โคลงโลกนิติถูกจารึกไว้เพื่อสอนให้คนนําไปปฏิบัติ ณ ที่ใด

โคลงโลกนิติถูกจารึกไว้เพื่อสอนให้คนนําไปปฏิบัติ ณ ที่ใด

เพื่อน ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ คงรู้สึกว่าการถอดคำประพันธ์บทกลอนต่าง ๆ นี่มันยากเหลือเกิน ไม่รู้คุณครูจะให้เรียนไปทำไมกันนะ ขอบอกว่าบทประพันธ์หลาย ๆ บทนั้นให้ข้อคิดที่น่าสนใจ อาจมีเก่าไม่ทันยุคสมัยไปบ้าง แต่ก็มีมากมายที่นำมาปรับใช้ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ โคลงโลกนิตินั่นเอง

เพื่อน ๆ คนไหนอยากเรียนโคลงโลกนิติในรูปแบบวิดีโอ สามารถให้คุณพ่อคุณแม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee ไปใช้ได้เลยนะ คลิกแบนเนอร์ด้านล่างได้เลย

โคลงโลกนิติถูกจารึกไว้เพื่อสอนให้คนนําไปปฏิบัติ ณ ที่ใด

ที่มาของโคลงโลกนิติ

โคลงโลกนิติเเป็นสุภาษิตเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ทราบผู้แต่งดั้งเดิม แต่คาดว่านักปราชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลี และสันสกฤต จากคัมภีร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์โลกนิติ คัมภีร์โลกนัย ตลอดจนคัมภีร์พระธรรมบท จากนั้นแปลแต่งเป็นคำโคลงรวมเป็นเรื่องเรียกว่า โคลงโลกนิติ 

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชำระโคลงโลกนิติขึ้นมาใหม่ โดยมอบหมายให้กรมพระยาเดชาดิศรเป็นผู้ชำระเพิ่มเติมใหม่ให้เรียบร้อยประณีตและไพเราะ เพราะของเก่าคัดลอกกันต่อ ๆ มา ปรากฏมีถ้อยคำผิดพลาดมาก เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 408 บท (อย่าเพิ่งตกใจกันไปนะ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ เราจะนำมาให้เรียนกันแค่ ๑๒ บทเท่านั้น) จึงจารึกลงบนหินอ่อน และเก็บรักษาไว้ที่วัดเชตุวิมลมังคลาราม

ความหมายของโคลงโลกนิติ

คำว่า “นิติ” แปลว่า กฎหมายหรือแบบแผน ดังนั้น โคลงโลกนิติจึงหมายถึง โคลงที่ว่าด้วยเรื่องกฎของโลก ถือเป็นวรรณคดีคำสอนแนวทางในการดำเนินชีวิต เน้นเตือนสติผู้อ่าน โดยกล่าวถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์

ถอดคำประพันธ์โคลงโลกนิติ

บทที่ ๑

ปลาร้าพันห่อด้วย    ใบคา

ใบก็เหม็นคาวปลา             คละคลุ้ง

คือคนหมู่ไปหา                 คบเพื่อน พาลนา

ได้แต่ร้ายร้ายฟุ้ง               เฟื่องให้เสียพงศ์

คำศัพท์และความหมาย

ปลาร้า หมายถึง ปลาหมักเกลือใส่ข้าวคั่ว 

คา หมายถึง ชื่อใบไม้ ใบมีลักษณะคาย

คละคลุ้ง หมายถึง เหม็นตลบไปทั่วคล้ายกลิ่นของเน่าเสีย

ถอดคำประพันธ์

ปลาร้าที่มีกลิ่นเหม็นเมื่อเรานำใบคามาห่อ กลิ่นเหม็นของปลาร้าย่อมติดกับใบคาไปด้วยเฉกเช่นเดียวกับการคบเพื่อน หากเราคบเพื่อนไม่ดี เราก็จะได้รับแต่สิ่งไม่ดีทำให้เสียชื่อวงศ์ตระกูล ซึ่งตรงกับสำนวนที่ว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด” นั่นเอง

บทที่ ๒

ใบพ้อพันห่อหุ้ม        กฤษณา

หอมระรวยรสพา                เพริศด้วย

คือคนเสพเสน่หา               นักปราชญ์

ความสุขซาบฤๅม้วย           ดุจไม้กลิ่นหอม

คำศัพท์และความหมาย

พ้อ หมายถึง ต้นกะพ้อ

กฤษณา หมายถึง ชื่อไม้เนื้อหอม

ระรวย หมายถึง แผ่ว ๆ เบา ๆ

เสพ หมายถึง กิน บริโภค

เสน่หา หมายถึง ความรัก

นักปราชญ์ หมายถึง ผู้รอบรู้ มีปัญญา

ฤๅม้วย หมายถึง ไม่มีสิ้นสุด

ถอดคำประพันธ์

กฤษณาคือไม้เนื้อหอมชนิดหนึ่ง เมื่อนำใบต้นกะพ้อมาห่อ กลิ่นหอมของกฤษณาย่อมติดใบต้นกะพ้อไปด้วย เช่นเดียวกันกับการคบผู้ที่มีปัญญาหรือนักปราชญ์ ย่อมนำพาความสุขมาให้ไม่มีสิ้นสุดเหมือนกับไม้กลิ่นหอม ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า “คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”

บทที่ ๓

ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้     มีพรรณ

ภายนอกแดงดูฉัน              ชาดบ้าย

ภายในย่อมแมลงวัน           หนอนบ่อน

ดุจดังคนใจร้าย                  นอกนั้นดูงาม

คำศัพท์และความหมาย

พรรณ หมายถึง สีผิว

ชาด หมายถึง สีแดงสด

บ้าย หมายถึง ป้าย ทา

บ่อน หมายถึง กินฟอนอยู่ข้างใน

ถอดคำประพันธ์

ผลมะเดื่อเมื่อสุกแล้วจะมีสีแดง ภายนอกดูสวยงาม แต่ข้างในมีหนอนและแมลงวันไชอยู่ เหมือนกับคนบางคนที่หน้าตาดูดี แต่ภายในเป็นคนใจร้าย ตามสำนวนไทยที่ว่า “ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง”

บทที่ ๔

ยางขาวขนเรียบร้อย     ดูดี

ภายนอกหมดใสสี                  เปรียบฝ้าย

กินสัตว์เสพปลามี                  ชีวิต

เฉกเช่นชนชาติร้าย               นอกนั้นนวลงาม

คำศัพท์และความหมาย

ยาง หมายถึง นกกระยาง

เฉก หมายถึง เหมือน, อย่าง

ถอดคำประพันธ์

นกกระยางที่มีขนเรียบร้อย ดูดี ภายนอกมีขนสีขาวเหมือนฝ้าย แต่แท้จริงแล้วมีนิสัยชอบกินปลาเป็นเหมือนกับคนที่มีนิสัยไม่ดี แต่ภายนอกนั้นดูดี

บทที่ ๕

รูปแร้งดูร่างร้าย    รุงรัง

ภายนอกเพียงพึงชัง       ชั่วช้า

เสพสัตว์ที่มรณัง           นฤโทษ

ดังจิตสาธุชนกล้า          กลั่นสร้างทางผล

คำศัพท์และความหมาย

แร้ง หมายถึง ชื่อนกชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่ กินซากสัตว์เป็นอาหาร

มรณัง หมายถึง ความตาย

นฤ หมายถึง ไม่มี

สาธุชน หมายถึง คนดี

กลั่น หมายถึง คัดเอา

ถอดคำประพันธ์

แร้งเป็นนกที่หน้าตาดุร้าย ภายนอกดูชั่วช้า แต่กลับกินเพียงซากสัตว์ไม่มีชีวิต ซึ่งนอกจากไม่เป็นการฆ่าสัตว์ตัวอื่นแล้วยังส่งผลดีต่อระบบนิเวศ อีกด้วย จึงเปรียบได้กับคนจิตใจดี ที่สร้างแต่สิ่งมีประโยชน์นั้นเอง

บทที่ ๖

เป็นคนควรรอบรู้    สมาคม

สองประการนิยม            กล่าวไว้

หนึ่งพาลหนึ่งอุดม         นักปราชญ์

สองสิ่งนี้จงให้               เลือกรู้สมาคม

คำศัพท์และความหมาย

สมาคม หมายถึง คบค้า คบหา

อุดม หมายถึง มากมาย บริบูรณ์

ถอดคำประพันธ์

มนุษย์ทุกคนควรรู้จักการเลือกคบค้าหรือคบหามนุษย์คนอื่น โดยคนมักมี 2 ประเภท คือ 1. คนพาล 2. คนมีความรู้หรือนักปราชญ์ คนสองประเภทนี้ต้องเลือกคบหาสมาคม

บทที่ ๗

นาคีมีพิษเพี้ยง     สุริโย

เลื้อยบ่ทำเดโช              แช่มช้า

พิษน้อยหยิ่งโยโส          แมลงป่อง

ชูแต่หางเองอ้า              อวดอ้างฤทธี

คำศัพท์และความหมาย

นาคี หมายถึง งู

สุริโย หมายถึง พระอาทิตย์

เดโช หมายถึง อำนาจ

โยโส หมายถึง เย่อหยิ่ง

แมลงป่อง หมายถึง แมงป่อง

ฤทธี หมายถึง แรงอำนาจ

ถอดคำประพันธ์

งูเป็นสัตว์ที่มีพิษแรงกล้าดั่งพระอาทิตย์ แต่มันกลับชอบเลื้อยช้า ๆ ไม่แสดงอำนาจอะไร ต่างจากแมงป่องที่มีพิษน้อยแต่ชอบอวดอ้างชูหางตัวเองเพื่อแสดงอำนาจ

บทที่ ๘

เสียสินสงวนศักดิ์ไว้   วงศ์หงส์

เสียศักดิ์สู้ประสงค์             สิ่งรู้

เสียรู้เร่งดำรง                     ความสัตย์ไว้นา

เสียสัตย์อย่าเสียสู้              ชีพม้วยมรณา

คำศัพท์และความหมาย

หงส์ หมายถึง นกในนิยายถือเป็นนกในตระกูลสูง

ประสงค์ หมายถึง อยากได้ ต้องการ

ถอดคำประพันธ์

โคลงบทนี้สอนให้เรารู้จักเลือก หากต้องเลือกระหว่างทรัพย์สินกับศักดิ์ศรี เราควรเลือกรักษาศักดิ์ศรีไว้แต่เมื่อต้องเลือกศักดิ์ศรีและความรู้ จงเลือกลดศักดิ์ศรีและรับความรู้มา หากเสียรู้เล่ห์เลี่ยมกลโกง ก็จงยึดมั่นความซื่อสัตย์เอาไว้ และสุดท้ายหากต้องเสียความซื่อ สัตย์ สู้ยอมตายเสียดีกว่า ตรงกับสุภาษิตที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”

บทที่ ๙

งาสารฤาห่อนเหี้ยน  หดคืน  

คำกล่าวสาธุชนยืน              อย่างนั้น  

ทุรชนกล่าวคำฝืน              คำเล่า 

หัวเต่ายาวแล้วสั้น               เล่ห์ลิ้นทรชน

คำศัพท์และความหมาย

งาสาร หมายถึง งาช้าง

ห่อน หมายถึง ไม่

เหี้ยน หมายถึง หมด ตัดไปเกือบหมด

ทุรชน / ทรชน หมายถึง คนชั่วร้าย 

เล่ห์ หมายถึง กลอุบาย

ถอดคำประพันธ์

งาช้างที่แสนสวยงามและล้ำค่า ไม่มีวันหด หรือหายไป ก็เหมือนกับคนดีที่ยืดมั่นในคำพูด และไม่มีวันกลับคำ ในทางกลับกันคำพูดของคนไม่ดีมักกลับกลอกเหมือนกับหัวของเต่าที่ชอบผลุบเข้าผลุบออก

บทที่ ๑๐

ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น     นักเรียน  

ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร             ผ่ายหน้า  

คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน   วนจิต 

กลอุทกในตะกร้า               เปี่ยมล้นฤามี

คำศัพท์และความหมาย

ทั่ง หมายถึง แท่งเหล็กใช้รองรับโลหะตอนตีให้เรียบ

ผ่ายหน้า หมายถึง ภายหน้า

กล หมายถึง เปรียบ ประหนึ่ง ราวกับ

อุทก หมายถึง น้ำ

ถอดคำประพันธ์

คนดีหรือคนที่มีความรู้อย่างนักปราชญ์มักมีความขยันหมั่นเพียร สามารถที่จะฝนทั่งสำหรับตีเหล็กชิ้นใหญ่ให้เล็กได้เท่าเข็มเย็บผ้า แต่คนที่มีนิสัยเกียจคร้าน ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ เหมือนกับการตักน้ำใส่ตะกร้าที่ไม่มีวันเต็มได้

บทที่ ๑๑

ความรู้ดูยิ่งล้ำ   สินทรัพย์

คิดค่าควรเมืองนับ      ยิ่งไซร้

เพราะเหตุจักอยู่กับ    กายอาต-มานา

โจรจักเบียนบ่ได้       เร่งรู้เรียนเอา

คำศัพท์และความหมาย

อาตม หมายถึง ตน, ตัวตน

บ่ หมายถึง ไม่

ถอดคำประพันธ์

ความรู้นั้นมีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทอง เงินทองยังสามารถนับได้ แต่ความรู้ไม่สามารถนับได้ สาเหตุที่ความรู้นั้นล้ำค่าเพราะเป็นสิ่งที่อยู่ติดกับตัวเรา โจรไม่สามารถขโมยได้เหมือนขโมยเงินทอง ดังนั้นทุกคนจึงควรเร่งเพิ่มพูนความรู้นั้นเอง

บทที่ ๑๒

เว้นวิจารณ์ว่างเว้น    สดับฟัง

เว้นที่ถามอันยัง                 ไป่รู้

เว้นเล่าลิขิตสัง-                 เกตว่างเว้นนา

เว้นดั่งกล่าวว่าผู้                 ปราชญ์ได้ฤามี

คำศัพท์และความหมาย

สดับ หมายถึง ตั้งใจฟัง

ไป่ หมายถึง ไม่

ลิขิต หมายถึง เขียน กำหนด

ถอดคำประพันธ์

การเว้นไม่วิจารณ์งาน เว้นไม่ฟังคนอื่นพูด เว้นถามในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ เว้นการเขียนหนังสือ และเว้นการสังเกตการเว้นการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้มีความรู้หรือเหล่านักปราชญ์ไม่ทำกัน

การใช้อุปมาในโคลงโลกนิติ

อุปมา คือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยที่ทั้งสองสิ่งนั้นมีสภาพที่แตกต่างกัน แต่มีลักษณะเด่นร่วมกัน เช่น ผิวของเธอขาวราวกับสำลี จมูกของเพียงพอเหมือนลูกชมพู่ ซึ่งทั้งสองประโยคมีการใช้คำสำคัญในการเปรียบเทียบ โดยในประโยคแรกใช้คำว่า “ราวกับ” และประโยคที่สองใช้คำว่า “เหมือน” นั่นเอง

คำสำคัญที่ใช้บอกการเปรียบเทียบที่มักพบเจอเช่น  ดุจ ดั่ง ราว ราวกับ  เปรียบ ประดุจ เฉก เล่ห์ ปาน ประหนึ่ง เป็นต้น

จัดเต็มกันทั้งคำศัพท์ และการแปลคำประพันธ์แบบนี้ หวังว่าเพื่อน ๆ ทุกคนจะอ่านแล้วเข้าใจมากขึ้น นอกจากบทเรียนออนไลน์เรื่องนี้แล้ว เพื่อน ๆ ยังสามารถไปติดตามฟังโคลงโลกนิติกันได้ใน Youtube ของ StartDee

นอกจากบทเรียนเรื่องนี้ เพื่อน ๆ สามารถข้ามชั้นไปอ่านบทเรียนของพี่ ๆ ป.๖ กันได้ เราขอแนะนำปัจจัยที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์

ขอบคุณข้อมูลจาก ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)