การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลใด

ผู้เขียนศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ.2468 แล้ว พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยที่จะพัฒนาการเมืองและการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยตามแบบอย่างของประเทศตะวันตกอย่างแท้จริง ดังเหตุผลสนับสนุนต่อไปนี้ คือ
1.ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 เพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยมีสมาชิกประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ 5 พระองค์ 2.โปรดเกล้าฯ ให้อภิรัฐมนตรีร่างพระราชบัญญัติ เพื่อจัดตั้ง “สภากรรมการองคมนตรี” ซึ่งมีลักษณะเป็นสภาที่ปรึกษา (Advisory Body) แต่มีหน้าที่จำกัด กล่าวคือ “ให้คำปรึกษาหารือข้อราชการซึ่งพระราชทานลงมาให้ศึกษา และที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ปรึกษาแล้วนำคำปรึกษาขึ้นถวายบังคมทูล” 3.ทรงได้ตั้งเสนาบดีสภา เพื่อเตรียมฝึกให้มีการรับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะให้เหมือนคณะรัฐมนตรีแบบตะวันตก เช่นเดียวกับเสนาบดีในสมัยรัชกาลที่ 5

4.ทรงมอบหมายให้อภิรัฐมนตรีสภาดำเนินการวางรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปเทศบาล และวางโครงการปรับปรุงแก้ไขสุขาภิบาลที่มีอยู่ให้เป็นเทศบาล เพราะถ้ามีการบริหารท้องถิ่นเจริญขึ้น ประชาชนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเองแล้วก็ย่อมจะพัฒนาไปสู่ระบบการเมืองในระบบรัฐสภาได้รวดเร็วขึ้น แต่การปรับปรุงก็เป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันการณ์ และไม่ทันได้ประกาศใน พ.ร.บ. ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 เสียก่อน 5.พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีวิศาลวาจา นายเรมอนต์ บี สตีเวนส์ คิด “ร่างพระราชธรรมนูญ” ขึ้นมาตามกระแสพระราชดำริ พ.ศ.2474 โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสาระสำคัญพอสรุปได้ ดังนี้ คือ ในช่วงอำนาจนิติบัญญัติแล้วนั้น จะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา และมีสมาชิก 2 ประเภท เลือกตั้งและแต่งตั้ง จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี มีพื้นฐานความรู้อ่านออกเขียนได้ ส่วนอำนาจบริหารให้มาจากกษัตริย์ทรงเลือกนายกรัฐมนตรี

ในขณะเดียวกันแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 7 ที่จะเตรียมกันร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพระราชทานต่อประชาชนชาวไทยนั้น ปรากฏว่าได้มีเสียงคัดค้านจากอภิรัฐมนตรีสภา เพราะเกรงว่าประชาชนยังไม่มีความพร้อมการ
เตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญจึงต้องหยุดชะงักลง

เป็นผลให้คณะราษฎร ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ในที่สุด เมื่อ พ.ศ.2475

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 : ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยในคณะราษฎรเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
1.จุดมุ่งหมายและอุดมการณ์ของคณะราษฎร คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีจุดมุ่งหมายที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรได้ถืออุดมการณ์ 6 ประการ คือ 1) จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศให้มั่นคง 2) จะสร้างความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันน้อยลงให้มาก 3) จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ทุกคนทำ จะวางโครงสร้างเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรวิตก 4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน 5) จะให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพ มีความเป็นอิสระเมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักประการดังกล่าว เป็นต้น 6) จะต้องให้การศึกษาเต็มที่แก่ราษฎร

2.สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีสาเหตุต่อไปนี้ คือ 1) ปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิรูปดังกล่าวมีผลทำให้ผู้ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกจากประเทศตะวันตก กลายเป็นผู้นำสมัยใหม่ รับแนวความคิดแบบประชาธิปไตยเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

2) จิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ และอิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้นในช่วงก้าวหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนรุ่นใหม่มีแนวคิดประชาธิปไตยได้มีความตื่นตัว และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งบรรดาสื่อมวลชนต่างๆ ก็พากันแสดงความเห็นและเสนอข้อเขียนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอย่างแพร่หลาย

3) ฐานะการคลังของประเทศและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในรัชกาลที่ 7 การคลังของประเทศเริ่มตกต่ำในตอนปลายรัชกาลที่ 7 พยายามตัดทอนรายจ่ายทุกประเภทให้เหลือเท่าที่จำเป็น มีการปรับปรุงระบบภาษีให้รัดกุม เพื่อจะได้เก็บภาษีให้มากขึ้น และใช้วิธีการปลดข้าราชการออกจำนวนมากเพื่อลดรายจ่ายให้น้อยลง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจทั่วโลกก็กำลังตกต่ำจึงทำให้ส่งผล
กระทบต่อประเทศไทย ในรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้บรรลุผลได้

จึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย คณะราษฎรใน พ.ศ.2475

3.องค์ประกอบของคณะราษฎร : คณะราษฎรประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ พลเรือน รวมทั้งสิ้นจำนวน 99 คน มี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะราษฎร และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหารมีหน้าที่วางแผนใช้กำลังทหารยึดอำนาจ ส่วนฝ่ายพลเรือนมีหน้าที่จัดร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมเอาไว้เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายให้รัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธย รวมทั้งกำหนดลักษณะการบริหารต่างๆ ในรูปแบบการปกครองใหม่ ซึ่งจะนำมาใช้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นผลสำเร็จ

1) คณะบุคคลในคณะราษฎร บุคคลสำคัญได้แก่ (1) พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร (2) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (3) พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (4) พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (5) พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม (6) พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก (7) น.ต.หลวงสินธุสงคราม (8) น.ต.หลวงศุภชลาศัย (9) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (10) นายจรูญ สืบแสง (11) นายควง อภัยวงศ์ ฯลฯ เป็นต้น

2) การดำเนินงานเพื่อยึดอำนาจการปกครอง ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้ลงมือทำงานตามแผนการเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังส่วนหนึ่งภายใต้บัญชาของ พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และกำลังทหารเรือซึ่งนำโดย น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ก็เคลื่อนกำลังพลพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อจัดตั้งเป็นกองรักษาการณ์แล้วส่งกำลังส่วนหนึ่งไปเชิญพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ที่ทรงมีอำนาจและคุมกำลังอยู่มากักไว้ให้ประทับอยู่ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นองค์ประกันของคณะราษฎร พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำกำลังไปทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตมาประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นผลสำเร็จ เมื่อแผนการยึดอำนาจของคณะราษฎรได้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงลงนามในประกาศที่คณะราษฎรได้นำมาถวายโดยทรงขอให้ทหาร ข้าราชการ และกบฏทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเสียเนื้อของคนไทยด้วยกัน โดยไม่ว่าเป็นแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวย่อมเป็นผลดีต่อคณะราษฎร และต่อประเทศชาติ เพราะคณะราษฎรจะได้ปลอดภัยจากฝ่ายต่อต้าน ขณะเดียวกันประเทศชาติจะกลับคืนสู่ความสงบโดยเร็วด้วย ภายหลังจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงยืนยันรับรองการปฏิบัติครั้งนี้มายังผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร คือ พ.อ.พระยาพหลพล
หยุหเสนา ด้วย

ภายหลังการยึดอำนาจและจับกุมบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาลไว้ให้โดยเรียบร้อยแล้ว คณะราษฎรได้ตั้งผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารขึ้น 3 คน เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศ บุคคลดังกล่าว ได้แก่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ ทำให้อำนาจบริหารประเทศทั้งหมดซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ ได้เปลี่ยนมาอยู่ใต้การควบคุมและการตัดสินใจของผู้รักษาพระนครและคณะราษฎรโดยสิ้นเชิง

หลังจากนั้น คณะราษฎรได้มีหนังสือกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคืนสู่พระนครและทรงดำรงตำแหน่งฐานะเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป โดยความเป็นจริงแล้ว ถ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงปฏิเสธและทรงใช้พระราชอำนาจที่มีอยู่สั่งการปราบปรามคณะราษฎรในข้อหากบฏก็คงจะทรงทำได้ เพราะทหารในส่วนหัวเมืองที่ยังจงรักภักดีต่อพระองค์ยังคงมีอยู่ไม่น้อย แต่เนื่องจากพระองค์มีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอภิรัฐมนตรีสภาทัดทานอยู่ พระองค์จึงต้องทรงระงับความตั้งพระทัยเอาไว้ก่อนเพื่อรอให้ถึงโอกาสอันสมควร แต่เมื่อคณะราษฎรได้ชิงลงมือก่อการปฏิวัติก่อนก็สอดคล้องกับพระราชดำริของพระองค์ พระองค์จึงมิได้ทรงขัดขวางแต่ประการใด

ในที่สุดการปฏิวัติของคณะราษฎรได้ประสบความสำเร็จด้วยดี และคณะราษฎรได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระราชกำหนดนิรโทษกรรมครั้งนี้โดยทั่วกัน

4.การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามและการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ : ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯกลับคืนสู่พระนครแล้ว คณะราษฎรได้นำ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรบางคนได้ร่างเตรียมไว้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และพระองค์ได้พระราชทานกลับคืนมาในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 และได้เป็นสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า “พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว”

1) สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว : รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ว่า อำนาจสูงสุดในแผ่นดินประกอบด้วย อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งแต่เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์ ได้เปลี่ยนแปลงเป็นของประชาชน โดยตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้รวมเอากฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดแบ่งระยะเวลาเป็น 3 สมัย คือ (1) นับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎรซึ่งมีผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทน จัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น จำนวน 70 นาย เป็นสมาชิกสภา (2) ภายในเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาต้องมีบุคคล 2 ประเภท ทำกิจกรรมร่วมกัน คือ ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ ผู้แทนซึ่งราษฎรได้เลือกขึ้นมาจังหวัดละ 1 นายต่อราษฎรจำนวนหนึ่งแสนคน ประเภทที่สอง ผู้เป็นสมาชิกอยู่ในสมัยที่ 1 ที่จำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ 1 ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใดๆ เข้าแทนจนครบ (3) เมื่อจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรได้สอบไล่วิชาปฐมศึกษาได้เป็นจำนวนกว่าครึ่งและอย่างช้าไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ 2 เป็นอันไม่มีอีกต่อไป

2) อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทางด้านอำนาจบริหารนั้น ในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงตำแหน่งบริหารสำคัญไว้ คือ ประธานคณะกรรมการคณะราษฎร คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่สามารถจะประสานความเข้าใจระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อความราบรื่นในการบริหารประเทศต่อไป ผลปรากฏ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นผู้ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานคณะกรรมการคณะราษฎร (คณะรัฐมนตรี) ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรกที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว พ.ศ.2475 มีจำนวนทั้งสิ้น 15 นาย เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน ภายหลังที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว สภาผู้แทนก็ได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบไป

ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 และสภาผู้แทนได้ลงมติรับรองให้ใช้เมื่อวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไป ทางด้านคณะราษฎรได้ส่งบุคคลระดับหัวหน้าฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าร่วมรัฐบาล โดยมี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้คุมเสียงข้างมากอยู่ในคณะรัฐมนตรี ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้จึงเรียกว่าเป็น “รัฐบาลของคณะราษฎร” ซึ่งเป็นสมาคมการเมืองเดียวในขณะนั้น

3) สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นฉบับถาวรมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้ คือทางด้านนิติบัญญัติรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ในมาตรา 16 ให้มีสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น แต่มีบทเฉพาะกาลอยู่ในตอนท้ายซึ่งถือได้ว่าเป็นการกีดขวางการเจริญก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก กล่าวคือ ในมาตรา 65 ได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า ถ้าราษฎรผู้มีสิทธิเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีการศึกษาไม่จบศึกษาสามัญมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดและอย่างช้าต้องไม่เกินกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วันใช้ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475

สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท มีจำนวนเท่ากัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา 16 และ 17 ส่วนสมาชิกประเภทที่ 2 ได้แก่ ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ทางฝ่ายบริหารนั้น พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหนึ่งนาย และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อย 14 นาย อย่างมาก 24 นาย และในการตั้งนายกรัฐมนตรี คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นอกจากนั้นจะเลือกจากผู้ที่เห็นว่ามีความรู้ความชำนาญพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรก็ได้

แต่ต้องเป็นผู้ที่อาจดำรงตำแหน่งการเมืองได้ นะครับ

ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเกิดขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้เปลี่ยนแปลง

24 มิถุนายน – การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475: คณะราษฎรดำเนินการปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะราษฎร

ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสมัยใด

ประชาธิปไตยแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก ประเภทแรกเริ่มปรากฏขึ้นในนครรัฐกรีกโบราณบางแห่งช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครรัฐเอเธนส์ เรียก ประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งพลเมืองทุกคนมีสิทธิพิจารณากลั่นกรองและวินิจฉัยกฎหมาย ประเภทที่สองเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน โดยสาธารณะออกเสียงในการเลือกตั้งและเลือกผู้แทนตนไปทำ ...

รัชกาลที่ 6 ปกครองแบบไหน

สมัยรัชกาลที่ 6 เกิดเหตุการณ์กบฏ .ศ.130 โดยกลุ่มนายทหารบกที่มีจุดมุ่งหมายในการปฏิวัติการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การปฏิวัติของคณะราษฎรเกิดขึ้นในสมัยใด

คณะราษฎรเกิดขึ้นจากการประชุมของคณะผู้ก่อการในเดือนกุมภาพันธ์ 2469 จากนั้นมีการสมัครสมาชิกเพิ่ม จนในปี 2475 ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าพระมหากษัตริย์และฝ่ายกษัตริย์นิยมจะต่อต้านคณะ ...