The pacific 2010 สมรภ ม ว รบ ร ษ

ในช่วงสองปีที่นำไปสู่การบุกครอง เยอรมนีและสหภาพโซเวียตได้ลงนามในสนธิสัญญาทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม กองบัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์(OKW) ได้เริ่มวางแผนการบุกครองสหภาพโซเวียตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1940 (ภายใต้รหัสนามว่า ปฏิบัติการอ็อทโท) ซึ่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้มอบอำนาจ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1940 ในช่วงระหว่างปฏิบัติการดังกล่าว จำนวนกำลังพลประมาณสามล้านนายของฝ่ายอักษะ ซึ่งเป็นกองกำลังรุกรานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาตร์สงคราม การบุกครองดินแดนสหภาพโซเวียตทางด้านตะวันตกตามแนวรบระยะทางประมาณ 2,900 กิโลเมตร (1,800 ไมล์) ด้วยยานยนต์ 600,000 คัน และจำนวนม้ากว่า 600,000 ตัว สำหรับปฏิบัติการที่ไม่ใช่การสู้รบ การบุกครองดังกล่าวได้ขยายตัวอย่างมากในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งในทางด้านภูมิศาสตร์และในการก่อตัวของแนวร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งสหภาพโซเวียต

ปฏิบัติการนี้ได้เปิดฉากแนวรบด้านตะวันออก ซึ่งมีกองกำลังมากมายที่เข้าร่วมมากกว่าในเขตสงครามอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ พื้นที่ดังกล่าวได้มีการพบเห็นถึงการสู้รบขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ดูโหดร้ายและน่าสะพรึงกลัวที่สุด และมีการบาดเจ็บล้มตายสูงสุด (สำหรับกองกำลังฝ่ายโซเวียตและกองกำลังฝ่ายอักษะ) ซึ่งทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อสงครามโลกครั้งที่สองและประวัติศาสตร์ในภายหลังของทศวรรษที่ 20 ในที่สุด กองทัพเยอรมันได้จับกุมกองกำลังทหารของกองทัพแดงโซเวียตได้ราวประมาณห้าล้านนาย ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยกลับมามีชีวิตอีกเลย พวกนาซีได้จงใจให้อดอาหารหรือไม่ก็สังหารต่อเชลยศึกจำนวน 3.3 ล้านนายและพลเรือนอีกจำนวนมาก ด้วย"แผนความหิว" ซึ่งถูกใช้งานเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนอาหารของเยอรมันและกำจัดประชากรชาวสลาฟด้วยทุกขภิกภัย มีการยิงเป้าและปฏิบัติการรมแก๊สจำนวนมากโดยพวกนาซี หรือผู้ให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ ได้ทำการสังหารชาวโซเวียตเชื้อสายยิวจำนวนกว่าล้านคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฮอโลคอสต์

ด้วยความล้มเหลวของปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ทำให้โชคชะตาของไรช์ที่สามต้องกลับตาลปัตร ในทางปฏิบัติ กองทัพเยอรมันได้รับชัยชนะครั้งสำคัญและเข้ายึดครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดบางแห่งชองสหภาพโซเวียต (ส่วนใหญ่อยู่ในยูเครน) และได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับการบาดเจ็บล้มตายอย่างต่อเนื่อง แม้จะประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ฝ่ายรุกของเยอรมันต้องหยุดชะงักลงในยุทธการที่มอสโก เมื่อปลายปี ค.ศ. 1941 และตามมาด้วยการโจมตีตอบโต้กลับในฤดูหนาวของโซเวียตได้ผลักดันให้กองทหารเยอรมันกลับไป เยอรมันได้คาดหวังอย่างมั่นอกมั่นใจว่า การต่อต้านของโซเวียตจะพังทลายลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับในโปแลนด์ แต่กองทัพแดงได้ซึมซับการโจมตีที่รุนแรงที่สุดของกองทัพแวร์มัคท์ และจมปลักอยู่ในสงครามพร่ากำลัง ซึ่งเยอรมันไม่ได้เตรียมการมาก่อนเลย กองทัพที่ดูลิดรอนของแวร์มัคท์ไม่สามารถโจมตีตามแนวรบด้านตะวันออกทั้งหมดได้อีกต่อไป และตามมาด้วยปฏิบัติการเพื่อการรุกเข้ายึดกลับคืนและรุกเข้าไปลึก ๆ ในดินแดนโซเวียต เช่น กรณีสีน้ำเงิน ในปี ค.ศ. 1942 และปฏิบัติการซิทาเดลในปี ค.ศ. 1943 จนในที่สุดก็ต้องล้มเหลวซึ่งส่งผลทำให้แวร์มัคท์ต้องล่าถอยและพังทลายลง

เจตนาของเยอรมนี[แก้]

ทฤษฎีของนาซีที่มีต่อสหภาพโซเวียต[แก้]

ในปี ค.ศ. 1925 ฮิตเลอร์ได้เขียนเจตนาของเขาในการรุกรานสหภาพโซเวียตไว้อย่างชัดเจนใน ไมน์คัมพฟ์ (เยอรมัน: Mein Kampf; การต่อสู้ของข้าพเจ้า) โดยระบุถึงความเชื่อของเขาที่ว่าชาวเยอรมันเป็นชนที่พึงได้พื้นที่อยู่อาศัย (เยอรมัน: Lebensraum; อาทิเช่นที่ดิน ทรัพยากรและวัตถุดิบ) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นควรเสาะแสวงหาในดินแดนตะวันออก อีกทั้งนโยบายทางเชื้อชาติของนาซียังระบุว่าเชื้อชาติสลาฟเป็นเชื้อชาติที่ต่ำกว่ามนุษย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ "ยิวบอลเชวิค" ในหนังสือไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์ยังเขียนไว้อีกว่าชะตากรรมของเยอรมนีคือการมุ่งสู่ตะวันออก อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหกร้อยปีก่อนหน้านั้น และ "เพื่อยุติการปกครองของชาวยิวในรัสเซีย ซึ่งจะเป็นการยุติความเป็นรัฐของรัสเซียลงไปด้วย" หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้กล่าวถึงการต่อสู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับ "แนวคิดรวมเชื้อชาติสลาฟ" และชัยชนะที่ได้จะนำไปสู่ "ความเป็นเจ้าโลกนิรันดร" แม้ก่อนหน้านั้น ฮิตเลอร์จะเคยกล่าวว่า "เราจะต้องเดินทางเดียวกับพวกรัสเซีย ถ้านั่นเป็นประโยชน์ต่อเรา" ฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลนาซี คือ สั่งฆ่า เนรเทศ หรือจับชาวรัสเซียหรือชาวสลาฟเป็นทาส และให้ดินแดนเหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเยอรมันแทน

ความสัมพันธ์เยอรมนี-โซเวียต ระหว่างปี 1939-1940[แก้]

The pacific 2010 สมรภ ม ว รบ ร ษ
ทหารเยอรมันและทหารโซเวียต ณ "แนวชายแดนแห่งสันติภาพ" ซึ่งเป็นเส้นแบ่งอิทธิพลระหว่างเยอรมนีและสหภาพโซเวียต อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป

สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอปได้รับการลงนามไม่นานก่อนหน้าการรุกรานโปแลนด์ของเยอรมนีและสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสนธิสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่ทว่าได้มีข้อตกลงลับระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตว่าจะแบ่งเขตอิทธิพลของทั้งสองชาติ สนธิสัญญาดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับโลกเนื่องจากความเป็นอริดั้งเดิมของทั้งสองฝ่าย รวมถึงอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกันอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามเมื่อสนธิสัญญาได้รับการลงนามแล้ว ทั้งนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตก็กลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเหนียวแน่น โดยที่สหภาพโซเวียตเป็นผู้ส่งน้ำมันและวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กับเยอรมนี ซึ่งช่วยให้เยอรมนีรอดพ้นจากการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษ ในขณะที่เยอรมนีก็ส่งมอบเทคโนโลยีทางการทหารให้กับสหภาพโซเวียต แต่ทว่าทั้งสองฝ่ายก็ยังคงความคลางแคลงในเจตนาของอีกฝ่าย หลังจากเยอรมนีได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะร่วมกับอิตาลีและญี่ปุ่น เยอรมนีได้เจรจาเชิญชวนให้สหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิกด้วย หลังจากการเจรจานานสองวันในกรุงเบอร์ลินระหว่างวันที่ 12–14 พฤศจิกายน เยอรมนีได้ส่งข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่สหภาพโซเวียตเพื่อเชิญชวน ทางด้านสหภาพโซเวียตได้ส่งข้อเสนอของตนกลับมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 แต่ไร้ท่าทีตอบสนองจากเยอรมนี เนื่องจากความเป็นอริต่อกันของทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกที และเมื่อเกิดข้อพิพาทที่ขัดแย้งกันขึ้นในยุโรปตะวันออก จึงเป็นผลให้การปะทะกันทางทหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนการรุกรานของเยอรมนี[แก้]

การกระทำของสตาลินได้ทำให้นาซีเยอรมนีใช้อ้างเหตุผลเพื่อเตรียมการรุกรานและเพิ่มความเชื่อมั่นในความสำเร็จ ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 สตาลินได้สั่งประหารและคุมขังประชาชนจำนวนหลายล้านคนระหว่างการกวาดล้างครั้งใหญ่ ซึ่งผู้ที่ถูกสั่งประหารและคุมขังนั้นได้รวมไปถึงบุคลากรทางทหารที่มีความสามารถ ทำให้กองทัพแดงอ่อนแอและขาดผู้นำ พรรคนาซียังได้ใช้ความโหดร้ายดังกล่าวในการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวหาว่า กองทัพแดงเตรียมการที่จะรุกรานเยอรมนี และการรุกรานของเยอรมนีนั้นเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว

ระหว่างช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1940 เมื่อปริมาณวัตถุดิบของเยอรมนีตกอยู่ในสภาวะวิกฤต และขีดความสามารถในการรุกรานสหภาพโซเวียตเหนือดินแดนคาบสมุทรบอลข่านมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้น ฮิตเลอร์จึงมีความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการรุกรานสหภาพโซเวียต แต่ในขณะนั้น ฝ่ายเยอรมนียังไม่มีแผนการที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ฮิตเลอร์ได้กล่าวแก่นายพลของเขาในเดือนมิถุนายนถึงชัยชนะในยุโรปตะวันตกว่า "เป็นการเตรียมการต่อเป้าหมายสำคัญที่แท้จริง นั่นคือ การจัดการกับพวกบอลเชวิค" แต่นายพลของเขาได้แย้งว่าการยึดครองสหภาพโซเวียตภาคพื้นยุโรปจะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองมากกว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ฮิตเลอร์ได้คาดหวังผลประโยชน์หลายประการที่จะได้หลังจากการเอาชนะสหภาพโซเวียตไว้ว่า:

  • เมื่อสหภาพโซเวียตพ่ายแพ้แล้ว จะทำให้สามารถปลดประจำการทหารส่วนใหญ่ในกองทัพเพื่อนำไปแก้ปัญหาการขาดแรงงานของเยอรมนีในขณะนั้น เนื่องจากเมื่อการรบสำคัญสิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่ต้องการทหารจำนวนมากอีกต่อไป
  • ยูเครนจะกลายเป็นแหล่งอาหารราคาถูกที่อุดมสมบูรณ์ให้กับชาวเยอรมัน เนื่องจากมีความเหมาะสมต่อเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง
  • เนื่องจากสหภาพโซเวียตมีประชากรมากมาย ทำให้ฮิตเลอร์มองโซเวียตเป็นแหล่งแรงงานทาสราคาถูกซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางภูมิยุทธศาสตร์ให้กับประเทศเยอรมนีอย่างมาก
  • ความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตจะยิ่งทำให้จักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งกำลังจะพ่ายแพ้อยู่แล้ว ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก
  • สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำมันบากู เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจได้

ในวันที่ 5 ธันวาคม ฮิตเลอร์ได้รับทราบแผนการรุกรานที่เป็นไปได้ และอนุมัติแผนการทั้งหมด ต่อมา ในวันที่ 18 ธันวาคม ฮิตเลอร์ได้ลงนามในคำสั่งสงครามหมายเลข 21 ไปยังกองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีในเรื่องปฏิบัติการซึ่งตั้งชื่อว่า "บาร์บาร็อสซา" กล่าวว่า "กองทัพเยอรมันต้องพร้อมที่จะบดขยี้สหภาพโซเวียตได้อย่างรวดเร็ว" โดยแผนการรุกรานถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ส่วนทางด้านสหภาพโซเวียต สตาลินได้กล่าวแก่นายพลของเขาว่า จากที่ฮิตเลอร์ได้กล่าวถึงการรุกรานสหภาพโซเวียตใน ไมน์คัมพฟ์ กองทัพแดงจะต้องพร้อมที่จะตั้งรับการรุกรานจากเยอรมนี และพูดว่า ฮิตเลอร์คิดว่ากองทัพแดงจะต้องใช้เวลาเตรียมการนานถึงสี่ปี แต่เราจะต้องพร้อมได้เร็วกว่านั้นและเราคิดจะยืดเวลาของสงครามได้นานออกไปอีกสองปี

ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1940 นายทหารระดับสูงของกองทัพเยอรมันได้ร่างบันทึกซึ่งกล่าวถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นภายหลังการรุกรานสหภาพโซเวียต รวมไปถึงความคิดที่ว่ายูเครน เบโลรุสเซียและรัฐแถบบอลติกจะเป็นภาระใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจต่อเยอรมนี ส่วนนายทหารอีกพวกหนึ่งได้แย้งว่าระบบรัฐการของโซเวียตจะไม่ได้รับผลกระทบ และการยึดครองดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อเยอรมนี รวมไปถึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องเข้าไปเกี่ยวยุ่งกับพวกบอลเชวิคด้วย ฮิตเลอร์ปฏิเสธความคิดเห็นทั้งหมด รวมไปถึงนายพลจอร์จ โธมัส ซึ่งกำลังเตรียมการรายงานเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่ลบที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการรุกรานสหภาพโซเวียต

ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซาส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากความคิดของฮิตเลอร์แต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่บุคลากรทางทหารและสมาชิกในพรรคนาซีแนะนำว่าเขาควรที่จะจัดการกับเกาะบริเตนให้เสร็จสิ้นไปก่อน แล้วจึงค่อยเปิดการโจมตีสหภาพโซเวียตในแนวหน้าตะวันออก แต่ส่วนใหญ่เหล่านายพลของฮิตเลอร์ก็เห็นด้วยกับฮิตเลอร์ว่าการบุกโซเวียตนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง ในตอนนั้นฮิตเลอร์พิจารณาแล้วว่าตนเองนั้นเป็นอัจฉริยะทางการทหารและการเมือง และเป็นที่แน่ชัดว่าในขณะนั้นเขาได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วในแทบทุกประเทศที่เขาโจมตี (ยกเว้นเกาะบริเตนที่ยังสามารถยันการโจมตีของเยอรมันได้อยู่) ทั้ง ๆ ที่ก่อนการโจมตี โอกาสที่เขาจะชนะนั้นมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามเขาละเลยคำแนะนำของผู้บัญชาการกองทัพเยอรมัน ซึ่งเกิดมาจากความไม่ยั้งคิดและความยินดีที่จะเสี่ยง ประสมกับระเบียบวินัยของทหารของเขาและยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบ ทำให้เขาสามารถเอาชนะซูเดเทนแลนด์ ออสเตรีย และเชโกสโลวาเกียอย่างง่ายดาย จากนั้นเขาก็สามารถเอาชนะประเทศโปแลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ได้โดยประสบกับปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น จากนั้นเขาก็ยังสามารถทำลายกองทัพของฝรั่งเศสได้อย่างรวดเร็วโดยการบุกผ่านลักเซมเบิร์กซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของแนวมายิโนต์ (Maginot Line) และทำการปิดล้อมกองกำลังสัมพันธมิตร แล้วกองทัพของเขาจึงมุ่งหน้าไปทางใต้ไปยังชายแดนสวิส ต่อมากองกำลังสัมพันธมิตรสามารถโจมตีฝ่าส่วนปิดล้อมด้านเหนือออกมาได้ แต่ก็ถูกต้อนไปยังเมืองดันเคิร์ก และจนมุมโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งกองทัพบริเตนกู้ภัยออกมาได้ ซึ่งทำให้ตอนนี้ผืนดินในภูมิภาคยุโรปตะวันตกเป็นของฮิตเลอร์โดยสิ้นเชิง แต่กองทัพของเขาไม่สามารถบุกข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังเกาะบริเตนได้ในทันทีเนื่องจากความเหนือกว่าของอังกฤษในด้านการรบทางทะเล และมีอำนาจเท่าเทียมกันทางอากาศ ซึ่งข้อได้เปรียบดังกล่าวของอังกฤษทำให้ยังไม่ยอมจำนนโดยง่าย แม้ว่าจะต้องยันกับเยอรมัน โดยไม่สามารถตอบโต้กลับได้ก็ตาม เมื่อความด้อยกว่าของกองทัพเรือเยอรมันในด้านกองกำลังทางทะเล และไร้ความได้เปรียบในด้านกองกำลังทางอากาศ ทำให้การบุกมิอาจทำได้ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ฮิตเลอร์หมดความอดทน และในขณะเดียวกันความต้องการในการบุกโซเวียตนั้นมีมากกว่าการบุกเกาะบริเตน (เนื่องจากฮิตเลอร์เชื่อว่าชาวอังกฤษเป็นเผ่าพันธุ์ที่เท่าเทียมกับเผ่าพันธุ์อารยัน) ทำให้ฮิตเลอร์โน้มน้าวบุคลากรของเขาว่ารัฐบาลบริเตนจะต้องพยายามสงบศึกกับเยอรมันแน่นอนเมื่อสหภาพโซเวียตถูกล้มไปแล้ว โดยเขากล่าวว่า:

"เราเพียงแค่ต้องถีบประตูลงมา แล้วอาคารที่เสื่อมโทรมทั้งอาคารก็จะถล่มลงมาด้วย"

แต่ฮิตเลอร์นั้นมั่นใจเกินไปจากการที่เขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการรบในยุโรปตะวันตก อีกทั้งยังสบประมาทความสามารถของโซเวียตที่จะสู้รบในสงครามนอกฤดูหนาว ทำให้เขาเชื่อว่าการรบจะจบลงก่อนฤดูหนาวในรัสเซีย และไม่ได้สั่งการให้เตรียมเสบียงเสื้อผ้ากันความหนาวเย็นให้กับทหาร ซึ่งจะส่งผลรุนแรงในเวลาต่อมา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์หวังไว้ว่าเมื่อเขาเอาชนะกองทัพแดงได้แล้ว รัฐบาลอังกฤษจะต้องเจรจาขอสงบศึกกับนาซีเยอรมนีอย่างแน่นอน

การเตรียมตัวของฝ่ายเยอรมัน[แก้]

ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้เคลื่อนพลจำนวนสามล้านสองแสนนายไปยังชายแดนหน้าสหภาพโซเวียตเพื่อเตรียมตัวในการโจมตี, สั่งให้เริ่มปฏิบัติการณ์สอดแนมทางอากาศเหนือน่านฟ้าของโซเวียต และยังสั่งให้กักตุนเสบียงเป็นจำนวนมากในโปแลนด์ที่เยอรมนีได้มา กระนั้นการบุกสหภาพโซเวียตก็ยังเป็นที่แปลกใจสำหรับฝ่ายโซเวียตอย่างมาก ซึ่งความแปลกใจนี้ส่วนใหญ่มาจากความเชื่อที่มั่นคงของสตาลินว่าอาณาจักรไรค์ที่สามไม่น่าที่จะโจมตีประเทศของตนหลังจากที่เพิ่งเซ็นกติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพมาได้เพียงสองปีเท่านั้น สตาลินยังเชื่อด้วยว่ากองทัพนาซีคงจะจัดการสงครามกับเกาะบริเตนให้เสร็จเสียก่อนถึงจะเปิดสมรภูมิรบใหม่กับตน แม้ว่าจะมีคำเตือนหลายครั้งหลายคราวมาจากหน่วยข่าวกรองของเขา สตาลินก็ยังปฏิเสธที่จะเชื่อการรายงานทั้งหมด โดยเกรงว่าข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นการปล่อยข่าวโคมลอยจากกองทัพอังกฤษ เพื่อที่จะจุดชนวนสงครามระหว่างนาซีและโซเวียต อีกทั้งการที่รัฐบาลเยอรมันออกมาช่วยทำการลวงสตาลิน โดยกล่าวว่า พวกเขาแค่กำลังเคลื่อนกำลังทหารให้ออกมานอกระยะของเครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษ และยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าพวกเขาพยายามจะหลอกรัฐบาลอังกฤษให้เชื่อว่ากองทัพนาซีกำลังจะบุกสหภาพโซเวียตอีกด้วย แต่ตามจริงพวกเขากำลังเตรียมตัวในการบุกเกาะบริเตนอยู่ต่างหาก และหลังจากเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่สตาลินได้รู้ ทำให้การเตรียมตัวตั้งรับการโจมตีของเยอรมนีเป็นไปอย่างไม่จริงจัง อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตกรณีที่ ดร. ริชาร์ด ซอร์จ สายลับของโซเวียต ได้ให้ข้อมูลที่กล่าวถึงวันที่เยอรมนีจะบุกโซเวียตได้อย่างถูกต้อง รวมถึงอาร์น บัวร์ลิง นักถอดรหัสชาวสวีเดนที่ทราบวันที่เยอรมนีจะบุกก่อนที่โซเวียตจะทราบอีกด้วย

ปฏิบัติการณ์ลวงของเยอรมนีเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) โดยจุดประสงค์คือเพิ่มมูลความจริงให้ตรงกับคำอ้างของเยอรมนีว่าเกาะบริเตนคือเป้าหมายที่แท้จริง ปฏิบัติการณ์ดังกล่าวคือปฏิบัติการณ์ไฮฟิสก์ และปฏิบัติการณ์ฮาร์พูน โดยทั้งสองปฏิบัติการณ์จำลองว่าการเตรียมตัวบุกเกาะบริเตนเริ่มขึ้นในประเทศนอร์เวย์, ชายฝั่งตามแนวช่องแคบอังกฤษและแคว้นเบรอตาญในฝรั่งเศส ประกอบกับการอ้างเหตุผลเกี่ยวกับการสะสมกำลังดังที่ระบุไว้ข้างต้น รวมถึงการปฏิบัติการณ์ระดมกำลังเรือรบ, ปฏิบัติการณ์สอดแนมทางอากาศและการฝึกซ้อมภาคสนาม ถูกจัดขึ้นเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นไปอีก โดยแผนการบุกจริง ๆ ถูกจัดขึ้น และปล่อยให้ข้อมูลสามารถรั่วไหลได้บางส่วน

แต่เยอรมันมีปัญหาในการคิดยุทธวิธีที่จะรับประกันว่ากองทัพนาซีจะสามารถยึดสหภาพโซเวียตได้สำเร็จ โดยที่ฮิตเลอร์, กองบัญชาการสูงสุดแห่งเวร์มัคท์ และผู้บัญชาการระดับสูงอีกหลาย ๆ คนมีแนวคิดที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับแผนกลยุทธที่จะใช้ในการโจมตีสหภาพโซเวียต และจุดประสงค์หลักของยุทธการควรเป็นเช่นใด กองบัญชาการกองทัพบกเสนอว่าควรเคลื่อนพลตรงไปยังเมืองหลวงมอสโก แต่ฮิตเลอร์นั้นต้องการที่จะให้กองทัพเคลื่อนทัพไปยังยูเครนที่อุดมสมบูรณ์และดินแดนบริเวณทะเลบอลติกเสียก่อนที่จะเคลื่อนพลไปยึดมอสโก การโต้แย้งที่เกิดขึ้นทำให้แผนการในการส่งกำลังบำรุงต้องหยุดชะงัก และทำให้การบุกล่าช้าไปอีกถึงหนึ่งเดือนกว่า ๆ ตามกำหนดการการบุกในเดือนพฤษภาคม

กลยุทธสุดท้ายที่ฮิตเลอร์และนายพลของเขาร่วมกันวางขึ้นคือการแบ่งกองกำลังออกเป็นสามกลุ่มกองทัพโดยแต่ละกลุ่มกองทัพถูกจัดให้ยึดภูมิภาคที่กำหนดไว้รวมถึงเมืองใหญ่ ๆ ในสหภาพโซเวียต เมื่อการบุกสหภาพโซเวียตเริ่มต้นขึ้น จะแบ่งแนวทางการบุกออกเป็นสามทางโดยเคลื่อนพลไปตามเส้นทางที่เคยถูกบุกในประวัติศาสตร์ (อ้างอิงตามการบุกราชอาณาจักรรัสเซียของนโปเลียน โบนาปาร์ต) กลุ่มกองทัพเหนือถูกมอบหมายให้เคลื่อนพลผ่านดินแดนรอบทะเลบอลติก แล้วจึงเคลื่อนไปยังรัสเซียตอนเหนือ โดยทำการยึดหรือทำลายเมืองเลนินกราด (เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน) ส่วนกลุ่มกองทัพกลางถูกมอบหมายให้มุ่งหน้าตรงไปยังเมืองสโมเลนสค์ แล้วทำการยึดมอสโก โดยต้องทำการเคลื่อนพลผ่านประเทศเบลารุสในปัจจุบันและผ่านภูมิภาคกลางแถบตะวันตกที่สาธารณรัฐสังคมนิยมรัสเซียครอบครองอยู่ และกลุ่มกองทัพใต้จะต้องเปิดการโจมตีในส่วนที่เป็นใจกลางของยูเครนที่เป็นศูนย์กลางทางเกษตรกรรมและประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น โดยยึดเมืองเคียฟ ก่อนที่จะเคลื่อนพลมุ่งไปทางทิศตะวันออกผ่านทุ่งหญ้าสเตปปส์ในรัสเซียตอนใต้ไปยังแม่น้ำโวลกาและเทือกเขาคอเคซัสที่อุดมไปด้วยน้ำมันดิบ

การเตรียมตัวของฝ่ายโซเวียต[แก้]

เมื่อสหภาพโซเวียตก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 1940 (พ.ศ. 2483) ในตอนนั้นสหภาพโซเวียตคือชาติมหาอำนาจ จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของโซเวียตในทศวรรษที่แล้วทำให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของโซเวียตเป็นรองแค่สหรัฐอเมริกา และมีผลผลิตเท่าเทียมกับประเทศเยอรมนี การผลิตยุทโธปกรณ์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างคงที่ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่เศรษฐกิจของโซเวียตนั้นถูกกำหนดไปที่การผลิตอุปกรณ์ทางทหารอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 (พ.ศ. 2473–พ.ศ. 2478) หลักการปฏิบัติของกองทัพแดงนั้นถูกพัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้นแล้วจึงประกาศให้เป็นหลักปฏิบัติภาคสนามของกองทัพในปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้น

ในปี พ.ศ. 2484 กองกำลังของโซเวียตในภูมิภาคตะวันตกนั้นน้อยกว่ากองกำลังของเยอรมนีมาก อย่างไรก็ตามขนาดโดยรวมของกองกำลังโซเวียตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2484 นั้นรวมแล้วมีถึงห้าล้านนายกว่า ๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากองกำลังภาคพื้นดินของเยอรมนีที่ใช้บุกโซเวียตในยุทธการบาร์บาร็อสซาเสียอีก นอกจากนี้การสะสมกำลังของกองทัพแดงยังแข็งแกร่งขึ้นอย่างคงที่ และยังมีความสามารถในการวางกำลังที่เป็นต่อกว่าเยอรมนีในสมรภูมิตะวันออก แต่ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีกำลังมากน้อยต่างกันไป จะถูกต้องกว่าที่จะระบุว่าการบุกสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2484 ของเยอรมนี ทั้งฝ่ายต่อสู้กันโดยใช้กำลังทหารที่ใกล้เคียงกันมากโดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม ในด้านระบบยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ทางฝ่ายโซเวียตนั้นมีอยู่มากทีเดียว อาทิเช่น กองทัพแดงนั้นมีความเหนือกว่าอย่างมากในกองกำลังยานเกราะที่มีรถถังประจำการถึง 24,000 คัน ซึ่งมีถึง 12,782 คันที่ประจำอยู่ในเขตทหารภูมิภาคตะวันตก (ซึ่งมีสามเขตในภูมิภาคที่สามารถปะทะกับกองทัพเยอรมันในสมรภูมิตะวันออก) ส่วนกองทัพบกเวอร์มัคท์ (Wehrmacht) ของเยอรมนีมีรถถังประจำการอยู่ทั้งหมด 5,200 คัน โดยใช้ในการบุกโซเวียต 3,350 คัน นี่ทำให้อัตราส่วนของรถถังที่สามารถใช้ได้ระหว่างเยอรมนีและโซเวียตนั้นเป็น 4 : 1 ซึ่งทำให้กองทัพแดงมีความได้เปรียบที่เหนือกว่า รถถังรุ่น ที-34 ของโซเวียตเป็นรถถังที่ล้ำหน้าที่สุดและทันสมัยที่สุดในเวลานั้น และยังมีรถถังรุ่น BT-8 (ภาษารัสเซีย: Bystrokhodniy หรือรถถังเร็ว) ที่เป็นรถถังที่เร็วที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรถถังเยอรมันแล้ว ตามที่นายทหารข่าวกรองของโซเวียต วิกเตอร์ ซูโวรอฟ (Viktor Suvorov) อ้างว่า รถถังหนักของเยอรมนีรุ่นแรกนั้นเพิ่งถูกออกแบบในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (1941) ซึ่งถือว่าล้าหลังกว่าโซเวียตที่เริ่มโครงการออกแบบรถถังหนัก T-35 ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1930) อีกทั้งโซเวียตยังมีจำนวนอาวุธปืนใหญ่ และเครื่องบินรบที่มากกว่าเยอรมนี ซึ่งรวมไปถึงปืนใหญ่สนาม A-19 ที่ว่ากันว่าเป็นปืนใหญ่ที่ดีที่สุดในโลกในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม รถถังรุ่นที่ทันสมัยที่สุดของโซเวียตยังไม่ถูกผลิตในปริมาณมากในช่วงต้นของสงคราม

อีกทั้งความได้เปรียบทางปริมาณของโซเวียตนั้นยังถูกหักล้างด้วยคุณภาพเหนือกว่ามากของเครื่องบินรบเยอรมัน รวมถึงการฝึกฝนกองกำลังเยอรมันที่เหนือกว่าและเตรียมพร้อมมามากกว่า การที่ทหารเจ้าหน้าที่และผู้บัญชาการระดับสูงของโซเวียตถูกกวาดล้างในการกวาดล้างใหญ่ของสตาลิน (พ.ศ. 2478 – พ.ศ. 2481; 1935-38) ยังทำให้นายทหารของกองทัพแดงถึงเกือบหนึ่งในสาม และนายพลแทบทุกคนถูกประหารชีวิต หรือส่งให้ไปประจำการในไซบีเรีย และถูกแทนที่ด้วยนายทหารที่มีแนวโน้มที่ "ไว้ใจได้ทางการเมือง" มากกว่านายทหารที่ถูกกวาดล้าง ซึ่งรวมไปถึงสามในห้าบรรดาจอมพลช่วงก่อนสงครามซึ่งถูกประหารชีวิต ผู้บัญชาการกองพลและกองร้อยประมาณสองในสามถูกจับยิงเป้า การกวาดล้างดังกล่าวจึงทำให้เหลือแต่นายทหารที่อ่อนกว่าและได้รับการฝึกน้อยกว่ามาแทนที่ อย่างเช่นกรณีหนึ่งใน พ.ศ. 2484 (1941) ที่ 75% ของนายทหารของกองทัพแดงได้ดำรงตำแหน่งนานน้อยกว่าหนึ่งปี และอายุโดยเฉลี่ยของผู้บัญชาการกองพลของโซเวียตนั้น น้อยกว่าอายุโดยเฉลี่ยของผู้บัญชาการกองร้อยของเยอรมนีถึง 12 ปี โดยนายทหารเหล่านี้มีทีท่าที่ไม่เต็มใจอย่างยิ่งที่จะริเริ่มในการทำสิ่งใด ๆ และส่วนใหญ่ขาดการฝึกฝนในการบัญชาการ

ในขณะที่สงครามในสมรภูมิทางตะวันตกกำลังดำเนินไป กำลังรบส่วนใหญ่ของโซเวียตยังคงประจำการอยู่เหมือนในยามสงบ ซึ่งอธิบายว่าทำไมบรรดาเครื่องบินรบของโซเวียตถึงได้จอดเรียงกันและใกล้กันเป็นกลุ่ม ๆ มากกว่าที่จะกระจายกันไปตามที่เคยปฏิบัติเป็นปกติในยามสงคราม ด้วยเหตุนั้น จึงทำให้กองเครื่องบินที่จอดอยู่กลายเป็นเป้าโจมตีง่าย ๆ สำหรับเครื่องบินจู่โจมจากอากาศสู่พื้นดินของเยอรมันในวันแรก ๆ ที่เยอรมนีบุกโซเวียต อีกเหตุผลหนึ่งคือการที่กองทัพอากาศโซเวียตถูกสั่งห้ามไม่ให้โจมตีเครื่องบินสอดแนมของเยอรมัน แม้ว่าจะมีเครื่องบินเยอรมันบินอยู่เป็นร้อย ๆ ลำอยู่เหนือน่านฟ้าสหภาพโซเวียตก็ตาม กองเครื่องบินขับไล่ของโซเวียตประกอบไปด้วยเครื่องบินรุ่นล้าสมัยย้อนไปถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเช่นเครื่องบินปีกสองชั้น I-15 และเครื่องบินปีกชั้นเดียวรุ่นแรกของโซเวียต I-16 และเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่กว่าเช่นมิก (MiG) และ LaGG (Lavochkin-Gorbunov-Goudkov) เพียงไม่กี่ลำที่ใช้งานได้ โดยมีเครื่องบินจำนวนไม่มากที่ติดตั้งวิทยุสื่อสารลงไป อีกทั้งวิทยุไม่กี่รุ่นที่มีอยู่นั้นก็ไม่ได้ถูกเข้ารหัสและมีสภาพการใช้งานที่ไม่แน่นอน รวมถึงยุทธวิธีต่อสู้ทางอากาศที่ยังล้าสมัยอยู่

กองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียตกระจัดกระจายกันออกไป, ไม่มีความพร้อมในการทำศึก และมีกองกำลังหน่วยต่าง ๆ ที่อยู่แยกจากกัน โดยไม่มีการลำเลียงไปยังจุดรวมพลเมื่อการรบเกิดขึ้น แม้ว่ากองทัพแดงจะมีปืนใหญ่ชั้นดีจำนวนมาก แต่ปืนส่วนใหญ่กลับไม่มีกระสุน กองปืนใหญ่มักไม่สามารถเข้าสู่การรบได้เพราะไม่มีการลำเลียงพล กองกำลังรถถังนั้นมีขนาดใหญ่และคุณภาพดี แต่ขาดการฝึกและการสนับสนุนทางเสบียง รวมถึงมาตรฐานในการบำรุงรักษายังแย่มาก กองกำลังถูกส่งเข้าสู่การรบโดยไม่มีการจัดการเติมเชื้อเพลิง, สนับสนุนเสบียงกระสุน หรือทดแทนกำลังทหารที่สูญเสียไป โดยมีบ่อยครั้งที่หลังจากการปะทะเพียงครั้งเดียว หน่วยรบถูกทำลายหรือถูกทำให้หมดสภาพ รวมไปถึงความจริงที่ว่ากองทัพโซเวียตกำลังอยู่ในช่วงจัดระบบหน่วยยานเกราะให้กลายเป็นกองพลรถถังยิ่งเพิ่มความไม่เป็นระบบของกองกำลังรถถังมากยิ่งขึ้นไปอีก

แม้ว่าในเอกสารใด ๆ จะระบุว่ากองทัพแดงใน พ.ศ. 2484 อย่างน้อยก็มีกำลังเท่าเทียมกับกองทัพเยอรมัน แต่ผลที่ตามมาในสมรภูมินั้นแตกต่างจากเอกสารมาก ด้วยเหตุที่ว่ากองทัพแดงนั้นประกอบด้วยนายทหารที่ไร้ความสามารถ เช่นเดียวกันกับการขาดแคลนยุทโธปกรณ์, การสนับสนุนเสบียงยานเกราะที่ไม่เพียงพอ และทหารที่ได้รับการฝึกในระดับต่ำ ทำให้กองทัพแดงเสียเปรียบกองทัพเยอรมันอย่างมากเมื่อปะทะกัน ยกตัวอย่างเช่น ตลอดช่วงการบุกสหภาพโซเวียตของเยอรมนี กองทัพแดงจะเสียรถถังหกคันในขณะที่กองทัพเยอรมันเสียเพียงแค่คันเดียว

แต่ก็มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความข้างต้นในหนังสือ Icebreaker โดยผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เคยเป็นนายทหารข่าวกรองหลักของโซเวียต (GRU - Glavnoe Razvedyvatel'noe Upravlenie) วิกเตอร์ ซูโวรอฟ โดยเนื้อความในหนังสือแย้งว่ากองกำลังภาคพื้นดินของโซเวียตนั้นมีความเป็นระบบระเบียบดีมาก และถูกวางกำลังกระจายกันไปเป็นกลุ่มใหญ่ ๆไปตลอดตามแนวชายแดนระหว่างเยอรมนีและโซเวียตเพื่อเตรียมตัวในการบุกทวีปยุโรปของสหภาพโซเวียตที่ถูกกำหนดไว้ในวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ส่วนยุทธการบาร์บาร็อสซาของเยอรมนีนั้น เขาอ้างว่าที่จริงแล้วเป็นการชิงเปิดการโจมตีก่อนของเยอรมนี โดยอาศัยความได้เปรียบที่กำลังทหารโซเวียตกำลังรวมพลอยู่เป็นจำนวนมากหน้าพรมแดนเยอรมนี ซูโวรอฟทำการแย้งว่าฉะนั้นการที่กองกำลังโซเวียตมารวมพลกันหน้าพรมแดนเยอรมนีจึงเป็นการเดินกลยุทธแบบรุก และไม่ใช่การตั้งรับดังที่ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมบันทึกอยู่แต่อย่างใด แต่การตีความของเขาถูกปฏิเสธโดยนักประวัติศาสตร์ที่ได้รับความนับถือหลายต่อหลายคนมาโดยตลอด โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์สงครามชาวอเมริกัน เดวิด แกลนท์ซ (David Glantz) และการตีความดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นจริงเป็นจังนักในบรรดานักประวัติศาสตร์วิชาการที่อยู่ทางตะวันตก อย่างไรก็ตาม มุมมองนี้ต่างออกไปในยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศรัสเซีย ที่ ๆ มีการโต้วาทีในประเด็นที่เกี่ยวกับการปะทะระหว่างโซเวียตและเยอรมนียังคงมีอยู่ จากการศึกษาอย่างจริงจังโดยนักประวัติศาสตร์ทางทหารชาวรัสเซีย มิคาเอล เมลทยูคอฟ (Mikhail Meltyukhov) ในหนังสือ Stalin's Missed Chance ได้ทำการสนับสนุนที่ว่ากองกำลังโซเวียตนั้นได้ทำการรวมพลเพื่อเตรียมเปิดการโจมตีเยอรมนีอยู่จริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เมลทยูคอฟก็ปฏิเสธคำกล่าวที่ว่าการบุกของเยอรมนีเป็นการชิงเปิดการโจมตีก่อน แต่เขาเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายต่างกำลังเตรียมทำการบุกอยู่เช่นกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่เชื่อว่าฝ่ายหนึ่งจะเปิดการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

ในช่วงก่อนสงคราม แน่นอนว่า สหภาพโซเวียตได้ประกาศโฆษณาชวนเชื่อออกมาโดยตลอด โดยกล่าวว่ากองทัพแดงนั้นแข็งแกร่งมาก และสามารถเอาชนะผู้รุกรานไม่ว่าหน้าไหนได้อย่างง่ายดาย

จากการที่โจเซฟ สตาลินมีนายทหารประจำการที่จะรายงานเฉพาะสิ่งที่เขาต้องการได้ยินเท่านั้น, กอปรกับความเชื่อมั่นอย่างไร้มูลเหตุในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่โจมตีต่อกัน สตาลินถูกชักนำให้เชื่อว่าสถานภาพของสหภาพโซเวียตในช่วงต้นปี พ.ศ. 2484 (1941) นั้นแข็งแกร่งกว่าที่มันเป็นจริง ๆ มาก ในฤดูใบไม้ผลิในปีเดียวกัน หน่วยงานข่าวกรองของสตาลินได้ทำการเตือนสตาลินถึงการโจมตีของเยอรมนีที่กำลังจะเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ความเชื่อมั่นของสตาลินในนายทหารและกำลังทหารของเขานั้นมั่นคงมาก จนเขาและคณะนายพลที่ปรึกษา ที่ถึงแม้จะทราบดีถึงความเป็นไปได้ที่เยอรมนีจะโจมตี และได้เตรียมการสำคัญ ๆ ไว้หลายอย่าง กลับตัดสินใจที่จะไม่ยั่วยุฮิตเลอร์ ผลก็คือทหารตามแนวชายแดนโซเวียตไม่ได้อยู่ในสถานะที่ตื่นตัวเต็มที่ ถึงขนาดที่ทหารโซเวียตถูกห้ามไม่ให้ยิงโต้ตอบโดยไม่ได้ขออนุญาตเมื่อถูกโจมตี แม้ว่าจะมีคำสั่งให้ตื่นตัวในบางส่วนในวันที่ 10 เมษายน แต่กำลังทหารโซเวียตก็ยังคงไม่พร้อมเมื่อการโจมตีของเยอรมนีเริ่มต้นขึ้น นี่อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดการโต้แย้งโดยวิกเตอร์ ซูโวรอฟ กระทั่งเมื่อการโจมตีเริ่มต้นขึ้น สตาลินก็ยังคงปฏิเสธที่จะวางกำลังและเคลื่อนกำลังทหารทั้งหมดเข้าสู่แนวรบ

แต่กระนั้น กองกำลังโซเวียตขนาดมหึมาก็ถูกประจำการไว้หลังชายแดนฝั่งตะวันตกในกรณีที่เยอรมนีเกิดโจมตีขึ้นมาจริง ๆ อย่างไรก็ตาม กองกำลังเหล่านี้เปราะบางมาก ซึ่งเกิดจากการกำลังเปลี่ยนแปลงหลักการทางยุทธวิธีของกองทัพแดง ในปี พ.ศ. 2481 (1938) กองทัพแดงได้ทำการแปลงกลยุทธป้องกันให้เป็นแบบระนาบมาตรฐานเหมือนกับชาติอื่นตามการสนับสนุนของนายพลพาฟลอฟ โดยมีเหล่ากองร้อยทหารราบเป็นกำลังหลัก เสริมด้วยส่วนประกอบที่เชื่อมต่อกันคล้ายกับรถถัง โดยจะทำการขุดสนามเพลาะเพื่อสร้างพื้นที่ป้องกันที่แน่นหนา แต่หลังจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของประเทศฝรั่งเศสต่อนาซีเยอรมนีในศึกแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจว่า กองทัพฝรั่งเศสที่ถือว่าแข็งแกร่งเป็นอันดับที่สองของโลกในเวลานั้น (รองมาจากกองทัพแดง) กลับถูกเอาชนะได้ในเวลาแค่หกสัปดาห์เท่านั้น โซเวียตได้ทำการวิเคราะห์เหตุการณ์ตามข้อมูลบางส่วน และสรุปว่าการล่มสลายของรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นเกิดขึ้นจากการพึ่งพากลยุทธป้องกันแนวระนาบ และการขาดแคลนกองกำลังยานเกราะ โซเวียตตัดสินใจที่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำรอย โดยแทนที่การขุดสนามเพลาะให้เป็นการป้องกันในแนวระนาบ พวกเขาจะวางกำลังเหล่ากองร้อยทหารราบให้รวมพลกันในกระบวนทัพที่เคลื่อนพลได้ง่ายในขนาดใหญ่ และรถถังทุกคันจะถูกรวมพลกันเป็นกองพลยานเกราะขนาดใหญ่ยักษ์ 31 กองพล โดยที่แต่ละกองพลนั้นถูกวางแผนให้ใหญ่กว่ากองทัพรถถังแพนเซอร์ (แต่มีเพียงไม่กี่กองพลเท่านั้นที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางแผนไว้ได้ก่อนวันที่ 22 กรกฎาคม) เมื่อใดก็ตามที่เยอรมนีเปิดการโจมตี ยานเกราะหัวหอกของเยอรมนีก็จะถูกตัดกำลังและกวาดล้างโดยกองพลจักรกล ซึ่งหลังจากนั้นจะทำการเข้ารวมกับทัพทหารราบเพื่อที่จะขับไล่กองกำลังทหารราบเยอรมันที่เปราะบางเมื่อกำลังทำการเคลื่อนพลประชิดกลับไป ส่วนปีกด้านซ้ายของสหภาพโซเวียต จะมีกำลังเสริมขนาดมหึมาในยูเครนที่ใหญ่พอที่จะสามารถทำการโอบล้อมทางยุทธศาสตร์ โดยหลังจากที่ทำลายกลุ่มกองทัพเยอรมันในด้านใต้แล้ว กองกำลังโซเวียตก็จะบุกขึ้นเหนือฝ่าโปแลนด์ไปยังด้านหลังของกลุ่มกองทัพในตอนกลางและด้านเหนือ จากนั้นกองทัพเยอรมันที่ถูกโอบล้อมก็จะต้องถูกทำลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามมาด้วยการปลดปล่อยทวีปยุโรปอย่างผู้กรำชัยชนะ

ขนาดกำลังของกองทัพทั้งสองฝ่ายบนแนวรบด้านตะวันออกในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2484

กองทัพแดง กองทัพเยอรมัน (รวมถึงพันธมิตร) อัตราส่วน จำนวนกองพล 190 166 1.1 : 1 จำนวนทหาร 3,289,851 4,306,800 1 : 1.3 จำนวนอาวุธปืนและปืนครก 59,787 42,601 1.4 : 1 รถถัง (รวมถึงปืนจู่โจม) 15,687 4,171 3.8 : 1 อากาศยาน 10,743 4,846 2.2 : 1

แหล่งที่มา: Mikhail Meltyukhov “Stalin's Missed Chance”, ตารางที่ 47

การโจมตีในวันที่ 22 มิถุนายน[แก้]

กองกำลังฝ่ายอักษะเปิดการโจมตีสหภาพโซเวียตในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2484 เมื่อเวลา 4.45 น. มันยังเป็นเรื่องยากที่จะประมาณกองกำลังของแต่ละฝ่ายได้อย่างแม่นยำในช่วงต้น ๆ ของการรบ เนื่องจากปริมาณกองกำลังเยอรมันส่วนใหญ่ยังรวมถึงกองกำลังสำรองที่ถูกกำหนดให้บุกจากทางทิศตะวันออกเข้ามา แต่ยังไม่ได้เปิดการโจมตี เช่นเดียวกันกับปัญหาหลายอย่างที่เกี่ยวกับการเปรียบเทียบสถิติทหารของทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าจะประมาณและคาดคะเนแล้ว จำนวนที่ดูสมเหตุสมผลน่าจะเป็นทหารเยอรมันประมาณ 2.6 ล้านนายที่เข้าทำการรบในวันที่ 22 มิถุนายน โดยมีทหารโซเวียตประจำการตามเขตแดนทหารอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ส่วนการจะเอาปริมาณกองกำลังของพันธมิตรของเยอรมนี มารวมด้วยคงจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งยุทธการได้เริ่มขึ้นได้สักพักแล้ว แต่การทำให้ฝ่ายตรงข้ามประหลาดใจของเยอรมนีนั้นประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ โดยกองบัญชาการสามัญของสหภาพโซเวียตหรือสตาฟก้า (Stavka: Shtab vierhovnogo komandovania) ที่ได้รับรายงานว่ากองกำลังทหารเยอรมันกำลังเข้าประชิดชายแดนเพื่อจัดวางกำลังพล ในเวลา 00.30 น. และได้สั่งการเตือนทหารตามชายแดนว่าสงครามกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า แต่กลับไม่มีทหารสักหน่วยที่เข้าสถานะเตรียมพร้อมในเวลานั้น

อาการตื่นตกใจของกองบัญชาการและทหารโซเวียตเมื่อถูกโจมตีมีสาเหตุมาจากช่วงเวลาที่การโจมตีเกิดขึ้นในกลางดึก อีกทั้งการที่ทหารฝ่ายอักษะจำนวนมากได้ทำการเข้าขนาบชายแดนโซเวียตและรุกล้ำเข้ามาพร้อม ๆ กัน และนอกจากกองกำลังภาคพื้นดินเยอรมันประมาณ 3.2 ล้านนาย (จำนวนทหารราบกับพลประจำยานเกราะรวมกัน) ที่ได้ทำการเข้าปะทะหรือได้ถูกจัดกำลังพลไว้สำหรับปฏิบัติการณ์ในยุโรปตะวันออกแล้ว ยังจะมีกองกำลังพันธมิตรของเยอรมนีที่ประกอบไปด้วยทหารโรมาเนีย, ฮังการี, สโลวาเกียและอิตาลีเป็นแสน ๆ คนที่กำลังเดินทัพมุ่งหน้าไปบรรจบกับกองทัพเยอรมนีอีกด้วย ในขณะที่กองทัพฟินแลนด์ได้ทำการสนับสนุนส่วนใหญ่ในตอนเหนือ โดยมีกองกำลังโซเวียตหันทัพมาทางฟินแลนด์อย่างซึ่ง ๆ หน้า (ไม่รวมถึงกองทัพโซเวียตที่อยู่ทางตอนกลางและกองกำลังสำรองของสตาฟก้า) และทำการเสริมกำลังถึงระดับที่ทหารโซเวียตที่เริ่มต้นจาก 2.6 ล้านนายในวันที่ 22 มิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคนในตอนท้ายปี แม้ว่าจะต้องหากำลังมาทดแทนกำลังที่สูญเสียไปถึง 4.5 ล้านนายในกองกำลังทุกภาค

ในช่วงแรกของการรบนั้น ความรวดเร็วในการโจมตีของเยอรมนีทำให้แผนป้องกันทั้งหมดของโซเวียตล้วนเปล่าประโยชน์ การขาดแคลนวิทยุสื่อสารรวมถึงการสื่อสารกันในรูปแบบอื่น ๆ ส่งผลให้คำสั่งจำนวนมากของกองบัญชาการโซเวียตมาถึงผู้รับสารไม่ทันท่วงที ในเวลาไม่กี่วันต่อมา กองกำลังประจำการของโซเวียตในลิทัวเนีย ที่อยู่ในบริเวณทะเลบอลติก ได้ทำการทรมานและสังหารหมู่นักโทษทางการเมือง เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสในการก่อกบฏ

เหตุการณ์ต่อมาที่เกิดขึ้น[แก้]

ในขณะที่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ในที่สุดแล้วเวลาของเยอรมนีก็หมดลง เมื่อตอนที่กองกำลังเยอรมันมาถึงชานเมืองรอบนอกของกรุงมอสโก ฤดูหนาวรัสเซียก็เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม สาเหตุของความล่าช้านี้เกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งสำคัญในวันที่ 15 พฤษภาคม เนื่องจากฮิตเลอร์ต้องการที่จะเข้าไปยับยั้งแนวร่วมต่อต้านเยอรมนีในยูโกสลาเวีย และเข้าไปหยุดความคืบหน้าของกรีซในการต่อต้านอิตาลีภายใต้การปกครองของเบนิโต มุสโสลินีในอัลเบเนีย การตัดสินใจเช่นนี้ร่นระยะเวลาที่มีน้อยอยู่แล้วในฤดูร้อนของรัสเซียให้สั้นลงไปอีกห้าสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่นำไปสู่ความล่าช้าในการบุก อีกเหตุผลหนึ่งก็คือช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิในปี 2484 (1941) ในรัสเซีย ซึ่งมีสภาพอากาศที่มีฝนตกอยู่บ่อย ๆ ตลอดเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 ซึ่งทำให้ถนนหลายสายในรัสเซียภูมิภาคตะวันตกไม่สามารถขับรถบรรทุกและยานเกราะผ่านไปได้ โดยในระหว่างที่ยุทธการดำเนินไป ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้ทัพหลักที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่มอสโกให้เปลี่ยนเส้นทางมุ่งลงใต้เพื่อช่วยกลุ่มกองทัพด้านใต้ในการยึดยูเครน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวชะลอเวลาการโจมตีเมืองหลวงของโซเวียตยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่ามันจะช่วยรักษาความมั่นคงของปีกซ้ายของกลุ่มกองทัพตอนกลางไว้ได้ แต่เมื่อถึงตอนที่พวกเขาหันทัพมุ่งไปยังมอสโก ตอนนั้นเองกองทัพแดงก็เริ่มต่อต้านอย่างดุเดือด ด้วยดินโคลนที่เกิดขึ้นจากฝนตกในฤดูใบไม้ร่วง และหิมะที่เริ่มตกหนักในฤดูหนาว เป็นใจให้กับโซเวียตที่จะยับยั้งการรุกคืบเข้ามาของกองทัพเยอรมันให้หยุดลง

นอกจากนี้ โซเวียตที่ประกาศว่าการรบของพวกเขาคือ มหาสงครามผู้รักชาติ (Great Patriotic War) ได้ทำการปกป้องมาตุภูมิของพวกเขาได้ดุดันกว่าที่กองบัญชาการเยอรมันได้คาดการณ์ไว้ยิ่งนัก ป้อมปราการชายแดนเมืองเบรสต์ในเบลารุสสื่อถึงความหมายของชาวโซเวียตได้เป็นอย่างดี ป้อมที่ถูกโจมตีในวันแรก ๆ ของการบุกโดยเยอรมนี เป็นป้อมที่ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะถูกยึดด้วยความประหลาดใจของโซเวียตในไม่กี่ชั่วโมง กลับกลายเป็นการสู้รบในป้อมที่ยาวนานและขมขื่นระหว่างกองกำลังของเยอรมนีและโซเวียตเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ๆ การส่งกำลังบำรุงกลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ของเยอรมนี เนื่องจากเส้นทางขนส่งเสบียงที่ยาวและง่ายต่อการโจมตีของพลพรรคต่อต้านฟาสซิสต์ของโซเวียตจากด้านหลัง อีกทั้งโซเวียตยังใช้ยุทธวิธี Scorched earth ทุกอย่างในทุกดินแดน ที่พวกเขาถูกบีบให้ถอนกำลังไป เพื่อไม่ให้กองทัพเยอรมันสามารถใช้ที่นา, อาหาร, เชื้อเพลิง และอาคารในดินแดนที่พวกเขายึดมาได้

แต่กองทัพเยอรมันยังคงคืบหน้าต่อไปแม้ว่าจะพบกับอุปสรรคบางประการ อย่างไรก็ตาม ก็มีบางครั้งที่เยอรมนีจะทำลายกองกำลังป้องกันทั้งหมดหรือปิดล้อมพวกเขาให้ยอมแพ้ โดยเฉพาะในศึกแห่งเคียฟที่มีผลลัพธ์ที่รุนแรงเป็นพิเศษ โดยในกลางเดือนตุลาคม กลุ่มกองทัพตอนใต้ของเยอรมนีจึงสามารถยึดเคียฟมาได้ และจับกุมเชลยชาวโซเวียตได้มากกว่า 650,000 คน ในเวลาต่อมา หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ในปี พ.ศ. 2508 (1965) เคียฟจึงได้รับการยกย่องให้เป็นวีรนคร (Hero City) สำหรับการป้องกันเยี่ยงวีรบุรุษของมัน

ส่วนกลุ่มกองทัพตอนเหนือที่ถูกมอบหมายให้ยึดดินแดนรอบทะเลบอลติกจนถึงเมืองเลนินกราด (เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน) การรุกคืบหน้าของกลุ่มกองทัพนี้เป็นไปด้วยดีจนกระทั่งพวกเขามาถึงชายเมืองรอบนอกทางทิศใต้ในเดือนสิงหาคม ที่ ๆ พวกเขาถูกกองกำลังโซเวียตต่อต้านอย่างดุเดือดจนทำให้การรุกคืบหน้าอย่างต่อเนื่องของพวกเขาต้องหยุดลง และเนื่องจากการพยายามที่จะยึดเมืองคงจะเป็นการเสียกำลังพลมากเกินไป กองบัญชาการเยอรมันจึงตัดสินใจที่จะปล่อยให้ประชากรในเมืองอดอาหารจนตายผ่านการปิดทางเสบียงและการคมนาคม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการปิดล้อมแห่งเลนินกราด แต่เมืองยังคงยืนหยัดไว้ได้ แม้ว่ากองกำลังเยอรมันจะพยายามหลายครั้งหลายหนในการฝ่าแนวป้องกันของโซเวียต รวมถึงทำการโจมตีทางอากาศและระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองอย่างไม่หยุดหย่อน และทำให้เกิดการขาดอาหารและเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง จนกระทั่งฝ่ายเยอรมันเองกลายเป็นฝ่ายที่ต้องล่าถอยเมื่อกำลังเสริมของกองกำลังโซเวียตในเลนินกราดมาถึงในตอนต้นปี พ.ศ. 2487 (1944) และทำให้เลนินกราดกลายเป็นเมืองแรกที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรนคร

สาเหตุของความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตในช่วงแรก ๆ[แก้]

The pacific 2010 สมรภ ม ว รบ ร ษ
อาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายโซเวียตถูกยึดโดยทหารเยอรมัน

สาเหตุโดยรวมที่ทำให้กองทัพโซเวียตพ่ายแพ้อย่างยับเยินในปี พ.ศ. 2484 (1941) เป็นเพราะการโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัวของเยอรมนี ในขณะที่กองทัพโซเวียตแทบไม่ได้เตรียมตัวเลย และเนื่องจากในขณะนั้น กองกำลังของเยอรมันเป็นกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และมีประสบการณ์การรบมากที่สุดในโลก เยอรมนีมีหลักการในการวางกำลังพล, การทำลายล้าง, การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม, และความเชื่อมั่นที่มาจากการประสบชัยชนะอย่างต่อเนื่องโดยเสียกองกำลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนกองกำลังโซเวียต เป็นไปในทางตรงกันข้าม ขาดทั้งบุคลากรที่มีความเป็นผู้นำ, ขาดการฝึกฝนและความพร้อม โดยแผนการของโซเวียตส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสงครามระหว่างนาซีเยอรมนีและโซเวียตจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปี พ.ศ. 2485 (1942) ฉะนั้นเมื่อกองทัพเยอรมันเปิดการโจมตี กองทัพโซเวียตยังคงปฏิรูปองค์กร และดูเหมือนว่ากำลังเป็นไปในทางที่ดี แต่ยังไม่ได้ทำการทดสอบใด ๆ และยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่งถูกผลิตให้กับหน่วยงานภาคสนาม อีกทั้งกองทัพโซเวียตส่วนใหญ่ในยุโรปนั้น ยังคงรวมพลอยู่ในพรมแดนโซเวียตใหม่ทางตะวันตกที่เคยเป็นประเทศโปแลนด์ ซึ่งไม่ได้เตรียมการป้องกันอย่างเอาจริงเอาจังใด ๆ และทำให้มันถูกเอาชนะอย่างราบคาบและกองกำลังโซเวียตที่ปกป้องมันอยู่ก็ถูกทำลายลงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการรบ อีกทั้งในช่วงแรก ๆ นั้น หน่วยรบของโซเวียตจำนวนมากยังถูกขัดขวางไม่ให้เข้าทำการรบตามคำสั่งของสองจอมพลผู้รอดชีวิตจากการกวาดล้าง นายพลซีมิยอน ทิโมเชนโก้ และนายพลกิออร์กี้ ชูคอฟ ที่ได้รับคำสั่งโดยตรงมาจากสตาลินอีกที ว่าไม่ให้ทำการเข้าปะทะ และไม่ให้ตอบโต้ต่อการยุยง ตามมาด้วยคำสั่งแรกจากมอสโกหลังการโจมตีที่ให้ทำการ 'ยืนหยัดต่อสู้และทำการสวนกลับ' ซึ่งจะทำให้กองทัพเยอรมันทำการโอบล้อมกองทัพโซเวียตได้โดยง่าย โดยสรุปคือ การที่โซเวียตพ่ายแพ้ในช่วงแรกก็เนื่องมาจากการขาดแคลนนายทหารที่มีประสบการณ์ (อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้เถียงกันอยู่ในประเด็นนี้) และความล่าช้าทางด้านระบบบริหารราชการ

The pacific 2010 สมรภ ม ว รบ ร ษ
ทหารเยอรมันทำลายรถถังโซเวียต

ความผิดพลาดทางการยุทธของโซเวียตในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกระหว่างการรุกรานของเยอรมนีนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับโซเวียต โดยในช่วงแรก กองทัพแดงได้ประเมินกำลังรบของตนเองว่ามีปริมาณและประสิทธิภาพเกินกว่าความเป็นจริงที่เป็นอยู่อย่างลิบลับ โดยกองพลยานเกราะของโซเวียต จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะจัดการกับกองทัพรถถังแพนเซอร์ได้อย่างราบคาบ กลับถูกดักโจมตีและถูกทำลายอย่างยับเยินโดยเครื่องบินดิ่งทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศลุฟท์วัฟเฟอของเยอรมนี ส่วนบรรดารถถังโซเวียต ซึ่งขาดการบำรุงรักษาและถูกควบคุมโดยพลขับที่ไร้ประสบการณ์ ยังประสบกับอัตราความชำรุดเสียหายที่พุ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย อีกทั้งการขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่และรถบรรทุกขนส่งยังทำให้การส่งกำลังบำรุงไม่สามารถทำได้อย่างสิ้นเชิง การตัดสินใจที่จะไม่ให้ทหารราบของตนขุดสนามเพลาะถูกพิสูจน์ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และส่งผลให้กองกำลังทหารราบของโซเวียต ที่ขาดทั้งรถถังและการสนับสนุนด้านการต่อต้านยานเกราะที่ไม่เพียงพอ ประสบกับการสูญเสียอย่างมหาศาล เนื่องจากไม่สามารถต่อกรกับกองทัพเยอรมันโดยใช้กลยุทธกระจายกำลังที่จำเป็นต้องใช้รถถังได้

ต่อจากนั้น สตาลินยังสั่งห้ามกองทัพของเขาไม่ให้ถอยทัพหรือยอมจำนน ซึ่งส่งผลให้กองทัพของเขาวางกำลังกระจายกันออกไปประจำพลอยู่ในตำแหน่งเรียงกันเป็นระนาบโดยไม่ทำการเคลื่อนพลใด ๆ ในขณะที่รถถังเยอรมันยังคงเจาะกองกำลังของโซเวียตเข้ามาได้อย่างง่ายดาย และตัดเส้นทางเสบียงรวมถึงทำการล้อมกองทัพโซเวียตทั้งหมดเอาไว้ ถึงตอนนั้นเองที่สตาลินอนุมัติให้กองทัพทั้งหมดของเขาถอยทัพมายังแนวหลังเพื่อรวมพลเตรียมการป้องกันแนวหลังหรือเตรียมการตอบโต้การโจมตี หลังจากนั้น ทหารชาวโซเวียตมากกว่า 2,400,000 นายถูกจับเป็นเชลยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 (1941) ในเวลาที่การรบในชานเมืองมอสโกเริ่มต้นขึ้นระหว่างกองกำลังโซเวียตและเยอรมัน

แม้ว่าเยอรมนีจะประสบกับความล้มเหลวในการยึดกรุงมอสโก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของยุทธการบาร์บาร็อสซา แต่ความสูญเสียอย่างมากของโซเวียตก็ทำให้การโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตเปลี่ยนจากจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยก่อนสงครามจะเกิดขึ้น รัฐบาลโซเวียตได้ออกมาระบุว่ากองทัพโซเวียตนั้นแข็งแกร่งมาก จนกระทั่งมาถึงฤดูใบไม้ร่วงที่รัฐบาลได้เปลี่ยนท่าที โดยประกาศว่ากองทัพโซเวียตนั้นยังอ่อนแอ และไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมทัพให้พร้อมทำสงคราม นอกจากนี้ยังถูกจู่โจมอย่างคาดไม่ถึงโดยเยอรมนี และเหตุผลอื่น ๆ ที่รัฐบาลโซเวียตได้อ้างสาเหตุ

สาเหตุของความพ่ายแพ้เยอรมนี (ในช่วงแรก) ได้ถูกนำเสนอต่างออกไปโดยวิกเตอร์ ซูโวรอฟในหนังสือ Icebreaker ของเขา โดยที่ซูโวรอฟอ้างว่าเหตุการณ์ในสงครามนั้นเป็นความจำนงของสตาลินอยู่แล้ว โดยคำกล่าวอ้างนี่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก และนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกโดยทั่วไปถือว่าคำกล่าวอ้างของซูโวรอฟไม่มีมูลความจริง

ผลที่ตามมา[แก้]

ยุทธการบาร์บาร็อสซานั้นมาถึงจุดสรุปเมื่อกลุ่มกองทัพตอนกลางของนาซีเยอรมนีที่กำลังขาดแคลนเสบียงเนื่องจากโคลนหลังฤดูฝนในเดือนตุลาคม ถูกสั่งให้บุกรุดหน้าต่อไปยังมอสโก จนกระทั่งกำลังทหารเยอรมันรุดหน้ามาถึงหน้าพระราชวังเครมลินในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 (1941) เมื่อมาถึงตรงนั้น กองกำลังทหารเยอรมันทั้งหมดก็จำต้องหยุดลง เมื่อกำลังเสริมขนาดใหญ่ของสตาลินมาถึง จากไซบีเรีย พร้อมกับความสดใหม่ของทหารและการบำรุงรักษากำลังอย่างครบครัน และได้ทำการป้องกันมอสโกอย่างดุเดือดในศึกแห่งมอสโก ผลของการรบออกมาโดยฝ่ายโซเวียตเป็นผู้กรำชัยชนะอย่างเด็ดขาด และได้ทำการตีโต้กองกำลังเยอรมันกลับไปเมื่อฤดูหนาวมาถึง กองกำลังตอบโต้ของโซเวียตขนาดใหญ่ยักษ์ได้ถูกสั่งให้เข้าทำการโจมตีกลุ่มกองทัพตอนกลางของเยอรมัน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เนื่องจากกลุ่มกองทัพดังกล่าวนั้นวางกำลังอยู่ใกล้มอสโกมากที่สุด การป้องกันกรุงมอสโกได้สำเร็จ ทำให้เมืองนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรนครในเวลาต่อมา

เมื่อกองกำลังเยอรมันทั้งหมดที่ประจำการอยู่ในดินแดนของโซเวียตประสบกับการไม่มีที่อยู่ที่พักอาศัย (ซึ่งเกิดจากกลยุทธทำลายล้างของโซเวียต), ขาดเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวที่เหมาะสม, ขาดเสบียงอาหารเป็นเวลานานติดต่อกัน (หิมะในฤดูหนาวที่กลบถนนจนมิด ทำให้การส่งกำลังบำรุงของเยอรมันแทบจะเป็นอัมพาต) และไม่มีที่จะไป (เพราะการออกไปในอากาศหนาวเช่นนั้นโดยไม่มีเสื้อผ้ากันหนาวที่ดีพอ หมายถึงความตายของทหารเยอรมัน) ทำให้กองกำลังเยอรมันไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะรอกำลังเสริมในฤดูหนาวในดินแดนแถบขั้วโลก ในขณะที่กองกำลังเยอรมันสามารถหลีกเลี่ยงการถูกตีให้แตกพ่ายยับเยินโดยกองกำลังตอบโต้ของโซเวียตมาได้ แต่ก็ประสบกับการสูญเสียกำลังเป็นจำนวนมากทั้งจากการรบ และการถูกโจมตีระหว่างเคลื่อนทัพ

การยึดกรุงมอสโกถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะของเยอรมนีในขณะนั้น แต่ก็เกิดการถกเถียงระหว่างนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันว่าการเสียกรุงมอสโกจะนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เยอรมนีก็ประสบกับความล้มเหลวในการยึดมอสโก ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวของยุทธการบาร์บาร็อสซาในเวลาต่อมา ในเดือนธันว่าคม พ.ศ. 2484 (1941) เยอรมนีก็ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา (ตามจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งหนึ่งในพันธมิตรอักษะของเยอรมนีที่ได้ทำการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ต่อสหรัฐอเมริกา) ซึ่งระหว่างเวลาหกเดือนต่อจากนี้ ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของเยอรมนีเริ่มล่อแหลมขึ้นมาทุกที เนื่องจากการวางแผนอุตสาหกรรมทางทหารของเยอรมนีถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการทำสงครามในระยะสั้นเท่านั้น และยังไม่มีความพร้อมที่จะทำสงครามยืดเยื้อแต่อย่างใด

ผลลัพธ์ของยุทธการบาร์บาร็อสซาต่อเยอรมนีนั้นสร้างความเสียหายให้กับโซเวียตในอย่างมหาศาล แต่ฝ่ายเยอรมันก็ไม่ได้มีสถานภาพต่างจากฝ่ายโซเวียตมากนัก แม้ว่าเยอรมนีจะล้มเหลวในการยึดกรุงมอสโก แต่กองกำลังเยอรมันก็สามารถยึดดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต รวมถึงเขตการปกครองของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทั้งเขต ได้แก่เบลารุส, ยูเครน และดินแดนรอบทะเลบอลติก รวมถึงภูมิภาครัสเซียตะวันตกที่มอสโกปกครองอยู่ กองทัพเยอรมันสามารถยึดดินแดนมาได้กว่า 1,300,000 ตร.กม. ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 75 ล้านคนตามสถิติจากปลายปี พ.ศ. 2484 รวมถึงกำลังวางแผนที่จะยึดดินแดนมาอีกกว่า 650,000 ตร.กม. ก่อนที่จะถูกบีบให้ถอยทัพหลังจากความพ่ายแพ้ในศึกแห่งสตาลินกราด (เมืองโวลกากราดในปัจจุบัน) และศึกแห่งเคิร์สก์ ในขณะเดียวกัน ทุกดินแดนที่เยอรมนียึดมาได้ล้วนแข็งข้อต่อเยอรมนี จากอัตราการก่อกวนกองกำลังเยอรมันที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เยอรมนีลงโทษกลับอย่างโหดเหี้ยม ต่อมากองกำลังเยอรมันยังคงยันยื้อต่อกองกำลังตอบโต้ของโซเวียตอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้เกิดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากในทั้งสองฝ่ายจากการรบหลายต่อหลายครั้ง

ดูเพิ่ม[แก้]

The pacific 2010 สมรภ ม ว รบ ร ษ

  • แนวรบด้านตะวันออก (สงครามโลกครั้งที่สอง)
  • เส้นเวลาของแนวรบด้านตะวันออก (สงครามโลกครั้งที่สอง)
  • แนวโมโลตอฟ
  • สงครามต่อเนื่อง

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Bergström, p130
  2. Bergström 2007, p. 131-2: ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุสหภาพโซเวียตร่วมกับ Rosvoyentsentr, Moscow; Russian Aviation Research Trust; Russian Central Military Archive TsAMO, Podolsk; Monino Air Force Museum, Moscow.
  3. Boog, H, Germany's penis and the Second World War, VoI. 4: The Attack on the Soviet Union (Oxford, 1994)
  4. Bergström 2007, p 118: Sources Luftwaffe strength returns from the Archives in Freiburg.
  5. Krivosheev, G.F, 1997, p.96.
  6. เกี่ยวกับการรุกรานสหภาพโซเวียตของเยอรมนี
  7. การปฏิบัติต่อเชลยสงครามโซเวียต: การอดอาหาร โรคระบาดและการสังหาร (มิถุนายน 1941–มกราคม 1942)
  8. Bergström, p117
  9. Krivosheyev, G. 1993
  10. , pp. 204–221.
  11. , p. 416.
  12. , p. 272.
  13. , pp. 175–186.
  14. , pp. 58–61, 199–202.
  15. , pp. 50–51.
  16. .

อ้างอิง[แก้]

  • Bellamy, Christopher (2007). Absolute War: Soviet Russia in World War Two. Knopf Publishers. ISBN 978-0-375-41086-4
  • Bergstrom, Christer (2007). Barbarossa - The Air Battle: July-December 1941. London: Chervron/Ian Allen. ISBN 978-1-85780-270-2.
  • Bethell, Nicholas and Time - Life Books Attack of USSR (Hard cover, ISBN 80-7237-279-3)
  • Clark, Alan. Barbarossa: The Russian–German Conflict, 1941–45. New York: Willam Morrow & Co., 1965.
  • John Erickson. The Road to Stalingrad. London: Cassell Military, 2003 (paperback, ISBN 0-304-36541-6).
  • Erickson, John and Dilks, David eds. Barbarossa: The Axis and the Allies. Edinburgh: Edinburgh University Press, 1994 (hardcover, ISBN 0-7486-0504-5); 1998 (paperback, ISBN 0-7486-1111-8).
  • Förster, Jürgen; Mawdsley, Evan. "Hitler and Stalin in Perspective: Secret Speeches on the Eve of Barbarossa", War in History, Vol. 11, Issue 1. (2004), pp. 61–103.
  • Farrell, Brian P. "Yes, Prime Minister: Barbarossa, Whipcord, and the Basis of British Grand Strategy, Autumn 1941", The Journal of Military History, Vol. 57, No. 4. (1993), pp. 599–625.
  • David Glantz. Barbarossa: Hitler's invasion of Russia, 1941. Stroud, Gloucestershire: Tempus, 2001 (paperback, ISBN 0-7524-1979-X).
  • Glantz, David M. Stumbling Colossus: The Red Army on the Eve of World War. Lawrence, KA: University Press of Kansas, 1998 (hardcover, ISBN 0-7006-0879-6).
  • Glantz, David M. Colossus Reborn: the Red Army at War, 1941–1943. Kansas: University Press of Kansas, 2005 (hardcover, ISBN 0-7006-1353-6).
  • Gorodetsky, Gabriel Grand Delusion: Stalin and the German Invasion of Russia. New Haven, CT; London: Yale University Press, 2001 (paperback, ISBN 0-300-08459-5).
  • Joachim Hoffmann. Stalin's War of Extermination. Capshaw, AL: Theses & Dissertations Press, 2001 (hardcover, ISBN 0-9679856-8-4).
  • Kershaw, Robert J. War Without Garlands: Operation Barbarossa, 1941/42. Shepperton: Ian Allan, 2000 (hardcover, ISBN 0-7110-2734-X).
  • Kirchubel, Robert. Operation Barbarossa 1941 (1): Army Group South. Oxford: Osprey, 2003 (paperback, ISBN 1-84176-697-6).
  • Kirchubel, Robert. Operation Barbarossa 1941 (2): Army Group North. Oxford: Osprey, 2005 (paperback, ISBN 1-84176-857-X).
  • Krivosheyev, G. Grif sekretnotsi snyat. Poteri vooruzhyonnykh sil SSSR v voynakh, boyevykh deystviyakh i voyennykh konfliktakh, Voyenizdat, Moscow, 1993.
  • Krivosheev, G.F. ed. Soviet casualties and combat losses in the twentieth century. London: Greenhill Books, 1997 (hardcover, ISBN 1-85367-280-7). Available on-line in Russian.
  • Koch, H.W. "Hitler's 'Programme' and the Genesis of Operation 'Barbarossa'", The Historical Journal, Vol. 26, No. 4. (1983), pp. 891–920.
  • Latimer, Jon, Deception in War, London: John Murray, 2001
  • Lubbeck, William; Hurt, David B. At Leningrad's Gates: The Story of a Soldier with Army Group North. Philadelphia, PA: Casemate, 2006 (hardcover, ISBN 1-932033-55-6).
  • Macksey, Kenneth. Why the Germans Lose at War: The Myth of German Military Superiority. London: Greenhill Books, 1999 (paperback, ISBN 1-85367-383-8).
  • Maser, Werner. Der Wortbruch: Hitler, Stalin und der Zweite Weltkrieg. München: Olzog, 1994 (hardcover, ISBN 3-7892-8260-X); München: Heyne, 2001 (paperback, ISBN 3-453-11764-6).
  • Megargee, Geoffrey P. War of Annihilation: Combat and Genocide on the Eastern Front, 1941. Lanham, MA: Rowman & Littelefield, 2006 (hardcover, ISBN 0-7425-4481-8; paperback, ISBN 0-7425-4482-6).
  • Murphy, David E. What Stalin Knew: The Enigma of Barbarossa. New Haven, CT; London: Yale University Press, 2005 (hardcover, ISBN 0-300-10780-3); 2006 (paperback, ISBN 0-300-11981-X).
    • Reviewed by Robert Conquest at The American Historical Review, Vol. 111, No. 2. (2006), p. 591.
  • Alexander Nekrich. "June 22, 1941; Soviet Historians and the German Invasion". Columbia: University of South Carolina Press, 1968.
  • Pleshakov, Constantine. Stalin's Folly: The Tragic First Ten Days of World War Two on the Eastern Front. Boston: Houghton Mifflin, 2005 (hardcover, ISBN 0-618-36701-2).
  • Raus, Erhard. Panzer Operations: The Eastern Front Memoir of General Raus, 1941–1945, compiled and translated by Steven H. Newton. Cambridge, MA: Da Capo Press, 2003 (hardcover, ISBN 0-306-81247-9); 2005 (paperback, ISBN 0-306-81409-9).
  • Rayfield, Donald. Stalin and his Hangmen,London, Penguin Books, 2004, ISBN 0-14-100375-8
    • Reviewed by David R. Snyder in The Journal of Military History, Vol. 69, No. 1. (2005), pp. 265–266.
  • Roberts, Cynthia. "Planning for War: The Red Army and the Catastrophe of 1941". Taylor and Francis Publishers. Europe-Asia Studies, Vol. 47, No. 8 (Dec, 1995), pp. 1293-1326.
  • Rees, Laurence. War of the Century: When Hitler Fought Stalin. New York: New Press, 1999 (hardcover, ISBN 1-56584-599-4).
  • Stolfi, R.H.S. German Panzers on the Offensive: Russian Front. North Africa, 1941–1942. Atglen, PA: Schiffer Publishing, 2003 (hardcover, ISBN 0-7643-1770-9).
  • Suvorov, Viktor. The Chief Culprit: Stalin's Grand Design to Start World War II. Dulles, VA: Potomac Books, 2007 (hardcover, ISBN 1-59797-114-6).
  • A.J.P. Taylor และ Mayer, S.L., eds. A History Of World War Two. London: Octopus Books, 1974. ISBN 0-7064-0399-1.
  • Martin van Creveld. Supplying War: Logistics from Wallenstein to Patton Cambridge: Cambridge University Press, 1977. ISBN 0-421-29793-1
  • Weeks, Albert L. Stalin's Other War: Soviet Grand Strategy, 1939–1941. Lanham, MD: Rowman & Littlefield, 2002 (hardcover; ISBN 0-7425-2191-5); 2003 (paperback, ISBN 0-7425-2192-3).
  • Wegner, Bernd ed. From Peace to War: Germany, Soviet Russia, and the World, 1939–1941 Providence, RI: Berghahn Books, 1997 (hardcover, ISBN 1-57181-882-0).
    • Reviewed by Peter Konecny, Canadian Journal of History, Vol. 34 Issue 2. (Aug., 1999) pp. 288–290.
  • Wieczynski, Joseph L.; Fox, J.P. "Operation Barbarossa: The German Attack on The Soviet Union, June 22, 1941", The Slavonic and East European Review, Vol. 74, No. 2. (1996), pp. 344–346.
  • Ziemke, Earl F. Moscow to Stalingrad: Decision in the East. Washington DC: U.S. Army Center of Military History, 1987; New York: Military Heritage Press, 1988 (hardcover, ISBN 0-88029-294-6).
  • Ziemke, Earl F. Stalingrad to Berlin: The German Defeat in the East. Washington DC: U.S. Army Center of Military History, 1966; Honolulu, HA: University Press of the Pacific, 2003 (paperback, ISBN 1-4102-0414-6).
  • Мельтюхов, М.И. Упущенный шанс Сталина. Советский Союз и борьба за Европу: 1939–1941 (Документы, факты, суждения). Москва: Вече, 2000.
  • Суворов, В. Последняя республика: Почему Советский Союз проиграл Вторую Мировую войну. Москва: AST, 2003 (hardcover, ISBN 5-17-007876-5).
  • lt. Kolobanov and KV-2. Notable engagements of KV series against outnumbering enemy forces: http://wio.ru/tank/ww2tank.htm

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • Operation Barbarossa รายงานและรูปภาพดั้งเดิมจาก เดอะ ไทมส์
  • ความเชื่อมโยงกันระหว่างการทัพในคาบสมุทรบอลข่านกับการรุกรานสหภาพโซเวียต และ เส้นเวลา บนเว็บไซต์ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา
  • แผนที่มัลติมีเดีย— มีเนื้อหาครอบคลุมการรุกรานสหภาพโซเวียต รวมไปถึงปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา
  • ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา— การวิเคราะห์ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา โดยนักประพันธ์ เบวิน อเล็กซานเดอร์
  • Central Intelligence Agency, Office of Current Intelligence. The Soviet History of World War II เก็บถาวร 2009-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 28 October 1959.

อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน หรือไม่มีการปิด </ref>