ทำไมบันทึกของชาวต่างชาติจึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

               2.5 หลักฐานประเภทบอกเล่า แบ่งออกเป็นประเพณีจากการบอกเล่า และประวัติศาสตร์จากการบอกเล่า ข้อจำกัดคือ อาจคลาดเคลื่อนได้ง่าย ตามอคติของผู้เล่าจึงต้องมีการตรวจสอบกับเอกสารอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ

Du Royaume de Siam (ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม) หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “จดหมายเหตุลาลูแบร์” เป็นบันทึกของซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นเวลา 3 เดือน 6 วัน ทันทีที่เขาย่างเท้าเข้ามาในอยุธยา ลาลูแบร์ได้จดเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเห็นแบบสากกะเบือยันเรือรบ ทั้งพันธุ์ไม้ บ้านเรือน วิถีชีวิตผู้คน อุปนิสัย กำแพงเมือง กองทัพ พระราชวัง พระมหากษัตริย์ ขุนนาง อาหารการกิน ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย ภาษา เพลง ดนตรี ไปจนถึงการเรียนการสอนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการแพทย์

ทำไมบันทึกของชาวต่างชาติจึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
Du Royaume de Siam โดยซิมง เดอ ลาลูแบร์

จดหมายเหตุลาลูแบร์มีความสำคัญกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยมาก เพราะนี่คือบันทึกชั้นดีที่ร้อยเรียงเรื่องราวความเป็นไปของผู้คนในสมัยอยุธยาไว้อย่างละเอียด เรียกว่าทุกๆ เรื่องของสังคมอยุธยาในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ถูกจารึกลงในบันทึกเล่มนี้ไว้ทั้งหมด ราวกับว่าหากลาลูแบร์เป็นมนุษย์ที่อยู่ในโลกที่มีโซเชียลแบบปี 2021 เขาก็คงจะกลายเป็นนักรีวิว เปิดเพจ ทำรายการไลฟ์สดเที่ยวอยุธยากับลาลูแบร์ไปแล้วเป็นแน่ ในบันทึก เราอาจจะพบเรื่องไม่คุ้นหู เช่น ทูตสยามมอบปลาร้าให้กับทูตฝรั่งเศสเป็นของขวัญ ลูกสาวขุนนางหลายคนทำงานในซ่อง ผู้ชายอยุธยาขี้เกียจส่วนผู้หญิงเป็นฝ่ายทำงาน เลี้ยงบิดามารดา และควบคุมทรัพย์สินทุกอย่างในบ้าน ชาวสยามยังเป็นผู้สุภาพอ่อนน้อมแต่ก็แอบฉลาดแกมโกงไปในเวลาเดียวกัน กฎหมายการหย่าร้างระหว่างหญิงชาย และอีกหลากหลายเรื่องราวของชาวอยุธยาที่อาจพิสดารกับคนยุคศตวรรษที่ 21 ตัวอย่างเช่น ในหมวด อุปนิสัยของชาวสยามโดยทั่วๆ ไป

“ชาวสยามไม่อยากรู้อยากเห็น หรือนิยมชมชื่นในอะไรๆ ทั้งนั้น ถ้าใครประพฤติต่อเขาอย่างมีสัมมาคารวะ ก็จะกำเริบทะนงเย่อหยิ่งใหญ่ แต่กลับยอมตนหมอบกราบแก่บุคคลที่ใช้อำนาจขึงขังข่มเอากับตน ชาวสยามเป็นคนเจ้าเล่ห์และกลับกลอกอยู่เสมอเช่นคนทั้งหลายที่รู้จุดอ่อนแอของตนเองฉะนั้น”

หรือ หมวดว่าด้วยเครื่องนุ่งห่มและรูปร่างหน้าตาของชาวสยาม

“ชาวสยามเป็นคนสะอาดสะอ้านมาก … ชาวสยามอาบน้ำวันละ 3 หรือ 4 ครั้ง และอาบบ่อยๆ และถือเป็นความสุภาพเรียบร้อยว่า จะมีไปเยี่ยมผู้ใดในรายที่สำคัญๆ โดยมิได้อาบน้ำชำระกายให้สะอาดหมดจดเสียก่อนและในกรณีเช่นนี้เขาจะประแป้งให้ขาวพร้อยที่ยอดอกเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้อาบน้ำมานานแล้ว”

แล้วฝรั่งจะเชื่อได้หรอ ทำไมไม่เชื่อหลักฐานของไทยล่ะ

จริงอยู่ว่าบันทึกของลาลูแบร์เป็นบันทึกที่เขียนจากกรอบแว่นของชาวยุโรป การมองแบบผิวเผินด้วยสายตาคนนอกอาจทำให้ข้อมูลบางส่วนคลาดเคลื่อนหรือดูเกินจริง เช่น ลาลูแบร์ ได้อธิบายการทหารของรัฐอยุธยาว่า “เหมาะสมที่จะออกรบน้อยที่สุด” โดยทหารสยามนั้น “ทั้งเปลือยกายและถืออาวุธเลวๆ” ซึ่งด้วยบริบทรัฐโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ระบบกองทัพอาชีพหรือกองทัพแบบประจำการยังไม่ปรากฏขึ้นเป็นกิจจะลักษณะแบบอย่างในยุโรป กองทัพทหารยังคงเป็นลักษณะการเกณฑ์ชาวนามาออกรบในยามมีสงคราม ทำให้ราชทูตจากประเทศที่มีพัฒนาการด้านการทหารและเทคโนโลยีอย่างลาลูแบร์มองการทหารในภูมิภาคนี้ไปในทางลบหรือแตกต่างออกไป

ทำไมบันทึกของชาวต่างชาติจึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ภาพวาดชาวสยามและสภาพบ้านเมืองในจดหมายเหตุลาลูแบร์ (ฉบับแปลภาษาอังกฤษ)

อย่างไรก็ตาม บันทึกของลาลูแบร์ก็มีคุณูปการหลายอย่างในการเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บอกเล่าความเป็นอยู่ของทุกชนชั้นในสมัยอยุธยาในฐานะบุคคลร่วมสมัยและมีชีวิตอยู่ร่วมกับเหตุการณ์นั้นๆ  โดยเฉพาะวิถีชีวิตของไพร่หรือคนธรรมดา ซึ่งมักไม่ค่อยถูกกล่าวถึงนักในหลักฐานไทยซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของเอกสารที่ใช้ในทางราชการอย่างพระราชพงศาวดาร

ในพระราชพงศาวดาร ข้อมูลที่พบมักมีแต่เรื่องราวของกษัตริย์ ตามจุดประสงค์ของมันแต่เดิมของพระราชพงศาวดาร คือมีไว้เพื่อให้กษัตริย์ในขณะนั้นศึกษาแนวทางในการบริหารบ้านเมืองของกษัตริย์องค์ก่อนๆ ในความเป็นจริงแล้ว พระราชพงศาวดารเพิ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเริ่มอ่านได้ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อสยามประเทศรับวัฒนธรรมการสร้างชาติและพลเมืองอย่างตะวันตกเข้ามา การกล่าวถึงวิถีชีวิตของราษฎรจึงแทบไม่มีและไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในพระราชพงศาวดาร

ควรกล่าวด้วยว่า วิถีชีวิตทั่วไปของผู้คนในสายตาของคนท้องถิ่นล้วนถูกมองว่าเป็นสิ่ง “ธรรมดา” ที่เกิดขึ้นในประชีวิตประจำวัน แต่ความธรรมดานี้อาจ “ไม่ธรรมดา” สำหรับผู้มาเยือนจากต่างวัฒนธรรม จึงทำให้เรื่องราวธรรมดาๆ ของคนในยุคสมัยนั้นถูกบันทึกเอาไว้โดยละเอียด   ด้วยเหตุนี้ การพึ่งหลักฐานต่างชาติจึงเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งสำหรับการเขียนงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทย หากไม่มีการใช้หลักฐานต่างชาติแล้ว เรื่องราวของวิถีชีวิตไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไปอาจหายไปเกือบทั้งหมดเลยก็ได้  

เมื่อต้องกล่าวถึงวิถีชีวิตและสังคมสมัยอยุธยา บันทึกของลาลูแบร์จึงแทบจะเป็นหลักฐานที่ถูกอ้างถึงมากที่สุด เช่น อยุธยายอยศ ยิ่งฟ้า ของสุจิต วงษ์เทศ ประวัติศาสตร์ของเพศวิถี:ประวัติศาสตร์เรื่องเพศ/เรื่องเพศในประวัติศาสตร์ไทย ของชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รัฐนาฏกรรมกับเรือพระราชพิธี ของปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช และงานเขียนของนักวิชาการชื่อดังอีกหลายชิ้น แม้แต่ละครย้อนยุคชื่อดังอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่หากย้อนดูแล้วเปิดบันทึกลาลูแบร์ประกอบ ก็จะพบว่าบันทึกดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อละครย้อนยุคเรื่องนี้ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม นอกจากบันทึกลาลูแบร์ก็ยังมีหลักฐานจากชาวต่างชาติคนอื่นๆ ที่บันทึกเหตุการณ์ในสมัยเดียวกัน เช่น เชอวาเลีย เดอ ฟอบัง (Chevalier de Forbin) เป็นนายเรือโทชาวฝรั่งเศส นิโคลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) เป็นนักเดินทางชาวฝรั่งเศส บาทหลวง เดอะแบส (Claude de Bèze) และอีกมากมายหลายท่านที่ถูกแปลและตีพิมพ์รอให้ชวนอ่าน หากท่านได้มีโอกาสอ่านหลักฐานเหล่านี้ ท่านอาจเห็นเรื่องเล่าใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ต้องปล่อยให้ใครผูกขาดประวัติศาสตร์เพียงฝ่ายเดียว