คณะเทคนิคการแพทย์เป็นอาชีพอะไรได้บ้าง

Last update: 31 ส.ค. 2565 , 16:13

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2566

          คณะเทคนิคการแพทย์ ได้จัดการสอนแก่นักศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ รวม 4 สาขาวิชา คือ เทคนิคการแพทย์ กิจกรรมบำบัด รังสีเทคนิค และกายภาพบำบัด การเรียนในคณะเทคนิคการแพทย์ ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นหลัก ดังนั้น นักเรียนที่จะเลือกเรียนคณะนี้ ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์-คณิต สนใจทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยเป็นสำคัญ นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรเอาใจใส่ในการศึกษาอย่างมาก จึงจะสามารถศึกษาสำเร็จตามหลักสูตรได้ วิชาชีพในคณะเทคนิคการแพทย์แต่ละสาขาวิชา ใช้เวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 4 ปี โดยในช่วงแรกเป็นการศึกษาวิชาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการศึกษาในช่วง 3 ปีหลัง ซึ่งเป็นการศึกษาด้านวิชาชีพ โดยศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งในห้องปฏิบัติการและการฝึกภาคสนาม

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
          เป็นวิชาชีพที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยวินิจฉัย ติดตามอาการและติดตามผลการรักษาโรค เช่น การตรวจความผิดปกติเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ ส่วนประกอบ และหน้าที่ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในผู้ป่วย การตรวจหาสารต่าง ๆ ในเลือดและของเหลวจากร่างกาย โดยวิธีทางเคมี เช่น การตรวจความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ยังรวมถึงการตรวจหาเชื้อก่อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรียไวรัส หรือเชื้อราจากสิ่งส่งตรวจบริเวณที่เกิดโรค และการตรวจภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ตลอดจนถึงงานบริการโลหิต เช่น การตรวจหมู่เลือด และการตรวจความเข้ากันได้ของเลือดและเนื้อเยื่อ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชารังสีเทคนิค
         เป็นสาขาวิชาชีพที่ต้องกระทำต่อมนุษย์โดยใช้รังสีหรือสารกัมมันตรังสีทางการแพทย์ชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค หรือการวิจัย รวมทั้งการป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการทางรังสีวิทยา หรือการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยา โดยมีเนื้อหาบูรณาการความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ด้วยศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพ          

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชากิจกรรมบำบัด
        กิจกรรมบำบัด เป็นหนึ่งในวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งให้บริการครอบคลุมทั้งการส่งเสริม ป้องกัน บำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพ สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตสังคม การรับรู้ การเรียนรู้ พัฒนาการ และผู้สูงวัย โดยการนำกิจกรรมต่าง ๆ มาปรับ ประยุกต์ และดัดแปลงตามหลักวิชาการ การบริการที่สำคัญ อาทิ การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก การฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยอัมพาตทุกประเภท การบำบัดเด็กออทิสติก การออกแบบและจัดทำเครื่องดามมือ การกระตุ้นการดูด การกลืน การฝึกความจำในผู้สูงอายุ การบำบัดผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่สำคัญและจำเป็นได้โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด นำไปสู่การมีภาวะสุขภาพที่ดี มีความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดี          

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชากายภาพบำบัด
         กายภาพบำบัดเป็นวิชาชีพทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกัน และการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของบุคคลที่มีปัญหาอันเป็นผลเนื่องมาจากภาวะของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต ผู้ป่วยเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ตลอดจนบุคคลทั่วไปและนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บทางการกีฬา โดยใช้วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การออกกำลังกายเพื่อรักษา การฝึกการเคลื่อนไหวและการทรงตัว การดัดดึงข้อต่อ การบำบัดด้วยน้ำ การรักษาด้วยความร้อน/ความเย็น และการใช้เครื่องมือกายภาพบำบัด เช่น คลื่นเหนือเสียง (ultrasound) เครื่องกำเนิดความร้อนลึกด้วยคลื่นสั้น (shortwave) เครื่องผลิตแสงเลเซอร์กำลังต่ำ (low power laser) เครื่องกระตุ้นกระแสไฟฟ้า (electrical stimulator) เป็นต้น 

เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง?

          ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะเทคนิคการแพทย์จะได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตในสาขาวิชาที่เลือกเรียน ดังนี้
         - สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์  --->  วท.บ. (เทคนิคการแพทย์)
         - สาขาวิชารังสีเทคนิค            --->  วท.บ. (รังสีเทคนิค)
         - สาขาวิชากิจกรรมบำบัด       --->  วท.บ. (กิจกรรมบำบัด)
         - สาขาวิชากายภาพบำบัด      --->  วท.บ. (กายภาพบำบัด)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
          หลังจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร นักเทคนิคการแพทย์ซึ่งผ่านการสอบวัดความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียน และมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จากสภาเทคนิคการแพทย์ สามารถปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการชันสูตร และงานธนาคารเลือดของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสถาบันทางการแพทย์ทั้งของรัฐบาลและเอกชนในตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ตามที่สถาบันนั้น ๆ ได้กำหนดตำแหน่งเอาไว้ เพื่อทำหน้าที่ในการสนับสนุนการวินิจฉัยโรค ติดตามอาการ ติดตามผลการรักษาโรค เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานทางนิติเวชศาสตร์ด้วยการตรวจชันสูตร นักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการที่ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือทำหน้าที่ในห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพในโรงงานผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น โรงงานผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากนม โรงงานผลิตเครื่องสำอาง เป็นต้น หรือปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในฐานะนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ สามารถทำงานในบริษัทหรือดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายหรือซ่อมแซมเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือศึกษาต่อในขั้นสูง เพื่อหาความชำนาญเฉพาะทางจนถึงระดับปริญญาเอกได้ เช่น ศึกษาในสาขาเทคนิคการแพทย์ พยาธิวิทยาคลินิก จุลชีววิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา ชีวเคมี เภสัชวิทยา นิติเวชศาสตร์ อณูพันธุศาสตร์ เป็นต้น  

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค
          หลังจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร สามารถสมัครสอบขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค จากกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่รังสีการแพทย์ หรือนักรังสีเทคนิคในโรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชน นักฟิสิกส์รังสีในหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและควบคุมการใช้รังสี นักวิทยาศาสตร์ในสถาบันวิจัยและในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้รังสีในการควบคุมคุณภาพในบริษัทที่ผลิต หรือจำหน่ายอุปกรณ์ทางรังสี สามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้หลายสาขา เช่น วิทยาศาสตร์รังสีการแพทย์ ฟิสิกส์การแพทย์ นิวเคลียร์เทคโนโลยี เป็นต้น

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากิจกรรมบำบัด
          ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิ์ยื่นคำขอเพื่อรับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัดจากกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประกอบวิชาชีพเป็นนักกิจกรรมบำบัดในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลจิตเวช ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วย สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ โรงเรียนทั่วไป โรงเรียนเด็กพิเศษ ศูนย์การศึกษาพิเศษ สถานดูแลเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ คลินิกกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถทำงานส่งเสริม ป้องกัน บำบัดฟื้นฟูผู้พิการในชุมชน ทำงานเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางกิจกรรมบำบัด และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้
         การศึกษาต่อ สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้ทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาตนเองในด้านวิชาชีพ วิจัย หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด
       เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร สามารถสมัครสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด จากสภากายภาพบำบัด จากนั้นสามารถประกอบวิชาชีพได้ดังนี้ คือ
         1. เป็นนักกายภาพบำบัดทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โรงเรียนการศึกษาพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สโมสรที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาต่าง ๆ
         2. เป็นนักกายภาพบำบัดอิสระ โดยสามารถเปิดคลินิกกายภาพบำบัดได้
         3. เป็นนักกายภาพบำบัดหรือแนะนำ (advisor) ในสถานดูแลสุขภาพต่าง ๆ เช่น สปา ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
         4. เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
         5. ศึกษาต่อในระดับบัณฑิต เพื่อพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัยและอาจารย์

ค่าเล่าเรียน

ค่าธรรมเนียมการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ภาคปกติ  ภาคการศึกษาละ 20,000 บาท

ค่าธรรมเนียมการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชากิจกรรมบำบัด ภาคปกติ  ภาคการศึกษาละ 20,000 บาท

ค่าธรรมเนียมการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชารังสีเทคนิค ภาคปกติ  ภาคการศึกษาละ 20,000 บาท

ค่าธรรมเนียมการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชากายภาพบำบัด ภาคปกติ ภาคการศึกษาละ 20,000 บาท

ข้อมูลการรับเข้าศึกษา TCAS

สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์
สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
110 ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 053-935075   โทรสาร : 053-936042
เว็บไซต์ :  www.ams.cmu.ac.th  
Facebook :  https://www.facebook.com/amscmu

ดาวน์โหลด PDF:

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารหลักสูตร หรือ TCAS ของคณะ