ฝึก ตัว เอง ให้ เป็นคน นิ่งๆ

ฝึก ตัว เอง ให้ เป็นคน นิ่งๆ

คุณเคยพบเจอหรือมีคนรู้จักที่มีลักษณะ “ไม่น่ารัก” บ้างไหมคะ เพียงแค่เห็นเขาเดินผ่านแว๊บ ๆ ก็อยากจะหลบ แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเพราะไม่อยากคุยด้วย ซึ่งที่ไม่อยากคุยด้วยเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้ว่า การคุยกับบุคคลนี้มันช่างชวนให้ปวดหัวเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคนแบบที่กล่าวมานี้เป็นตัวคุณเอง และคุณเริ่มรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวคุณเองและคนรอบข้างชักจะไม่ค่อยดีแล้ว จึงอยากจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากจะเป็นคนใหม่ ที่เวลาเดินไปทางไหนก็เป็นที่ต้อนรับ บทความนี้จะมาชวนคุณไปเรียนรู้ 5 แนวทางในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพน่ารัก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี

การฟังเป็นเครื่องการสื่อสารที่ทรงพลังไม่แพ้การพูด แม้ว่าคุณอาจจะเป็นนักพูดที่ดี แต่คุณไม่ฟังคนอื่นและไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้แสดงความคิดเห็นหรือเล่าเรื่องราวของตนเองบ้างเลย คุณก็อาจจะกลายเป็นคู่สนทนาที่ไม่น่ารักไปโดยทันที เพราะเวลาที่มนุษย์เราพูดออกมาแล้วมีคนรับฟังอย่างตั้งใจ มนุษย์จะรู้สึกว่าตัวเองได้รับการยอมรับ รู้สึกมีคุณค่าตัวตนขึ้นมา ในขณะที่การพูดโดยไม่มีใครรับฟังเลย หรือรับฟังแต่รับฟังเพียงผ่าน ๆ มนุษย์จะรู้สึกไร้ตัวตนหรือความคิดเห็นของตนเองไม่มีคุณค่าพอที่คนอื่นจะรับฟัง

แนวทางเปลี่ยนแปลงตัวเอง : หากมีใครสักคนมาเล่าเรื่องราวของเขาให้คุณฟัง หรือแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมา ให้คุณสบตากับผู้พูด หากเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องทางบวกก็แสดงอารมณ์ให้สอดคล้องกับเรื่องราว เช่น ยิ้ม หัวเราะ ตามไปด้วย หรือหากเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องราวทางลบหรือผู้พูดแสดงอารมณ์ทางลบออกมา ก็ไม่ควรขัดจังหวะหรือพูดสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะอารมณ์ของผู้อื่น อย่างเช่น “อย่าคิดมาน่า” “ลองคิดบวกดูสิ” แต่ควรแสดงออกด้วยภาษาท่าทางที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าใจความรู้สึกของเขา เช่น แตะไหล่ พยักหน้า หรือพูดว่า “คุณคงจะเสียใจน่าดูเลย” เป็นต้น

2. ฝึกเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส

มีการทดลองหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ของมนุษย์ ที่มีชื่อการทดลองว่า “A Still-face Paradigm for Young Children: 2½ Year-olds’ Reactions to Maternal Unavailability during the Still-face” โดยผู้วิจัยได้ทดลองนำเด็กทารกวัย 2 ขวบครึ่งมามีปฏิสัมพันธ์กับแม่ โดยพบว่า หากแม่แสดงสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หยอกล้อเล่นด้วย เด็กจะหัวเราะอย่างมีความสุข แต่เมื่อแม่เปลี่ยนสีหน้าไปเป็นหน้านิ่ง ในช่วงแรกเด็กจะพยายามทำให้แม่หัวเราะ แต่เมื่อทำเท่าไหร่แม่ก็ไม่ยิ้ม เด็กจะเริ่มแสดงสีตาที่แสดงถึงความสับสนจนในที่สุดก็ร้องไห้ออกมา จากการทดลองจึงทำให้ทราบว่า สีหน้าของผู้อื่นมีผลต่ออารมณ์ของบุคคล และแน่นอนว่าสีหน้านิ่งไม่แสดงอารมณ์นั้น สามารถสร้างความสับสนไปจนถึงความรู้สึกกลัวให้กับคนอื่นได้เลย

แนวทางเปลี่ยนแปลงตัวเอง: ฝึกให้ตัวเองมีชุดความคิดเชิงบวก มองโลกในแง่ดี เพราะการมองโลกในแง่ดีนั้น จะช่วยสร้างความสุขให้กับตนเอง และคนที่มีความสุขก็มักจะกลายเป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสไปโดยอัตโนมัติ ตรงกันข้าม หากเป็นคนที่เครียดง่ายหรือเก็บสะสมความเครียดเอาไว้ ก็มักจะกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยยิ้มหรือดูบึ้งตึง ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่ดูบึ้งตึงมักจะดูน่ากลัว แม้คนอื่นจะอยากเข้าหาแต่ก็ไม่กล้า เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าเข้าหาแล้ว ผลออกมาจะเป็นอย่างไร

3. ฝึกเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน

“ตั้งแต่เกิดมาฉันไม่เคยต้องแข่งขันกับใคร เพราะฉันไม่ใช่ไก่” นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำพูดที่แสดงถึงการมีอารมณ์ขัน ซึ่งการมีอารมณ์ขันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคุณลักษณะที่เรียกว่า “ความยืดหยุ่นทางใจ (resilience)” โดยอารมณ์ขันถือเป็นวิธีการรับมือกับปัญหาขั้นสูงซึ่งมักพบได้ในคนที่มีความฉลาด เนื่องจากในการที่จะสร้างอารมณ์ขันออกมาได้นั้น จำเป็นจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วย และหากสังเกตไปรอบ ๆ ตัว ก็จะพบว่าคนที่มีอารมณ์ขันนั้นมักเป็นคนที่ดึงดูดคนเข้าหาได้ง่าย คุยด้วยแล้วรู้สึกสนุก เพราะอารมณ์ขันของเขาสร้างเสียงหัวเราะและทำให้คนอื่นมีอารมณ์ดีขึ้น จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบที่จะอยู่ใกล้ ๆ กับคนที่เป็นนักสร้างเสียงหัวเราะ

แนวทางเปลี่ยนแปลงตัวเอง: อารมณ์ขันนั้นสร้างได้ไม่ยาก แต่ก็ถือว่าไม่ง่ายสำหรับคนที่มีบุคลิกจริงจัง ดังนั้น หากคุณเป็นคนที่มีบุคลิกจริงจัง อาจจะไม่ดีนักหากจู่ ๆ คุณก็เล่นมุขตลกออกมา เพราะคนรอบข้างอาจจะยังไม่ทันตั้งตัวและเกิดความสับสนว่าตอนนี้คุณกำลังพูดเรื่องจริงจังอยู่หรือมันเป็นเพียงมุขตลก วิธีการคือใช้หลัก “ค่อยเป็นค่อยไป” โดยอาจจะฝึกสร้างอารมณ์ขันให้กับตัวเองก่อน อย่างเช่น หากคุณเผลอเดินเตะโต๊ะตัวหนึ่งแล้วสะดุดล้ม จากเดิมที่คุณอาจจะเคยคิดว่า “ใครเอาโต๊ะมาวางตรงนี้นะ” หรือร้องโวยวาย ก็เปลี่ยนเป็นคิดว่า “อุ๊ย..ฉันนี่ก็เซ่อซ่าเหมือนกันนะเนี่ย” แล้วก็หัวเราะให้กับตัวเองแทนที่จะโกรธตัวเองที่เผลอไปเตะโต๊ะตัวนั้น ซึ่งการหัวเราะนั้นนอกจากจะทำให้คนอื่นมีความสุขแล้ว ยังทำให้ตัวเองมีความสุขด้วย

4. ฝึกเป็นคนที่รู้จักห่วงใยคนอื่น

ในข้อนี้อาจจะคิดตามได้ไม่ยากนะคะ ลองนึกถึงใครสักคนที่มีลักษณะ “เห็นแก่ตัว” ทุกอย่างฉันต้องได้ก่อน ฉันต้องชนะ ฉันต้องเป็นผู้ได้รับจากคนอื่นเสมอ คุณคิดอย่างไรกับคนแบบนี้บ้าง? และในทางกลับกัน หากให้คุณลองนึกถึงใครสักคนที่มีลักษณะชอบแบ่งปัน มีน้ำใจ ก่อนจะทำอะไรก็จะคำนึงเสมอว่าหากทำเช่นนั้นไปแล้วจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า หรือหากพูดบางประโยคไปแล้วคนฟังจะรู้สึกเสียใจไหม คุณคิดอย่างไรกับคนแบบนี้? ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเพียงส่วนน้อยนะคะที่จะชื่นชอบคนเห็นแก่ตัว ดังนั้น โดยหลักการแล้ว คนแบบไหนที่เราคิดว่าเขาไม่น่ารัก เราก็ไม่ควรจะปล่อยให้ตัวเองเป็นคนที่ไม่น่ารักแบบนั้น

แนวทางเปลี่ยนแปลงตัวเอง: ลองศึกษาแนวทางในการฝึก “empathy” จากบทความหรือคลิปวิดีโอที่มีอยู่มากมายในอินเตอร์เน็ต เพื่อนำมาใช้เป็นวิธีในการฝึกฝนตัวเองให้กลายเป็นคนที่รู้จักห่วงใยคนอื่นมากขึ้น

5. ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มีความมั่นใจ

เคยเห็นคนที่หน้าตาดีมาก ๆ แต่ไม่มีความมั่นใจไหมคะ คนเหล่านี้มักจะดูไม่น่าสนใจหรืออาจจะไปถึงขั้นน่ารำคาญ แตกต่างจากคนที่มีความมั่นใจ ไม่ว่าจะมีหน้าตารูปร่างเป็นอย่างไร แต่ก็มักจะแสดงออกมาอย่างมั่นใจ เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่ผู้ฟังได้ยินชัดเจน ไม่พูดอ้อมแอ้มอยู่ในลำคอ เป็นต้น ความมั่นใจจะช่วยให้บุคคลสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ไม่ชอบอะไรที่มีความคลุมเครือ ดังนั้น การที่ใครสักคนไม่เริ่มพูดสักทีมัวแต่ “เอ่อ..” “อ่า..” หรือเอาแต่อ้อมแอ้มอยู่ในคอ ก็จะทำให้คู่สนทนาต้องรอคอยเนื้อหาที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสาร หรือต้องคอยจับประเด็นอยู่ตลอดเวลา ทำให้การสนทนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะที่ความมั่นใจจะช่วยให้การสนทนาเป็นไปแบบสบาย ๆ

แนวทางเปลี่ยนแปลงตัวเอง: วิธีการทำให้ตัวเองเป็นคนที่มั่นใจมีหลายแนวทางด้วยกัน แต่วิธีการหนึ่งที่ยั่งยืนคือการทำให้ภายในของตัวเองมีความมั่นคง โดยคุณอาจจะกลับไปค้นหาสาเหตุที่เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกไม่มั่นใจ แล้วค่อย ๆ พูดกับตัวเองว่าเหตุการณ์นั้นมันได้เป็นอดีตไปแล้ว วันนี้ฉันไม่ได้เป็นฉันในวันนั้นอีกแล้ว แต่หากคุณรู้สึกว่ามันยากเกินไปที่จะฝึกด้วยตนเอง แนะนำให้ไปเข้าคอร์สระยะสั้น หรือไปลองพบนักบำบัด ที่จะช่วยให้คุณค้นพบความมั่นใจที่หายไป เพื่อจะได้กลับมาเป็นคนที่มั่นใจได้อีกครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] “empathy” หัวใจของการให้คำปรึกษา

[2] 3 วิธีดัดนิสัย สร้างตัวตนให้ชัดเจน

อ้างอิง

[1] 5 Tips to have an Attractive Personality.

[2] A Still-face Paradigm for Young Children: 2½ Year-olds’ Reactions to Maternal Unavailability during the Still-face.

[3] Humor in Psychology: Coping and Laughing Your Woes Away.

iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย

Contact : https://www.istrong.co/service

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี)

และเป็นนักเขียนของ istrong