จบสายวิทย์ทํางานอะไรได้บ้าง

เมื่อพูดถึงอาชีพยอดฮิตของเด็กสายวิทย์-คณิต ก็คงหนีไม่พ้น หมอ, พยาบาล ที่ต้องยอมรับว่ามาจากค่าตอบแทนสูง จึงได้อยู่ในลิสต์อาชีพยอดฮิตของใครหลายคน แต่จริง ๆ แล้ว อาชีพในวงการวิทยาศาสตร์ยังมีอีกหลายสาขาวิชาที่น่าสนใจอีกเพียบ และคงน่าเสียดายไม่น้อย หากไม่ได้ทำความรู้จักเสียก่อน ในวันนี้ ALTV จึงคัด 5 อาชีพสายวิทย์ที่น่าสนใจ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย!

จบสายวิทย์ทํางานอะไรได้บ้าง

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ย่อยเรื่องวิทย์ให้น่าติดตาม

ถึงแม้ว่า “วิทยาศาสตร์” จะสำคัญกับชีวิตเราแทบทุกด้าน แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่กับทุกคนที่จะเข้าใจ เข้าถึง หรืออินไปกับวิทยาศาสตร์อันซับซ้อนได้เหมือน ๆ กัน ไม่ว่าจะด้วยศัพท์เทคนิคที่มีแค่นักวิทยาศาสตร์คุยกันรู้เรื่อง หรือหลักการต่าง ๆ ที่คนธรรมดาอย่างเรามีระดับความรู้เป็น 0 ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Communicator scientist) ที่ต้องย่อยเรื่องวิทย์หนัก ๆ ให้เสพง่าย และสื่อสารออกไปสู่สาธารณะ ไม่ว่าจะในรูปแบบสื่อออนไลน์ บทความ หนังสือ หรือที่ฮิต ๆ ในช่วงนี้ก็เป็นการเล่าผ่านพอดแคสต์ ในบางประเทศอาจประจำอยู่ตามพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนที่แวะเวียนเข้ามา ในไทยเองแม้ว่าจะเป็นอาชีพที่ไม่คุ้นหู แต่ก็มีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้เห็นบ้าง หนึ่งในนั้นคือ แทนไท ประเสริฐกุล จาก ช่องยูทูป WiTcast ที่ยึดเป็นอาชีพมามากว่า 10 ปีแล้ว

จบสายวิทย์ทํางานอะไรได้บ้าง

ภาพจาก: We Mahidol

เพราะ "นักสื่อสารวิทยาศาสตร์" คือผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ สู่สาธารณะในแบบที่ "เข้าใจง่าย" ประหนึ่งว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์เราที่ไม่ได้ไกลตัว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับนักสื่อสารคือ สกิลการสื่อสารที่ดี การกลั่นกรองข้อมูลได้ถูกต้องแม่นยำ และที่สำคัญต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักจบการศึกษาจากวิชาสาขาทางวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่อาจไม่ต้องเก่งระดับนักวิทยาศาสตร์ หรือต้องออกไปวิจัยด้วยตัวเองขนาดนั้น เพียงแค่สามารถรู้วิธีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ นำมาถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง ตรงประเด็น เข้าใจง่าย

การมีอยู่ของอาชีพนี้ ทำให้สาธารณะกับวิทยาศาสตร์เชื่อมต่อกันมากขึ้น นำสังคมไปสู่การขบคิด การคิดวิเคราะห์แยกแยะเรื่องจริง เรื่องเท็จได้มีหลักการ และรู้ความเป็นไปของโลกมากขึ้น

ต้องเรียนอะไร ?

  • วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารวิทยาศาสตร์และสุขภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ
  • คณะวิทยาศาสตร์ หรือสาขาวิชาที่เกี่บวกับการสื่อสาร เช่น คณะวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์

จบสายวิทย์ทํางานอะไรได้บ้าง

นักวิทยาศาสตร์อาหาร ผู้รังสรรค์เมนูอร่อย

ในวันที่เร่งรีบเกินกว่าจะทำมื้อเช้าทานเอง การเข้าร้านสะดวกซื้อไปหยิบข้าวกล่องแช่แข็งสำเร็จรูป ก็เป็นอีกวิธีที่ประหยัดเวลาไปได้เยอะ แถมยังสะดวกอยู่ที่ไหนก็ทานได้ ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรม หรืออาหารสำเร็จรูปแสนสะดวกเหล่านี้ คือ นักวิทยาศาสตร์อาหาร (Food scienctist) นี่เอง

หน้าที่หลัก ๆ ของนักวิทยาศาสตร์อาหาร ไม่ใช่การเข้าครัวทำอาหารแต่อย่างใด แต่คือหาวิธีผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มในระดับอุตสาหกรรม ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย มีรสสัมผัสที่ใช่ ผ่านการคิดค้น ดัดแปลง วิจัย วัตถุดิบอาหาร ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและเครื่องดื่มใหม่ ๆ ถึงมือผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคอยควบคุมดูแล

นักวิทยาศาสตร์อาหารอาจทำงานในโรงงานผลิตอาหาร หรือทดลองในห้องปฏิบัติการ ฐานเงินเดือนอาจเริ่มตั้งแต่ 15,000 ถึง 20,000 บาท

ต้องเรียนอะไร ?

  • คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

จบสายวิทย์ทํางานอะไรได้บ้าง

นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์

ใครหลายคนคงไม่เคยได้ยินถึงชื่อนี้มาก่อน ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะ นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์ (Museum Sciencetist) เป็นอาชีพที่น้อยคนจะรู้จัก และไม่ค่อยถูกพูดถึงสักเท่าไหร่ ในระดับสากลอาชีพนี้ก็ยังมีตำแหน่งงานค่อนข้างน้อยมาก

ในพิพิธภัณฑ์ไม่กี่แห่งที่จัดโชว์วัตถุโบราณ หรืองานศิลปะ จะมีห้องปฏิบัติการวิจัยและวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ (SRAL) อยู่ด้วยเพื่อศึกษาอายุ แหล่งที่มาของวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่เผอิญถูกค้นพบในบริเวณรอบ ๆ พิพิธภัณฑ์ เช่นที่ พิพิธภัณฑ์ Winterthur รัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์ คือ ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์วิเคราะห์วัสดุของวัตถุทุกประเภทในพิพิธภัณฑ์ เพื่อระบุวัสดุที่ใช้, แหล่งที่มา, องค์ประกอบในระดับโมเลกุลของวัตถุหรืองานศิลปะนั้น ๆ เพื่อทำความเข้าใจ และคาดการณ์ว่าวัสดุจะเปลี่ยนไปอย่างไรในสภาพแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหล่านักอนุรักษ์และภัณฑารักษ์ สามารถเข้าใจวิธีปฏิบัติดูแลวัตถุได้ดีขึ้น คงสภาพวัตถุให้อยู่ได้นานที่สุดนั่นเอง

นอกจากต้องความรู้สายวิทย์ ต้องเข้าใจความหลากหลายของภาพวาด ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และผลงานอื่น ๆ ที่สะสมในพิพิธภัณฑ์ , เข้าใจการทำงานของซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงตรวจสอบสภาพแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์ ในการจัดเก็บ จัดนิทรรศการ เพื่อให้แน่ใจว่ามีสภาพอากาศที่เหมาะสม เสถียรมากพอที่จะไม่ทำร้ายวัตถุล้ำค่าต่าง ๆ

ต้องเรียนอะไร ?

  • วิชาชีพนี้จัดเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์แขนงหนึ่ง ในไทยยังไม่มีหลักสูตรโดยตรง สาขาที่ใกล้เคียง ได้แก่ วิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ ,วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental Science)

จบสายวิทย์ทํางานอะไรได้บ้าง

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล อาชีพมาแรงแห่งยุคดิจิทัล

ทุกวันนี้โลกเราขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เราเรียกกันว่า "Big Data" โดยเฉพาะในองค์กรใหญ่ ๆ มักมีการเก็บข้อมูลแบบ Big Data เช่น พฤติกรรมลูกค้า ข้อมูลติดต่อ มากมายสารพัด ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นกลยุทธ์ แผนการตลาด จนถึงแนวทางการแก้ปัญหา ที่ช่วยเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นำข้อมูลมหาศาลนี้มาบริหารจัดการ และวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลัก ๆ คือนำมาคาดคะเน และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลไม่ใช่อาชีพใหม่ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอันดับต้น ๆ เพราะการเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ง่าย และต้องมีความรู้หลายด้าน ตั้งแต่เก่งคณิตศาสตร์ สถิติ การนำเสนอข้อมูล การคิดวิเคราะห์ การตลาด และต้องมีสกิลคอมพิวเตอร์ด้วย ส่วนซอฟต์สกิลที่ขาดไม่ได้คือการเป็นคนช่างสังเกต และมีความคิดสร้างสรรค์

ต้องเรียนอะไร ? 

  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการข้อมูล มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล และการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการข้อมูล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะอื่นใกล้เคียง เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

จบสายวิทย์ทํางานอะไรได้บ้าง

นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ผู้อยู่เบื้องหลังความงาม

เพียงแค่เริ่มเช้าวันใหม่ เครื่องสำอางเป็นสิ่งที่ถูกใช้บนผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกายเป็นอย่างแรก ๆ เพื่อประทินผิว เสริมความงาม เป็นไอเท็มที่สาว ๆ ขาดไม่ได้ในทุกวัน ที่สำคัญคือต้องมีคุณภาพ และปลอดภัย จะขาดอาชีพ นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง (Cosmetic Scientist) ไปไม่ได้

มีหน้าที่หลัก ๆ ตั้งแต่ วิจัย พัฒนา ควบคุมการผลิตเครื่องสำอางให้ปลอดภัยได้คุณภาพตามมาตรฐาน ไปจนถึงคิดค้นสูตรเครื่องสำอางออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่เครื่องประทินผิว เน้นบำรุง ทำความสะอาดผิวหนัง ไปจนถึงเครื่องสำอางที่ให้สีสัน เพิ่มความงามให้กับใบหน้า เรียกได้ว่าเป็นวิชาชีพที่ประยุกต์วิทยาศาสตร์ และศิลปะเข้าด้วยกัน โดยนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางอาจประจำอยู่ตาม ห้องปฏิบัติการบริษัทเอกชนหรือรัฐบาล โรงงานผลิตเครื่องสำอาง คลินิกด้านความงาม

ต้องเรียนอะไร ?

  • มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง  
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง  
  •  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง 
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง  

เราหวังว่า 5 อาชีพที่เรานำมาฝาก อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเด็กสายวิทย์ที่กำลังมองหาอาชีพในอนาคต และถ้าหากอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอาชีพสายวิทย์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ อย่าง "นักวิทยาศาสตร์พลเมือง" สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ รายการ 2 องศา ตอน นักวิทยาศาสตร์พลเมือง iNaturalist ทางเว็บไซต์ ALTV

ที่มา: We MahidolAdmission premium Winterthur Museumกรุงเทพธุรกิจ

จบสายวิทย์ทํางานอะไรได้บ้าง