กฎหมายแบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง

3.กฎหมายประเภทอื่น ๆ

ในการแบ่งแยกกฎหมายออกเป็นประเภทต่าง ๆ นั้น  โดยหลักแล้วการแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม  คือ  กฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน (ซึ่งแบ่งโดยถือลักษณะของความสัมพันธ์เป็นเกณฑ์) กับกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีสบัญญัติ  (ซึ่งแบ่งโดยถือลักษณะการใช้เป็นเกณฑ์)  จะเป็นการแบ่งแยกประเภทกฎหมายที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ยึดถือโดยทั่วไป  แต่ทั้งนี้  ก็ไม่ได้หมายความว่าประเภทของกฎหมายสามารถแบ่งแยกได้เป็น 2 กรณีนี้เท่านั้น

การแบ่งแยกประเภทกฎหมาย  อาจแบ่งออกเป็นลักษณะอื่น ๆ ได้อีก  ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวผู้ที่ทำการแบ่งนั้นเองว่า  จะยึดถือหลักเกณฑ์ใดมาใช้ในการแบ่งประเภทนั้น ๆ เช่น  ถ้ายึดหลักเกณฑ์รูปแบบ  ก็อาจแบ่งได้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับกฎหมายจารีตประเพณี  ถ้ายึดหลักเกณฑ์แหล่งกำเนิด  ก็จะแบ่งได้เป็นกฎหมายภายในและกฎหมายภายนอก  ถ้ายึดถือสภาพบังคับของกฎหมายเป็นหลัก  ก็อาจแบ่งได้เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญาและกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง แต่อย่างไรก็ดี  การแบ่งแยกประเภทกฎหมายตามหลักเกณฑ์อื่น ๆ เหล่านี้  ไม่เป็นการแบ่งที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป  อาจเพราะเป็นการแบ่งแยกประเภทที่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่น่าสนใจ หรือยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งแยกเป็นประเภทเหล่านั้นก็ได้

ในส่วนนี้จะขอกล่าวถึงการแบ่งแยกกฎหมายออกเป็นประเภทอื่น ๆ อยู่ 3 กรณีด้วยกัน กล่าวคือ

(1) กฎหมายภายในและกฎหมายภายนอก

(2) กฎหมายลายลักษณ์อักษรและกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

(3) กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญาและกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง

3.1  กฎหมายภายในและกฎหมายภายนอก

การแบ่งประเภทออกเป็นกฎหมายภายในและกฎหมายภายนอกนี้  เป็นการแบ่งโดยยึดถือหลักเกณฑ์ที่แหล่งกำเนิดเป็นสำคัญ  กล่าวคือ

3.1.1 กฎหมายภายใน

กฎหมายภายใน  หมายถึง  กฎหมายที่ใช้บังคับภายในประเทศ  ซึ่งออกโดยองค์กรที่มีอำนาจในการตรากฎหมายของประเทศนั้น

กฎหมายภายในนี้  จึงหมายความรวมถึงกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนที่ใช้บังคับภายในประเทศ  ซึ่งอาจเป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  และอาจเป็นกฎหมายสารบัญญัติหรือวิธีสบัญญัติก็ได้

3.1.2 กฎหมายภายนอกหรือกฎหมายระหว่างประเทศ

กฎหมายระหว่างประเทศนั้น  เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศ หรือเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกที่เห็นพ้องต้องกันที่จะยอมรับกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น

กฎหมายระหว่างประเทศ  อาจแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท ด้วยกัน  คือ

(1)  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง  (Public International Law)

(2)  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  (Private  International Law)

(3)  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  (International Criminal Law)

(1)  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง  คือ กฎเกณฑ์  ข้อบังคับ  อันว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐในการที่จะปฏิบัติต่อกันในฐานะที่รัฐต่าง ๆ เป็นนิติบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ7

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง เป็นกฎหมายที่ทำให้บุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศมีสิทธิและหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน8 ซึ่งบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศในที่นี้ได้แก่ รัฐ  และองค์กรระหว่างประเทศ

ตัวอย่างของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง  เช่น  สนธิสัญญาที่เกี่ยวกับเขตแดน  สนธิสัญญาสงบศึก  กฎบัตรสหประชาชาติ  สนธิสัญญาสากลไปรษณีย์  สนธิสัญญาว่าด้วยความหลายหลายทางชีวภาพ  เป็นต้น

(2)  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คือ บรรดาหลักเกณฑ์ซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทซึ่งเกิดขึ้นระหว่างประเทศ  ในส่วนที่เกี่ยวด้วยกฎหมายเอกชนของประเทศ  หรือในส่วนที่เกี่ยวด้วยสิทธิหน้าที่ทางแพ่งของพลเมืองของประเทศ9

ความสัมพันธ์ในทางคดีบุคคลนี้  ได้แก่  ความสัมพันธ์ในสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งของพลเมืองของประเทศหนึ่งกับพลเมืองของประเทศอื่น  ซึ่งอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล  ทรัพย์  หนี้ต่าง ๆ  ทั้งนี้  เป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวพันกัน  เพราะเพื่อดูแลรักษรผลประโยชน์ของพลเมืองประเทศตนที่เข้าไปอยู่ในประเทศอื่น  ซึ่งเกิดปัญหาที่กฎหมายเอกชนของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน  จึงได้มีหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดการบังคับกับข้อพิพาทที่เกี่ยวด้วยกฎหมายเอกชนระหว่างประเทศขึ้น

ตัวอย่างกฎหมายภายในที่ตราออกมารองรับกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลก็คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย  และพระราชบัญยัติสัญชาติ

(3)  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  คือ  กฎหมายซึ่งกำหนดเกี่ยวกับอำนาจศาลของประเทศต่าง ๆ ในการปราบปรามและลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาในกรณีที่มีปัญหาว่าด้วยการขัดกันระหว่างอำนาจของภายในประเทศและต่างประเทศ10

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญานี้  เกี่ยวข้องกับปัญหาในเรื่องการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาที่หนีไปอยู่นอกเขตอำนาจรัฐ  ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจรัฐนั้นที่จะไปลงโทษตามกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายภายในได้  จึงมีการทำความร่วมมือระหว่างรัฐต่าง ๆ ในการปราบปรามอาชญากรรม  โดยปรากฎในรูปของสัญญาระหว่างประเทศ

ตัวอย่างกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  เช่น  กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน  เป็นต้น

3.2  กฎหมายลายลักษณ์อักษรและกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

การแบ่งประเภทกฎหมายออกเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรและกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  เป็นการแบ่งโดยถือตามรูปแบบกฎหมายที่ปรากฎ  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

3.2.1 กฎหมายลายลักษณ์อักษร

กฎหมายลายลักษณ์อักษร  คือ  กฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยผ่านกระบวนการในการตรากฎหมายที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ  ตัวอย่างเช่น  รัฐธรรมนูญ  พระราชบัญญัติ  ประมวลกฎหมายต่าง ๆ

กฎหมายลายลักษณ์อักษรปัจจุบันมีความสพคัญมาก  เพราะออกได้ไม่ยากจนเกินไปและออกได้ทันต่อสถานการณ์

ในการพิจารณากฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้น  ต้องพิจารณาถึงความสมบูรณ์ของกฎหมายลายลักษณ์อักษรว่าตราออกใช้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ซึ่งมีข้อพิจารณาความสมบูรณ์ของกฎหมายลายลักษณ์อักษร  ดังต่อไปนี้11

(1) ผู้บัญญัติกฎหมายมีอำนาจในการตรากฎหมายหรือไม่

กฎหมายแต่ละรูปแบบ ผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายมีอำนาจตรากฎหมายต่างกัน  เช่น  พระราชบัญญัติผู้มีอำนาจตรา  คือ  พระมหากษัตริย์  กฎกระทรวงผู้มีอำนาจ  คือ  รัฐมนตรี  ฉะนั้น  ถ้ามีการตรากฎหมายโดยผู้ไม่มีอำนาจ  เช่น  รัฐมนตรีตราพระราชบัญญัติ  เช่นนี้  พระราชบัญญัตินั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(2) การบัญญัติกฎหมายได้กระทำถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่

กระบวนการตรากฎหมายแต่ละรูปแบบมีกระบวนการในการตราแตกต่างกันไป  เช่น  ร่างพระราชบัญญัติจะต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนจึงส่งต่อไปยังวุฒิสภา  ดังนี้  หากมีการกระทำไม่ถูกต้อง  เช่น  วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร  เช่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(3) การประกาศใช้กฎหมายชอบหรือไม่

เนื่องจากกฎหมายใช้บังคับกับคนในสังคม  ดังนั้น  จึงต้องประกาศให้คนทราบพระราชบัญญัติ  พระราชกำหนด  พระราชกฤษฎีกา  ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา  จึงจะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้  ถ้ายังไม่ประกาศก็ยังใช้บังคับไม่ได้

(4) มีกฎหมายที่ออกมาในภายหลังแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกหรือไม่

กฎหมายแม้จะตราออกบังคับใช้แล้ว  แต่ถ้าต่อมามีกฎหมายออกมาในภายหลังเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกฎหมายเก่า  กฎหมายเก่านั้นก็ย่อมใช้บังคับไม่ได้  เช่น เดิมมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2534  ใช้บังคับ  แต่ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2540  ดังนี้  รัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2534 ย่อมใช้บังคับไม่ได้

3.2.2 กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  คือ  กฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้นโดยผ่านกระบวนการในการตรากฎหมายที่บัญยัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งได้แก่  กฎหมายจารีตประเพณีและหลักกฎหมายทั่วไป

กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้  บางครั้งเรียกในความหมายอย่างกว้างว่า “กฎหมายจารีตประเพณี”12

3.3  กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญาและกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง

หากแบ่งกฎหมายออกเป็นประเภทโดยพิจารณาจากสภาพบังคับของกฎหมายนั้น ๆ จะพบว่ามีกฎหมายอยู่ 2 ประเภท  คือ  กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญาและกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง13

3.3.1 กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญา

กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญา  หมายถึง  กฎหมายที่มีบทบัญญัติกำหนดโทษในทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืน  ซึ่งโทษในทางอาญานั้น มี 5 ประการ  ได้แก่  โทษประหายชีวิต  จำคุก  กักขัง  ปรับ  และริบทรัพย์สิน  ตามที่ปรากฎอยู่ในมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

3.3.2 กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง

กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง  สภาพบังคับทางแพ่งนั้น  ไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติถึงลักษณะของสภาพบังคับไว้โดยตรง  ดังเช่นในประมวลกฎหมายอาญา  แต่อาจสังเกตได้จากบทบัญญัติที่บัญญัติไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืน  ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เช่น  การบังคับให้ชำระหนี้  การให้ชดใช้ค่าเสียหาย  หรือการกำหนดให้นิติกรรมเป็นโมฆกรรมหรือโมฆียกรรม  เป็นต้น

การแบ่งประเภทของกฎหมายในกรณีเช่นนี้  จึงอาจจะดูคร่าว ๆ ได้โดยพิจารณาว่าเป็นกฎหมายที่มีโ?ษทางอาญาหรือไม่  ถ้ามีก็เป็นกฎหมายอาญา  แต่ถ้ามีสภาพบังคับอย่างอื่นที่ไม่ใช่โทษทางอาญา  โดยปกติก้เป็นของกฎหมายแพ่ง  อย่างไรก็ตาม  มีกฎหมายบางฉบับที่มีทั้งสภาพบังคับทางอาญาและทางแพ่งอยู่ด้วยกันได้  เช่น  ประมวลกฎหมายที่ดิน  พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์  พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  ประมวลรัษฎากร  เป็นต้น  เพราะกฎหมายเหล่านี้มุ่งคุ้มครองทั้งคนโดยส่วนรวมและประชาชนแต่ละคน  จึงมีความผิดในทางอาญาเพื่อป้องกันการกระทำที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม  และความผิดทางแพ่งเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของคู่กรณีเฉพาะรายซึ่งทำให้กฎหมายเหล่านี้เป็นทั้งกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งผสมกันอยู่ในตัว

—————————————————

6ศรีราชา  เจริญพาณิช, เอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป หน่วยที่ 1-8. (กรุงเทพฯ  :  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,  2533),  หน้า  109.

7เรื่องเดียวกัน,  หน้าเดียวกัน

8อุกฤษ  มงคลนาวิน,  คำบรรยายกฎหมายระหว่างประเทศ,  เอกสารโรเนียวเย็บเล็บ คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  ม.ป.ท.,  ม.ป.ป.,  หน้า  3.

9กมล  สนธิเกษตริน,  คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล,  พิมพ์ครั้งที่  5  (กุงเทพฯ  :  สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ,  2535),  หน้า  9.

10อุกฤษ  มงคลนาวิน, คำบรรยายกฎหมายระหว่างประเทศ,  หน้า  5.

11ปรีดี  เกษมทรัพย์, กฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป,  หน้า  18-19.

12เรื่องเดียวกัน,  หน้า  20.

13ศรีราชา  เจริญพาณิช,  เอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป  หน่วยที่  1-8,  หน้า  108.