ขั้นตอนการตรวจสภาพรถที่ขนส่ง

ขั้นตอนการตรวจสภาพรถที่ขนส่ง

รู้จักขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ ก่อนต่อภาษี

รู้จักขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ ก่อนต่อภาษี

               ในทุก ๆ ปีการต่อภาษีรถยนต์ ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าของรถทุก ๆ คน ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งการต่อ พ.ร.บ.ประกันรถยนต์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ทั้งกรณีได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต โดยจะครอบคลุมทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนสัญจรบนทางเท้าทั่วไป ซึ่งถือเป็นประกันภัยภาคบังคับนั่นเอง แต่สำหรับรถยนต์ที่ผ่านการใช้งาน หรือมีอายุใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป จะต้องนำไปตรวจสภาพรถยนต์ก่อนจึงจะสามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้ แต่การตรวจสภาพรถยนต์ ไม่สามารถไปตรวจตามอู่รถยนต์ปกติทั่วไปได้ ต้องไปตรวจตามสถานที่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น วันนี้เราจะพาไปรู้จักขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ ก่อนต่อภาษีรถประจำปี ว่ามีอะไรบ้าง

ทำไมต้องตรวจสภาพรถยนต์

               สาเหตุที่มีการบังคับใช้กฎหมาย ให้รถยนต์ที่ผ่านการใช้งานมานาน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้งานมา 5 ปี ต้องตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษี ก็เพราะว่ากรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีหน้าที่ออกภาษีรถยนต์จะได้ทราบถึงสภาพรถคันนั้น ๆ ว่า อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ตามระเบียบข้อบังคับของกรมการขนส่งจริงหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยต่อการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน โดยเจ้าของรถต้องนำใบผ่านการตรวจสภาพรถยนต์ มาใช้เป็นหลักฐานในการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีด้วยนั่นเอง

ตรวจสภาพรถยนต์นานไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง

1. เจ้าของรถสามารถนำรถไปตรวจสภาพได้ที่กรมการขนส่งทางบก หรือสถานตรวจสภาพรถยนต์เอกชน (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น โดยการตรวจสภาพรถยนต์ สามารถตรวจล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนด 3 เดือน

2. ยกเว้นรถยนต์ที่ผ่านการดัดแปลงมา เช่น เปลี่ยนสี เปลี่ยนเครื่องยนต์ หรือรถยนต์ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวถังรถ เลขเครื่องยนต์ รวมถึงรถที่ขาดต่อทะเบียนเกิน 1 ปี ต้องไปตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบก

3. นำสมุดทะเบียนรถเป็นหลักฐานในการตรวจสภาพรถ พร้อมชำระค่าตรวจสภาพรถยนต์ ดังนี้

  • รถยนต์น้ำหนักไม่เกิน            1,600 กิโลกรัม       คันละ 150บาท
  • รถยนต์น้ำหนักเกิน                1,600 กิโลกรัม       คันละ 250 บาท
  • รถจักรยานยนต์                                                   คันละ 60 บาท

4. จากนั้นให้รอรับสมุดทะเบียนรถ ให้พร้อมกับใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการต่อทะเบียนรถประจำปี

5. ในกรณีตรวจสภาพรถไม่ผ่าน จะมีใบแจ้งจาก ตรอ. ว่ามีส่วนใดที่ต้องไปแก้ไข หากเจ้าของรถดำเนินการภายใน 15 วัน แล้วนำรถมาตรวจสภาพอีกครั้ง จะเสียค่าตรวจสภาพครึ่งหนึ่ง แต่หากเกิน 15 วัน จะต้องเสียค่าตรวจสภาพเต็มจำนวน

6. ตรอ.แต่ละแห่งอาจจะได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งทางบก ให้ตรวจสภาพรถยนต์ที่แตกต่างกัน เช่น รับตรวจสภาพเฉพาะรถยนต์น้ำหนักไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม หรือรถจักรยานยนต์เฉพาะยี่ห้อ หรือทุกยี่ห้อ ซึ่ง ตรอ.แต่ละแห่งจะแสดงป้ายให้เห็นอย่างชัดเจน

ขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ ตรวจอะไรบ้าง

1. ตรวจความถูกต้อง ตรอ.จะเช็กว่าสมุดทะเบียนรถ ตรงกันกับรถที่นำมาตรวจหรือไม่ เช่น รถยี่ห้ออะไร รุ่นไหน สีอะไร ป้ายทะเบียน เลขตัวถังเครื่องยนต์ ใช้น้ำมันอะไร ฯลฯ หากมีการดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมอุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ เช่น ติดตั้ง LPG/NGV เจ้าของรถจะต้องมีหนังสือรับรองประกอบ หรือหากพบป้ายทะเบียนเสียหาย เลขเครื่องยนต์ เลขตัวถังรถ เลขคัสซี มีความผิดปกติ ไม่ครบถ้วนถูกต้อง อาจไม่ผ่านการตรวจสภาพ

2. ตรวจความปลอดภัยภายใน ขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่จะตรวจเช็กภายในตัวรถ เช่น หน้าปัด พวงมาลัย กระจกมองหน้าหลัง เข็มขัดนิรภัยสวิตช์ควบคุมไฟสัญญาณ แตรสัญญาณฯลฯ ว่ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

3. ตรวจความปลอดภัยภายนอก เช่น ตรวจล้อ ยางรถยนต์ กันชน ประตู รวมทั้งการตรวจเช็กใต้ท้องรถ ตรวจเช็กระบบต่าง ๆ โช้ค แหนบ เพลา โครงสร้างตัวถัง ฯลฯ ว่ายังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานปกติ

4. ตรวจเครื่องยนต์ ขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจเช็กระบบควบคุมรถ โดยจะตรวจทั้งศูนย์ล้อและทดสอบระบบเบรก แรงเบรก ทั้งเบรกมือ เบรกเท้า

5. ตรวจวัดระบบไฟ จะเป็นการวัดระยะแสงไฟรถ ตรวจวัดไฟสูง และไฟต่ำ

6. ตรวจวัดค่าก๊าซ ด้วยการเช็กค่าคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรคาร์บอน ขณะเครื่องยนต์เดินเบา และตรวจวัดปริมาณควันดำ จากปลายท่อไอเสีย

7. ตรวจวัดระดับเสียงจากท่อไอเสีย ที่ความเร็วของรอบเครื่องยนต์ประมาณ 3 ใน 4 โดยค่าระดับเสียงสูงสุด จะต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ

8. รับใบตรวจสภาพรถยนต์ เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสภาพรถยนต์เสร็จแล้ว เจ้าของรถจะได้รับใบรายงานผล เพื่อนำไปเป็นหลักฐานการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี โดยจะมีอายุ 3 เดือนนับจากวันตรวจสภาพรถ

               หลังจากตรวจสภาพรถยนต์เรียบร้อยแล้ว สามารถนำรถยนต์พร้อมหลักฐานการตรวจสภาพรถ ไปต่อภาษีรถประจำปีได้ที่กรมการขนส่งทางบก หากไม่สะดวกเดินทาง ก็สามารถต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก ที่สำคัญการต่อภาษีประจำปี ต้องมีรายละเอียดหลักฐาน พ.ร.บ. ประกันรถยนต์ภาคบังคับ โดยสามารถซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ออนไลน์ง่าย ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วที่ TIPINSURE ที่มีประกันให้เลือกอย่างหลากหลาย รวมทั้งประกันรถยนต์ชั้น 1 ประกันรถรูปแบบต่าง ๆ สามารถรอรับกรมธรรม์ทางอีเมลได้ทันที

#Tag: