวกัน  การโฆษณา  หรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณา  ซึ่งการประกอบวิชาชีพเกินความเป็นจริงหรือการแย่งงานจากผู้ประกอบวิชาชีพอื่นในด้านเดียวกันอาจไม่สามารถจัดให้อยู่ในหัวข้อใด ๆ  ของจรรยาบรรณที่กฎหมายกล่าวถึงได้อย่างชัดเจน  แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควร กระทำเช่นกัน