กระบวนการในการฝึกอบรม มีอะไรบ้าง

การเตรียมตัวก่อนฝึกอบรมพนักงาน ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การจัดฝึกอบรมที่จัดผ่านไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ และนี่คือ 8 ขั้นตอนที่เรานำมาฝากครับ

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม (T/O: Training Officer) ได้จัดทำแผนฝึกอบรมประจำปีเสนอต่อผู้บริหาร และได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย ในลำดับต่อไป T/O ก็จะต้องเริ่มดำเนินการจัดฝึกอบรมตามแผนที่วางไว้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ นอกจากนี้ T/O จะต้องใส่ใจในรายละเอียดของการจัดฝึกอบรมทุกขั้นตอนและต้องมีการวางแผนงานที่ดีเพื่อให้การจัดอบรมที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ฉะนั้นการเตรียมตัวก่อนการจัดฝึกอบรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก สามารถปฏิบัติตาม 8 ขั้นตอนเตรียมจัดฝึกอบรมดังต่อไปนี้ครับ

1. กำหนดวันและสถานที่ : การจัดหลักสูตรฝึกอบรมภายในองค์กร หรือที่เรียกว่า In-House Training ตามแผนการฝึกอบรมประจำปี ควรจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อกำหนดวันและเดือนที่ใช้ในการจัดฝึกอบรม โดยอาจต้องติดต่อวิทยากรคร่าวๆ เพื่อขอเช็กวันเวลาที่สะดวกของวิทยากร รวมทั้งวันเวลาที่สะดวกของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ในส่วนของสถานที่ บางองค์กรมีห้องประชุมหรือห้องจัดฝึกอบรมพนักงานอยู่แล้วก็สบายไป สามารถใช้สถานที่ภายในได้เลย แต่บางองค์กรไม่มีห้องประชุมหรือห้องฝึกอบรมก็อาจต้องติดต่อสถานที่ภายนอก เช่น โรงแรม ที่จะมีค่าเช่าและค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แตกต่างกันตามขนาดของโรงแรม ซึ่ง T/O จะต้องติดต่อเพื่อขอดูห้องที่ใช้ว่าเหมาะสมกับรูปแบบของหลักสูตรที่จะฝึกอบรมหรือไม่ หรือเช็กห้องว่าห้องที่เคยดูไว้ยังว่างสำหรับวันที่ใช้ในการฝึกอบรมของเราหรือไม่

2. ทำเรื่องขออนุมัติผู้บริหาร :  หลังจากที่ T/O กำหนดวันและสถานที่ที่จะใช้จัดฝึกอบรมเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะหลังจากที่ T/O ได้ทำแผนฝึกอบรมประจำปีเพื่อบ่งบอกว่าในปีนั้นๆ จะมีหลักสูตรฝึกอบรมอะไรบ้าง และงบประมาณที่ใช้เท่าไหร่ T/O ยังจะต้องทำการเขียนโครงการหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับการขออนุมัติจากผู้บริหารด้วย เพื่อนำไปใช้เบิกค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมจากฝ่ายการเงินต่อไป

3. ติดต่อวิทยากร :  ก่อนจัดฝึกอบรม T/O ต้องประสานงานกับวิทยากรล่วงหน้าเพื่อสอบถามเรื่องของวัน เวลา ที่วิทยากรสะดวกในการเข้ามาฝึกอบรมให้พนักงานในองค์กร โดยขอจองคิวล่วงหน้าและล็อกวันไว้ก่อนในเบื้องต้น เมื่อโครงการฝึกอบรมได้รับการอนุมัติจึงค่อยแจ้งกลับไปหาวิทยากรอย่างเป็นทางการอีกครั้ง  เมื่อใกล้ถึงวันฝึกอบรม T/O ควรจะติดต่อกับวิทยากรอีกครั้ง เพื่อยืนยันวัน เวลา และสถานที่ที่แน่นอนในการเข้ามาบรรยายให้กับองค์กร เพราะบางครั้ง T/O มือใหม่อาจจะลืมนึกว่าการติดต่อกับวิทยากรในครั้งแรกนั้นเป็นการยืนยันถึงการจองคิววันบรรยายให้กับองค์กรแล้ว ครั้นพอใกล้ถึงวันอบรม T/O โทรกลับไปยืนยันถึงวันที่จะจัดฝึกอบรม กลายเป็นว่าวัน เวลา ที่นัดไว้กลับถูกผู้อื่นจับจองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะวิทยากรคิดว่าเราแค่ติดต่อเฉยๆ ยังไม่ได้ยืนยัน ทีนี้ก็งานเข้าเลยสิครับ! ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ หลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจสูงสุดแล้ว T/O ต้องรีบติดต่อไปยังวิทยากรให้เร็วที่สุด เพื่อจับจองล็อกคิววิทยากรในการมาบรรยายให้กับองค์กร รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันของ T/O และวิทยากร และไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในวันฝึกอบรม

4. ประสานงานผู้เข้ารับการอบรม :  T/O จะต้องแจ้งต่อกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือผู้ที่จะต้องมาเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนั้น ๆ ล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ บางคนอาจถามว่า แจ้งก่อนสัก 2-3 วันไม่ได้หรือ? ทำไมต้องแจ้งล่วงหน้าตั้ง 2 สัปดาห์? สาเหตุที่ต้องแจ้งล่วงหน้า 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อยก็เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีการเตรียมตัว ตลอดจนจัดการงานหรือนัดหมายต่าง ๆ ในวันที่เข้ารับการฝึกอบรมนั่นเองครับ เพื่อไม่ให้งานสะดุด หรือต้องวิ่งมาเคลียร์งานและเสียประโยชน์จากการฝึกอบรมครับ

5. เชิญผู้บริหารกล่าวเปิดการอบรม : กรณีการจัดฝึกอบรมภายในองค์กร บางองค์กรอาจเชิญผู้บริหารมาเป็นประธานขึ้นกล่าวเปิดการฝึกอบรม แต่บางองค์กรก็ไม่มีผู้บริหารขึ้นมากล่าวเปิด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร กรณีมีประธานขึ้นมากล่าวเปิดการฝึกอบรมก็จะได้ประโยชน์ในเรื่องของขวัญกำลังใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวมทั้งทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเห็นถึงความสำคัญของการอบรมในวันนั้น ว่าบริษัท ฯ ได้ลงทุนจ้างวิทยากรมาพัฒนาทักษะและความรู้ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความสามารถที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้บางครั้งผู้บริหารที่เป็นประธานกล่าวเปิดการฝึกอบรมก็จะนั่งเรียนอยู่ด้วย ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ แต่ถ้ากรณีประธานไม่ว่างก็อาจเชิญคนที่อยู่รองจากประธานมากล่าวเปิด ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

6. เตรียมเอกสารประกอบการฝึกอบรม :  T/O จะต้องประสานงานกับวิทยากรเพื่อจัดทำเอกสารประกอบการฝึกอบรม หรือที่เรานิยมเรียกว่า “Hand Out” ซึ่งวิทยากรบางท่านอาจจัดเตรียมให้โดยเป็นราคาที่รวมค่าตัววิทยากรไว้ด้วยแล้ว แต่บางท่านก็ไม่ได้จัดเตรียมให้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่วิทยากรไม่ได้จัดทำเอกสารประกอบการฝึกอบรมให้นั้น T/O จะต้องทำการขอไฟล์ที่เป็นเนื้อหาที่ใช้ในการอบรมจากวิทยากรมาล่วงหน้าเพื่อนำมาจัดทำ Hand Out แจกผู้เข้ารับการอบรม ในส่วนนี้สำคัญมากๆ อย่าลืมคุยกับทางวิทยากรให้ดีครับ เพราะหากถึงวันฝึกอบรมแล้วไม่มี Hand Out ขึ้นมา ทั้งเรา ทั้งพนักงาน ทั้งวิทยากรคงลำบากไปตามๆ กัน

7. เตรียมเอกสารอื่นๆ  :  นอกจากเอกสารที่ใช้ประกอบการเรียนแล้ว T/O ยังต้องจัดเตรียมเอกสารต่างๆ เช่น เงินโอนค่าวิทยากร กรณีวิทยากรแจ้งโอนเงินล่วงหน้า เช็คหรือเงินสดเพื่อเตรียมสำหรับจ่ายในวันฝึกอบรม รวมถึงใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ที่ต้องเตรียมให้กับวิทยากรด้วย T/O ยังต้องเตรียมเอกสารใบลงทะเบียนฝึกอบรมเพื่อใช้ในการให้ผู้เข้ารับการอบรมเซ็นชื่อเพื่อเป็นหลักฐานในการเช็กวันมาทำงาน หรือนำไปแนบกับรายงานส่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ปลีกย่อยอื่น ๆ เช่น ป้ายชื่อวิทยากร หรือป้ายชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม (ถ้ามี) ซึ่ง T/O ต้องตรวจสอบให้ถูกต้องและครบถ้วนก่อนการอบรมทุกครั้ง

8. เช็กอุปกรณ์และสถานที่ :  T/O จะต้องตรวจสอบสถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการจัดฝึกอบรมอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุมหรือห้องอบรม ต้องตรวจเช็กว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, Pointer (รีโมทควบคุม Power-Point), เครื่องเสียง, ไมโครโฟน, ลำโพงขนาดเล็ก, เครื่องฉาย LCD พร้อมฉากรับภาพ, กระดาษฟลิปชาร์ต, รางปลั๊กไฟ, กระดาษ A4, ดินสอหรือปากกา, กล้องถ่ายรูป, ลูกอม เป็นต้น

รายละเอียดเหล่านี้ T/O จะต้องทำการตรวจสอบล่วงหน้าก่อนที่จะทำการจัดฝึกอบรมทุกครั้ง ย้ำนะครับว่า ทุกครั้ง!!! ห้ามประมาทเด็ดขาดทั้งนี้อาจมีบางกรณีที่ T/O ต้องใช้สถานที่ภายนอกในการจัดฝึกอบรม เพราะผู้บริหารอาจบอกว่าหลักสูตรนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศไปจัดนอกสถานที่หรือต่างจังหวัดบ้าง เพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งในกรณีใช้สถานที่ภายนอก สุภาษิตบอกไว้ว่า สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ ดังนั้น T/O ควรต้องไปสำรวจสถานที่จริงด้วยตนเองเพื่อดูบรรยากาศภาพรวม โดยต้องประสานงานกับพนักงานขายของสถานที่นั้นๆ ให้เขาพาชมสถานที่ ห้องประชุม ห้องพัก รวมถึงประสานงานเรื่องยอดค่าใช้จ่ายในการจองห้องพัก ห้องอบรม รวมถึงเรื่องอาหารการกินเพื่อเตรียมความสะดวกสบายให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่ง T/O ก็จะต้องเก็บภาพพร้อมจดรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดนำมาสรุปให้ผู้บริหารฟังอีกครั้งก่อนตัดสินใจครับ ไม่ใช่ดูแค่รูปในเว็บไซต์หรือโบรชัวร์แล้วตัดสินใจจองเลย เพราะหากไปถึงแล้วสภาพสถานที่ไม่ได้ดูดีเหมือนในรูป งานเข้า T/O แน่ๆ ครับ

ที่มา : บางส่วนจากบทความ “เคล็ดลับการเทรนนิ่ง (ที่ไม่ใช่เทรน…แล้วนิ่ง) ตอนที่ 2 : การเตรียมตัวก่อนฝึกอบรม In House Training” / โดย มงคล กรัตะนุตถะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ด็อกเตอร์ฟิช จำกัด, วิทยากร, นักเขียน อีเมล์ เว็บไซต์ www.drfish.training / Section : HRM/HRD / Column : บทความพิเศษ / วารสาร HR Society magazine ปีที่ 15 ฉบับที่ 176 เดือนสิงหาคม 2560

กระบวนการของการฝึกอบรมประกอบด้วยอะไรบ้าง

ขั้นตอนที่๑ ร่างหลักสูตร สรรหาวิทยากรและสถานที่ ขั้นตอนที่๒ เขียนโครงการและขออนุมัติโครงการ ขั้นตอนที่๓ ประมาณการค่าใช้จ่าย ขั้นตอนที่๔ ขออนุมัติดําเนินการและยืมเงินทดรองราชการ ขั้นตอนที่๕ การแจ้งเวียนและทําบัญชีรายชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม ขั้นตอนที่๖ ประสานงานด้านการฝึกอบรม

การดำเนินการจัดฝึกอบรมมีกี่ขั้นตอน

1. การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน (On the job training) 2. การฝึกอบรมแบบการบรรยาย (Lectures) 3. การฝึกอบรมแบบการอภิปราย (Discussion) 4. การฝึกอบรมแบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-study)

ขั้นตอนแรกของกระบวนการฝึกอบรม คืออะไร

บุคลากรอย่างเป็นระบบ มีทิศทางที่ชัดเจนในอันที่จะมุ่งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ ที่ได้กำหนดไว้ การฝึกอบรมเชิงระบบเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทักษะ และความสามารถเฉพาะ ด้านของบุคลากร เพื่อนำไปปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 ประเมินความต้องการด้านการฝึกอบรม ขั้นตอนที่ 2 เตรียมการ ...

การจัดฝึกอบรม คือ การพัฒนาทางด้านใดบ้าง

การฝึกอบรม คือ กระบวนการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ความชำนาญ และทัศนคติของบุคคล เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสัมฤทธิ์ผลและมีความพร้อมที่จะทำงานในหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรในอนาคต