สาเหตุเส้นเลือดหัวใจตีบเกิดจากอะไร

อาการเส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากผนังเส้นเลือดหัวใจเกิดอาการตีบจากไขมันและการอักเสบบริเวณผนังเส้นเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย

 

อาการของเส้นเลือดหัวใจตีบมีอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอกเจ็บตรงกลาง เจ็บตื้อ ๆ เหมือนมีอะไรมาทับ มีร้าวไปที่ไหล่ด้านซ้ายหรือร้าวไปที่คางได้ มักพบอาการเหงื่อแตก ตัวเย็น ใจสั่นได้ในขณะที่มีอาการ มักจะมีอาการในขณะที่ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก นั่งพักมักจะดีขึ้น ในบางรายอาจจะมาด้วยจุกแน่นลิ้นปี่ หายใจไม่ออก

อาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบอีกเช่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติหรือเสียชีวิตได้

 

การวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ

  • แพทย์จะทำการซักประวัติตรวจร่างกายผู้ป่วย
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจเลือดเพื่อดูค่าของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การฉีดสีเพื่อประเมินเส้นเลือด
  • การทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อดูแคลเซี่ยมที่เกาะที่ผนังเส้นเลือดหัวใจ
  • การวิ่งสายพาน
  • การเอกซเรย์
  • การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ

 

การรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบ ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค

  • การใช้ยา ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดไขมัน ยาลดความดัน
  • การสวนหัวใจ การใส่บอลลูนและขดลวด
  • การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ

 

การป้องกันเส้นเลือดหัวใจตีบได้แก่

การรักษาโรคประจำตัวเรื้อรังให้อยู่ในเกณฑ์ เช่น เบาหวานก็ควรควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเป้าหมาย ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การงดสูบบุหรี่ การงดดื่มสุรา การควบคุมน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

จะเห็นได้ว่าภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นภาวะที่สำคัญ มีความรุนแรง จึงควรป้องกันในสิ่งที่ป้องกันและควบคุมได้ ถ้ามีอาการที่ท่านสงสัยก็ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการประเมินและรักษาอย่างทันท่วงที

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ในอดีตมักพบมากในวัยสูงอายุ แต่ปัจจุบันพบภาวะนี้ในผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเพราะมักไม่มีอาการในระยะแรก กว่าจะรู้ก็มีอาการของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบที่ชัดเจน เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หรือยิ่งไปกว่านั้นก็อาจพบหลังประสบภาวะหัวใจวายไปแล้ว โดยแนวทางการรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบนั้นมีหลากหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการทำบอลลูนหัวใจ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด และมีความปลอดภัย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ ใช้เวลาพักฟื้นน้อย


สาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

เส้นเลือดหัวใจตีบเกิดจากการที่เส้นเลือดตีบแคบลงจากความเสื่อมสภาพตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือ มีการสะสมของคราบหินปูน หรือ ไขมันไปเกาะอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นในจนเกิดการอุดตัน ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากเส้นเลือด แดงตีบแคบมากจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้


ปัจจัยที่เสริมให้เส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้น

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น มักเกิดกับคนที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ
  • มีน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน
  • การสูบบุหรี่
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
  • มีความเครียดเรื้อรัง

อาการที่ตามมาหากเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ

  • อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก รู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบ หรือมีแรงดันจำนวนมากที่บริเวณกลางอกหรือที่อกข้างซ้าย โดยอาการอาจจะเกิดขึ้นไม่กี่นาทีแล้วก็หาย แต่จากนั้นก็อาจจะกลับมาเป็นอีก
  • อาการปวดร้าวไปที่ไหล่ แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม
  • อาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง
  • อาการคลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม จุกคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน

การตรวจวินิจฉัยเส้นเลือดหัวใจตีบ

แนวทางในการตรวจวินิจฉัยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติก่อน จากนั้นจะส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่คล้ายเครื่องอัลตราซาวด์ตรวจบริเวณหน้าอก และใช้เสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อจำลองภาพ ขนาด และการทำงานของหัวใจ
  • การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium score) เป็นการตรวจปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) และคำนวณหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง โดยภาพที่ได้จากการตรวจจะคมชัด เนื่องจากเครื่องมือที่มีความเร็วในการจับภาพสูงมาก ซึ่งสามารถจับภาพขณะที่หัวใจเต้นได้ดี และสามารถบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ แม้จะมีปริมาณน้อยก็ตาม เพื่อใช้บ่งบอกแนวโน้มถึงโอกาสในการที่จะเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที
  • การฉีดสีสวนหัวใจ จะเป็นขั้นตอนการตรวจลำดับสุดท้าย โดยการใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบหรือหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ และทำการฉีดสารละลายทึบรังสีผ่านท่อเล็กๆ นี้ เพื่อถ่ายภาพเส้นเลือดหัวใจให้เห็นบริเวณที่มีการตีบตันของเส้นเลือด หากพบความผิดปกติของหลอดเลือดที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวนหัวใจ แพทย์จะทำการใส่สายสวนหัวใจ เพื่อทำการขยายหลอดเลือดที่ตีบแคบด้วยบอลลูนหัวใจและขดลวดถ่างขยาย (Stent) ได้ในทันที

บอลลูนหัวใจ ทางเลือกการรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบโดยไม่ต้องผ่าตัด

แนวทางการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบในปัจจุบัน มีวิธีการรักษาหลายแบบ และแต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป แต่วิธีการรักษาที่แพทย์นิยมทำโดยไม่ต้องใช้การผ่าตัด คือ การทำบอลลูนหัวใจ หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยาย ซึ่งเป็นการหัตถการการรักษาที่สามารถทำได้เลย ต่อจากการฉีดสีดูการตีบของเส้นเลือดหัวใจ

การทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดนั้น จะช่วยดันไขมัน หรือคราบหินปูนที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้



บอลลูนหัวใจมีวิธีการรักษาอย่างไร

การทำบอลลูนหัวใจรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบ สามารถทำได้โดยการสอดสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นท่ออ่อนที่มีบอลลูนขนาดจิ๋วอยู่ตรงปลายเข้าไปทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ เมื่อถึงบริเวณที่หลอดเลือดตีบจึงต่อสายบอลลูนเข้ากับเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อดันให้บอลลูนขยายออก เบียดคราบไขมัน คราบหินปูนที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดให้ยุบแบนลงและขยายหลอดเลือดให้กว้างออก เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้ง นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาใส่ขดลวด (stent) ที่มีลักษณะที่เป็นโครงตาข่าย เข้าไปค้ำยันยึดติดกับผนังหลอดเลือดที่ตีบเพื่อเสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งที่ทำการขยายบอลลูนร่วมด้วย เพื่อป้องกันการกลับมาอุดตันอีก