นายนรินทร์ฝากนางไว้กับใครบ้าง

บทนี้ก็เขียนโดยความสะเทือนใจกวี ซึ่งหมายถึงความรู้สึกอันเต็มตื้น จะนึกจะคิดอย่างไร ก็มีลักษณะเลิศลอยพิสดาร ไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผล คือคิดไปโดยทางจินตนาการอันฟุ้งซ่าน ในที่นี้ต้องเข้าใจว่า นายนรินทร์ ไม่อยากให้เมียอยู่บนพื้นดินเลย (ในขณะที่ตัวจากไป) เพราะนางนั้นงามเป็นขวัญตาของโลก จึงคิดจะเอานางไปแขวนไว้เสียในท้องฟ้า แต่ฟ้าก็ไม่มีกิ่ง (เหมือนกิ่งไม้) จึงคิดไปไม่สำเร็จ คำว่ากิ่งโพยม (กิ่งฟ้า) นั้นเป็นจินตนาการอย่างหนึ่ง

ศัพท์….
– สาวลักษณ์..เสาว (สุ) + ลักษณ์ รูปดี สวย งาม
– แมก……….. แฝง บัง
– กีด………….กัน ขัดข้อง
– นางเดียว…..นางคนเดียวของพี่

๑๐. โฉมควรจักฝากฟ้า……ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์……..ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน………บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ……………ชอกเนื้อเรียมสงวน

โคลงบาท ๒ นั้น กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงวิจารณ์ว่า ธรณินทร์ นั้นแปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน นายนรินทร์เห็นจะไม่กล้า กล่าวว่าเกรงพระพุทธเลิศหล้าฯ (รัชกาลที่ ๒) จะทรงลอบกล้ำเมียของแก เห็นจะหมายเอาเพียงเทวดาดิน คือ ภูมิเทวดาและพฤกษเทวดาเป็นต้น เท่านั้นเอง (ตรงนี้ก็เป็นเพียงเดาใจนายนรินทร์) แต่กรมหมื่นพิทยาฯ ยังทรงวิจารณ์ต่อไปอีกว่า ถ้านายนรินทร์มิได้มุ่งจะให้หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน เหตุใดจึงเขียน ธรณินทร (ธรณี+อินทร) ซึ่งอาจแปลได้ว่า พระเจ้าแผ่นดิน คือ พระพุทธเลิศหล้า หรือบางทีนายนรินทร์จะเขียน ธรณิน (คือ ธรณี) แต่หากคนคัดลอกตกเติมเสียใหม่เป็น ธรณินทร
บาท ๓ – ๔ ดีทั้งความ ทั้งเสียงของโคลงและคำที่เลือกสรรมาใช้

บทนี้เป็นพรรณนาโวหารพูดถึงความงามของหญิงคนรักของนายนรินทร์…ต้องเข้าใจว่าเป้นการพูดเกินจริงในเชิงกวี เท่านั้น
บาทที่๑….โฉม-ที่พูดหมายถึงสาวคนรักว่าควรฝากไว้บนฟ้าหรือซ่อนไว้ในดินดีเมื่อนายนรินทร์ต้องไปรบทัพจับศึกไม่อาจอยู่ดูแลได้
บาทที่๒….เกรงว่าเทวดาหรือพระยากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่จะมาเอาตัวไปกระทำสังวาสด้วยผู้หญิงของตน
บาทที่๓….จะฝากลม(วายุเทพ – พ่อของภีมะแห่งสกุลปาณฑปในมหาภารตะยุทธ)ก็เกรงลมจะพาพัดหายไปบนท้องฟ้า
บาทที่๔….อีกทั้งกลัวว่าลมจะโลมไล้เนื้อตัวหญิงคนรักให้ชอกช้ำ…ทั้งๆที่นายนรินทร์นั้นแสนจะทะนุถนอม

๑๑. ฝากอุมาสมรแม่แล้…..ลักษมี เล่านา
ทราบสวยมภูวจักรี…………เกลือกใกล้
เรียมคิดจบจนตรี…………..โลกล่วง แล้วแม่
โฉมฝากใจแม่ได้…………..ยิ่งด้วยใครครอง

ศัพท์….
– อุมา…………ชายาพระอิศวร ยังมีอีกหลายชื่อ เช่น มหาเทวี บารพตี (บรรพตี) ทุรคา กาลี เหมวดี พระอุมา นี้มีสองภาค คือ ภาคดีงาม และภาคร้าย ในภาคร้าย เขาทำเป็นรูปหญิงรูปร่างน่ากลัว ลิ้นห้อยออกมาจากปาก มีงูเป็นสังวาล ถือหัวกะโหลกคน ในอินเดียมีเทวสถานพระอุมาดุร้ายมีคนไปบูชากันมาก ว่าศักดิ์สิทธิ์ แต่วิธีบูชานั้นทำกันอย่างน่าอุจาด เช่นเอาเลือดสัตว์หรือคนไปสาดหรือทาที่รูป ในสมัยที่อินเดียเสื่อมโทรมถึงขีดสุดนั้น ถึงกับมีหญิงชายไปร่วมประเวณีกันต่อหน้าเทวรูปพระอุมา ว่าเป็นเหตุให้พระอุมาโปรด
– ลักษมี…….. ชายาแห่งพระนารายณ์ มีชื่อว่า ศรี อินทิรา โลกมาตา ปัทมา กมลา เป็นเจ้าแม่แห่งความงาม เป็นเทวีแห่งโชคลาภ เทวรูปทำเป็นหญิงมือถือดอกบัว
– สวยมภู…….ผู้เกิดเองคือ พระอิศวร เป็นเทพเจ้าสูงสุด มีทั้งดี และ ร้าย เป็นผู้ทำลายและดัดแปลงให้ดีขึ้นรูปพระอิศวรมีจันทร์ครึ่งซีกที่นลาต มีตาวิเศษอยู่บนหน้าผาก หว่างกลางตาทั้งสอง มีกร ๔ กรถืออาวุธ
ต่างๆ เช่น ตรีศูล บ่วงบาศ บัณเฑาะว์ ขันทอง สังข์ มีงูเป็นสังวาลย์ มีลูกประคำเป็นกะโหลกผี มีชื่อต่างๆ กันเช่น รุทร มหากาล มหาเทพ มเหศวร มหาโยคี เป็นต้น พาหนะของพระอิศวรคือ โคอุสุภรา
– จักรี………… พระนารายณ์ (วิษณุ – พิษณุ) เป็นเทพผู้ดับยุคเข็ญของโลก มีสี่กร ประทับที่ไวกูณฐ์ คือ
แผ่นดินทอง วัดโดยรอบได้ สองหมื่นโยชน์ มีวิมานแก้ว บ้างว่าประทับ บรรทมสินธุ์ เหนือ หลัง
พญาอนันตนาคราชในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) พาหนะ คือ ครุฑ

โคลงบทที่ ๑๐ – ๑๑ นี้นับได้ว่าเป็นเอกในเชิงคารมโวหาร เราจะเห็นได้ว่า นายนรินทรคิดจะฝากเมียกับฟ้าดิน พระอุมา พระลักษมี แต่ก็มีความวิตก ไม่เชื่อใจทั้งนั้น จึงนึกไปทั่วทั้ง ๓ ภพ ก็ไม่เห็นที่ที่จะไว้ใจได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เห็นจะหมดหนทาง แต่แล้วนายนรินทร ก็หวนกลับมาอย่างที่เราคิดไม่ถึงว่าฝากใครก็ไม่ดีเท่ากับฝากไว้กับนางเอง คือถ้านางรักษาตัวนางได้แล้วก็ดีกว่าที่จะฝากใครทั้งหมด ความคิดดังนี้พบในโคลงกำสรวลสมุทร เป็นครั้งแรกว่า

๐ โฉมแม่จักฝากฟ้า……..เกรงอินทร หยอกนา
อินทร์ท่านเทอกโฉมเอา…สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน………..ดินท่าน แล้วแฮ

ดินฤๅขัดเจ้าหล้า………….สู่สมสองสม

๐ โฉมแม่ฝากน่านน้ำ…….อรรณพ แลฤๅ
เยียวนาคเชยชมอก………พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ………….จอมสวาท กูเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้………เท่าเจ้าสงวนเอง

ดังนี้ทำให้เข้าใจว่า นายนรินทรจะเลียนบทกำสรวลสมุทร (แต่เป็นเพียงสันนิษฐานเท่านั้น)
ขอให้ลองอ่าน โคลงของนายนรินทร กับ ของกำสรวลสมุทร ดังๆแล้วเทียบกันดู จะเห็นว่า ทำนองของนายนรินทร นิ่มนวลไพเราะหูกว่า

๑๒. บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง..เตียงสมร
เตียงช่วยเตือนนุชนอน…….แท่นน้อง
ฉุกโฉมแม่จักจร……………จากม่าน มาแฮ
ม่านอย่าเบิกบังห้อง………..หับให้คอยหน

ศัพท์….
– บรรจถรณ์…ที่นอน เครื่องปูลาด
– ฉุก…………. ทันที ทันใด อาจจะ คำอื่นๆเช่น ฉุกใจ(สะดุดใจ)
– เบิก………… เปิด
– หับ…………. ปิด
– หน…………. ทาง เรามักพูดว่า หนทาง

บทนี้ก็เขียนจากอารมณ์กวี ด้วยนายนรินทรพูดกับที่นอน เตียง ม่าน คล้ายกับสิ่งเหล่านี้จะมีวิญญาณเข้าใจได้ นึกดูก็ไม่หน้าเป็นไปได้ที่คนจะพูดกับสิ่งไม่มีชีวิตเช่นนั้น แต่อย่าลืมว่า คนเราเมื่อเกิดความรู้สึกแรงกล้านั้นอาจจะพูดกับอะไรได้ทั้งนั้น
บาท ๓ – ๔ นางอาจออกมาเสียจากม่านก็ได้ ถ้า
เป็นดังนั้นแล้ว ม่านอย่าเปิดให้นางออกมาได้ จงปิดกั้นไว้ และคอยระวังหนทาง (อย่าให้นางออกมาได้)

๑๓. สงสารเป็นห่วงให้…….แหนขวัญ แม่ฮา
ขวัญแม่สมบูรณ์จันทร์…….แจ่มหน้า
เกศีนี่นิลพรร……………….โณภาส
งามเงื่อนหางยูงฟ้า…………ฝากเจ้าจงดี 

บทนี้ยังสงสัยบาท ๓ เพราะ เกศีนี่ คำว่า นี่ ไปเข้ากับคำ เกศี นั้น ไม่ใช่ลักษณะคำของกวี เพราะคำ นี่ เป็นคำสามัญเกินไป กรมหมื่นพิทย ฯ เข้าพระทัยว่าโคลงบาท ๓ น่าจะเป็น
“เกศีนินิลพรร-….โณภาส”
เกศินิ – เกศินี = นางมีผมงาม
บทนี้แสดงความเป็นห่วงเมีย แล้วก็ชมความงามของเมีย
บาท ๒….เปรียบเมียกับพระจันทร์
บาท ๓….เปรียบผมเมียว่าดำเหมือนนิล และหางนกยูง
บาท ๔….ที่ว่า ฝากเจ้าจงดี ฝากอะไรกับใคร เรารู้ว่านายนรินทร์เป็นคนฝาก ในที่นี้น่าจะหมายความว่า ขอฝากความงามสมบูรณ์อย่างพระจันทร์ กับ ผมดำเหมือนนิลไว้กับนางหรือ จะฝากนางไว้กับความงาม และผม
ก็เป็นเรื่องที่จะตีความให้ชัดจริงๆ ได้ยาก เพราะเป็นเรื่องในใจของนายนรินทร์ และนายนรินทร์ก็เขียนอย่างภาษากวี คือ ละไว้ให้เราคิดเอาเอง

ศัพท์….
– พรรโณภาส..พรรณ + โอภาส = สีงาม
– โอภาส……..สุกใส สว่าง
– เงื่อน………..อย่าง เช่น ยูงฟ้า….นกยูงสวรรค์ คือ หมายความว่าไม่ใช่นกยูงธรรมดา

๑๔. เรียมจากจักเนิ่นน้อง…จงเนา นะแม่
ศรีสวัสดิ์เทอญเยาว์………..อย่าอ้อน
อำนาจสัตย์สองเรา…………คืนร่วม กันแม่
การณรงค์ราชการร้อน……..เร่งแล้วเรียมลา

ถอดความ….
พี่จะต้องจากน้องไปเดี๋ยวนี้แล้ว ขอให้น้องจงอยู่ดีเถิด อย่าเศร้าโศกไปเลย (จงทำใจให้เข้มแข็งไว้) ด้วยอำนาจความสัตย์ของเราทั้งสอง พี่คงจะได้กลับมาพบน้องอีก การไปงานพระราชสงคราม ครั้งนี้เป็นการด่วน ทัพจะเร่งออกเดินทางแล้ว พี่จะขอลาน้องไปบัดนี้ ในที่นี้ต้องเข้าใจว่าไปทัพนั้นอาจไปตายก็ได้ การร่ำลาสั่งเสียจึงต้องเต็มไปด้วยความเป็นห่วง จะได้กลับมาเห็นกันหรือไม่ ก็ยังไม่เป็นที่แน่นอน และตอนนั้นการจัดทัพออกไปต่อสู้พม่าคงจะได้ทำกันเป็นการด่วน

ศัพท์….
– เนิ่น…………บางแห่งแปลว่า ช้า แต่บางแห่งแปลว่า เร็ว เช่น ไปแต่เนิ่นๆ
– อ้อน………..คืออย่าใจอ่อน ให้ทำใจแข็งไว้

๑๕. ลงเรือเรือเคลื่อนคว้าง..ขวัญลิ่ว แลแม่
ทรุดนั่งถอนใจปลิว…………..อกว้า
เหลียวหลังพี่หวาดหวิว……..ใจวาก
แลสั่งสบหน้าหน้า…………..แม่หน้าเอ็นดู 

ตอนนี้ผู้อ่านควรจะนึกเห็นภาพว่านายนรินทร์ลงเรือ เป็นลำทรงของกรมพระราชวังบวร ฯ ก็ได้ ด้วยนายนรินทร์เป็นมหาดเล็ก และเมียนายนรินทร์คงจะมาส่งที่ท่าด้วย จึงหันมาสั่งด้วยสายตาอีก ทีหนึ่ง และนายนรินทร์คงนึกสงสารเมียที่มีหน้าตาเศร้าสร้อย พรรณนาความรู้สึกตอนเรือออก บาท ๒ – ๓ ว่า
“ขวัญลิ่ว ใจปลิว อกว้า” นั้นดีมาก
หน้า….ในบาท ๔ ควรเป็น น่า แต่จำต้องเขียน หน้า เพราะต้องการโท

๑๖. ออกจากคลองขุดข้าม…ครรไล
เรือวิ่งอกว้าใจ………………หวาดขว้ำ
เด็ดแดดั่งเด็ดใย……………บัวแบ่ง มาแม่
จากแต่อกใจปล้ำ…………..เปลี่ยนไว้ในนาง

บทนี้ยังพรรณนาความอาลัย เปรียบเทียบการเด็ดใจ คือ ตัดใจจากมานั้น เหมือนกับเด็ดบัว ไม่ขาดง่ายๆมีใยติดอยู่ อก คือ ตัว ใจ คือ ความคิด หมายความว่าจากมาแต่ตัวเท่านั้น ใจ (ความคิด) ยังคงอยู่ที่นาง
คลองขุดในที่นี้ ไม่ชัดและไม่มีที่ค้นคว้า เข้าใจว่าจะเป็นปากคลองหลอดที่อยู่ใกล้ๆวังหน้า

๑๗. บรรลุอาวาสแจ้ง……..เจ็บกาม
แจ้งจากจงอาราม………….พระรู้
เวรานุเวรตาม………………ตัดสวาท แลฤา
วานวัดแจ้งใจชู้…………….จากช้าสงวนโฉม

บทนี้เล่นคำ
แจ้ง วัดแจ้ง (บาท๑), รุ่งแจ้ง (บาท๒), แจ้งให้รู้ (บาท๔)
เจ็บกาม ฟังเผินๆ ไม่สู้น่าฟังนัก ความหมายก็ว่า เจ็บในความรัก
บาท ๑…ที่ว่า แจ้งจาก นั้นน่าจะหมายความว่า ตอนผ่านวัดแจ้งนั้น จะเป็นเวลารุ่งสว่างพอดี คือ ออกเรือตอนใกล้รุ่ง
บาท ๒..๓..๔….ความว่า ได้จากมา พอถึงวัดแจ้งก็รุ่งสว่าง ก็ที่จากมานี้ พระอาราม (หรือ พระพุทธในอาราม) คงจะรู้ว่าเวรมาตามทัน และตัดความรักหรือประการใด จึงทำให้ต้องจากนางมาดังนี้ อย่างไร
ก็ดี ขอวัดแจ้งได้ช่วยบอกนางด้วยว่า ข้าพเจ้าจากไปครั้งนี้เป็นเวลานาน ขอให้นางรักษาตัวไว้ให้ดี

ศัพท์…
– เวรานุเวร…..เวร + อนุ + เวร (อนุ = เล็ก น้อย) เวรทั้งหลาย

๑๘. มาคลองบางกอกกลุ้ม…กลางใจ
ฤาบ่กอกหนองใน………….อกช้ำ
แสนโรคเท่าไรไร………….กอกรั่ว ราแม่
เจ็บรักแรมรสกล้ำ………….กอกร้อยฤาคลาย

บทนี้เล่นคำ กอก
บาท๑….คือ มะกอก
บาท๒….คือ ดูดออก
คลองบางกอก คือ คลองบางกอกใหญ่ (บางหลวง)
บาง หมายถึง ตำบลตามลำคลอง ลำคลอง
คำว่า หนองในอก คือ ความรัก

๑๙. ชาวแพแผ่แง่ค้า……..ขายของ
แพรพัสตราตาดทอง………เทศย้อม
ระลึกสีสไบกรอง…………..เครือมาศ แม่เฮย
ซัดสอดสองสีห้อม…………ห่อหุ้มบัวบัง

บาท๑….บาทนี้เป็นที่สงสัยกันมาก แม้กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ก็ไม่กล้าทรงตัดสินเด็ดขาด คำที่ก่อให้สงสัยคือ แง่ ที่แปลว่า ชั้นเชิง แง่งอน หรือ แผงที่ยื่นออกมานอกแพ เพื่อตั้งของขาย กรมหมื่นพิทยาฯ ว่าพวกชาวแพคงไม่ทำชั้นเชิงแง่งอนกับพวกที่มาในกระบวนทัพ ในต้นสมุดไทยบางฉบับเขียนว่า “ชาวแพแพแม่ค้า ขายของ”

ศัพท์….
– พัสตรา…….ผ้า
– ตาด……….. ผ้าไหมบางควบกับด้ายเงินหรือทอง
– เครือมาศ….ลายเถาเป็นทอง สไบกรองเครือมาศ ผ้าสไบที่ทอด้วยไหมทองทำเป็นลวดลายต่างๆ
– ซัดสอด…… ห่มทับกัน
– บัว…………..คำเทียบในเชิงความหมาย คือ หน้าอกหญิง

๒๐. วัดหงส์เหมราชร้าง……รังถวาย นามแฮ
เรียมนิราเรือนสาย…………สวาทสร้อย
หงส์ทรงสี่พักตร์ผาย……….พรหมโลก แลฤา
จะสั่งสารนุชคล้อย…………คลาดท้าวไป่ทัน

บาท๑….วัดหงส์นี้ พญาหงส์ทองทิ้งรังไว้ ถวายเป็นนามอาราม
บาท๒….ฉันจากเรือนจากเมียที่รักมา
บาท๓….(แต่) หงส์ซึ่งเป็นพาหนะของพระสี่พักตร์ไปพรหมโลกเสียแล้ว
บาท๔….จะขอให้ช่วยนำข่าวไปบอกเมียก็ไม่ทัน

ศัพท์….
– เหมราช…….หงส์เหมราช (พญาหงส์ทอง) พาหนะของพระพรหม
– สี่พักตร์……. พระพรหมผู้สร้างโลก มีสี่หัว สี่กร ถือคัมภีร์พระเวท ลูกประคำ คณโฑ บรรจุน้ำในแม่น้ำคงคา ช้อนสำหรับหยอดเนยใส่ในไฟ เป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งองค์หนึ่ง

๒๑. สังข์กระจายพี่จากเจ้า..จอมอนงค์
สังข์พระสี่กรทรง…………..จักรแก้ว
สรวมทิพย์สุธาสรง…………สายสวาท พี่เอย
สังข์สระสมรจงแผ้ว………..ผ่อนถ้าเรียมถึง 

ถอดความ…
ได้จากนางมาถึงวัดสังข์กระจายแล้ว พอถึงวัดนี้ ก็นึกถึงสังข์ ของพระผู้ทรงจักรแก้ว (พระนารายณ์) ขอให้น้ำทิพย์ในสังข์นั้น จงอาบนางของข้า ให้นางมีจิตอันผ่องแผ้วสบาย ผ่อน (ความทุกข์) ไว้คอยท่าเวลาที่พี่จะกลับคืนมา
ทำนองของการแต่งนิราศ เมื่อผ่านตำบลอะไร หรือพบเห็นอะไร ก็จะต้องนึกพาดพิงไปถึงเมีย หรือคนรักที่อยู่ข้างหลัง การที่จะกล่าวพาดพิงไปถึงคนรัก (หรืออาจแสดงความนึกคิดอย่างอื่น) ได้ดี คือ ไพเราะจับใจ ชวนคิดได้เพียงใด ย่อมแล้วแต่ความสามารถ ของกวี

ศัพท์…
– สุธา…………ของทิพย์ น้ำ
– อนงค์……… นาง (อน + องค์) เดิมเป็นชื่อของพระกามเทพ
อน=ไม่ อนงค์ คือ ไม่มีตัวตน ตามนิทานว่าพระกามเทพ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งความรักไปยั่วพระอิศวร ซึ่งกำลังเข้าฌาน จะให้เกิดรักพระอุมา เพราะพระอิศวรเข้าฌานเพลินจนลืม พระอิศวรเลยลืมตาที่สามอันเป็นตาไฟ เผากามเทพจนไหม้เป็นขี้เถ้าไป โดยที่กามเทพเป็นเจ้าแห่งความรัก คำ อนงค์ เลยเปลี่ยนความหมายเป็น หญิง

๒๒. จากมามาลิ่วล้ำ……….ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง…………..พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง…………เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง…………..คล่าวน้ำตาคลอ

ถอดความ…
ความหมายของโคลงบทนี้ ว่า ล่องเรือมาตามลำคลองไกลออกไปทุกที จนผ่านตำบลบางยี่เรือ เมื่อจะจากบางยี่เรือ ได้ยินคำ เรือๆ ก็เลยนึกว่าที่นี่คงมีเรือ จึงบอกกับบางยี่เรือ ช่วยให้เอาเรือแผงไปรับนางมาทีเถิด แต่บางยี่เรือก็ไม่รับคำ จึงต้องนั่งน้ำตาคลอ

ศัพท์…
– เรือแผง……. เรือที่มีม่านบัง สำหรับพวกฝ่ายใน
– คล่าว……….ไหล
– พร้อง……….พูด
– เมียง………..แอบ

๒๓. มาด่านด่านบ่ร้อง……..เรียกพัก พลเลย
ตาหลิ่งตาเหลวปัก………….ปิดไว้
ตาเรียมหลั่งชลตัก………….ตวงย่าน
ไฟด่านดับแดไหม้………….มอดม้วยฤามี 

โคลงบาท ๓ – ๔ เป็นคำกล่าวตามทำนองกวี เป็นภาพพจน์ บาท ๓ ว่า ที่ตาของพี่หลั่งน้ำตาออกมาแล้วนั้น ถ้าจะตวงดูก็คงท่วมถิ่นฐานแถวนี้ คำว่า ตวงย่าน ในบางเล่มเขียนว่า เต็มย่าน
บาท ๔ ว่า ไฟที่ด่านก็ดับสิ้นแล้ว แต่ไฟซึ่งไหม้ดวงใจของพี่อยู่นั้น ไม่รู้จักดับเลย
ไฟ คำแรก คือ ไฟที่จุดเพื่อความสว่าง
ไฟ คำหลัง คือ ไฟแห่งความรัก ราคะ กำหนัด

ศัพท์…
– ด่าน……….. ที่ตรวจสินค้าเพื่อเก็บภาษี ที่ตรวจคนไปมา
– ตาหลิ่ง……. ตลิ่ง (แผลง ตะ เป็น ตา)
– ตาเหลว……เฉลว เส้นศอกที่ขัดกันไปเป็น ๓ แฉก หรือ ๔ แฉก ใช้ปักปากหม้อยา ตามตำราไทยว่าเป็นเครื่องป้องกันภัย แต่ตาเหลวในที่นี้ใช้ปักไว้เพื่อเป็นเครื่องให้รู้ว่าเป็นด่าน

๒๔. นางนองชลน่านไล้…..ลบบาง
ไหลเล่ห์ชลลบปราง……….แม่คล้ำ
แสนโศกสั่งสารปาง……….จากพี่ ปลอบแม่
นาสิกเรียมซับน้ำ…………..เนตรหน้านางนอง 

ตอนนี้เดินทางมาถึงตำบลนางนอง และเห็นน้ำขึ้นท่วมฝั่ง น้ำที่ไหลบ่าไปนั้น เปรียบเหมือนหนึ่งน้ำตาของนางไหลอาบแก้มทั้งสองของนางให้คล้ำไป แล้วก็เลยคิดไปถึงเมื่อนายนิรนทรจะจากนางมานั้น ได้มีความโศกเศร้าเป็นนักหนา ได้พูดจากปลอบโยนมากมาย และนายนรินทรได้จูบหน้าของนางซึ่งกำลังนองไปด้วยน้ำตา
คำว่า “นาสิกเรียบซับน้ำ – เนตร” นั้นคือ จูบ นั่นเอง แต่พูดเป็นโวหารว่า ใช้จมูกซับน้ำตาให้นาง

๒๕. บางขุนเทียนถิ่นบ้าน…นามมี
เทียนว่าเทียนแสงสี……….สว่างเหย้า
เย็นยามพระสุริยลี…………ลาโลก ลงแม่
เทียนแม่จุดจักเข้า…………สู่ห้องหาใคร

โคลงบทนี้กรมหมื่นพิทยาฯ ว่าไพเราะมาก คือ งามทั้งความ ทำนอง และ เสียงของโคลง
นายนรินทรมาถึงตำบลบางขุนเทียน ได้ยินคำว่า เทียน ก็นึกไปถึงเทียน เทียนที่เคยใช้จุดตามที่บ้าน และตอนที่นายนรินทรมาถึงบางขุนเทียนนี้เวลาคงบ่ายแล้ว จึงเลยนึกไปถึงเวลาค่ำว่า พอถึงเวลาค่ำ นางที่อยู่บ้าน จะจุดเทียนเข้าไปในห้องตามเคย แต่นางคงไม่พบใคร (คือนายนรินทร) แล้ว

คำว่า “พระสุริยลี – ลาโลก” นั้นก็เป็นโวหารที่ดี คำว่า ลา นั้นใช้กับคน ที่ให้เป็นกริยาของ พระสุริย นั้น ก็โดยจินตนาการว่า เมื่อตะวัจะจากโลกก็คงได้ลาโลกไปเช่นเดียวกับคน ตามความหมายว่า พระอาทิตย์ตกนั่นเอง

๒๖. ปานนี้มาโนชญ์น้อย….นงพาล พี่เอย
เก็บเกศฤากรองมาลย์……..มาศห้อย
ปรุงจันทน์จอกทองธาร……ประทิน ทาฤา
นอนนั่งถามแถลงถ้อย…….ทุกข์พร้องความใคร

โคลงบทนี้คาบเกี่ยวกับบทที่ ๒๕ คือ นายนรินทรหวนคิดไปถึงที่บ้านว่ากำลังทำอะไรอยู่
บาท ๔ ว่า เวลานอนนั่งคงจะคอยแต่นึกถึงนายนรินทรอยู่ และเมื่อยามเป็นทุกข์จะได้ปรับทุกกับผู้ใดเล่า (เพราะนายนรินทรจากมาเสียแล้ว)

ศัพท์…
– มาโนชย์……เป็นที่พอใจ งาม หมายถึง นาง มาจาก มาโนช (เกิดแต่ใจ) คือ ความรัก
– นางพาล….. นาง (ผู้รุ่นสาว)
– เก็บเกศ…… แต่งผม
– มาลย์มาศ.. ดอกไม้ทอง คือ ดอกไม้ที่สวยงาม
– ปรุงจันทร์….จันทร์เป็นชื่อไม้หอม ป่นเป็นผงปรุงเป็นกระแจะทาตัว
– ประทิ่น…….เครื่องหอม

๒๗. คิดไปใจป่วนปิ้ม……..จักคืน
ใจหนึ่งเกรงราชขืน…………ข่มคร้าม
ใจหนึ่งป่วนปานปืน…………ปัดปวด ทรวงนา
ใจเจ็บฝืนใจห้าม……………ห่อนเจ้าเห็นใจ

บทนี้เล่นคำ ใจ การเล่นคำนี้เป็นวิธีการแต่งอย่างหนึ่งของกวี ที่จะให้เกิดความไพเราะ คมคาย หรือสะดุดใจ
ความว่า เมื่อคิดๆ ไป (โคลงที่ ๒๕ – ๒๖) แล้ว ใจก็ปั่นป่วน แทบว่าจะกลับคืนหลังเสียให้ได้ แต่ใจหนึ่งขืนเอาไว้ ด้วยกลัวพระราชอาญา ส่วนอีกใจนั้นให้รู้สึกปั่นป่วน (บางฉบับว่า ป่วยปานปืน) และเจ็บปวดราวกับถูกยิง การที่ (นายนรินทร) เจ็บปวดในใจ สู้ฝืนใจ ห้ามใจ กระอักกระอ่วนอยู่ดังนี้ นางคงจะแลไม่เห็น (เพราะมาอยู่เสียห่างไกล)

๒๘. มิตรใจเรียมจอดเจ้า…จักคิด ถึงฤา
จากแม่เจ็บเสมอจิต………..พี่บ้าง
ฤาลืมมลายปลิด……………แปลนสวาท
จำพี่โหยไห้ช้าง…………….ค่ำเช้าชำงาย

ถอดความ…
น้องที่รักผู้เป็นมิตรแห่งดวงใจของพี่ การที่พี่มีใจอดคิดถึงน้องอยู่ดังนี้ น้องจะคิดถึงพี่บ้างหรือไม่ การที่มีความทุกโทมนัสในดวงใจดังนี้ น้องจะเป็นทุกข์เช่นเดียวกับพี่บ้างหรือไม่ หรือว่าบัดนี้น้องได้ลืมพี่ ได้สลัดความรักพี่เสียแล้ว ถ้าเป็นดังนี้พี่จะต้องร้องไห้คร่ำครวญทุกเวลาทั้ง เช้า สาย และ ค่ำ

ศัพท์…
– มิตรใจ……..นาง (ผู้เป็นเพื่อนของใจ)
– มลาย……… หาย ศูนย์ หมด สิ้น
– แปลน…….. เปล่า เปลี่ยน
– ชำงาย…….. เวลาสาย
– ไห้ช้าง…….. บางท่านอธิบายว่า ร้องไห้อย่างช้าง คือ นิ่งน้ำตาไหล พูดไม่ออก แต่บางท่านว่า ช้าง เป็นภาษาโบราณ แปลว่า ร้องไห้นั่นเอง

๒๙. ไปศึกสุดมุ่งม้วย……..หมายเป็น ตายเลย
ศูนย์ชีพไหนนุชเห็น……….หากลี้
อรเอยลับหลังเอ็น………….ดูนัก นะแม่
โอ้โอะไกลกันกี้……………เมื่อไซ้จักสม

บาทที่ ๑…..ไปรบศึกนั้นจะอยู่หรือจะตาย สุดจะเอาเป็นที่แน่นอนได้
บาทที่ ๒…..หากเดินทางต่อไปแล้วไปตาย ที่ไหนนางจะได้เห็นใจ
บาทที่ ๓…..สงสารน้องที่อยู่ข้างหลังเหลือเกิน
บาทที่ ๔…..เมื่ออยู่ไกลกันอยู่ดังนี้ เมื่อใดเล่าจะได้คืนไปสู่น้อง

ศัพท์…
– ลี้…………….หนี ซ่อน ไป
– อร………….. นาง มาจาก อรทัย – อุทัย (แรกขึ้น) แล้วมาหมายความถึงหญิงรุ่นสาว
– กี้……………ก่อน ครั้งก่อน (ในที่นี้ควรจะหมายว่า ครั้งนี้)

๓๐. เรือมามาแกล่ใกล้……บางบอน
ถนัดหนึ่งบอนเสียดซอน…..ซ่านไส้
จากมาพี่คายสมร…………..เสมอชีพ เรียมเอย
แรมรสกามาไหม้…………..ตากต้องทรวงคาย

นายนรินทรมาถึงตำบลบางบอน พอนึกถึงคำว่า บอน ก็นึกถึง คัน (ซ่านไส้)
ศัพท์…
– ถนัด………..ชัดแจ้ง เหมือนจริงๆ
– คาย…………จาก ร้าง ทิ้ง

บาท ๓ นั้น บางท่านแปลว่า พี่จากมาดังนี้เท่ากับทิ้งนางอันเป็นรักเสมอชีพไว้ แต่คำว่า คาย นั้นอาจเป็น ระคายก็ได้ เพราะถ้า คาย แปลว่า ทิ้ง จาก นายนรินทรจะต้องใช้ จาก ถึง ๒ คำ ซึ่งเป็นความอย่างเดียวกันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น จึงอาจแปลได้อีกนัยหนึ่งว่า การที่พี่ต้องจากนางอันเป็นที่รักเสมอชีวิตครั้งนี้ ให้รู้สึก ระคาย เคือง ในใจด้วยเรื่องนางนั้น
บาทที่ ๔ คำว่า ตาก แปลว่า ห่าง แยก ผึ่ง แผ่ อย่างเช่น ตากแดด ผึ่งแดด ในที่นี้คือตากอยู่ในความทุกข์ที่ร้างรสมา

๓๑. บางกกกลกล่อมแก้ว..กับแด
กรตระกองนุชแปร…………ปรับเนื้อ
ลานโลมวิไลแถง…………..ชระมุ่น อกเอย
จำนิรารสเกื้อ……………….กกแก้วกับทรวง 

ตอนนี้เดินทางถึงบางกก ให้สังเกตว่านายนรินทร์มีวิธีแต่งโดยเอาชื่อตำบลมาคาบเกี่ยวกับเรื่องของตนบ่อยๆ อย่างนี้เป็นวิธีนิราศซึ่งนักนิราศนิยมเขียนกันมาก
บาท ๑….ถึงบางกกนึกเหมือนว่าได้กอดน้องไว้กับอก
บาท ๒….มือโอบกอดเนื้อนิ่มเนียน ของนาง
บาท ๓….ใจก็สะทกสะท้านอยากจะกกกอดน้อง อยู่
บาท ๔….เนื่องเพราะต้องมาราชการสงคราม จึงต้องพรากร้างมา

ศัพท์….
– กก…………. กกกอด กอดกก
– กล…………. เช่น เหมือน
– แด…………. ใจ
– แปรปรับ….. เข้ามาชิดกัน
– แถง…………(ถะ แหง) ดวงเดือน
– ชรมุ่น……….กระวนกระวาย เป็นทุกข์
– ลาน………..ลนลาน ใจลนลาน คือ ใจตื่นสะทกสะท้าน

๓๒. หัวกระบือกบินทรราชร้า…รณรงค์ แลฤา
ตักกบาลกระบือดง………..เด็ดหวิ้น
สืบเศียรทรพีคง……………คำเล่า แลแม่
เสมอพี่เด็ดสมรดิ้น………..ขาดด้วยคมเวร 

บทนี้ กรมหมื่นพิทยาฯ ว่าเป็นโคลงที่ดีเยี่ยมบทหนึ่งของ นายนรินทร แต่พระองค์ท่านสงสัยคำว่า กบินทร ซึ่งแปลว่า พญา-ลิง (หมายถึงพญาพาลี) ถ้าเป็นดังนี้ คำว่า กบินทรราชก็กลายเป็น พญา ซ้อนกันสองคำ ท่านว่า ตามฉบับสมุดไทยเขียน กบิล แปลว่า ลิง กบิลราช แปลว่า พญาลิง

ศัพท์…
– ณรงค์……… รบ
– กระบือดง…หมายถึงทรพีในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นพญาควาย
ฆ่าพ่อที่ชื่อทรพา แล้วมาท้าพญาพาลีรบ พาลีฆ่าทรพีตายในถ้ำ มีคำเล่าในตำบลตัวกระบือ ว่พญพาลีตัดหัวทรพีขว้างมาตกที่ตำบลนี้

๓๓. โคกขามดอนโคกคล้าย…สัณฐาน
ขามรุ่นริมธารสนาน………..สนุกนี้
พูนเพียงโคกฟ้าลาน……….แลโลก ลิ่วแม่
ถนัดหนึ่งโคกขามชี้………..เล่ห์ให้เรียมเห็น

โคลงบทนี้ยากที่จะแปลให้ชัดเจนลงไป และสงสัยว่าคล้ายสัณฐาน นั้น สัณฐานอะไร ? ในบทกวีที่คาบเกี่ยวไปในเชิงพิศวาส หรือที่กวีแต่ก่อนเรียกว่า บทสังวาส นั้น ถ้าจะแปลเป็นคำร้อยแก้ว ก็เสีย และอาจกลายเป็นคำหยาบก็ได้ ในโคลงบทนี้ นายนรินทรก็ตั้งใจเขียนเรื่องที่คิดในใจ มิได้กล่าวชัดแจ้งออกมา แล้วแต่ผู้อ่านจะนึกตีความ ถ้าเราจะเอาโคลงมาแยกแยะแจกแจงออกไปก็หมดรส เปรียบเหมือนเขาร้อยพวงมาลัยสวยๆ ถ้าเราไปรื้อเอาดอกไม้มาพิจารณาเป็นดอกๆ พวงมาลัยนั้นก็หมดสภาพเป็นพวงมาลัยอันสวยงาม กลายเป็นดอกไม้ที่กระจัดกระจาย

ตามความในโคลงนี้ควรจะเป็นว่า
บาท ๑…ตำบาลโคกขามเป็นที่ดอน มีสัณฐานเป็นโคก (หรือจะว่าเป็นโคกเหมือนสัณฐานของ —?)
บาท ๒…ลำธารที่ผ่านตำบลนี้ มีต้นมะขายรุ่นๆ ขึ้นทั้งสองฟาก (นายนรินทร) ลงไปอาบน้ำ (กับเพื่อนๆ กันอย่างสนุก)
บาท ๓…พื้นดินที่โคกขามนี้นูนขึ้นมาดัง โคกฟ้า (คืออะไรคิดเอาเอง) มองเห็นพื้นดินนูนนั้นก็ให้ลานใจเห็นโคกนั้นลิ่วๆ สุดสายตา
บาท ๔…โคกขามนี้มีลักษณะเป็นนัยให้ (นายนรินทร) นึกไปถึงสิ่งหนึ่ง

ศัพท์…
– สัณฐาน…… รูปร่าง เค้า โครง ทรวดทรง
– ลานแล……. แลดูลานตา คำว่า ลาน แปลว่า ที่ว่าง ก็ได้ แต่ในที่นี้คงจะหมายในความว่า ตื่นใจ ลาน (ตามากกว่า)

๓๔. มาคลองโคกเต่าตั้ง….ใจฉงาย
ตัวเต่าฤามีหมาย……………โคกอ้าง
เจ็บอกพี่อวนอาย………….ออกปาก ได้ฤา
คืนคิดโคกขวัญร้าง………..อยู่เร้นแรมเกษม

ตอนนี้มาถึงคลองโคกเต่า แต่นายนรินทรว่า ไม่เห็นมีเต่าอย่างชื่อโคกนั้นเลย ความแบบนี้กวีชอบเขียน เช่น สุนทรภูว่า “วัดนางชีมีแต่พระสงค์ ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน”

ศัพท์…
– ใจฉงาย…… สงสัยในใจ
– อวลอาย……นึกอายมาก (บางฉบับเขียนว่า อวน แต่ควรเป็น อวล ซึ่งแปลว่า ฟุ้งตระหลบ กลบ เต็ม แน่น)
– โคกขวัญ…..หมายถึง โคกขาม แต่ที่เรียกสมญาว่า โคกขวัญ ด้วยโคกนั้นเป็นที่ยินดี แต่ยังหมายต่อไปถึง โคกขวัญอีกอย่างหนึ่งที่ ”อยู่เร้นแรมเกษม” นั้นด้วย

๓๕. มหาชัยชัยฤกษ์น้อง…นาฎลง โรงฤา
รับร่วมพุทธมนต์สงฆ์………เสกซ้อม
เสียดเศียรแม่ทัดมง……….คลคู่ เรียมเอย
ชเยศชุมญาติห้อม…………มอบให้สองสม 

โคลงบทนี้ความคิดที่แสดงออกมานั้นดีมาก และทำนองของโคลงก็ไพเราะ
บาท ๑…มาถึงตำบลมหาชัย ก็นึกถึงชัยฤกษ์ (ฤกษ์อันเป็นมงคล) เมื่อคราวน้องเข้าพิธีสมรสกับพี่
บาท ๒…เราทั้งสองรับน้ำพระพุทธมนต์ และฟังพระสวดอวยชัยให้พรแก่เรา
บาท ๓…เราทั้งสองนั่งศีรษะชิดกัน และน้องสวมมงคลคู่กับพี่
บาท ๔…ญาติมาห้อมล้อม (ทั้งฝ่ายญาติของพี่และของน้อง) มอบให้เราทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน และอวยชัยให้พรแก่เรา

คำว่า ชเยศ ในบาท ๔ นั้นเกี่ยวกับคำอะไร พิจารณาเห็นว่าเกี่ยวกับคำ ชุม หรือ ชเยศชุม (มาประชุมกันเป็นมงคล) ถ้าจะเอาความหมายก็ว่า ประชุมกันอวยชัยให้พร

ศัพท์…
– ชเยศ……….ชย + อีศ คำ อีศ เรียกว่า คำสกรรถ หรือ ศ เข้า ลิลิต เป็นคำที่ไม่มีความหมายอย่างใด แต่ใช้รวมกับคำอื่นๆ เพื่อความไพเราะ หรือสัมผัส เช่น นาเรศ (นารี + อีศ) มายุเรศ (มยุรี + อีศ) นาเวศ (นาวี + อีศ) นคเรศ (นคร + อีศ)

๓๖. ท่าจีนจีนจอดถ้า………คอยถาม ใดฤา
จีนช่วยจำใจความ………….ข่าวร้อน
เยียวมิ่งแม่มาตาม…………เตือนเร่ง ราแม่
จงนุชรีบเรียมข้อน…………เคร่าถ้าจีนคอย 

ความหมายในบาท ๑ อาจคิดได้ ๒ แง่ คือ มาถึง ตำบลท่าจีน

แง่ที่ ๑…เห็นเรือพวกจีนจอดอยู่ (นายนรินทร) ก็สงสัยว่า จีนพวกนี้จอดเรือคอยถามเรื่องอะไรหรือ
แง่ที่ ๒…คำว่า ท่าจีน นั้น ตามความหมายก็ว่าเป็นที่พวกจีนมาจอดเรือ เมื่อ (นายนรินทร) นึกได้เช่นนี้ ก็สงสัยว่าตรงนี้พวกจีนมาจอดเรือคอยถามเรื่องอะไรหรือ ตรงนี้จึงได้ชื่อว่า ท่าจีน

พิจารณาในโคลงบาท ๑ – ๔ ก็ควรจะหลับตาเห็นว่า นายนรินทรพบเรือพวกจีนจอดอยู่ เมื่อนายนรินทรไปถึง ครั้นแล้วเรือพวกจีนนั้นออกเดินทางสวนทางที่นายนรินทรมา นายนรินทรจึงเขียนในโคลว่า ขอให้จีนจงนำความไปบอกนางว่า เขากำลังรออยู่ที่ท่าจีน

นายนรินทร์เดินทางตามเสด็จใครเพื่อไปสู้รบ

นายนรินทร์ธิเบศร์แต่งโคลงนิราศนรินทร์ในคราวตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปปราบพม่าที่ยกมาตีเมืองถลางและชุมพร ในปีมะเส็ง พ.ศ. 2352 คราวเดียวกับที่พระยาตรัง กวีในสมัยรัชกาลที่ 2 อีกคนหนึ่งเดินทางไปทัพและแต่งนิราศถลางไว้

ผู้แต่งนิราศนรินทร์จากคนรักไปทำการใด

ผู้แต่ง นายนรินทร์ธิเบศร์ เป็นมหาดเล็กหุ้มแพร รับราชการวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 2. สาเหตุที่แต่ง นายนรินทรธิเบศร์ ต้องการรำพึงรำพันถึงนางอันเป็นที่รัก ที่ต้องจากนางไปรบ เมื่อคราวตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ซึ่งทรงยกทัพไปปราบพม่าที่ยกมาตีเมืองถลางและเมืองชุมพร เมื่อ พ.ศ. 2352 ต้นสมัยรัชกาลที่ 2.

นิราศนรินทร์คำโคลงเกี่ยวข้องกับข้อใด

นิราศนรินทร์คำโคลงเริ่มเรื่องด้วยร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แล้วกล่าวถึงความเจริญของบ้านเมือง จากนั้นจึงรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาสถานที่ที่ผ่านไป โดยนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ได้ออกเดินทางเริ่มต้นจากคลองขุดผ่านวัดแจ้ง คลองบางกอก (ใหญ่) วัดหงส์ วัดสังข์กระจาย บางยี่เรือ (คลอง) ด่านนางนอง บางขุนเทียน ...

สถานที่ใดไม่ได้กล่าวไว้ในโคลงนิราศนรินทร์

สถานที่ใดไม่มีกล่าวไว้ในโคลงนิราศนรินทร์ วัดแหลม