คํา+กล่าว+ปิด+งาน+สัมมนา+การท่องเที่ยว

คำกล่าวปิดการประชุม Indo-Pacific Conference ผ่านระบบออนไลน์

ว่าด้วยการเสริมสร้างการบริหารจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดน

โดย เอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี

ก่อนอื่น ผมขอกล่าวขอบคุณ คุณสทู ลิเม และทีมผู้จัดงานจากศูนย์ East-West Center ขอขอบคุณท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีสติลเวลล์ ตลอดจนเพื่อนร่วมงานจากกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงพวกท่านทุกคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากทั่วเอเชียและทั่วโลก ที่มาประชุมร่วมกันในวันนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและช่วยกันสร้างอนาคตที่มั่งคั่งยิ่งขึ้นให้แก่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้ยินท่านเลขาธิการ สมเกียรติ ประจำวงษ์ กล่าวถึงประเด็นที่มีความสำคัญว่าด้วยการทำให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งความมั่งคั่ง ความเชื่อมโยง และความยั่งยืน

สำหรับผมแล้ว การอภิปรายหารือกันในวันนี้เน้นย้ำไม่เพียงแต่ประเด็นความท้าทายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเร่งด่วนอย่างมากของการส่งเสริมข้อตกลงและสถาบันด้านการจัดการน้ำข้ามพรมแดนของเราด้วย ภัยแล้งในปีนี้ที่ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีสติลเวลล์ได้กล่าวถึงนั้นเป็นสัญญาณเรียกให้มีการดำเนินการ พวกเราในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาคได้เป็นพยานถึงการหาเลี้ยงชีพ ความเจริญมั่งคั่ง และชีวิตของผู้คนหลายสิบล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย

งานนี้เป็นงานที่ยากลำบาก การสร้างสมดุลระหว่างความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละประเทศในลุ่มน้ำโขงที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก จำเป็นจะต้องมีภาระรับผิดชอบ ความโปร่งใส การสนับสนุนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเหนือสิ่งอื่นใดคือ จะต้องมีความไว้วางใจกัน

ชิคาโก บ้านเกิดของผม ตั้งอยู่ที่เกรตเลกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก สหรัฐฯ และแคนาดาได้เผชิญกับความท้าทายมากมายเกี่ยวกับแหล่งน้ำเหล่านี้ แม้กระนั้นด้วยสถาบันที่มีความเข้มแข็งอย่างคณะกรรมาธิการร่วมนานาชาติ (International Joint Commission) ซึ่งกรรมาธิการเจน คอร์วินได้กล่าวถึงในวันนี้ ทำให้ในช่วงเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ค้นพบวิธีการในการแบ่งปันและจัดการแหล่งน้ำข้ามพรมแดนร่วมกันเพื่อพัฒนาชีวิตของพลเมืองจากทั้งสองฝั่งของพรมแดน

โชคดีที่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีสถาบันลักษณะดังกล่าวเช่นกัน นั่นคือ คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2500 และเป็นแม่แบบที่มีมายาวนานของความร่วมมือในระดับภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นหัวใจสำคัญของการอภิปรายของเราในวันนี้ด้วย ดังเช่นที่เราได้ทราบกันแล้วว่า การพัฒนาศักยภาพขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขงที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ดร. ฮัดดา ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวในวันนี้ว่า คณะกรรมาธิการฯ กำลังทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อหาทางออกด้านการทูตว่าด้วยเรื่องน้ำ อันจะส่งเสริมหลักการการใช้น้ำอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม พวกเราจะต้องร่วมกันดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคณะกรรมาธิการฯ ในการแก้ไขความขัดแย้งที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน ทั้งภายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและกับประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาค

ผมยินดีที่จะกล่าวถึงบทบาทอันโดดเด่นและยาวนานของรัฐบาลสหรัฐฯ ในความพยายามเหล่านี้ โดยล่าสุดเป็นความพยายามผ่านทางความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) ที่ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีสติลเวลล์ได้กล่าวถึงไป ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนงานที่สำคัญของคณะกรรมาธิการฯ ผ่านโครงการและความร่วมมือต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้วอีก 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากความพยายามเหล่านี้ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชีย ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร กำลังค้นหาวิธีการใหม่ ๆ อันเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยคณะกรรมาธิการฯ และประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงลดสภาวะเปราะบางต่ออุทกภัยและภัยแล้ง เหมือนเช่นที่เราประสบไปเมื่อต้นปีนี้ USAID ร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ เปิดตัว “แพลตฟอร์มเตือนภัยแล้งล่วงหน้า” ภายใต้โครงการ SERVIR-Mekong อันเป็นความร่วมมือกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) โดยเครื่องมือออนไลน์นี้จะช่วยให้ประเทศลุ่มน้ำโขงมีระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อพยากรณ์และติดตามภัยแล้งในภูมิภาค เรื่องนี้ไม่ควรจะไปถึงมือนักวิทยาศาสตร์อวกาศ แต่การที่ได้พวกเขามาช่วยเราก็เป็นสิ่งที่ดียิ่ง

เราได้ยินกันไปแล้วในวันนี้ว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ยุโรปไปจนถึงเอเชียตะวันออก พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนจากการบริหารจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดนกับประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศสหรัฐฯ เองก็เช่นเดียวกัน หน่วยทหารช่างกองทัพบกสหรัฐฯ ได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการแม่น้ำและแหล่งน้ำระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและคณะกรรมาธิการแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi River Commission) ตลอดจนได้สนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง พ.ศ. 2564-2573 เราตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือเหล่านี้ จึงกำลังดำเนินการเพื่อจัดทำข้อตกลงระหว่างหน่วยทหารช่างกองทัพบกสหรัฐฯ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทยขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ความสำเร็จในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันและความร่วมมือที่เข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการถ่ายโอนข้อมูลอย่างโปร่งใสอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงจัดตั้งโครงการข้อริเริ่มในการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง (Mekong Water Data Initiative) โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากรัฐบาลและภาคีองค์กรนอกภาครัฐกว่า 60 แห่ง เพื่อปรับปรุงการแบ่งปันข้อมูลและการตัดสินใจโดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ แพลตฟอร์ม MekongWater.org ซึ่งรัฐมนตรีปอมเปโอได้ประกาศเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว ประกอบไปด้วยเครื่องมือกว่า 40 ชิ้นที่ครอบคลุมตั้งแต่การพยากรณ์อากาศไปจนถึงวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เราวางแผนที่จะประกาศการยกระดับครั้งสำคัญบนแพลตฟอร์มนี้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ ไบรอัน อายเลอร์ได้กล่าวไว้ระหว่างการประชุมช่วงแรกของวันนี้ว่า การแบ่งปันข้อมูลที่โปร่งใสเป็นกุญแจสำคัญของการเป็น “เพื่อนบ้านที่ดี” ในลุ่มน้ำโขง

สหรัฐฯ ได้เจรจาข้อตกลงว่าด้วยคุณภาพน้ำในแหล่งเกรตเลกส์ (Great Lakes Water Quality Agreement) ร่วมกับแคนาดาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2515 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญต่อแหล่งทรัพยากรที่เรามีร่วมกัน อย่างไรก็ดี ความร่วมมือไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังคงทำงานร่วมกันและระบุวิธีการเพื่อพัฒนาข้อตกลงในปี 2521 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ในปี 2555 การบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ไม่ใช่ความร่วมมือระหว่างประเทศเพียง 2 ประเทศ แต่เป็นความร่วมมือในกลุ่มประเทศทั้งหก จะต้องใช้แนวทางเดียวกัน ตลอดจนใช้ความอดทนอย่างสูง มีความมุ่งมั่นในการประเมินอย่างต่อเนื่อง มีความโปร่งใส และความไว้วางใจกันท่ามกลางบรรดาประเทศที่ใช้ทรัพยากรจากแม่น้ำร่วมกัน

ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีสติลเวลล์ได้กล่าวไว้เมื่อเปิดการประชุมว่า สหรัฐฯ ตลอดจนมิตรและพันธมิตรของเราจากทั่วโลก มุ่งมั่นที่จะร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อสร้างอนาคตที่มั่งคั่ง ยั่งยืน และสดใส โดยคำนึงถึงทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน

ผมขอขอบคุณทีมผู้จัดงาน แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมงานทุกท่านอีกครั้งที่ร่วมสนับสนุนการประชุมในครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง ผมหวังว่าเราจะร่วมมือกันต่อไป และได้เห็นการบริหารจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดนที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นในอนาคตข้างหน้านี้

โดย | 19 ตุลาคม, 2020 | ประเภท: ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก, สุนทรพจน์, เอกอัครราชทูต