จํานวนข้าราชการทั้งหมดในประเทศไทย 2564

เจาะเบื้องลึก ข้าราชการไทย ทหาร ตำรวจ ครู เพิ่มขึ้นแค่ไหน ในรอบ 10 ปี

แชร์

ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

07 กรกฎาคม 2565

จํานวนข้าราชการทั้งหมดในประเทศไทย 2564

เจาะเบื้องลึก ข้าราชการไทย ทหาร ตำรวจ ครู หมอ รวมไปถึงพนักงาน บุคลากรภาครัฐทั้งหมดเพิ่มขึ้นแค่ไหน ในรอบ 10 ปี จำนวนแต่ละประเภทมีเท่าไหร่ อาชีพไหนมีจำนวนมากที่สุด

"ข้าราชการไทย" ถือเป็นหนึ่งอาชีพที่มีความมั่นคงกับการใช้ชีวิต เพราะนอกจากจะมีรายได้มั่นคง และเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีสารพัดสวัสดิการ ที่ออกมาดูแลกันตั้งแต่เกิดยันตาย จึงไม่แปลกที่ในแต่ละปีจะมีผู้ที่หาทางสอบคัดเลือก เพื่อเปิดโอกาสการเข้าสู่อาชีพข้าราชการจำนวนมหาศาล

 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้จัดทำรายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือนและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ เสนอให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี

 

โดยรวบรวมจากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรของไทยในประเทศ ปี 2564 โดยพิจารณาสัดส่วนกำลังคนที่เป็นแรงงานในภาพรวม เทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ในประเทศ จำนวน 66.17 ล้านคน พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน จำนวน 38.63 ล้านคน 

 

โดยเป็นการจ้างงานในส่วนของกำลังคนภาครัฐ จำนวน 2.41 ล้านคน ประกอบด้วย 

  • ข้าราชการ จำนวน 1.68 ล้านคน 
  • ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) จำนวน 1.23 ล้านคน

 

จํานวนข้าราชการทั้งหมดในประเทศไทย 2564

สำหรับข้อมูลกำลังคนภาครัฐ ประเภทข้าราชการ จำนวน 1.68 ล้านคน แยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 427,525 คน
  • พลเรือนสามัญ จำนวน 421,228 คน
  • ทหาร จำนวน 325,053 คน
  • ส่วนท้องถิ่น จำนวน 250,670 คน
  • ตำรวจ จำนวน 213,208 คน
  • องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 22,838 คน
  • พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 13,422 คน
  • ตุลาการ จำนวน 5,429 คน
  • อัยการ จำนวน 4,236 คน
  • รัฐสภา จำนวน 3,106 คน

 

จํานวนข้าราชการทั้งหมดในประเทศไทย 2564

ส่วนข้อมูลกำลังคนภาครัฐ ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ จำนวน 1.23 ล้านคน แยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 

  • พนักงานจ้าง จำนวน 258,276 คน
  • ลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 228,543 คน
  • พนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 214,860 คน
  • พนักงานราชการ จำนวน 149,537 คน
  • พนักงานมหาวิทยาลัย จำนวน 129,469 คน
  • พนักงานกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 123,830 คน 
  • ลูกจ้างประจำ จำนวน 119,000 คน
  • พนักงานองค์การมหาชน จำนวน 13,090 คน

 

จํานวนข้าราชการทั้งหมดในประเทศไทย 2564

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาพรวมและแนวโน้มกำลังคนภาครัฐ ระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 – 2563 พบว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย 1.68% โดยประเภทกำลังคน ที่มีแนวโน้มลดลงมากที่สุด มีดังนี้

  • ลูกจ้างประจำ ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยุบเลิกไปแล้ว 49.66% หรือเฉลี่ย 4.97% ต่อปี จำนวน 117,379 อัตรา
  • ลูกจ้างชั่วคราว ลดลง 41.71% หรือเฉลี่ย 4.17% ต่อปี จำนวน 163,542 อัตรา) 

 

สำหรับกำลังคนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีดังนี้ 

  • พนักงานจ้าง เพิ่มขึ้น 108.88% หรือเฉลี่ย 10.89% ต่อปี จำนวน 134,627 คน
  • พนักงานราชการ เพิ่มขึ้น 37.82% หรือเฉลี่ย 3.78% ต่อปี จำนวน 41,033 คน
  • ข้าราชการ เพิ่มขึ้น 5.35% หรือเฉลี่ย 0.54% ต่อปี จำนวน 69,196 คน

 

จํานวนข้าราชการทั้งหมดในประเทศไทย 2564

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้าราชการสังกัดฝ่ายบริหาร (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คิดเป็น 0.12% โดยข้าราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีดังนี้ 

 

ข้าราชการพลเรือนสามัญ เพิ่มขึ้น 16.18% หรือเฉลี่ย 1.62% ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวง สาธารณสุข (พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว) ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 38,105 อัตรา ในปีงบประมาณ 2563 และการจัดสรรอัตราข้าราชการให้กับส่วนราชการตั้งใหม่ 

 

ส่วนข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา มีแนวโน้มลดลง 65.75% หรือเฉลี่ย 6.57% ต่อปี เป็นผลมาจากการยุบเลิกอัตราข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

 

ส่วนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีแนวโน้มลดลง 6.79% หรือเฉลี่ย 0.68% ต่อปี และข้าราชการตำรวจมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย 0.21% หรือเฉลี่ย 0.02% ต่อปี